ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิวาทะขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” – ความจริงที่ซ่อนอยู่ (2)

วิวาทะขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” – ความจริงที่ซ่อนอยู่ (2)

9 กุมภาพันธ์ 2012


วิวาทะร้อนระหว่างอดีตขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” กับ ขุนคลังคนปัจจุบัน “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่เข้ามาเสียบแทนธีระชัยหลังถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 1” ทำให้การตอบโต้เรื่องตัวเลข “ภาระหนี้ต่องบประมาณ” ยิ่งร้อนแรงขึ้น โดยอดีตขุนคลังออกแฉว่า ภาระหนี้ต่องบประมาณ (debt service ratio) เท่ากับ 9.33% ไม่ใช่ตัวเลข 12% อย่างที่รองนายกรัฐมนตรีหรือขุนคลังคนใหม่บอก (วิวาทะขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนราบาล” –ความจริงที่ซ่อนอยู่ 1) จนกลายเป็นเรื่องของการจับเท็จว่าใครพูดจริง ใครพูดโกหก หรือถูกทั้งคู่แค่ต่างคนต่างหยิบตัวเลขมาใช้ผิดที่ผิดเวลาเท่านั้นเอง

คำตอบที่ได้จากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คือยอมรับว่า ตัวเลขล่าสุดของภาระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายปี 2555 เท่ากับ 9.33% ซึ่งรวมภาระดอกเบี้ย 68,000 ล้านบาท ของหนี้เงินต้นพันธบัตรกระทรวงคลังที่ออกเพื่อชดเชยความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ตามที่ ธีระชัยออกมาแจกแจง ขณะเดียวกัน สบน.ก็แก้ต่างว่า ตัวเลขที่กิตติรัตน์หยิบมาอ้างอิงก็ไม่ผิด เพียงแต่เป็นตัวเลขคนละตัวกันเท่านั้นเอง เรียกว่า ถูกทั้งคู่ (อ่านข่าว สบน. ชี้แจงตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณ)

อย่างไรก็ตาม แม้ สบน. จะบอกว่า ตัวเลขของกิตติรัตน์ไม่ผิด แต่คำชี้แจงของกิตติรัตน์กลับบอกว่า ภาระหนี้ต่องบประมาณที่ลดลงเท่ากับ 9.33% เป็นผลจากการออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ กล่าวคือ ภาระหนี้ต่องบประมาณที่ลดลงได้รวมภาระดอกเบี้ยหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไว้แล้ว ถ้าพ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ สัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณจะลดลงไปอีก (อ่านข่าว “โต้ง” โต้สัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณถูกต้อง แขวะ “ธีระชัย” เป็นอดีตคลังไม่ทำการบ้าน)

ปรากฎการณ์ของวิวาทะเรื่องนี้ ถ้ามองตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ได้สร้างภาพให้ธีระชัยเป็น “ฮีโร่” ช่วยเปิดเผยความจริง กระแสความเป็นฮีโร่ของธีระชัยนั้น เริ่มตั้งแต่เขาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. บังคับแบงก์ชาติรับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ขัดแย้งกับนายกิตติรัตน์ และ ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และอดีตรัฐมนตรีคลัง

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตท่าทีของธีระชัยที่เริ่มมีความเห็นต่างขัดกับนายกิตติรัตน์ในช่วงนั้นว่า เขากำลัง “โหนกระแสแบงก์ชาติ” สร้างภาพลักษณ์ที่ดีก่อนถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 1” เนื่องจากจังหวะเวลาช่วงนั้น มีข่าวปรับคณะรัฐมนตรีออกมาอย่างอืออึง และชื่อธีระชัย ก็ติดอยู่ในโผนั้นด้วย

นอกจากนี้ ท่าทีของธีระชัยต่อแบงก์ชาติเปลี่ยนไปชนิดที่เรียกว่า “กลับลำ” ต่างไปจากช่วงแรกตอนมาเป็นขุนคลังใหม่ๆ ซึ่งธีระชัยเป็นจะฝ่ายรุก เปิดประเด็น ปะ ฉะ ดะ บี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ (ประสาร ไตรรัตน์วรกุล) ด้วยการสั่งให้ทำการบ้านส่งแทบทุกครั้งที่เจอกัน แถมยังแสดงความคิดเห็นต่างจากแบงก์ชาติหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องกองทุนความมั่งคั่ง และนโยบายอัตราดอกเบี้ย เห็นได้จากพาดหัวข่าวตามสื่อต่างๆ อาทิ เดือด! ธีระชัยอัดแบงก์ชาติบริหารขาดทุน ,
‘ธีระชัย’ แรง! จี้ธปท. ‘ใช้สมอง’ แก้เศรษฐกิจ” โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เป็นต้น ทั้งๆ ที่ธีระชัยก็เป็นลูกหม้อแบงก์ชาติ เข้าใจวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติเป็นอย่างดี

