ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โมเดล “” โครงการเรียนรู้อยู่กับน้ำอย่างมีความสุข ย้อนยุควิถีดั้งเดิม – โครงการ “กล้า…ยั่งยืน”

โมเดล “” โครงการเรียนรู้อยู่กับน้ำอย่างมีความสุข ย้อนยุควิถีดั้งเดิม – โครงการ “กล้า…ยั่งยืน”

20 กุมภาพันธ์ 2012


ผลผลิตจากพื้นที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โครงการกล้า..ดี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ผลผลิตจากพื้นที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โครงการกล้า..ดี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ยังคงทิ้งร่องรอยและสร้างภาวะฉุกคิดในทุกระดับ ที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชน เริ่มตระหนักรู้และพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่ออยู่กับน้ำ วิถีชีวิตดั้งเดิมถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ทดแทนวิถีคนเมือง และวิถีสะดวกซื้อสะดวกบริโภค

ความจริงที่ทุกชีวิตทั้งคนเมือง คนชนบท ยอมรับว่าจากนี้ไป คนไทยหนีไม่พ้นภัยพิบัติจาก “น้ำ” ไม่ว่าจะน้ำท่วม น้ำแล้ง

บทเรียนน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา ภาคประชาชนเสียหาย หลากหลายพื้นที่ต่างต้องการความช่วยเหลือ ทั้งการช่วยเหลือภายในคือชุมชนด้วยกันเอง และการช่วยเหลือจากภายนอก จากหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ

แต่การช่วยเหลือที่เร็วที่สุดคือตัวเองต้องพึ่งตัวเอง ดูแลตัวเองก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หลายชุมชนได้ตระหนักรู้ในเรื่องนี้ เกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูล ฟื้นฟูเยียวยากันเอง คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง ด้วยสติปัญญาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนกลับมามีชีวิตที่อยู่ดีมีสุขหลังน้ำลดได้

ขณะเดียวกันก็เรียนรู้วิธีการรับความช่วยเหลือ จะรับอย่างไรไม่ให้ล้น และเป็นภาระแก่ตัวเอง

เช่นเดียวกับคนให้ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะให้ ให้อย่างไร ให้อะไร ให้แบบไหน ที่จะทำให้วิถีชีวิตเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน และยืนได้ด้วยตัวเอง เพราะแต่ละพื้นที่ก็ต่างวิถี ต่างทรัพยากร ต่างภูมิปัญญา การให้โดยยึดวิถีชีวิตคนเมือง อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป

โครงการ “กล้า…ดี” เป็นอีกหนึ่งโครงการหนึ่งโมเดล ที่หลากหลายภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งผู้บริจาคเงิน ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในฐานะเจ้าของโครงการ ต่างมีความสุขกับโครงการนี้(อ่าน โครงการกล้า…ดี โมเดลฟื้นฟูเยียวยากู้จิตใจแบบบูรณาการ ด้วยชุด 3 พร้อม…พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ)

ขบวนการทำงานที่เข้าถึงชาวบานตอบโจทย์ว่า การฟื้นฟูและเยียวยาในพื้นที่ที่ลงไปช่วยเหลือนั้น ชาวบ้านเขาต้องการอะไร และจะช่วยเหลือเขาแบบไหน ที่ไม่ใช่ให้แบบครั้งเดียวจบ เป็นการให้ที่รู้ว่าจะให้ใคร ให้ที่ไหน ให้อย่างไร ให้แบบไหน และวัดผลสำเร็จของงานได้ ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ การสร้างจิตสำนึก การสร้างวัฒนธรรมการให้แบบใหม่ การสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กับการสร้างความโปร่งใสในการทำงาน

โครงการกล้า…ดี ได้รับเงินบริจาคทั้งสิ้น 82,817,523.81 บาท ยอดค่าใช้จ่าย 40,088,541.50 บาท (ณ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ) โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ประกาศในการแถลงข่าวเมื่อ 14 กุมภาพันธุ์ 2555 ว่า หากผู้บริจาคต้องการเงินบริจาคคืน ให้แจ้งความประสงค์ในการรับคืนได้

นี่เป็นตัวอย่างของการรับและการให้ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ สบายใจทั้งผู้รับและผู้ให้

