ThaiPublica > เกาะกระแส > สศช. แถลงสภาพสังคมไทย สถิติเด็ก “ดื่มสุราหนัก-ติดเฟซบุ๊ก-คุณแม่วัยใสพุ่ง-เสพยาไอซ์กระจาย”

สศช. แถลงสภาพสังคมไทย สถิติเด็ก “ดื่มสุราหนัก-ติดเฟซบุ๊ก-คุณแม่วัยใสพุ่ง-เสพยาไอซ์กระจาย”

28 กุมภาพันธ์ 2012


นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ได้รายงานภาวะภาพวรวมสังคมไทยปี 2554 โดยนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้แถลงถึงพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย รวมถึงด้านความมั่นคงทางสังคม ซึ่งมีประเด็นเฝ้าระวังหลายด้านดังนี้

เด็กอายุ 19 ปี ดื่มสุราสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่า

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 คน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก สำหรับคนไทยพบว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับที่ 40 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย โดยผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 16.2 ล้านคน หรือเฉลี่ยดื่มคนละ 58 ลิตรต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัว

ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี โดยจากการสำรวจข้อมูลพฤติกรรมการสูบุหรี่ และการดื่มสุราของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2549-2554 พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนวัย 15-24 ปี ยังคงมีอัตราการดื่มสุราที่สูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น โดยมีสัดส่วน 23.7% ในปี 2554 ซึ่งลดลงเพียงเล็กน้อยจาก 24.3% ในปี 2552

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ล่อแหลม ไม่ว่าจะเป็นการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่รอบสถานศึกษา การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการหาซื้อได้ง่ายและสะดวก โดยแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึง 90% โดยมีผู้เสียชีวิต 26,000 คนต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า องคก์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงานออกมาว่า ขณะนี้แอลกอฮอล์มาแรงแซงทุกสาเหตุการตาย นำโด่งแซงหน้าโรคเอดส์ วัณโรค หรือแม้แต่ปัญหาความรุนแรง โดยคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเกือบ 4% ของการเสียชีวิตทั้งหมด

เยาวชน18-24 ปี ติดเฟซบุ๊กเกือบ 40%

ในภาวะที่สังคมในโลกออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย มีความรวดเร็ว และเป็นเครือข่าย เช่น เฟซบุ๊ก ส่งผลให้พฤติกรรมของเด็กไทยในปัจจุบันมีการใช้เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2554 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 96.3% โดยข้อมูลจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตั้งแต่ปี 2551-2554 พบว่ามีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 168,720 คน เป็น 1,963,500 คน 6,782,780 คน และ 13,276,200 คน ตามลำดับ

นอกจากนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จำแนกข้อมูลการเล่นเฟซบุ๊กของคนไทยตามช่วงอายุในปี 2554 พบว่า ช่วงอายุ 13-15 ปี มีสัดส่วน 11.2% อายุ 16-17 ปี มีสัดส่วน 10% อายุ 18-24 ปี มีสัดส่วน 34% อายุ 25-34 ปี มีสัดส่วน 28.6% อายุ 35-44 ปี มีสัดส่วน 10.2% อายุ 45-54 ปี มีสัดส่วน 3.7% อายุ 55-64 ปี มีสัดส่วน 1.1% และอายุ 64-100 ปี มีสัดส่วน 1.1%

“จากข้อมูลดังกล่าว บ่งชี้ชัดว่า เด็กในกลุ่มอายุ 18-24 ปี เป็นกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของผู้ใช้ทั้งหมด ไม่มีวุฒิภาวะเท่าที่ควร และไม่มีความรับผิดชอบสูงพอ ทำให้เกิดปัญหา มีการเผยแพร่ภาพไม่เหมาะสมในสังคมออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากมีการนำเอาความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในทางที่ผิด โดยขาดความตระหนักถึงผลเสียตามมา” นางสุวรรณีกล่าว

โดยในปี 2553 มูลนิธิกระจกเงาได้รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส 90 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์เผยแพร่คลิปหลุด คลิบแอบถ่าย โป๊ เปลือย หรือเว็บไซต์ไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน และในปี 2554 ได้รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบมากกว่า 324 ราย ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่คลิปวิดีโอของเด็กระดับมัธยมต้นที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ถอดเสื้อผ้า เต้นโคโยตี้ในชุดเครื่องแต่งการไม่เหมาสะ หรือตบตีกันแย่งผู้ชาย เป็นต้น

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า สื่อออนไลน์มีส่วนที่ทำให้แนวโน้มคุณแม่วัยใสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อความที่มีการโพสต์ในเฟซบุ๊ก หรือคลิปที่มีแสดงออกถึงการยั่วยุทางเพศ การใช้ความรุนแรง และสร้างพฤติกรรมการเลียนแบบ หรือค่านิยมผิดๆ เช่น มองเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นการล่าแต้ม และนำมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก เป็นต้น

ไทยทำสถิติคุณแม่วัยใสสูงสุดในเอเชีย

ประเด็นที่สาม ที่ต้องเฝ้าระวังคือ คุณแม่วัยใสยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีสถิติสูงสุดในเอเชีย โดยอัตราการคลอดบุตรของหญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้นจาก 13.55% ในปี 2552 เป็น 13.76% ในปี 2553 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ไม่เกิน 10% และมีสถิติสูงที่สุดในเอเชีย โดยในปี 2552 ประเทศไทยมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ตั้งครรภ์จำนวน 70 คน ต่อผู้หญิงวัย 15-19 ปี 1,000 คน และในปัจจุบันการตั้งครรภ์ของผู้หญิงไทยที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 90-100 คน ต่อผู้หญิงวัย 15-19 ปี 1,000 คน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียที่มีจำนวน 56 คน และค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 65 คน

ดังนั้น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) จึงจัดให้ไทยอยู่ในลำดับแรกที่มีอัตราการตั้งครรภ์ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี สูงสุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับสองรองจากทวีปแอฟริกา

“ปัญหาของคุณแม่วัยใส ส่งผลกระทบต่อทั้งปัญหาสุขภาพมารดา และการพัฒนาของเด็กที่เกิดมา รวมทั้งปัญหาสังคม ในเรื่องการทำแท้ง และการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตั้งเป้าลดปัญหาการตั้งครรรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นลง 20% ภายในปี 2555” นางสุวรรณีกล่าว

ยาไอซ์ระบาดในวัยรุ่น

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ด้านความมั่งคงทางสังคมนั้น คดีอาญาโดยรวมยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยาเสพติดยังเป็นปัญหาสำคัญที่รุนแรงขึ้น ทั้งปริมาณและลักษณะของการต่อสู้จับกุม โดยในรอบปี 2554 มีคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2553 ในขณะที่ยาไอซ์บุกเข้าสู่ตลาดวัยรุ่นหน้าใหม่ และแพร่หลายในกลุ่มผู้เสพเป็นวงกว้างขึ้น ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่เป็นนักเสพหน้าใหม่ยังคงเป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี โดยในปี 2554 พบว่า สามารถจับกุมผู้ค้ายาไอซ์เป็นอันดับ 2 รองจากยาบ้า

ทั้งนี้ ข้อมูลของสถาบันธัญญารักษ์ในปี 2554 พบกลุ่มผู้ป่วยติดยาเสพติดช่วงอายุ 15-19 ปี มารักษาตัวมากที่สุด คือ คิดเป็น 21.67% ของจำนวนผู้ป่วยยาเสพติดทั้งหมด และผู้ป่วยส่วนใหญ่ 56.50% กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา