ThaiPublica > คอลัมน์ > คาดการณ์เศรษฐกิจโลก

คาดการณ์เศรษฐกิจโลก

4 กุมภาพันธ์ 2012


ภาวิน ศิริประภานุกูล
[email protected]

ในเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา สำนักใหญ่ 3 สำนักได้มีการออกรายงานที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์การเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2555 เผยแพร่ให้กับผู้คนทั่วไปได้รับทราบครับ โดยสำนักใหญ่ทั้ง 3 ดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารโลก (World Bank) องค์การสหประชาชาติ (UN) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

ผมขอเริ่มต้นจากรายงาน Global Economic Prospects ของธนาคารโลก ที่ได้มีการจัดแถลงข่าวเผยแพร่รายงานออกมาในวันที่ 18 มกราคม 2555 ในรายงานดังกล่าว มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลกลง โดยในปี 2555 มีการคาดการณ์ว่าระบบเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในระดับร้อยละ 2.5 และในปี 2556 จะขยายตัวในระดับร้อยละ 3.1 (ลดลงจากระดับร้อยละ 3.4 และร้อยละ 4 ตามลำดับ ในการคาดการณ์ครั้งก่อน)

ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการปรับลดการคาดการณ์ลง ก็คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรป โดยมีการคาดการณ์ว่าประเทศในกลุ่มยุโรปกำลังปรับตัวเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเราน่าจะเห็นการหดตัวลงของระบบเศรษฐกิจยุโรปในระดับร้อยละ 0.3 ซึ่งจะส่งผลให้ระดับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาในภาพรวมอยู่ในระดับร้อยละ 1.4 ในปี 2555 (จากเดิมที่มีการคาดการณ์เอาไว้ที่ระดับร้อยละ 2.7)

ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศในแถบยุโรปบ้างแล้ว ซึ่งส่งผลให้ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของบางประเทศ เช่น บราซิล อินเดีย รัสเซีย และตุรกี เป็นต้น อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ได้เคยมีการคาดการณ์เอาไว้อย่างชัดเจน โดยรายงานฉบับตัวกล่าวได้มีการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาลงสู่ระดับร้อยละ 5.4 สำหรับปี 2555 และร้อยละ 6 สำหรับปี 2556 (จากเดิมที่มีการคาดการณ์ระดับร้อยละ 6.2 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ)

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งในรายงาน Global Economic Prospects ของทางธนาคารโลก ก็คือ ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรปได้ลุกลามเข้าสู่ภาคการเงิน โดยในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ประเทศในกลุ่มพัฒนาจะมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นในการต่อกรกับปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของหลายๆประเทศในกลุ่มนี้ได้เข้าใกล้กับเพดานข้อจำกัดแล้ว ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็จะลุกลามไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและเงินทุนไหลเข้าจากประเทศพัฒนาเหล่านี้เป็นหลัก น่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องในระดับสูง

ภายหลังการแถลงข่าวของธนาคารโลก 1 วัน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ หรือ UN ESCAP ก็ได้จัดงานสัมมนาเปิดตัวรายงาน World Economic Situation and Prospects 2012 ที่องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดยเนื้อหาหลักของรายงานฉบับดังกล่าวอยู่ที่การคาดการณ์ระบบเศรษฐกิจโลก ในช่วงปี 2555 – 2556 ด้วยเช่นเดียวกัน

ในรายงานขององค์การสหประชาชาติฉบับนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตในระดับร้อยละ 2.6 ในปี 2555 และร้อยละ 3.2 ในปี 2556 ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับรายงานของธนาคารโลกเป็นอันมากครับ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานขององค์การสหประชาชาติฉบับนี้มีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในแง่ร้าย และสถานการณ์ในแง่ดีเอาไว้เพิ่มเติมอีกด้วย โดยในกรณีที่ผู้กำหนดนโยบายต่างๆในประเทศพัฒนาไม่สามารถจัดการกับปัญหาหนี้สาธารณะและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานได้อย่างทันท่วงที ระบบเศรษฐกิจโลกอาจลดระดับการเติบโตลงไปเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ในปี 2555 และร้อยละ 2.2 ในปี 2556

ในกรณีตรงกันข้าม ที่ผู้กำหนดนโยบายในภาคส่วนต่างๆของประเทศพัฒนาสามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนในวงกว้างว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ ระบบเศรษฐกิจโลกอาจสามารถเติบโตขึ้นได้ในอัตราร้อยละ 3.9 ในปี 2555 และร้อยละ 4 ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ผมอ่านรายงานฉบับนี้แล้วมีความรู้สึกราวกับว่าสถานการณ์ในแง่ดีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยเต็มทีครับ

สำหรับปัจจัยหลักๆที่จะสร้างความเสี่ยงให้กับระบบเศรษฐกิจโลกในรายงานขององค์การสหประชาชาตินั้น ก็หนีไม่พ้นไปจากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในแถบยุโรป เฉกเช่นเดียวกันกับรายงานของธนาคารโลก แต่นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว รายงานขององค์การสหประชาชาติดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานในประเทศพัฒนาเป็นอันมากอีกด้วย

ในปี 2554 ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของประเทศพัฒนาในภาพรวมปรับตัวขึ้นสู่ระดับร้อยละ 8.6 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในขณะที่ระดับปกติจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 6 นอกจากนั้นแล้ว สถานการณ์ของประเทศพัฒนาหลายประเทศดูเหมือนจะย่ำแย่กว่าที่ตัวเลขสถิติได้รายงานเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของอัตราการเข้าร่วมในกำลังแรงงานของผู้คน

