ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ส.ศิวรักษ์ ให้สติผู้รับ SVN Awards…ไม่ต้องการ to be number one แต่ต้อง to be quality

ส.ศิวรักษ์ ให้สติผู้รับ SVN Awards…ไม่ต้องการ to be number one แต่ต้อง to be quality

27 มกราคม 2012


ผู้รับรางวัล SVN Awards ประจำปี 2554
ผู้รับรางวัล SVN Awards ประจำปี 2554

เป็นประจำทุกๆ ปีที่ “เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เอเชีย (ประเทศไทย)” หรือ Social Venture Network Asia (Thailand) หรือ SVN ประกาศผลรางวัล SVN Awards ประจำปี และทำอย่างต่อเนื่องมาจนปีนี้เป็นที่ 13

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 SVN ได้ประกาศรางวัล SVN Awards เพื่อเชิดชูองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ภายในเนื้อแท้ของการดำเนินธุรกิจ และเชิดชูองค์กร บุคคล ที่ทำคุณประโยชน์ สร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคม

นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รางวัล SVN Awards เป็นกิจกรรมที่เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 และดำเนินต่อเนื่องมากว่า 13 ปีแล้ว โดยรางวัลนี้พยายามสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องเป็นธุรกิจที่นำความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปอยู่ในหน้าที่ของการทำงาน ไม่ใช่เพียงทำกิจกรรมการให้ การบริจาค หรือการให้วัตถุเท่านั้น และไม่ว่าองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็ก หรือร้านค้าทั่วไป ก็สามารถแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในเนื้อแท้ของธุรกิจได้

ส่วนนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า ต้องการให้รางวัลนี้ขยายความงดงาม พระพุทธเจ้าตรัสว่า เกียรติเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีปัญญาเท่านั้น และเกียรติจะฆ่าคนโง่ และกล่าวว่าเราไม่ต้องการ to be number one เราต้องการ to be quality หรือ to be the best

พร้อมยังกล่าวอีกว่าปี 2554 เป็นปีที่ อีเอฟ ชูมัคเกอร์ (Ernst Friedrich Schumacher) นักเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ อายุครบ 100 ปี ชูมัคเกอร์เป็นคนแรกที่เอาเศรษฐศาสตร์แนวพุทธมาใช้ ทำให้ประเทศอังกฤษยกย่องเป็นพิเศษ เพราะช่วยให้ระบบทุนนิยมดำรงคงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยเตือนว่าคนทำธุรกิจในระบบทุนนิยม ต้องประกอบอาชีพอย่างมีสัมมาอาชีวะ คือต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง มีเวลาให้ตัวเอง มีเวลาให้ครอบครัว มีเวลาให้พนักงาน ให้เกียรติองค์กร ให้เกียรติลูกค้า ให้เกียรติผู้ใช้แรงงาน

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เอเชีย หรือ SVN
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส. ศิวรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เอเชีย หรือ SVN

สำหรับรางวัล SVN Awards ปี 2554 มีทั้งหมด 9 รางวัล แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ ประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ รางวัลภาคธุรกิจขนาดย่อม รางวัลภาคสังคม รางวัลภาคเยาวชน และรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยกระบวนการพิจารณาเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชนได้เสนอชื่อหน่วยงานที่มีผลงาน หรือการดำเนินกิจการที่โดดเด่น ให้คณะกรรมการได้คัดเลือก ตรวจเยี่ยม และตัดสิน

อนึ่ง เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมคือเครือข่ายองค์กรธุรกิจ ที่รวมตัวกันเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 กิจกรรมหลักของเครือข่ายประกอบด้วยการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองในประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม การเยี่ยมองค์กรที่มีการบริหารการจัดการที่ดี การจัดประชุมทางวิชาการ การจัดการมอบรางวัล SVN Awards และการผลิตวารสาร CSR ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเป็นนักธุรกิจ องค์กร ธุรกิจ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และองค์กรขนาดใหญ่ รวมกว่า 150 องค์กร

ประเภทธุรกิจขนาดเล็ก : ร้านขนมปังพรชัย

ภาพผู้คนต่อแถวยาวริมถนนย่านบางลำภูเพื่อรอซื้อขนมปังชวนให้ตั้งคำถามว่า เหตุใดร้านขนมปังเล็กๆ ท้ายเกาะรัตนโกสินทร์แห่งนี้ จึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม

โดยทั่วไปในสังคมทุกวันนี้ เมื่อกล่าวถึง CSR เรามักจะคิดไปถึงเรื่องการทำงานใหญ่ๆ ที่มีหน้ามีตาในสังคม เช่น การปลูกป่าหรือสงเคราะห์ผู้ยากไร้ แต่ในหลัก CSR ที่ลึกซึ้งนั้น ยังหมายรวมถึงการใส่ใจต่อลูกค้าและพนักงานเป็นสำคัญ ซึ่งกิจกรรมเช่นนี้ยากที่จะเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์