หากถามผู้รับ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย โครงการกล้า…ดี ได้ตอบโจทย์ “ได้ระเบิดจากข้างใน…ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง”

นางคำปัน นพพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ในฐานะที่เป็นทั้งข้าราชการและชาวบ้านในตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ได้เล่าว่า โครงการ 3 พร้อม “พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ” เป็นเหมือนภาคทฤษฎี แต่พอปฏิบัติเอาเข้าจริงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ พร้อมกินคือมีพริก เกลือ กระเทียม กินได้เลย ส่วนพร้อมปลูก ปลูกได้เลย (แจกต้นกล้า อาทิ มะเขือ พริก โหระพา อายุ 45 วัน) พร้อมเพาะ เดือนครึ่งก็มีผลผลิตได้เลย ขณะนี้ชาวบ้านได้กิน ได้ขาย

“จริงๆ แล้วในช่วงน้ำท่วม พวกเราชาวบ้านก็มีการหารือกันว่าเรามีศูนย์ที่จะฟื้นฟูหลังน้ำท่วมอยู่แล้ว คณะกรรมการมาคุยกันว่า น้ำท่วมอย่างนี้เราควรจัดการชีวิตเราอย่างไรดี จะทำอะไรกันดี เราดูข่าวแล้วเราเศร้าใจ ว่าตรงนั้นตรงนี้ขาดความช่วยเหลือ เข้าไม่ถึง มันน่าเวทนา เมื่อเราหนีน้ำท่วมไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ ฉะนั้นตำบลของเรามาคิดกัน เกิดเป็นโครงการเรียนรู้อยู่กับน้ำอย่างมีความสุข มีกิจกรรมการฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด เราเตรียมสั่งกล้าพันธุ์ไว้เรียบร้อย พอโครงการแม่ฟ้าหลวงมาแจกพันธุ์กล้า…ดี เลยมีพันธุ์เพิ่มมากขึ้น แจกได้ทุกครัวเรือน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น ทุกครัวเรือนปลูกได้หมด ก็ลงมือปลูกกัน ดิฉันปลูกอย่างละ 100 ต้น หากปลูกมากกว่านั้นก็เป็นเหยื่อเขาหมด คือต้องขายส่ง แต่เรายึดหลัก กิน แจก แลก ขาย”

นางคำปันเล่าต่อว่า ดัชนีของเราไม่ได้วัดเป็นเงิน เราวัดที่ความสุข เราทำแล้วมีความสุขมากขนาดไหน พร้อมเล่าติดตลกว่า ตอนนี้ยืมชื่อคุณชายดิศนัดดาไปใช้ เพราะไปตลาดคนจะถามว่ามะเขือยาวพันธุ์อะไร ก็บอกเขาไปว่ามะเขือคุณชาย เราขาย 3 ลูก 10 บาท เป็นผักปลอดสารเคมี ซึ่งลูกค้าไม่มีใครต่อราคาเลย

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล(ซ้าย) นางคำปัน นพพันธ์ (ขวา)กับมะเขือตุณชาย
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล(ซ้าย) นางคำปัน นพพันธ์ (ขวา)กับมะเขือตุณชาย

“ตอนนี้ไปทุกบ้าน ทุกคนจะอวดกัน หากใครดูแลดี ผลผลิตจะสวย ของใครไม่สวย ก็จะกลับไปดูแลของตัวเองให้ดีขึ้น จากที่เราตระเวนไปดูคนทั้งตำบลที่ได้ผลผลิตไป ไม่ว่า พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส เวลาไปตลาดก็ซื้อแต่หมู ไก่ ไม่ต้องซื้อผักแล้ว เมื่อไม่ต้องซื้อ นั่นคือเรามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น”

โครงการอยู่กับน้ำอย่างมีความสุข

นางคำปันกล่าวว่า การดำเนินงานในระยะต่อไป ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมาพัฒนาร่วมกับชุมชน คงไม่แจกกล้าต้นไม้อย่างเดียว เราควรพัฒนาศักยภาพ เพราะต่อไปภัยจะรุนแรงมากขึ้น ถ้ามีภัยเกิดขึ้น ต้องมาทบทวนว่าจะเตรียมตัวอย่างไร จะอยู่กับน้ำอย่างไรให้มีความสุข