นั่นคือ มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถหางานทำได้เป็นระยะเวลายาวนาน จนทำให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งหยุดที่จะหางานทำต่อไป ซึ่งทำให้คนกลุ่มหลังนี้ไม่ได้ถูกนับรวมเข้าไปในกำลังแรงงานของประเทศ มีการประมาณตัวเลขกันเอาไว้ว่าผู้คนราวร้อยละ 29 ไม่มีงานทำติดต่อกันเป็นช่วงเวลายาวนานกว่า 1 ปี โดยการไม่สามารถหางานทำได้อย่างยาวนานนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการปรับตัวลดลงของทักษะฝีมือแรงงานของผู้คนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลดทอนระดับทุนมนุษย์ของประเทศลงไป

ท้ายที่สุด ในวันที่ 24 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา IMF ได้แถลงข่าวเผยแพร่รายงาน World Economic Outlook Update ซึ่งมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลกในระดับร้อยละ 3.3 ในปี 2555 และร้อยละ 3.9 ในปี 2556 โดยจะสังเกตได้ว่าตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในรายงานของธนาคารโลกและองค์การสหประชาชาติเป็นอันมาก

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ของ IMF ก็อยู่ในระดับที่ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในครั้งก่อน ในช่วงเดือนกันยายน 2554 ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 สำหรับปี 2555 และร้อยละ 4.5 สำหรับปี 2556

โดยระบบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในแถบยุโรปยังคงถูกคาดการณ์ว่าจะหดตัวลงราวร้อยละ 0.5 ในปี 2555 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่อัตราร้อยละ 0.8 ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการคาดการณ์ของทั้ง 3 รายงานที่ผมกล่าวถึงในครั้งนี้ตรงกันที่กลุ่มประเทศในแถบยุโรปน่าจะประสบกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 2555 นี้ ถึงแม้ว่าสภาวะดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก

ในรายงานของ IMF ฉบับนี้ ประเทศพัฒนาในภาพรวมจะเติบโตในอัตราร้อยละ 1.2 ในปี 2555 และร้อยละ 1.9 ในปี 2556 ในขณะที่ ประเทศกำลังพัฒนาในภาพรวมจะเติบโตในอัตราร้อยละ 5.4 ในปี 2555 และร้อยละ 5.9 ในปี 2556 ตัวเลขดังกล่าวถือได้ว่ามีความใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ในรายงานของธนาคารโลกเป็นอันมากครับ ทั้งๆที่รายงานของทาง IMF คาดการณ์ตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกสูงกว่ารายงานของธนาคารโลกอย่างชัดเจน

ความเสี่ยงที่น่าจับตายังคงอยู่ที่ประเด็นการขยายตัวของวิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศในแถบยุโรปไปสู่ภาคการเงิน ในขณะที่รายงานจากทาง IMF กล่าวถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าที่ได้เคยคาดการณ์เอาไว้ของระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ พัฒนาการของหลายๆประเทศกำลังพัฒนากลับปรับตัวแย่ลงกว่าที่ได้เคยคาดการณ์เอาไว้

จะเห็นได้ชัดเจนครับว่าสำนักใหญ่ทั้ง 3 สำนักให้ภาพมุมมองของระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยจะดีนักในช่วง 1 – 2 ปีนี้ โดยระบบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในแถบยุโรปจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างความเสี่ยงให้กับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก

สำหรับมุมมองในแง่ดีนั้น ผมเห็นว่าแม้แต่ตัวเลขคาดการณ์ในแง่ร้ายในรายงานของทางองค์การสหประชาชาติ และ IMF (ซึ่งยังคงคาดการณ์ว่าระบบเศรษฐกิจโลกจะยังคงขยายตัวในระดับต่ำ) ยังดูเหมือนว่าจะไม่เลวร้ายเท่ากับช่วงที่เราเคยประสบกับวิกฤตซับไพร์ม ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2552 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวระบบเศรษฐกิจโลกประสบกับสภาวะหดตัวในอัตราร้อยละ 2.4

ในช่วงของสภาวะวิกฤตซับไพร์ม ระบบเศรษฐกิจโลกสามารถปรับตัวรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2553 ระบบเศรษฐกิจโลกกลับมาเติบโตในระดับร้อยละ 4 อีกครั้งอย่างรวดเร็ว ภายใต้การนำของประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว

มีความเป็นไปได้สูงครับว่าในครั้งนี้ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาจะสามารถปรับตัวรับมือกับสภาวะชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้ง แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่าประเทศพัฒนาหลายๆประเทศแทบจะไม่มีช่องว่างให้ดำเนินนโยบายกระตุ้นระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมไปจากระดับในปัจจุบันมากนักแล้ว

ธนาคารกลางสำคัญหลายๆแห่งของโลกได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาจนแตะระดับร้อยละ 0 ไปแล้วในปัจจุบัน ในขณะที่รัฐบาลของหลายๆประเทศพัฒนาทั่วโลกได้ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มไปจนชนระดับข้อจำกัดระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงครับที่การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้อาจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าในช่วงสภาวะวิกฤตซับไพร์ม หรือไม่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาในระดับที่สูงมากยิ่งขึ้น

ผมก็ได้แต่เป็นกำลังใจให้กับผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายหลักๆในโลกนี้ให้ “เอาอยู่” กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเป็นการ “เอาอยู่” ที่แตกต่างไปจากรัฐบาลไทยในช่วงปลายปีก่อนครับ