แม้จะเป็นกิจการเล็ก ๆ แต่ร้านขนมปังพรชัยก็ทำหน้าที่ผู้ประกอบการตามหลัก CSR เพราะไม่เพียงผลิตขนมปังทีมีเอกลักษณ์เด่น ไส้ลูกเกดหมูหยองที่อัดแน่นด้วยปริมาณ ทำให้มีคุณภาพเกินราคา เป็นที่ถูกใจของลูกค้าจำนวนมาก แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เราได้พบว่าเจ้าของร้านเล็กๆ แห่งนี้ใส่ใจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ดูแลคนทำงานด้วยความอบอุ่น ดุจญาติมิตรในครอบครัวเดียวกัน สะท้อนได้จากการให้บริการของพนักงาน ที่เบิกบานแจ่มใส เอาใจใส่ลูกค้าอย่างเป็นที่ประทับใจยิ่ง

การสร้างกิจการเล็กๆ ให้ลูกค้าเกิดความประทับใจอย่างลึกซึ้ง การทำให้พนักงานมีความรักและผูกพันในกิจการ สามารถร่วมกันสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ย่อมเกิดจากความเคารพและจริงใจต่อกัน ด้วยอุดมคติของผู้ประกอบการที่มีความกตัญญูรู้คุณค่าของผู้อื่น มุ่งมั่นสร้างความดีงามอย่างแน่วแน่มั่นคง อันเป็นคุณค่าสำคัญที่กำลังขาดหายไปในสังคม

กิจกรรม CSR ส่วนใหญ่มักมุ่งสร้างกิจกรรมที่เน้นการโฆษณา การทำ CSR อย่างจริงใจของกิจการเล็กๆ เช่นนี้จึงเป็นแบบอย่างที่งดงามและมีคุณค่ายิ่ง ร้านขนมปังพรชัยเป็นตัวอย่างที่ดี ในการประกอบธุรกิจของคนไทย

ประเภทธุรกิจ : บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด

การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร จนสามารถนำผลผลิตการเกษตรของไทยก้าวขึ้นสู่เวทีโลก เป็นการยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้มีคุณค่า ด้วยการค้าที่เป็นธรรมช่วยให้เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นธุรกิจภาคอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลผู้คนในชนบทจำนวนมาก

การมีความรับผิดชอบในกระบวนการผลิต จวบจนรับผิดชอบถึงขยะบรรจุภัณฑ์ ช่วยลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความตั้งใจจริงของผู้ประกอบการ นับเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ลึกซึ้ง ด้วยการลงทุนที่ละเอียดอ่อนต่อสิ่งแวดล้อม การทุ่มเทใส่ใจอย่างจริงจังนี้ ส่งผลสะเทือนให้เกิดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด เป็นความคุ้มค่าที่เกิดจากความเชื่อมั่นอย่างจริงจังว่า การทำกำไรของภาคธุรกิจจะต้องปกป้องทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมในสาระของตัวธุรกิจเอง

กล่าวได้ว่า นี่คือบทพิสูจน์สำคัญของภาคอุตสาหกรรม ที่ดำเนินกิจการด้วยหลักปรัชญาของ CSR คือ การทำกำไร ความรับผิดชอบต่อสังคม และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในสังคมของเรามีการกล่าวถึงความเสื่อมสลายของทรัพยากรธรรมชาติอย่างน่าใจหายตลอดมา แต่กลับมีผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพียงจำนวนน้อย ที่มุ่งมั่นสร้างกิจการบนฐานคิดที่จริงจังในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด (Ampol Food Processing Ltd.) ดำเนินธุรกิจโดยเน้นการลดมลภาวะ ลดการรุกล้ำเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการสร้างพลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ การทำการค้ากับเกษตรกรอย่างเป็นธรรม การเพิ่มคุณค่าให้ขยะบรรจุภัณฑ์ การชักนำเยาวชนและผู้บริโภคให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำ CSR ที่ลึกซึ้งอย่างครบด้านเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในภาคอุตสาหกรรม ช่วยทำให้สังคมน่าอยู่ สร้างความหวังที่จะปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ประเภทเยาวชน : กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน

ความใส่ใจในวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในชุมชน เป็นคุณค่าที่สำคัญยิ่งของสังคม ในท่ามกลางกระแสค่านิยมทางวัตถุที่เย้ายวน ได้ฉุดกระชากให้เยาวชนส่วนใหญ่หลงเคลิ้มไปกับความทันสมัย พร้อมกับสร้างปมด้อยให้ตนเอง จนขาดพลังที่สมคุณค่าแห่งวัย

แต่ในมุมเล็กๆ ของชนบทที่ห่างไกล กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ได้ทำงานสวนกระแสอย่างท้าทาย ด้วยการลุกขึ้นฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่า และชักชวนให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยความองอาจกล้าหาญ

