ThaiPublica > คอลัมน์ > ปีงูใหญ่ในเขาวงกต

ปีงูใหญ่ในเขาวงกต

27 มกราคม 2012


ดร. วิรไท สันติประภพ
[email protected]

คงจะไม่สายเกินไปที่จะสวัสดี ต้อนรับปีงูใหญ่กับท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เมืองไทยต้องเผชิญกับเรื่องร้ายๆ แบบเข็มขัดสั้น(หรือคาดไม่ถึง)อยู่หลายเรื่อง ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นคงทางสังคม ความถดถอยทางเศรษฐกิจ และกำลังใจของคนไทย นักโหราศาสตร์ชื่อดังหลายคนได้พยากรณ์ว่าในปี 2555 นี้ คนไทยส่วนใหญ่จะหัวเราะไม่ออก เพราะจะเกิดเรื่องร้ายแรงมากกว่าเดิมตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ การเผชิญหน้าทางการเมือง หรือความถดถอยทางเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าคนที่ได้ยินคำพยากรณ์เหล่านี้คงจิตตก แล้วตั้งคำถามว่าปี 2555 นี้จะอยู่กันได้อย่างไร

ผมไม่แน่ใจว่านักโหราศาสตร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ จะพยากรณ์อนาคตแม่นกว่ากัน แต่ทุกช่วงปีใหม่ นักเศรษฐศาสตร์มักถูกถามคล้ายกับนักโหราศาสตร์ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร สำหรับปีงูใหญ่ 2555 นี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น เมืองไทยก็คงหนีไม่พ้นเป็น “งูใหญ่ในเขาวงกต” แต่ถ้าเกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นอีกเหมือนกับปีที่ผ่านมา เราคงหนีไม่พ้นเป็น “งูใหญ่จมน้ำในเขาวงกต”

ทำไมผมถึงคิดว่าเมืองไทยในปี 2555 จะมีลักษณะเป็น “งูใหญ่ในเขาวงกต” ที่เหมือนงูใหญ่เพราะสังคมและเศรษฐกิจไทยขณะนี้เคลื่อนตัวได้ช้า ค่อยเป็นค่อยไป กินเหยื่อเข้าไปแต่ละครั้ง ต้องนอนรอให้ย่อย และต้องหยุดพักผ่อนเป็นช่วงๆ ไม่ปราดเปรียวเหมือนกับงูทั่วไป นอกจากนี้งูใหญ่ไม่ค่อยมีพิษ จึงเป็นเป้าให้ศัตรูโจมตีได้ง่าย ส่วนที่เห็นว่าเหมือนอยู่ในเขาวงกตนั้น เป็นเพราะปัญหาที่สังคมและเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ไม่มีทางออกที่เห็นได้โดยง่าย ต้องค่อยๆ คลำทางไปทีละชั้น ถ้าโชคดีก็จะใกล้กับทางออกมากขึ้น แต่หลายเรื่องดูเหมือนว่าจะชนทางตัน หรือวนกลับมาที่เดิม

มีอย่างน้อย 4 ปัจจัยที่จะทำให้สภาพแวดล้อมในปี 2555 เป็นเขาวงกตสำหรับเมืองไทย ปัจจัยแรก เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าตัวเลขหลายตัวของเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มดีขึ้น แต่อเมริกายังมีคนว่างงานจำนวนมาก และรัฐบาลเริ่มขาดเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้จะมีปัจจัยการเมืองมาคอยปัดแข้งปัดขาไม่ให้รัฐบาลอเมริกาบริหารเศรษฐกิจได้เต็มที่ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในช่วงปลายปี

ส่วนเศรษฐกิจยุโรปยังขาดแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่ชัดเจน รัฐบาลยุโรปหลายประเทศมีหนี้ครบกำหนดจำนวนมากในปี 2555 และต้องการกู้เงินเพิ่ม แต่ตลาดเงินตลาดทุนยังไม่มั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องจ่ายปรับสูงขึ้น เป็นการซ้ำเติมฐานะการคลังของประเทศเหล่านี้ให้แย่ลงไปอีก รัฐบาลบางประเทศอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือต้องตัดสินใจออกจากเงินยูโร ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในปี 2555 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านี้อยู่ จะสร้างความผันผวนรุนแรงในตลาดเงินและตลาดทุนโลก เหมือนกับที่เกิดขึ้นในปี 2554

นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกจะได้รับอิทธิพลจากอเมริกาและยุโรปแล้ว ในปี 2555 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดียมีแนวโน้มชะลอลง ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจีนและอินเดียเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและเศรษฐกิจโลก ถ้าเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจจีนและอินเดียเบาลงในขณะที่เครื่องยนต์หลักๆ จากอเมริกาและยุโรปยังไม่เร่งขึ้นแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นที่ธุรกิจส่งออกของไทยจะต้องเผชิญกับเขาวงกตที่มีช่องทางแคบขึ้น และมีกำแพงซับซ้อนมากขึ้น

ปัจจัยที่สอง ตลาดเงินตลาดทุนโลกจะต้องเผชิญกับสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากที่ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ อัดฉีดเข้ามาผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงกลับมีสภาพคล่องตึงตัวเพราะสถาบันการเงินยังอ่อนแอ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลประเทศยุโรปในสัดส่วนสูง

