ThaiPublica > คนในข่าว > หนังดีๆ เปลี่ยนโลกได้.. กับ อิ๊ม อรุณี ศรีสุข

หนังดีๆ เปลี่ยนโลกได้.. กับ อิ๊ม อรุณี ศรีสุข

18 มกราคม 2012


“หนังที่ดีจะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงคนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะนำเสนอเรื่องในมุมมองไหน อย่างการปฏิวัติหรืออะไรก็ตาม แสดงให้เห็นว่าหนังเป็นตัวบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย แม้กระทั่งเล่าหนังย้อนยุค เราก็ยังต้องใส่ความคิดของเราให้สมัยปัจจุบันลงไปด้วย หนังมันเป็นตัวบ่งบอกความคิดของในแต่ละยุค”

อิ๊ม อรุณี ศรีสุข หญิงสาวร่างเล็กแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่อยากทำให้โลกดีขึ้น ยิ่งโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างไม่มีวันหยุด ยิ่งทำให้โลกและสังคมเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่พัฒนาถอยหลังคือจิตใจมนุษย์ สะท้อนจากภัยพิบัติ วิกฤตเศรษฐกิจและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้คนหลายๆกลุ่มที่มีความชอบความเชี่ยวชาญแต่ละด้านรวมตัวกันเพื่อกอบกู้สังคมให้ดีขึ้น

“อิ๊ม” คลุกวงในวงการหนังมายาวนาน มีผลงานการควบคุมงานผลิตเรื่อง “พุ่มพวง” ร่วมกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว กำกับการแสดงโดย บัณฑิต ทองดี เรียกน้ำตาจากผู้ชมในโรงภาพยนตร์อย่างล้นหลาม และ “ฝนตกขึ้นฟ้า” หนังอาร์ตคุณภาพดีของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง อีกทั้ง อิ๊มยังเป็น 1 ใน 5 ผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์ House ที่ RCA โรงหนังที่เอาใจคอหนัง ซึ่งปัจจุบัน เธอเป็นหนึ่งในทีมงานสร้างโปรเจกต์หนังอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการ  Thailand Script Project ร่วมกับผู้กำกับชื่อดังหลายคนของวงการหนังไทย และเป็นเจ้าของร้านอาหารบาร์บาหลี ถนนพระอาทิตย์อีกด้วย

ด้วยสังคมที่บิดเบี้ยวมากขึ้น คนที่อยากจะเห็นสังคมดีขึ้น พยายามมองหาพลังขับเคลื่อนในการซ่อมสร้างสังคม เมื่อ “สื่อ” มีอิทธิพลในการทำให้สังคมบิดเบี้ยว ฟูมฟักเยาวชนแบบผิดที่ผิดทาง ขณะเดียวกันสื่อมีอิทธิพลในด้านบวกเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและสาระ ว่าต้องการจะชักชวนและชี้นำอย่างไร ดังนั้น หลายส่วนที่เล็งเห็นปัญหานี้จึงหวังว่า “สื่อ” ที่ดีจะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ซึ่ง “อรุณี ศรีสุข” ได้ถ่ายทอดสิ่งที่เธอคิดและทำกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า

ไทยพับลิก้า: ทราบมาว่าได้ทำโครงการเพื่อเด็กๆ ได้ใกล้ชิดธรรมะ โดยการเล่าเรื่องผ่านหนัง

เป็นโครงการ ผลิตหนังสั้นธรรมะ เริ่มต้นจากการที่เราเขียนโปรเจกต์ ไปเสนอกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสื่อกับเด็ก และสามารถจับต้องได้ เรียนรู้ได้ง่ายๆ เริ่มทำที่สงขลากับเด็ก 90 คน พอเราทำโครงการเสนอเรียบร้อยแล้ว ทางกระทรวงฯ เห็นว่าดี แต่ก็เปลี่ยนไปจ้างโปรดักชั่นเฮ้าส์อื่น

หลังจากนั้น ได้คุยกับพี่ที่สนิทคนหนึ่งในกระทรวงฯ เขาจึงแนะนำไห้ไปคุยกับท่านรองอธิบดีกรมศาสนาในสมัยนั้น เป็นโครงการที่เราเสนอกรมศาสนาว่า อยากทำให้เด็กมีความสนใจที่จะเข้าวัด โดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อ พอคิดโปรเจกต์ได้ เราก็กลับไปดีลกับกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีวัฒนธรรมจังหวัดอยู่แล้ว เราเน้นการสื่อสารโดยดึงวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดออกมาให้เห็น และเดินทางเวิร์คช็อปให้เด็กๆ ทำแบบนี้มา 4 ปี เด็กๆ เขาก็นำไปต่อยอดกันเอง บางที่รุ่นพี่ก็ไปขอครู ให้เราเข้าไปสอนรุ่นน้องต่อๆ ไป