“เราจะรอให้ทุกองค์กรทุกคนมาช่วยคงไม่ได้ ต้องยึดหลักตนเป็นที่พึ่งของตน ต้องกลับมาเรียนรู้พัฒนาศักยภาพ ว่าจะทำอย่างไร องค์ความรู้เก่าๆ ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่กับน้ำอย่างไร แล้วทำไมเขามีความสุข หลายคนบอกว่าเบื่อมาม่า เบื่อปลากระป๋อง ก็ต้องกลับมาคิดใหม่ว่า ชีวิตเราทำไมต้องผูกกับมาม่า ปลากระป๋อง เราไม่ได้อยู่ในเมือง เราอยู่บ้านนอก เพราะฉะนั้นเราต้องกลับมาคุยกัน คือเอาคนแก่มาตั้งวงคุยกันว่า เดิมทีเดียวเขาอยู่กับน้ำ 2-3 เดือน เขาอยู่กับน้ำกันอย่างไร โดยเมนูอาหารไม่ต้องซ้ำ คนปัจจุบันฟังจากคนแก่ และเชื่อมต่อกับเด็กๆ ว่าจะเติมเต็มความพร้อมกันอย่างไรเมื่อภัยมา”

นางคำปันย้ำว่า คนในชุมชนจะรู้ปัญหาของตัวเอง อย่าให้คนอื่นมาบอก เราต้องหาทางออกของเราด้วย และทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีองค์ความรู้ มีประสบการณ์หลายหลาก มาเติมเต็มให้กับเรา และเรียนรู้กันไป ที่สำคัญโครงการนี้ (กล้า…ดี) ไม่ใช่มาแล้วไป ไม่วูบวาบ แต่อยู่กับเรา ให้แนวความคิดว่าเราจะอยู่อย่างไรให้ยั่งยืน เราต้องอยู่ต่อไป ถ้าน้ำไม่ท่วมก็ต้องเตรียม ถ้าน้ำท่วมก็ต้องเตรียมอย่างไร และเราต้องเตรียมแผน 1 แผน 2 แผน 3 รับมือภัยพิบัติ ไม่ใช่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือจากใคร เราต้องช่วยตัวเองก่อน แล้วคนอื่นก็จะมาช่วยเรา ไม่ใช่แบมืออยู่ตลอด

น้ำท่วม 2-3 เดือน แต่เมนูไม่ซ้ำ

นางคำปันเล่าต่อว่า เรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่โดยไปนั่งคุย เพราะชุมชนตะเคียนลื่อนเคยอยู่กับน้ำมาก่อน เป็นชุมชนน้ำท่วมอยู่แล้ว คนสมัยก่อนเขาไม่ได้เงินชดเชยหลังละ 5,000 บาท ถุงยังชีพก็ไม่มีคนส่ง ทำไมเขาอยู่ได้ 2-3 เดือน เขาอยู่ได้อย่างไร สมัยก่อนน้ำมันพืชก็ไม่มี ผู้เฒ่าบอกว่า เจียวน้ำมันหมูหม้อหนึ่ง มีพริกแห้ง มีกระเทียมแขวนเอาไว้ มีเกลือ ส่วนฟักทอง ฟักเขียว ข่า กระชาย มะนาว ตะไคร้ เอาไปหมกทรายไว้ หน่อไม้ดอง หน่อไม้บีบ เขาบอกว่า อยู่ได้ 2 เดือน โดยที่เมนูไม่ซ้ำ ส่วนขนมหวาน น้ำตาลก็มี มะพร้าวก็มี แต่จะยากคือไม่มีเกลือเม็ด เพราะเมื่อน้ำขึ้น จะหาปลา กินปลาสด เหลือก็จะทำปลาเกลือ ส่วนกาบมะพร้าวเอาไว้ทำปลาย่าง ก็อยู่ได้อย่างสบาย ส่วนผักก็เก็บตามน้ำ อย่าง ผักบุ้ง

