ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปฏิวัติแรงจูงใจในภาคการเงิน: เปลี่ยนโครงสร้างผลตอบแทน

ปฏิวัติแรงจูงใจในภาคการเงิน: เปลี่ยนโครงสร้างผลตอบแทน

28 กุมภาพันธ์ 2012


สฤณี อาชวานันทกุล

คนเราเดินด้วยแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา ชื่อเสียง อำนาจ ความดีใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ ความอยากทำงานให้ออกมาดี ฯลฯ

นับวันแรงจูงใจที่ขับดันบุคลากรในภาคการเงินยิ่งดูจะเดินผิดจังหวะกับคุณค่าของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ธนาคารหลายแห่งยังปล่อยสินเชื่อโดยดูแต่แนวโน้มผลกำไรที่โครงการหรือลูกค้าจะได้รับ ไม่ใส่ใจในแนวโน้มผลกระทบของโครงการนั้นๆ ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

พูดให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นคือ ธนาคารหลายแห่งมักจะปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่ทันทีที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับการอนุมัติ ไม่สนใจว่าระบบอีไอเอปัจจุบันยังไม่มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลเพียงพอ เช่น รายได้ส่วนใหญ่ของผู้จัดทำอีไอเออยู่ในรูป “ค่าความสำเร็จ” (success fee) ซึ่งได้รับหลังจากที่อีไอเอผ่าน โครงสร้างค่าตอบแทนแบบนี้ทำให้ผู้จัดทำอีไอเอมีแรงจูงใจสูงมากที่จะอยากให้อีไอเอผ่านอย่างเร็วๆ ตัวเองจะได้ได้รับค่าธรรมเนียมเร็วๆ และวิธีที่เร็วที่สุดคือ ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างลวกๆ และไม่ทำประชาพิจารณ์กับชุมชนที่จะได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านและครอบคลุม

โครงสร้างผลตอบแทนส่งผลต่อแรงจูงใจของผู้จัดทำอีไอเอฉันใด มันก็ส่งผลต่อมืออาชีพทุกสาขาฉันนั้น ตราบใดที่โครงสร้างผลตอบแทนไม่สอดคล้องกับคุณค่าของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม คนทำอาชีพต่างๆ ก็จะสร้างผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวเองอาจไม่รู้ตัว ไม่ใช่ว่าเป็น “คนเลว” แต่อย่างใด

หันมาดูภาคการเงิน โครงสร้างผลตอบแทนที่บิดเบี้ยวในอเมริกาและอีกหลายประเทศเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้สถาบันการเงินจำนวนมากไม่เพียงแต่ขายหลักทรัพย์อิงสินเชื่อซับไพรม์ ซึ่งตอนนี้ถูกเรียกว่า “สินทรัพย์พิษ” (toxic assets) ให้กับนักลงทุน แต่ยังถือหลักทรัพย์เหล่านี้ปริมาณมหาศาลไว้ในงบดุลของตัวเอง รากุราม ราจัน นักเศรษฐศาสตร์การเงินในดวงใจของผู้เขียน กล่าวว่า “ปรากฏการณ์นี้คือปัจจัยเหนือสิ่งอื่นใดที่เปลี่ยนการแฟบของที่อยู่อาศัยอเมริกันซึ่งจะกระทบอยู่ในวงจำกัด ให้กลายเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งรุนแรง”

รากุราม ราจัน
รากุราม ราจัน นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิคาโก อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

หลายคนโทษนักการเงินสมัยนี้ว่า “โลภมาก” กว่านักการเงินสมัยก่อน แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับราจานที่มองว่า “ความโลภหรือถ้าจะเรียกให้จืดกว่านั้นคือประโยชน์ส่วนตน เป็นพลังขับเคลื่อนธุรกรรมค้าขายอิสระทุกรูปแบบ มันเป็นสิ่งที่ถึงอย่างไรก็มี และไม่อาจอธิบายภาวะฟูและแฟบได้ ภาคเอกชนทำในสิ่งที่ทำตลอดมา นั่นคือมองหาความได้เปรียบ”