ที่สำคัญ ธีระชัยโต้ตอบหรือชี้แจงประเด็นที่เห็นต่างจากแบงก์ชาติในหลายๆ เรื่องผ่านทาง เฟซบุ๊ก จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่พักหนึ่ง ไม่ต่างจากการแสดงความคิดเห็นค้านเรื่องวินัยการคลังที่เป็นชนวนวิวาทะร้อนระหว่าง “ธีระชัย กับ กิตติรัตน์”

แม้ความขัดแย้งของ “ธีระชัย” กับ “กิตติรัตน์” จะดูรุนแรง แต่ไปๆ มาๆ เรื่องกลับจบลงด้วยการเงียบๆ กันไป โดยไม่มีการชี้แจงข้อมูลที่มาที่ไปของตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณที่เห็นต่างกันให้กระจ่างแจ้ง มีเพียงการอธิบายของ สบน. ที่ว่า “ถูกทั้งคู่” เท่านั้น ทั้งที่เรื่องนี้มีนัยสำคัญต่อความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งผู้บริหารประเทศระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กับขุนคลังไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบว่า ไม่รู้เรื่องมาก่อน หรือ เพิ่งมารู้ที่หลัง

เนื่องจากการจัดทำตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณนั้น อยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจนผ่านการพิจารณาวาระ 1 วาระในเดือนธันวาคม 2554 และผ่านขั้นตอนการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่มีการปรับลดปรับเพิ่มในรายละเอียดก่อนเสนอให้ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ระหว่างวันที่ 4-6 มกราคม 2555 และของช่วงดึกวันที่ 7 มกราคม 2555 ผู้สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับวาระ 3 ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณด้วยคะแนน 272 ต่อ 3 เสียง

ในขณะที่จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการจัดทำประมาณการแผนการบริหารหนี้สาธารณะดำเนินการควบคู่ไปด้วย เพราะการจัดทำงบประมาณมีผลต่อการบริหารหนี้สาธารณะ โดยการจัดทำแผนการบริหรหนี้สาธารณะ มีรัฐมนตรีคลังเป็นประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ และการดำเนินการต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) สุดท้าย แผนการบริหารหนี้สาธารณะจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีด้วย

ทั้งนี้ แผนการบริหารหนี้สาธารณะจะประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ แผนการปรับโครงสร้างหนี้ แผนบริหารความเสี่ยง และกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่มีตัวเลขสัดส่วนยอดคงค้างหนี้สาธารณะต่อจีดีพี กับ ภาระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และประมาณให้เห็นแนวโน้มในอีก 4 ปีข้างหน้าด้วย จากกระบวนการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เห็นชัดเจนว่า มีการนำเสนอผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่างโปร่งใส ไม่ซับซ้อนซ่อนเร้น

ดังนั้น เมื่อไล่เรียงลำดับเวลาของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ กับ ช่วงเวลาการผลักดันเร่งออก พ.ร.ก 4 ฉบับ จะพบความจริงว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐมนตรีทั้งสองท่านจะไม่ทราบตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณ หรือใช้ตัวเลขต่างกัน เว้นแต่ไม่เห็นความสำคัญ

โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ในส่วนของกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ประมาณการภาระหนี้ต่องบประมาณเท่ากับ 11.3% (อ่านรายละเอียด เอกสารการพิจารณาแผนการบริหารหนี้สาธารณะ)

กรอบความยั่งยืน

ต่อมา มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่ 1 โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนการปรับปรุงฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 1 นี้ ประมาณการภาระหนี้สาธารณะต่องบประมาณเท่ากับ 11.5% (อ่านรายละเอียด เอกสารการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่ 1)

หลังจากแผนการบริหารหนี้สาธารณะปรับปรุงครั้งที่ 1 แล้ว จากข้อมูลของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ไม่พบว่ามีการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มเติมจากที่ปรับปรุงครั้งที่ 1 จนกระทั่งมีการแปรญัตติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2555 จึงมีการเปลี่ยนตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณใหม่อีกครั้งเป็นเท่ากับ 9.33% แต่ยังไม่มีเอกสารเผยแพร่อย่างเป็นทางการ มีเพียงคำให้สัมภาษณ์ของนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สบน.

