ThaiPublica > เกาะกระแส > โรงเรียนทางเลือกกับนวัตกรรมการเรียนการสอน การศึกษาไม่ใช่กระบวนการผลิตแบบง่ายๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่เหมือนกันจากโรงงาน

โรงเรียนทางเลือกกับนวัตกรรมการเรียนการสอน การศึกษาไม่ใช่กระบวนการผลิตแบบง่ายๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่เหมือนกันจากโรงงาน

18 กุมภาพันธ์ 2012


วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้จัดการสัมนาวิชาการประจำปี 2554 ในหัวข้อ “ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” งานสัมนานี้มีหัวข้อการสัมนาด้วยกัน 4 หัวข้อ คือ หัวข้อทื่ 1 การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง หัวข้อที่ 2 การสร้างความเชื่อโยงของการศึกษากับตลาดแรงงาน หัวข้อที่ 3 ระบบการบริหารการเงินเพื่อสร้างความรับผิดชอบในการศึกษา และหัวข้อสุดท้ายคือ โรงเรียนทางเลือกกับทางเลือกในการศึกษาของประชาชน (อ่าน “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” เปิดงานวิจัยแนะ 3 วิธียกระดับการศึกษา ประเมินเด็ก-ให้รางวัลครู-หนุนเอกชน)

สำหรับหัวข้อโรงเรียนทางเลือกกับทางเลือกในการศึกษาของประชาชน นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือก (Alternative School) ที่มีอยู่ในประเทศไทย ว่าเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย แต่มีระดับความเป็นอิสระจากรัฐบาลสูง และโดดเด่นตรงที่มีนวัตกรรมการเรียนการสอน (Innovation) ที่แตกต่าง สามารถทำให้เด็กมีการเรียนรู้อย่างสมดุล หลากหลาย ผ่านประสบการณ์จริง และผลการเรียนที่ออกมาของนักเรียนเป็นที่น่าประทับใจ อีกทั้งยังอยู่ภายใต้หลักสูตรแกนกลางและการกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ

นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือก ถูกก่อเป็นรูปแบบบนฐานความคิดและปรัชญาการศึกษาจากสำนักต่างๆ เช่น มอนเตสซอริ (Montessori) วอลดอล์ฟ (Waldorf) ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) และแนวคิด ศรีสัตยาไสบาบา เป็นต้น เนื้อหาและกระบวนการของแต่ละปรัชญาการศึกษาเหล่านี้จะแตกต่างกันออกไป แต่มีหนึ่งจุดเด่นที่เหมือนกันคือ ธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ทำให้การเรียนการสอนมีความหลากหลาย สามารถทดลองและผลิตวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ได้ตลอดเวลา โดยยึดเอาตัวผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญ ผู้เรียนสามารถคิดนอกกรอบได้ และทำให้มันเกิดขึ้นจริง

โดยจากผลงานวิจัยการศึกษาโรงเรียนทางเลือก ตัวอย่างโรงเรียน เช่น เพลินพัฒนา, ดรุณสิกขาลัย, อมาตยกุล, รุ่งอรุณ, ทอสี, สัมมาสิกขา, สันติอโศก, อนุบาลบ้านรัก เป็นต้น  มีการส่งแบบสอบถามในการถามสถานะด้านต่างๆ ของโรงเรียนทางเลือกไปยัง 38 โรงเรียนที่ตั้งไว้ ได้รับกลับมา 14 โรงเรียน (เป็นช่วงน้ำท่วม) และได้มีการจัดการประชุมระดมสมองระหว่างผู้ปกครองและครู ผู้บริหาร รวมทั้งการลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกในโรงเรียน ได้แก่ เพลินพัฒนา, ดรุณสิกขาลัย และอมาตยกุล

เป็นการศึกษาที่การกระจายไปในโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จนถึงใหญ่พิเศษ นักเรียนที่ได้ทำการศึกษาวิจัย เป็นนักเรียนอนุบาล 1,521 คน ประถมศึกษา 3,369 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 866 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 606 คน จากภาพที่เห็น เชื่อว่าจะสะท้อนภาพการศึกษาจริงของโรงเรียนทางเลือกเมืองไทยได้พอสมควร

ทั้งนี้ ภูมิหลังทางเศรษฐกิจของนักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนทางเลือกนี้ แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรก คือ ค่าเทอมถูกหรือไม่เก็บค่าเล่าเรียน ผู้ปกครองมีรายได้ไม่สูงนัก ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหรือรับจ้างรายวัน แบบที่สอง คือ ค่าเทอมสูง ผู้ปกครองส่วนใหญ่รับราชการหรือมีธุรกิจส่วนตัว

ในด้านความเป็นอิสระ โรงเรียนทางเลือกมีความเป็นอิสระจากการควบคุมดูแลของรัฐบาลในด้านต่างๆ คล้ายกับโรงเรียนเอกชนทั่วไป เช่น การบริหารจัดการโรงเรียน การเงิน และหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ยังมีอุปสรรค เช่นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ไม่ยืดหยุ่นมากพอสำหรับโรงเรียนทางเลือก รวมไปถึงระบบประกันคุณภาพมาตรฐานของรัฐบาล