นอกจากนี้สถาบันการเงินที่มีเครือข่ายข้ามประเทศจะต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ๆ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้เงินกองทุนที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดมาก สภาพคล่องส่วนเกินจึงตกค้างอยู่ตามกองทุนตลาดเงินและไม่ไหลไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง จะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ บิดเบือนและผันผวนได้สูง ไม่ว่าจะเป็นราคาทองคำ ราคาหุ้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงจะหมุนเป็นรอบๆ ไม่เป็นไปตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เช่น เศรษฐกิจอเมริกายังเปราะบางแต่ค่าเงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้น หรือจีนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกแต่ตลาดหุ้นจีนกลับติดลบกว่าร้อยละ 20 ในปีที่ผ่านมา

ปัจจัยที่สามการบริหารเศรษฐกิจภายในประเทศจะรักษาสมดุลได้ยากขึ้นระหว่างการใช้ทรัพยากรของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น (โดยเฉพาะผ่านมาตรการประชานิยมรูปแบบต่างๆ) กับการลงทุนและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะเป็นฐานให้เศรษฐกิจไทยแข่งขันได้ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับนโยบายประชานิยมมากขึ้น จนบางพรรคลืมคำว่า “ปฏิรูป” และ “วินัย” ส่งผลให้ปัญหาระยะยาวของประเทศไม่ได้รับการแก้ไขและทำให้สถาบันหลักของประเทศอ่อนแอลงอีกด้วย

นอกจากนี้ เราจะเห็นการขาดเอกภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างผู้กำหนดนโยบายเพราะเศรษฐกิจในประเทศจะอ่อนแรงลง ทุกหน่วยงานจะแย่งกันใช้เงินที่มีจำกัดเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ปัจจัยนี้จะเป็นกำแพงเขาวงกตสำคัญที่จะไม่สามารถทำให้เมืองไทยหาทางออกได้อย่างแท้จริง เศรษฐกิจไทยจะคงเป็นงูใหญ่เลื้อยหาทางออกไปเรื่อยๆ ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้ปฏิรูปทำลายกำแพงกันอย่างเป็นระบบ

ปัจจัยสุดท้ายจะเกิดจากการเมืองในประเทศ ปัจจัยนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่รุนแรงที่สุด และอาจสร้างแรงกดดันมากกว่าสามปัจจัยข้างต้น บรรยากาศการเมืองในประเทศไม่ว่าจะเป็นความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 112 การลุแก่อำนาจของผู้มีอำนาจรัฐบางคน ปัญหาคอรัปชั่น การครบกำหนด 5 ปีของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ตลอดไปจนถึงการทำงานแบบใต้ดินที่เริ่มมีลักษณะยั่วยุ ทดลองพลัง และบีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถทนได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ปั่นป่วนทางการเมืองขึ้นคล้ายกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาวงกตของสังคมไทยในอนาคตจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น มีกำแพงใหม่ๆ เกิดขึ้น และช่องทางออกแคบลง

เมืองไทยจะมีลักษณะคล้าย “งูใหญ่ในเขาวงกต” ที่อยู่ในสภาวะเปราะบางและใช้เวลาคืบคลานหาทางออก เราอาจจะทำอะไรไม่ได้มากกับสภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เราต้องช่วยกันประคับประคองและหยุดยั้งไม่ให้กำแพงเขาวงกตซับซ้อนขึ้น หรือทางออกแคบลง

แม้ว่าปี 2555 นี้ จะน่าเป็นห่วงในหลายๆ ด้าน แต่ปี 2555 เป็นปีที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นปีแห่งพุทธชยันตีหรือปีที่พระพุทธศาสนามีอยู่ครบ 2,600 ปีพอดี พระพุทธศาสนามีอายุนานกว่าเมืองไทยและอีกหลายประเทศ ถ้าคนไทยนำเอาหลักธรรมมาปฏิบัติจะช่วยทำให้เราเข้าใกล้ทางออกจากเขาวงกตได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหลักธรรมในเรื่องของการมี “สัจจะ” พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา มี “เมตตา” คำนึงถึงส่วนรวม เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ลดการเบียดเบียนคนไทยด้วยกัน มี “ขันติ” อดทนอดกลั้นไม่ใช้ความรุนแรง มี “วิริยะ” ที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำไม่ปล่อยให้ประเทศเป็นไปตามยถากรรม และที่สำคัญต้องมี “สติ” และ “ปัญญา” ที่จะวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะหลงเชื่อนักโหราศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการเมืองบางคนที่ชอบปลุกระดมสร้างความแตกแยก คนไทยต้องคิดถึงผลที่จะเกิดต่อประเทศในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนในระยะสั้น

ถ้าเราไม่ช่วยกันใช้ธรรมประคับประคองประเทศแล้ว เมืองไทยจะอ่อนไหวขึ้นและอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ในขณะที่เขาวงกตจะซับซ้อนมากขึ้น สถานการณ์ “งูใหญ่ในเขาวงกต” จะอยู่กับเราอีกนานจนอาจกลายเป็น “สวนสัตว์ในเขาวงกต” ครบทั้ง 12 ราศีก็ได้

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเศรษฐศาสตร์พเนจร น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 มกราคม 2555