“เราทดลองเอาข่า ตะไคร้ กระชาย หมกทรายแล้วรดน้ำ เราคุยกับผู้แก่ผู้เฒ่า แล้วเอาความรู้มาทดลอง เราได้เอามาปฏิบัติ ถ้าไม่มีไฟฟ้าเราก็มีเทียนไข ไม่มีน้ำใช้ ถ้ามีสารส้มก็เอามาแกว่งน้ำแล้วเอามาต้ม ถามว่า ณ วันนี้เราอยู่ได้ไหม เราอยู่ได้ ส่วนพืช เราต้องกลับมาดูว่าพืชดั้งเดิมของชุมชนตะเคียนเลื่อนคืออะไร คือละมุด มันทนน้ำ ท่วมอย่างไรมันก็ไม่ตาย เราต้องกลับมาปลูกละมุด ที่ผ่านมาโค่นละมุดไปปลูกอย่างอื่นหมดแล้ว พอน้ำมาตายเรียบหมด ตอนนี้ต้องกลับมาศึกษาวิถีชีวิตดั้งเดิม คนรุ่นปัจจุบันต้องมาเรียนรู้ เสร็จแล้วต้องสืบทอดให้กับเด็ก เพราะอนาคตข้างหน้าภัยจะเกิดตลอดและภัยรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าเราไม่เตรียมตัวอย่างนี้จะอยู่อย่างไร จะทำอย่างไร”

นางคำปัน นพพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเถอตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
นางคำปัน นพพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเถอตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

นางคำปันให้ความเห็นว่า เราต้องรู้สถานภาพตัวเอง คนมีลูกอ่อนทำไมต้องกินนมกระป๋อง มีนมแม่ก็กินนมแม่ไป ไม่ต้องมีน้ำร้อนลูกก็มีนมกิน ไม่ต้องไปโวยวายอะไรทั้งนั้น หรือคนที่มีโรคประจำตัวก็กินยาประจำ น้ำไม่ได้มาแบบสึนามิ ต้องเตรียมตัว ไม่ใช่ยกธงแดงขอความช่วยเหลือด่วน เราเห็นแล้วสมเพช แล้วทำไมเราไม่เตรียมตัวให้พร้อม หากเรายกระดับ พัฒนาศักยภาพตัวเอง ลองคิดดู คนในประเทศไทยมีจำนวนเท่าไหร่ แล้วใครจะมาดูแลได้ หากจะหวังพึ่งข้าราชการ แต่ละคนต่างเป็นผู้ประสบภัย มีภาระ ตัวเองต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

ชุมชนตะเคียนเลื่อนเริ่มจากกลุ่มเล็กมาหารือ ใช้วงคุยกัน จากนั้นเริ่มกระจาย ไปไหนเราก็คุย เจอใครเราก็บอก สอดแทรก เอาความรู้ที่เราได้อย่างประจักษ์ ค่อยๆ ถ่ายทอด ค่อยๆ บอก อีกอันคือเรื่องข่าวสาร เป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องเลือกบริโภคข่าวสาร และเราต้องอยู่ อยู่อย่างมีความสุข เราจับประเด็นจากคนนั้นคนนี้ ช่วยกันคิด เลยได้ออกมาเป็น “โครงการเรียนรู้อยู่กับน้ำอย่ามีความสุข”

เราคิดกันเอง ทำกันเอง เราไม่รอหลวง (ราชการ) ไม่รองบประมาณ เราทำได้ง่ายกว่า หากรอจะค่อนข้างยุ่ง แต่งบของเราค่อนข้างจะเป็นไปได้ง่าย และตรงใจของพวกเรา ทำแล้วประสบความสำเร็จสูง