ราจันวิเคราะห์แรงจูงใจของนักการเงินสมัยใหม่และโครงสร้างผลตอบแทนที่จูงภาคการเงินให้เดินตกรางอย่างแหลมคมในหนังสือเรื่อง Fault Lines (ฉบับภาษาไทย สำนวนแปลโดยผู้เขียน จะตีพิมพ์ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 40 ปลายเดือนมีนาคมนี้) ดังความบางตอนต่อไปนี้ –

“ลองนึกภาพเทรดเดอร์ที่ขายชอร์ตหุ้นของบริษัทที่เขารู้สึกว่าจัดการห่วย (นั่นคือ เขาไปกู้เงินมาขายหุ้นที่ยังไม่มี เพราะคาดว่าราคาหุ้นตัวนั้นจะตกและต่อมาจะสามารถซื้อหุ้นคืนในราคาที่ต่ำกว่า ก่อนจะปิดดีลด้วยกำไรงามๆ) มีน้อยคนที่จะถูกประณามเท่ากับนักขายชอร์ต พวกเขาถูกมองว่าเป็นแร้งที่ทำนาบนหลังคน แต่พวกเขามีบทบาททางสังคมที่มีคุณค่าด้วยการริบทรัพยากรไปจากบริษัทที่จัดการห่วย บริษัทที่ราคาหุ้นตกฮวบไม่มีทางเพิ่มทุนหรือกู้เงินเพิ่มได้อย่างง่ายดาย และอาจถูกสถานการณ์บังคับให้เลิกกิจการ เทรดเดอร์ที่ขายหุ้นตัวนี้มองไม่เห็นพนักงานที่จะตกงานหรือความยากลำบากของครอบครัวพวกเขาหลังตกงาน สิ่งเดียวที่เขามองเห็นคือผลกำไรที่จะได้ถ้าสถานการณ์พิสูจน์ว่ามองขาด แต่การที่เขาไม่แยแสต่อผลพวงที่ใหญ่กว่าของการเทรดนี่เองคือปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิผลและไร้อคติ

“แต่จุดแข็งของระบบค้าขายอิสระนี้เอง – เงินตราคือตัววัดมูลค่าทั้งมวล – ก็เป็นจุดอ่อนของมันเช่นกัน ภาษิตละตินโบราณกล่าวว่า pecunia non olet แปลว่า “เงินไม่มีกลิ่น” ความที่เงินไม่มีตัวตน คือสามารถเปลี่ยนมือได้และต้นตอยากแก่การสืบค้น ก็ทำให้มันเป็นกลไกที่แย่มากสำหรับการชักนำกิจกรรมของพนักงานไปสู่เป้าหมายที่สังคมปรารถนา เทรดเดอร์ได้ผลตอบแทนเพราะชาญฉลาดกว่าคนอื่น หรือว่าเพราะซื้อขายตัดหน้าลูกค้า (ส่งคำสั่งตัวเองก่อนคำสั่งขนาดใหญ่ของลูกค้า เพื่อทำกำไรเมื่อคำสั่งของลูกค้าจะทำให้ราคาขยับ)? นายหน้าค้าสินเชื่อบ้านได้ค่าธรรมเนียมจากการนำเสนอทางเลือกที่มีเหตุมีผลให้กับผัวเมียมืออาชีพที่อยากต่อเติมบ้าน หรือจากการคะยั้นคะยอให้ผัวเมียชรารีไฟแนนซ์ด้วยสินเชื่อบ้านที่พวกเขาจ่ายไม่ไหว? แม้เส้นทางแรกจะดีกว่าแน่ เส้นทางหลังก็ง่ายกว่าสำหรับเทรดเดอร์หรือนายหน้า ในเมื่อเส้นทางที่ผิดทำเงินได้เหมือนกัน มีผลกระทบเฉพาะหน้าน้อยมาก และสั่นกระดิ่งเตือนน้อยอัน มันจึงเป็นเส้นทางที่ดึงดูดใจที่สุด