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่ได้จากการไปลงพื้นที่กับเด็กๆ

เราทำโปรเจ็คไปทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นแต่ละภาค เริ่มที่ภาคใต้ ภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง กระบี่ ภาคอีสานก็ไป ขอนแก่น อุดร หนองคาย กาฬสินธุ์ ภาคตะวันตก ระนอง ชลบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และภาคเหนือก็ ลำปาง แพร่

โดยการทำเวิร์คช็อป เราลงไปในพื้นที่ 5 วัน ให้แต่ละคนรู้ว่าใครมีหน้าที่อะไรบ้าง และแต่ละคนควรทำอะไร ใครเก่งอะไรก็ทำหน้าที่นั้น คนไหนพูดเก่งมีพ่อเป็น อบต. ก็เป็นโปรดิวเซอร์ได้ คนไหนจัดโต๊ะเก่งก็เป็นฝ่ายอาร์ต คนไหนแต่งตัวสวยก็เป็นสไตลิสต์ คนไหนถ่ายรูปเก่งก็เป็นตากล้อง เป็นการอธิบายที่ง่ายๆ จากนั้นก็ให้เวลา เด็กๆ 1 เดือน ในการถ่ายทำ แล้วค่อยกลับมาใหม่อีกครั้งเพื่อดูผลงาน

ปีแรกที่ทำ ขอที่จะไม่ไปยะลา เพราะกลัวจริงๆ ตัวอย่างกรณีครูจูหลิง เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรกับเรา คนรอบข้างและครอบครัวก็เป็นห่วง แต่ในขณะที่นั่งปรึกษากัน ก็มองหน้ากัน อ้าว ถ้าเราไม่ไป แล้วใครจะไปล่ะ เด็กๆ ที่นั้น ก็ต้องการโอกาสเหมือนกัน นี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วก็ได้ ที่เราจะได้ทำ สรุปเราก็ตัดสินใจไป เชื่อไหมว่า ไม่เคยนอนหลับได้เลยซักวัน บรรยากาศหลอนมาก พูดไม่ถูกเลย พอ 1 ทุ่ม ทุกคนไม่มีใครกล้าออกจากบ้านแล้ว จะตื่นเช้า มาตักบาตรก็กลัวโดนยิง แต่เด็กๆ ที่นั่นเขาดีใจมาก ที่เราไป พวกเด็กๆ ก็ดูแลเราดีมากตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น

ล่าสุด เราไปพัทลุง เด็กที่เข้าโครงการประมาณ ม. 3 และที่นั่นฝนตกตลอดเวลา แต่เด็กๆ เขาก็สู้มาก ลุยกันตลอด เพราะเราอยู่ที่นั่น แค่ 3 วัน มีเวลาให้เด็กทำงานกันแค่นั้น เด็กตัวเล็กพวกนี้ สู้ใจขาดเลย ลุยทำงานจนเสร็จ ทั้งที่ฝนตกตลอดเวลา

ผู้อำนวยการโรงเรียน ก็เลี้ยงดูเราอย่างดี เพราะเขาบอกว่า โครงการแบบนี้ดีมาก ให้เด็กใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เด็กได้เรียนรู้ได้ลงมือปฏิบัติจริง แล้วถ้าไม่มีกิจกรรมดีๆ ให้เด็กทำ แล้วเด็กจะเอาเวลาไปทำอะไร ไม่ติดเกมก็ติดยา อีกอย่างการทำงานร่วมกัน เด็กๆ จะได้รับรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง อย่างคุณเป็นผู้กำกับ คุณก็ไม่เพียงแต่ชี้นิ้วสั่ง แต่คุณต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร เขาถึงจะทำตามที่เราบอก คุณต้องรู้จักให้เขาก่อน แล้วเขาถึงจะให้เรา ต้องมีจิตวิทยาและความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนในกอง มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ต้องเข้าใจกัน แต่สิ่งที่สำคัญ ผู้กำกับก็ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ และต้องให้ทุกคนเชื่อในสิ่งที่ตัดสินใจ ทำยังไงให้เขามองว่าภาพที่เรามองมันสวยจริง เพราะฉะนั้นผู้กำกับจะต้องเป็นคนที่ทุกคนรักมาก