ข้าราชการทำแค่หน้าที่ไม่พอ ต้องทำด้วยใจ

เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นข้าราชการ ส่วนใหญ่ข้าราชการมักสั่งๆ ให้ชาวบ้านทำ นางคำมันเล่าว่า การที่เราจะไปบอกชาวบ้าน เราต้องรู้ก่อน ตอนที่อยู่ในพื้นที่ใหม่ๆ ไปบอกเขา เขาก็ไม่ค่อยเชื่อ ชาวบ้านเขาบอกว่าบ้านเกษตรตำบลยังไม่มีเลย (ไม่ได้ปลูก) อย่าไปเชื่อ เราก็จำเป็นต้องทำให้เห็น อย่างที่บ้านทำสวนแบบปลอดสาร ทำเป็นตัวอย่าง แล้วเราจะพูดได้เต็มปากเต็มคำ พอชาวบ้านมาเห็นว่าทำได้จริงก็จะเกิดความเชื่อมั่น และเราทำงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยในหลายๆ เรื่อง ทำเป็นแปลงวิจัย แปลงทดลอง เราต้องรู้จริงจัง ต้องตามเกษตรกรให้ทัน เราต้องเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ไม่ใช่พูดตามตำรา ต้องเรียนให้รู้ไปพร้อมกับเกษตรกร

เกษตรกร 10 คนมีดี 10 อย่าง แต่เขาไม่บันทึก เขาทำๆๆ เราเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรคนอื่นต่อไป ให้เขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ได้ของจริง ไม่ต้องยกตัวอย่างไกล เราใช้สารสะเดา มีแมลงไหม มี ก็แบ่งกันกิน จะไปโลภมากเอาทั้งหมดได้อย่างไร อย่างน้อยๆ เราปลอดภัย เราต้องเคารพลูกค้า บอกว่าปลอดสารพิษก็ปลอดสารพิษ ไม่เอาสารพิษไปขายเขา ไม่มีคือไม่ขาย ไม่ดีคือไม่ให้

ดังนั้นในฐานะที่เป็นเกษตรตำบล ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ เรียนจากของจริง ไม่ใช่พูดปาวๆ แต่อยู่ตรงไหนไม่รู้

“เราทำงานมา 30 ปี เพราะมีเกษตรกรเขาถึงจ้างเกษตรตำบล เพราะฉะนั้น เราต้องซื่อสัตย์ต่อเจ้านายเรา ทำแบบนี้แค่หน้าที่และความรับผิดชอบไม่พอ ต้องมี “ใจ” ด้วย เพราะหน้าที่ทำ 8 โมงครึ่งถึง 4 โมงครึ่ง แต่ทำด้วยใจมันมี 24 ชั่วโมง เกษตรกรอยู่ในใจเราตลอด ว่าถ้าเขาเป็นอย่างนี้เราจะแก้อย่างไร บางทีรอโครงการจากหลวงแต่ไม่ได้ดั่งใจ สู้เราคิดเองไม่ได้ อย่างโครงการเรียนรู้อยู่กับน้ำอย่างมีความสุข ทำกันเอง สร้างองค์ความรู้แบบไหน อยู่อย่างไร จะต้องปรับอย่างไร เพราะโครงการหลวงมาเป็นระยะๆ มาแล้วไป แต่ของเรา เราอยากให้อยู่กับเรา ให้ได้เนื้อได้น้ำ จริงๆ ต้องเอาใจลงไปทำมันถึงได้ใจขึ้นมา

นางคำปันกล่าวต่อท้ายว่า อะไรที่เราทำได้ เราทำ แค่หน้าที่และความรับผิดชอบไม่พอ ยิ่งให้ยิ่งได้ ต้องทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด

“เราต้องการความสุข ทำก็มีความสุข ขายก็มีความสุข จีดีพีเราไม่ได้วัดค่าเป็นเงิน ทำไมดิฉันปลูกแค่ 100 ต้น เก็บได้วันละ 3 กิโลกรัม หากเราพอเราก็รวยแล้ว หากเราปลูกเองขายเอง เราได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องลงทุนสูง กิน แจก แลก ขาย กินก่อน แจกเพื่อนบ้าน แลก เขาเอามาให้เรา เราก็มีให้เขา ที่เหลือก็ขาย ขอฝากว่า โครงการ กล้า…ดี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เราดีขึ้น ทำให้โครงการเรียนรู้อยู่กับน้ำของเราสมบูรณ์ขึ้น”