จากการวิเคราะห์ ความเป็นอิสระของโรงเรียนทางเลือกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมและการบริหารทรัพยากรที่จำกัด แต่ 2. ในกลุ่มที่ไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จะเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนได้สูงแต่ไม่เกินร้อยละ 20 ตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ และมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการทรัพยากรมาก ซึ่งทำให้โรงเรียนทางเลือกในกลุ่มแรก (ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากทางรัฐบาล) มีรายได้จากการบริจาคเป็นหลัก และโรงเรียนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รายได้หลักร้อยละ 99 มาจากค่าธรรมเนียมการเรียนการสอน

ด้านความรับผิดชอบต่อผู้ปกครอง โรงเรียนทางเลือกมีความรับผิดชอบแบบสายสั้นต่อผู้ปกครองผ่านกลไกทางการตลาด (ค่าธรรมเนียม) และเงินอุดหนุนรายหัว ทำให้ผู้ปกครองในโรงเรียนทางเลือกที่พึ่งพิงค่าธรรมเนียมเป็นหลัก มีบทบาทของการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการมากกว่า

ส่วนเรื่องนวัตกรรมการเรียนการสอน โรงเรียนทางเลือกมีลักษณะเด่นของการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป ได้แก่ ห้องเรียนเล็ก ใช้ครูจำนวนมากดูแลนักเรียนจำนวนน้อย และครูมีการศึกษาที่สูง มีการใช้ประโยชน์จากนักวิชาการภายนอกอย่างคุ้มค่า ตัวอย่าง โรงเรียนเพลินพัฒนา การเรียนการสอนในห้องเรียนมีครู 2 คน คนหนึ่งสอน อีกคนหนึ่งก็จะทำหน้าที่สังเกตพฤติกรรมและทำการประเมิน ทำงานร่วมกันเป็นบัดดี้ และก่อนจะเข้ามาสอนได้ ก็จะมีการฝึกอบรมครูแต่ละคนมาอย่างเข้มงวดมาก

ตัวอย่าง โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนเฉพาะมัธยมปลาย ภายใต้ปรัชญาการศึกษาบูรณาการแบบองค์รวม (Holistics Integration) นักเรียนที่นี่ไม่ได้เรียนในรูปแบบ 8 กลุ่มสาระวิชาหลักโดยตรง แต่บูรณาการไว้ใน 6 วิชาหลัก ได้แก่ วิวัฒนาการของระบบจักรวาลและระบบสุริยะ, วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต, โลกของเรา, พลังงาน, คมนาคมและการสื่อสาร และที่อยู่อาศัย โดยมีวิธีการเรียนรู้คือ การผูกโยงความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่อง (Story Based Learning) และการลงมือทำ (Learning By Doing)

ที่น่าสนใจคือ จากผลการสอบ O-NET ของนักเรียนโรงเรียนทางเลือกที่ได้ทำการศึกษา พบว่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน หรือใกล้เคียงกับโรงเรียนสาธิต (จากข้อมูลปี 2553) ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับโรงเรียนทางเลือกอย่างโรงเรียนอมาตยกุล ที่ใช้วิธีการจับฉลากนักเรียนเข้ามาแทนการสอบคัดเลือก คะแนนสอบ O-NET ที่ออกมายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศ

แม้ว่าการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือก ยังคงเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาอยู่ แต่โรงเรียนทางเลือกได้เปิดความคิดที่ว่า การศึกษาไม่ใช่กระบวนการผลิตแบบง่ายๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่เหมือนกันจากโรงงาน ผลสอบของนักเรียนอาจเป็นตัวช่วยบ่งชี้ได้ว่า โรงเรียนทางเลือกสามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กตามมาตรฐานที่เป็นกลางได้ แม้ผลลัพธ์ดังกล่าวจะไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาในโรงเรียนทางเลือกก็ตาม

ทั้งนี้ ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของโรงเรียนทางเลือกคือ ปรัชญาการศึกษาของโรงเรียน ผู้นำและทรัพยากรในการจัดการศึกษา คุณภาพของครู นวัตกรรมด้านการสอน การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง รวมไปถึงกฎกติกาของภาครัฐ และสภาพแวดล้อมนอกห้องเรียนของโรงเรียนด้วย

โดยโจทย์หลักที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทยก็คือ เราจะทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากโรงเรียนทางเลือกได้อย่างเต็มที่ และจะทำอย่างไรให้โรงเรียนทางเลือกสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมไทย เพราะในเมื่อเราเห็นแล้วว่าโรงเรียนทางเลือกมีความน่าสนใจ และบรรยากาศการเรียนการสอนก็สนุก สร้างศักยภาพให้เด็กได้อย่างเต็มที่