แต่ก็มีบางอย่างที่ทำให้รู้สึกแย่เหมือนกัน เราเห็นว่าครูที่เป็นผู้ใหญ่ เขาโกงเงินเด็ก ครูถือเงินไว้ไม่ให้เด็กใช้ เด็กรอเงิน รออาหารนาน เพราะครูมาช้ามาก ทางเราก็พูดกับครู เขาก็ไม่พอใจ ถึงขนาดครูไปฟ้อง ผอ. ว่าไม่ให้เด็กมาทำกิจกรรมแล้ว เพราะเด็กไปต่อต้านครูไม่เชื่อฟัง เรื่องแบบนี้มันเหมือนเป็นโชคนะ ได้ครูดีก็ดี แต่ถ้าไม่ดีก็โชคร้ายไปเลย

ในเรื่องการใช้เงิน เราก็จะสอนเด็กว่า การใช้เงินในการถ่ายทำ คุณต้องมีเงินกองกลาง สำหรับถ่ายทำ ให้โปรดิวเซอร์ถือเงิน แล้วลองคิดวิธีการจัดการเงินให้มันคุ้มที่สุดที่ เท่าที่จะทำได้

ที่มา httpwww.youtube.comwatchv=rq_PKWjIQ_k
คลิปวิดิโอการถ่ายทำหนังสั้นธรรมะของเด็กๆ ที่มาภาพ : httpwww.youtube.comwatchv=rq_PKWjIQ_k

ไทยพับลิก้า: เด็กๆ ส่วนมากทำหนังเกี่ยวกับอะไร

ส่วนมากเด็กจะทำเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชนของตัวเอง เรื่องรอบๆ ตัว เราบอกเด็กไว้ว่าเราควรทำเรื่องที่เรารู้ อย่าทำเรื่องไกลตัวที่เราไม่รู้ เพราะเราจะไปต่อไม่ได้ เหมือนอย่างตอนเราทำหนัง เด็กที่สงขลาทำเรื่องหนังตะลุงที่กำลังจะจากไป เพราะเด็กๆ ไม่ค่อยดูหนังตะลุงแล้ว พ่อแม่ก็ดีมากเลย จ้างหนังตะลุงจริงๆ มาแสดง ชาวบ้านมาดูกันจริงเลย เพื่อให้เด็กๆ ได้มีสถานการณ์จริงในการถ่ายทำ

อย่างที่ขอนแก่นนี่ได้รางวัลชนะเลิศเลย เขาสร้างหนังจากเรื่องเล่า เด็ก ม. 4 ทำกันเองหมด ต้องแสดงเป็นพระ ก็โกนผม โกนคิ้วกันจริง ฉากในวัด ในโรงพักก็ทำได้หมด เป็นเรื่องของเด็กที่เขาคิดว่าแม่ทิ้งไป แต่จริงๆ แล้วแม่ออกไปขโมยอาหารให้ลูกกินเพราะบ้านจนมาก แล้วถูกตำรวจจับ ภาพที่สื่อออกมาได้อารมณ์มาก ลูกวิ่งร้องไห้ตามหาแม่ ที่ถูกตำรวจจับ แล้วพอเหนื่อย ก็ไปหยุดพักเผลอหลับที่วัด พอหลับตื่นมา เห็นคนใส่บาตร ก็เลยนึกได้ว่า วิธีเนี่ยแหละที่จะทำให้เราอยู่รอด ก็เลยบวช พอบวชแล้วทุกวันก็จะเอาข้าวของจากวัดเดินเข้าไปในป่า แล้วไปเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อนำข้าวของไปให้แม่ที่โรงพัก เด็กวัดเห็นพฤติกรรมแปลกๆ มองว่ามันไม่ถูกต้อง มาวันหนึ่งจึงตามไป เลยเห็นว่าทั้งหมดที่ทำไปเพราะเอาไปให้แม่ เรื่องนี้เลยเป็นประเด็นให้ตั้งคำถามกับกรมศาสนา ว่าผิดไหม จริงๆ แล้วศาสนาสอนให้คนทำอะไร

ไทยพับลิก้า: เพราะอยู่กับเด็กๆ ที่มีความมุ่งมั่นเหล่านี้มาก จึงมีแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่อง “พุ่มพวง”