กลับสู่วิถีสามัญ วิถีดั้งเดิม

นายสุเทพ ชูชัยยะ นายก อบต.ตลิ่งชัน-คุ้งลาน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า วิถีชีวิตคนในตอนหลังมีความสะดวกซื้อเกิดขึ้น พอมีภัยพิบัติ ทุกคนกลับไปสู่สามัญ เรามีแผ่นดินอยู่แล้ว โครงการกล้า…ดีสอนให้ชาวบ้านยืนได้ด้วยตัวเอง ชาวบ้านไม่รอคนมาช่วยแล้ว การช่วยเหลือตรงใจที่เขาต้องการ รัฐบาทที่ผ่านมาให้อย่างเดียว โครงการนี้ทำ 3 ความพร้อม ไม่ได้ให้ปลาอย่างเดียว ให้เบ็ดไปด้วย ไม่งั้นคนจะรอรับของแจกอย่างเดียว พร้อมปลูก ปลูกให้ตัวท่านเอง ครอบครัวท่านเอง เป็นวิถีชวิตคนไทยแท้จริง พืชผักสวนครัวปลูกที่ไหนก็ได้ ดาดฟ้าก็ปลูกได้

“เราใช้ทุนทางสังคมที่เรามีอยู่แล้วนพื้นที่ แผ่นดินลุ่มล้ำเจ้าพระยา มีความพร้อมที่จะเพาะปลูก เราก็จะมีความมั่นคงทางอาหาร ถ้ามีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งก็จะขยายได้รวดเร็ว ชุมชนจะผลักดันกันเอง ไม่ใช่ทำเพื่อเสร็จ แต่ทำเพื่อให้สำเร็จ”

มะเขือกล้า..ดี นางคำปัน นพพันธ์(ซ้าย) ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล(กลาง) และนายกอตบ.เกาะเทโพ จ.อุทัยธานี
มะเขือกล้า..ดี นางคำปัน นพพันธ์(ซ้าย) ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล(กลาง) และนายกอตบ.เกาะเทโพ จ.อุทัยธานี

พริก มะเขือ ยี่ห้อกล้า…ดี

ขณะที่นายก อบต.เกาะเทโพ จังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า พื้นที่เกาะเทโพ เป็นพื้นที่น้ำล้อมรอบ น้ำท่วมทีนาน 3 เดือน พอน้ำลดชาวบ้านจะไปกู้หนี้ยืมสิน และปีที่แล้วหนักมากจริงๆ ชาวบ้านหมดเนื้อหมดตัว ที่นี่น้ำท่วมทุกปี พอน้ำลดก็หาเงินซื้ออาหารหาเงินลงทุน ที่นี่ชาวบ้านทำอาชีพทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก พอโครงการกล้า…ดีมา พร้อมกินได้กินเลย พร้อมปลูกก็ปลูกได้เลย พร้อมเพาะก็ไม่ต้องกู้ใครแล้ว ชาวบ้านอยู่ได้สบายๆ ชาวบ้านปกติเขามีข้าวอยู่แล้ว พร้อมกิน พร้อมปลูก เราเลี้ยงตัวเองได้สบายๆ พอมีพร้อมเพาะ ชาวบ้านยิ้มได้เพราะมีรายได้ ไม่ต้องกู้หนี้เขามาลงทุนใหม่

วันนี้ทุกคนเกทับกัน ใครขายได้เท่าไหร่ ชาวบ้านต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าใครไม่รู้ พอน้ำแห้งจะคิดถึงถนนหนทาง แต่ชาวบ้านคิดถึงรายได้เป็นอันดันแรก นี่คือคุณภาพชีวิตของเขาที่เขาต้องการ หากท้องไม่อิ่มชาวบ้านก็ไม่มีความสุข โครงการกล้า…ดีเป็นอะไรที่ลงตัวสำหรับชาวบ้าน สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน เพราะปกติ การช่วยเหลือให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นถนนหนทาง แต่ชาวบ้านก็ไปดิ้นรน ไปกู้เขา หาเงินมาลงทุนใหม่เอาเอง แต่โครงการนี้ตอบโจทย์ชาวบ้าน เป็นการให้ที่ยั่งยืน

“ตอนนี้ชาวบ้านเกาะเทโพ 80% ปลูกพริก มะเขือ เวลาไปขายที่ตลาดก็ถูกถามว่ามะเขืออะไร พริกอะไร ทุกคนก็บอกว่า กล้า…ดี เป็นยี่ห้อไปแล้ว ยี่ห้อ กล้า…ดี”