โดยในเอกสารงบประมาณโดยสังเขป ระบุรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ได้จัดสรรไว้เป็นจำนวน 46,854 ล้านบาท แต่ข้อมูลจาก สบน. ระบุว่า ได้รับจัดสรรชำระดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 175,244 ล้านบาท รวมภาระชำระคืนต้นเงินกู้กับดอกเบี้ยจ่าย หรือภาระหนี้ต่องบประมาณเท่ากับ 222,098 ล้านบาท หรือเท่ากับ 9.33% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 2.38 ล้านล้านบาท

ขณะที่การเสนอร่างพ.ร.ก. 4 ฉบับนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ต่อมามีการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวัน 30 ธันวาคม 2554 และนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งวันที่ 4 มกราคม 2555 แต่คณะรัฐมนตรีให้กลับไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งก่อนนำกลับมาเสนอใหม่อีกรอบในวันที่ 10 มกราคม 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่านร่างพ.ร.ก. 4 ฉบับ และมีผลบังคับใช้เมื่อ 27 มกราคม 2555

หลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่านร่างพ.ร.ก. 4 ฉบับ นายกิตติรัตน์และนายธีระชัยได้นั่งแถลงข่าวคู่กันที่ทำเนียบรัฐบาล โดยชี้แจงไปในทางเดียวกันว่า พ.ร.ก. 4 ฉบับมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะ พ.ร.ก.โอนภาระหนี้ให้กองทุนเพื่่อการฟื้นฟูฯ เพือให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้โดยไม่ติดกรอบภาระหนี้ต่องบประมาณ

นายกิตติรัตน์ชี้แจงตอนหนึ่งว่า การโอนภาระหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับภาระบริหารนั้น จะทำให้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นหนี้สาธารณะที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ ทำให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินเพื่อสร้างอนาคตประเทศได้ โดยจะไม่ติดสัดส่วนดอกเบี้ยและเงินต้นต่องบประมาณรายปี หรือ debt service ratio ที่กำหนดกรอบไว้ไม่เกิน 15% ซึ่งงบประมาณรายจ่ายปีนี้อยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ดังนั้น สัดส่วนนี้ต้องไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท แต่การออก พ.ร.ก. นี้ทำให้มีความจำเป็นต้องตั้งงบประมาณ 64,000 ล้านบาท เพื่อชำระดอกเบี้ยหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่เป็นภาระงบประมาณ สามารถทำให้รัฐบาลไม่ติดกรอบวินัยการคลัง

ด้านนายธีระชัยกล่าวตอนหนึ่งว่า เรามีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ ตรงที่ว่า เรามีภาระดอกเบี้ยซึ่งเอาจากเงินงบประมาณ เอาจากภาษีประชาชนทุกคนไปชำระ 60,000 กว่าล้านบาท และตลอดมาตั้งแต่ต้นมาถึงปัจจุบันจ่ายดอกเบี้ยไปแล้ว 670,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องแก้ปัญหานี้อย่างครบวงจร

คำชี้แจงของทั้งคู่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้ตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณเท่ากับ 12% เหมือนกัน แต่หากพิจารณาจากกระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ และการทำแผนบริหารหนี้สาธารณะแล้ว ทั้งสองท่านน่าจะทราบว่า ภาระหนี้ต่องบประมาณมีการเปลี่ยนแปลงจาก 11.5% ลดลงเหลือ 9.33% แต่ปล่อยเวลาผ่านไปประมาณ 10 วัน ธีระชัยกลับเพิ่งมาบอกว่า ได้เห็นตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณเท่ากับ 9.33% ก่อนจะออกจากตำแหน่งขุนคลังเพียง 1 วัน ขณะที่กิตติรัตน์ก็ยังคงยืนยันใช้ตัวเลข 12%

ดังนั้น ความจริงเรื่องนี้ “ธีระชัย” กับ “กิตติรัตน์” ควรจะพูดตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณตรงกัน และไม่ควรปฏิเสธความรับผิิดชอบในเรื่องนี้ เว้นแต่จะโยนความรับผิดชอบไปให้ “แพะ” แทน เนื่องจากไม่รายงานข้อมูลล่าสุดให้ทราบ หรือไม่ก็เป็นเพียงเกมการเมืองที่สร้างสถานการณ์เพื่อสร้างภาพเรียกคะแนนนิยมเท่านั้นเอง

(ตอนที่ 3 ความจริงที่ซ่อนอยู่–ชำแหละภาระหนี้ต่องบประมาณ)