“ในกรณีทั่วไป เมื่อเงินเหลือเฟือหาง่าย ธนาคารกับผู้จัดการกองทุนก็แข่งขันกันอย่างรุนแรง ความจำเป็นที่จะต้องสร้างอัลฟา (ผลตอบแทนส่วนเกินที่สูงกว่าอัตราตลาด) ผลักให้พวกเขารับความเสี่ยงปลายแถว (tail risk คือความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดน้อยมาก แต่จะประสบผลขาดทุนมหาศาลถ้ามันเกิด) อย่างหนีไม่พ้น ในเมื่อความเสี่ยงปลายแถวเกิดจริงน้อยมากจนมันถูกปกปิดได้เป็นเวลานาน ผู้จัดการจึงอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขากำลังรับความเสี่ยงชนิดนี้อยู่ แต่ผลตอบแทนของมันสูงมาก เพราะคนจำนวนมากยินดีจ่ายเงินเยอะๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวินาศภัยมโหฬารในยามยาก ฉะนั้นถ้าหากผู้จัดการทำผลตอบแทนได้แต่นักลงทุนของเขาไม่ได้คำนึง (อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่ง) ถึงความเสี่ยงส่วนเพิ่มที่ผู้จัดการเอาเงินไปแบกรับ ผู้จัดการก็จะดูเหมือนอัจฉริยะและได้รางวัลมหาศาล พูดอีกอย่างคือ ความเต็มใจของตลาดการเงินสมัยใหม่ที่จะตกรางวัลเยอะมากให้กับผู้สร้างอัลฟาหายากนั้น ก็สร้างแรงจูงใจให้หลอกลวงนักลงทุนเช่นกัน

“ในทางทฤษฎี ตลาดควรสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงที่ดีและลงโทษการรับความเสี่ยงสูงเกินควร แต่ความเสี่ยงปลายแถวนั้นยากที่จะควบคุมด้วยเหตุผลสองข้อ ข้อแรก มันยากที่จะมองเห็นจนกว่าจะเกิด แม้แต่ในสายตาของคนที่รับมัน ข้อสอง เมื่อรับความเสี่ยงไปมากพอ ภาครัฐก็มีแรงจูงใจสูงมากที่จะแทรกแซงเพื่อบรรเทาผลกระทบ การแทรกแซงของภาครัฐไปลดวินัยของตลาด ส่งผลให้ตลาดสนับสนุนพฤติกรรมนี้มากกว่าเก่า นายธนาคารอาจถูกชักนำให้รับความเสี่ยงปลายแถวเมื่อตลาดคาดหวังว่ารัฐจะแทรกแซงในตลาดที่อยู่อาศัย และธนาคารกลางกับบริษัทประกันเงินฝากจะหนุนสภาพคล่องและการปล่อยกู้

“ถ้าหากเราคิดว่านายธนาคารฝ่าไฟแดง ทางออกนั้นก็ง่าย – เราควรเขียนใบสั่งหรือจับพวกเขาเข้าคุก แต่ถ้าหากเราสร้างไฟสัญญาณจราจรซับซ้อนซึ่งชี้ให้พวกเขาไปผิดทางล่ะ? เราอาจเถียงว่าพวกเขาควรจะใช้เข็มทิศทางศีลธรรมในกรณีนั้น และบางคนก็ใช้มัน แต่ก็อย่างที่ผมอธิบายก่อนหน้านี้ว่า ระบบคุณค่าของอุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบใช้เงินเป็นตัววัดทุกสิ่งทุกอย่าง ทางออกหายากกว่าเดิมมากถ้าหากข้อเท็จจริงคือไฟจราจรเสียทั้งระบบ”

กฎการเรียกคืนโบนัส (clawback)

ในหนังสือ Fault Lines ราจันเสนอวิธีปฏิรูปภาคการเงินหลายวิธี อาทิ การให้รัฐปรับปรุงตาข่ายสังคมเพื่อลดแรงกดดันที่จะให้ทำตัวเป็นผู้เล่นในตลาด ให้รัฐเลิกส่งสัญญาณว่าจะอุ้มภาคการเงิน และให้ภาคการเงินเองปรับปรุงโครงสร้างผลตอบแทนเพื่อเปลี่ยนแรงจูงใจให้อยากรับความเสี่ยงปลายแถวน้อยลง และคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวมากขึ้น ราจันเสนอว่า