การที่ได้อยู่กับเด็กๆ พวกนี้แหละค่ะ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำหนังเรื่อง “พุ่มพวง” เราเคยได้อ่านหนังสือเรื่อง “ดวงจันทร์ที่จากไป” ในฉากที่เด็กหญิงน้ำผึ้งไปประกวดร้องเพลงกับพ่อ ด้วยความที่น้ำผึ้งเป็นนักล่ารางวัลมาเกือบหมด จนงานนี้ผู้จัดเดินมาบอกพ่อว่า ให้กลับบ้านไปเถอะ ไม่ต้องร้องเพลงแล้ว เพราะถ้าน้ำผึ้งร้อง คนสมัครคนอื่นๆ เขาจะไม่ร่วมประกวด การประกวดจะไม่เกิดขึ้น ขณะนั่งซ้อนมอเตอร์ไซด์พ่อกลับบ้าน น้ำผึ้งร้องไห้บอกพ่อว่า แล้ววันนี้เราจะเอาอะไรกิน เพราะเงินรางวัลที่ได้จากการประกวดคือเงินที่ใช้เลี้ยงครอบครัว แล้วเสียงเพลงนักร้องบ้านนอกก็ขึ้น มันเป็นภาพที่แบบว่า ยังไงเราต้องทำหนังเรื่องนี้

จากนั้นไปเล่าให้พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ฟัง แล้วจะทำยังไงดี คนสนใจเรื่องของพุ่มพวงเฉพาะชีวิตตอนโต ในขณะที่่เราคิดว่าชีวิตวัยเด็กควรเป็นชีวิตที่สดใส แต่เด็กหญิงน้ำผึ้งทิ้งทุกอย่างในวัยเด็กเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว นี่แหละมันเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจ วัตถุประสงค์ของเรื่องมันคือแรงบันดาลใจ คุณจะเป็นใครไม่รู้แต่ถ้าคุณมีแรงบันดาลใจ คุณจะทำได้ ซึ่งประเทศนี้ไม่ค่อยมีใครสู้ ถ้าสู้จริงๆ ก็ต้องลงมือทำด้วย

อรุณี ศรีสุข

ไทยพับลิก้า: คิดว่าหนังจะเปลี่ยนความคิดของคนเราจริงหรือ

หนังมีอิทธิพลมาก ทำให้คนมีแรงบันดาลใจ อย่างหนังเรื่อง “พุ่มพวง” ตอนแรกไม่มีใครคิดว่าจะดู แต่พอทุกคนได้ดูแล้วก็ตกใจ หลังจากนั้นมีน้องที่เชียงรายส่งเพจมาให้ดู ในงานกีฬาสีที่โรงเรียนมีการแปลอักษรเป็นรูปพุ่มพวง และบอกว่า “สิ่งที่พี่ทำมีผล นักเรียนโรงเรียนผมหันมาร้องเพลงลูกทุ่ง ใส่ใจในเรื่องไทยๆ ครับ” ถึงผลออกมาจะแพ้ก็ตาม แต่มันก็เป็นความภาคภูมิใจ

หนังเป็นศาสตร์ที่พัฒนา มีรากมาจากรูปถ่าย ทุกคนจะรู้ว่า หนังที่ดีจะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงคนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะนำเสนอเรื่องในมุมมองไหน อย่างการปฏิวัติหรืออะไรก็ตาม แสดงให้เห็นว่าหนังเป็นตัวบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัย แม้กระทั่งเล่าหนังย้อนยุค เราก็ยังต้องใส่ความคิดของเราให้สมัยปัจจุบันลงไปด้วย หนังมันเป็นตัวบ่งบอกความคิดของในแต่ละยุคสมัย

กระบวนการทำหนังดีๆ เรื่องหนึ่งมหาศาลและใช้เวลานานมาก เป็นปีๆ กว่าจะเสร็จ อีกทั้งในปัจจุบันหนังในบ้านเราเรื่องโปรดักชั่นดีมาก แต่มองว่าเรื่องเนื้อหามันตกลงไปเยอะ คงเป็นเพราะบ้านเราไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องหนังจริงๆ มากพอ การเรียนเรื่องภาพยนตร์จริงๆ แล้ว มันหนักมาก เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง คล้ายการเรียนหมอ ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งการแสดงก็เป็นศาสตร์ที่สำคัญมาก นักแสดงที่แสดงได้อารมณ์จริงๆ เขาใส่อารมณ์ไปเยอะมาก มันเป็นอารมณ์ของตัวแสดงตัวนั้น ถ้าอินกับบทแล้วมันเอาออกยากมาก เป็นความเครียด เหมือนที่ ฮีท เลดเจอร์ นักแสดงฮอลลีวู้ดฆ่าตัวตาย จากหนังเรื่องแบทแมน มันเป็นเรื่องจริง