ทางด้านเกษตรกรจังหวัดสิงห์บุรีเล่าว่า “เดิมทีที่สิงห์บุรี ตอนที่คุณชายดิศนัดดาเริ่มไปชี้แจงไปสำรวจความต้องการ มีพี่น้องเกษตรกร 7 พันครัวเรือน 35 ตำบล ตอนนี้เพิ่มเป็น 9 พันครัวเรือน ชาวบ้านพอใจ อวดผลผลิตกัน จากการติดตาม ขณะนี้ผลผลิตกำลังออก มีรายได้เพิ่มขึ้น โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ และทางจังหวัดจะดำเนินการต่อไป เราวางแผนร่วมกับท้องถิ่น เรานำร่องให้ท้องถิ่น ชาวบ้านได้รับทราบแล้ว เราวางแผนทั้งจังหวัด เพาะกล้าที่ดอน แจกทั้งจังหวัด”

นางชุตินันท์ มณี เกษตรกร ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมือง จ.นครสวรรค์
นางชุตินันท์ มณี เกษตรกร ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมือง จ.นครสวรรค์

รายได้เป็นกอบเป็นกำ

นางชุตินันท์ มณี ชาวสวนในตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ชาวบ้านทำอาชีพเกษตรอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้นึกถึงผักสวนครัว โครงการกล้า…ดี เขาทำอย่างนี้ให้เราดู ปีนี้เราทำได้แล้ว ตอนนี้ผู้ใหญ่บ้านเตรียมเพาะเอาไว้แจก ไม่ต้องรอของแจกแล้ว ที่บ้านปลูกพริก 2 พันต้นในพื้นที่ 2 งาน ปลูกตั้งแต่เขาเริ่มแจกกล้าเมื่อพฤศจิกายน 2554 ปลูก 45 วัน ก็ออกดอกแล้ว ตอนนี้เก็บพริก 15 วันครั้ง ครั้งแรกได้ 300 กิโลกรัมๆ ละ 10 กว่าบาท

“เขาเพาะใส่ถาดมาให้ โตเร็วกว่าที่เราปลูกเอง ทำให้เราคิดพัฒนาตัวเอง เพาะแบบเขา ได้ผลผลิตไว เราปลูกเองกว่าจะมีดอก 3 เดือน แต่นี่ 45 วัน ก็ออกดอกแล้ว สำหรับพริก ถ้าน้ำไม่ท่วม บำรุงดีๆ ก็อยู่ได้นาน คราวหน้าเราเตรียมตัวได้เอง ซื้อเมล็ดพันธุ์ น้ำท่วม 3-4 เดือน เตรียมเพาะ พอน้ำลงเราปลูกได้เลย เมื่อก่อนต้องทำดิน ทำแปลง มันช้า คราวนี้เราจะเก่งขึ้น แข็งแรงขึ้น เตรียมพร้อมได้แล้ว”

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
โครงการกล้า…ยั่งยืน

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงโครงการกล้า…ดี ที่ได้ดำเนินการเป็นเวลา 4 เดือน (กลางเดือนตุลาคม 2554 – กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ) เพื่อช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง รวม 13 จังหวัด 78 อำเภอ 498 ตำบล 3,347 หมู่บ้าน มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 988,460 คน

ทั้งนี้ โครงการกล้า…ดีได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้รับเงินบริจาค 82,817,523.81 บาท ยอดค่าใช้จ่าย 40,088,541.50 บาท (ณ 13 กุมภาพันธ์) ค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมชุด 3 พร้อม (พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ)ได้แจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยอยู่ที่ 40 บาทต่อคน จากชุด 3 พร้อมสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ชาวบ้าน 667 บาท ต่อคน และเพิ่มรายได้อีกประมาณ 889 บาท ต่อคน

ทั้งนี้เงินที่เหลือ มูลนิธิจะนำมาต่อยอดศักยภาพของชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสร้าง “ชุมชนกล้า…ดี” ที่จะเป็นแบบอย่างการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป โดยมีทีมงานกล้า…ดีคอยให้การคำปรึกษาให้เกิดกระบวนการที่จะนำไปสร้างศักยภาพ การพึ่งพาตนเองในอนาคต