“วิธีหนึ่งที่จะทำให้หน่วยธุรกิจบันทึกความเสี่ยงปลายแถวความน่าจะเป็นต่ำที่ผู้บริหารระดับสูงหรือผู้จัดการความเสี่ยงมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจมาเป็นต้นทุนของตัวเอง คือให้กันเงินโบนัสก้อนใหญ่ของหน่วยธุรกิจปีใดปีหนึ่งไว้ในบัญชีกันเงิน (escrow account) และมีเงื่อนไขว่าจะเรียกคืนโบนัส (clawback) ที่จ่ายไปแล้วได้ถ้าหากผลงานของหน่วยนี้ในปีต่อๆ ไปย่ำแย่ …ถ้าหากว่าปีนี้เทรดเดอร์ได้โบนัสสูงมาก ปีนี้เธอก็ควรได้รับมันจริงๆ เพียงเสี้ยวเดียวก่อน ส่วนที่เหลือถูกกันไว้ในธนาคารและจะทยอยจ่ายเป็นรายปีบนเงื่อนไขว่าดีลที่เธอทำจะไม่สูญเงินทั้งหมดที่หามาได้ในปีต่อๆ ไป การทำแบบนี้จะทำให้เทรดเดอร์มองไกลกว่าเดิม เกิดเฉลียวใจว่าความเสี่ยงปลายแถวที่เธอรับมานั้นจะระเบิดก่อนได้โบนัสหรือเปล่า ฉะนั้นจึงเพิ่มแรงจูงใจที่จะหลีกเลี่ยงมัน”

ปัจจุบัน เงื่อนไขการเรียกคืนหรือ clawback ที่ราจันและนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนเสนอ ได้รับการบรรจุเป็นกฏระเบียบของสถาบันการเงินขนาดใหญ่แทบทุกแห่ง ที่จริงกฎหมายอเมริกันฉบับล่าสุดที่ออกหลังวิกฤต คือกฏหมายดอดด์-แฟรงค์ บังคับให้บริษัทจดทะเบียนมีกฎเรียกคืนโบนัสของผู้บริหารสำหรับเฉพาะในกรณีที่มีการแก้ไขงบการเงินย้อนหลังด้วยเหตุว่าผิดกฏการรายงานทางการเงินเท่านั้น แต่เงื่อนไขเรียกคืนของบริษัทและสถาบันการเงินจำนวนมากไปไกลกว่ากฎหมาย คือระบุว่าบริษัทมีสิทธิเรียกคืนโบนัสได้ในกรณีที่ขาดทุน

สำนักงานใหญ่ธนาคาร UBS
สำนักงานใหญ่ธนาคาร UBS

ยกตัวอย่างเช่น กฏการจ่ายค่าตอบแทนของยูบีเอส สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิส ล่าสุดที่ประกาศใช้ในปี 2010 หลังเกิดวิกฤตการเงิน ระบุว่า พนักงานระดับใดก็ตามที่ได้โบนัสมูลค่าอย่างน้อย 2 ล้านเหรียญ (ราว 60 ล้านบาท) จะได้ทั้งก้อนก็ต่อเมื่อฝ่ายที่เขาทำงานให้มีผลกำไรต่อเนื่องติดกันสามปี คือเท่ากับธนาคารจะทยอยจ่ายโบนัสเป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่างนั้นถ้าฝ่ายขาดทุน ธนาคารมีสิทธิสั่งเพิกถอนหุ้น 10-50% ของหุ้นที่ให้เป็นโบนัสก่อนหน้านั้นได้

กฎใหม่ของยูบีเอสไม่ได้เป็นเพียงเสือกระดาษ – ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2012 คณะกรรมการมีมติเรียกคืนหุ้นโบนัส 50% ของส่วนที่จ่ายให้กับวาณิชธนกรค่าตัวแพงในปีที่แล้ว หลังจากที่ฝ่ายวาณิชธนกิจขาดทุนถึง 1,320 ล้านเหรียญในปี 2011