หนังทรงอิทธิพล เพราะผู้สร้างถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกอยู่ในนั้นเยอะมาก มันเป็นความรู้สึกที่ถูกส่งต่อมา คนดูจึงมีความรู้สึกและอินไปตามกับสิ่งที่สื่อออกมา เป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก นั่นแหละคือการทำหนัง เราต้องมีแกนเรื่องที่สำคัญ แล้วเนื้อหามันจะตามออกมาเอง

หนังดีๆ จะมีคนดูได้ เราต้องสร้างกลุ่มคนดูไปเรื่อยๆ เพราะหนังดีจริงๆ ไม่ค่อยดีคนดูเท่าไหร่ หนังบ้านเรายังเน้นที่การตลาดอยู่ ประเทศไทยยังมีการแบ่งรสนิยม เป็นเฉพาะกลุ่มอยู่ ถ้าจะทำหนัง ควรคิดก่อนว่าเราจะทำอะไร อย่าไปคิดเรื่องคนดู เพราะถ้าเราไปคิดเรื่องคนดูแล้ว เราจะไปต่อไม่ได้ คิดว่าจะทำอะไรแล้วทำเลย เดี๋ยวคนดูจะตามมาเอง อาจจะมีการตลาดบ้าง เพื่อให้ดูสนุกและเข้าถึงกลุ่มมากขึ้น แต่ที่สำคัญ เราไม่ควรคิดถึงเงินมากไป ควรคิดว่าทำให้มันดี ให้มีคนชอบก็พอ

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่วัตถุประสงค์ของคนทำ ว่าต้องการให้สื่อไปทางไหน สื่อเป็นอะไรที่มีอิทธิพลมาก หลายครั้งคนเราก็ชอบคิดว่า ตัวเราจะกำหนดสังคมได้ และคิดว่าสื่อจะกดดันทุกอย่างให้เปลี่ยนแปลงได้ เพราะคนเราอยากได้ทุกอย่างไปหมด แต่อยากได้ในสิ่งที่ตัวเองไม่ทำ มันเป็นเรื่องของสิทธิหน้าที่ ถ้าเราทุกคนทำหน้าที่ของเราเองให้ดีที่สุดก่อน เราก็ไม่ต้องก้าวก่ายสิทธิของกัน จนเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ไทยพับลิก้า: ศาสตร์ของงานภาพยนตร์น่าสนใจตรงไหน

หนังมีพาวเวอร์ เปลี่ยนคนได้ เพราะตัวเราเองก็เปลี่ยนเพราะหนัง ซึ่งหนังกับหนังสือใกล้เคียงกัน โดยหนังสือที่เราอ่านแล้วรู้สึกอยากเดินทาง คือหนังสือเรื่องข้างหลังโปสการ์ด การเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ได้สะสมเรื่องราวและความรู้สึกมากมาย อีกอย่างเมื่อเข้ามาทำหนังแล้ว ได้เดินทางไปงานเทศกาลหนังต่างๆ หลายที่ รู้สึกเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพราะหนังบอกอะไรเราเยอะมาก จึงทำให้รู้สึกว่าประเทศไทย มีอะไรต้องทำกับเด็กๆ อีกเยอะแยะ คนไทยมีท้องถิ่นที่แข็งแรงมาก และมองว่าเป็นจุดยากเหมือนกันที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร

ตอนลงไปทำโครงการ จะบอกกับเด็กๆ ว่า เราสามารถใช้หนังเป็นเครื่องมือในการสื่อสารสิ่งดีๆ ที่เราต้องการออกไปได้ สิ่งที่ได้สัมผัสมา รู้ได้เลยว่าเด็กไทยโดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด มีศักยภาพสูงมาก ทั้งความอดทน ความสามารถ และความคิดที่เราอาจนึกไม่ถึง

พวกเราทุกคนที่ไปฝึกอบรมให้เด็กๆ มีความสุขกันมาก เวลาที่เราได้เห็นทุกสิ่ง ตอนที่หนังออกมาฉายแล้ว อึ้งเลยว่าเด็กๆทำได้ยังไง เหนือกว่าที่เราคิดไว้มาก