กลุ่มเยาวชนได้แบกรับภาระ ในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำกว่าหนึ่งหมื่นไร่ ของตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยชักชวนให้ชาวบ้านเกิดความแข็งขันในการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง ส่งผลให้สายธารจำนวนมากยังไหลรินอย่างต่อเนื่อง ช่วยหล่อเลี้ยงให้ทุกชีวิตตลอดสายน้ำและพื้นที่เกษตรได้รับความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนสามารถหาอยู่หากินจากแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ดำรงชีพอยู่อย่างพอเพียงด้วยทรัพยากรที่สืบสานมาจากบรรพบุรุษนับร้อยปี

ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดกระทำแล้วนั้น มิเพียงส่งผลต่อสังคมในชุมชนของตนเองท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนอื่นๆ ที่สำเร็จการศึกษาแล้วอยากกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อสร้างชุมชนให้เจริญอย่างถูกทาง มีความน่าอยู่ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของตนเอง

นับว่าเป็นกลุ่มเยาวชนผู้มีคุณค่าต่อสังคม เป็นผู้สร้างแบบอย่างที่สมควรได้รับการเชิดชูให้เป็นที่ปรากฏอย่างกว้างขวาง จึงขอร่วมแสดงความภาคภูมิใจด้วยการมอบรางวัลพรชัย นิตย์ผลประเสริฐ SVN Award ภาคเยาวชน ประจำปี 2554 แด่กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาด ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

ประเภทธุรกิจ : มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ในอดีต การศึกษาของไทยมีศูนย์กลางอยู่ในวัดซึ่งเป็นสถาบันทางจิตใจของสังคม ผู้มีความรู้มักจะเป็นพระสงฆ์หรือคนชั้นสูงที่ยังห่างไกลจากผลประโยชน์ ต่อมา เมื่อกระแสโลกเปลี่ยน การศึกษาจึงแยกตัวออกมาเป็นสถาบันของตนเอง หลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้สำเร็จการศึกษาถูกสร้างให้เป็นคนทำงานที่มีค่าตัวสูง ด้วยหลักสูตรที่มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการหรือการแข่งขันในทางความเก่งเพียงด้านเดียว

การทำธุรกิจการศึกษาเป็นทางเลือกใหม่ของนักลงทุน เพราะการศึกษาเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดหลักสูตรสาธารณะ ให้โอกาสคนทำงานภาคสังคมหรือเอ็นจีโอสามารถยกระดับความรู้ในการจัดการ ช่วยให้องค์กรภาคสังคมมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ยังผลักดันแนวคิด ยูเอสอาร์ (USR : University Social Responsibility) ให้เป็นค่านิยมที่สำคัญของสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ท่ามกลางความอยู่รอดทางธุรกิจ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันและค่านิยมที่มักให้คะแนนคนเก่งมากกว่าคุณค่าของคนดี แต่ความเป็นทั้งคนเก่งและคนดีนั้น เป็นความต้องการอย่างรุนแรงของสังคมไทย

ไร่ปลูกรัก จังหวัดราชบุรี ที่มาภาพ :http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1276063
ไร่ปลูกรัก จังหวัดราชบุรี ที่มาภาพ :http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1276063

ประเภทธุรกิจ : ไร่ปลูกรัก กิจการของคนพิเศษ

การทำเกษตรกรรมเป็นวิถีไทยที่สืบทอดมาช้านาน หลังจากทิศทางการพัฒนามุ่งสร้างผลผลิตจำนวนมาก จนกระทั่งสารเคมีเข้ามาปนเปื้อนในการทำเกษตรอย่างหนักหน่วง ยังผลให้สุขภาพของผู้บริโภคและผู้ผลิตเสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัด

การหันเหสู่การทำเกษตรแบบธรรมชาติในยุคที่การผลิตเชิงปริมาณ และการบริโภคด้วยต้นทุนต่ำยังเป็นกระแสหลักของสังคม ธุรกิจเกษตรอินทรีย์จึงเปรียบเสมือนกิจการของคนพิเศษ ที่พร้อมเดินทางเข้าสู่เวทีที่ท้าทาย

ความรักอย่างหมดใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ การทุ่มชีวิตอย่างต่อเนื่องกว่าสิบปี สามารถสร้างความมั่นคงอย่างภาคภูมิใจ การได้เห็นผลสำเร็จจากสิ่งที่ตนรัก และเปิดโลกแห่งความเป็นไปได้ให้ผู้คนเข้ามาร่วมสัมผัส ซึมซับ และขยายผลอย่างไม่หวงแหนความรู้ ถือเป็นการประกอบกิจการที่เกิดจากแรงบันดาลใจที่อ่อนโยนต่อมนุษย์และธรรมชาติ เป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องกระทำด้วยจิตใจที่แน่วแน่ มีความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด

ไร่ปลูกรักเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ดำเนินธุรกิจตามหลักการ CSR ได้มอบความหวังและสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมอย่างมีความหมาย ผลของความสำเร็จได้บอกเราว่า การดำรงตนอยู่ด้วยสัมมาอาชีพ ลดการเบียดเบียน มีการเผื่อแผ่แบ่งปัน มีความเคารพชีวิตอื่นอย่างแท้จริง จะทำให้เราอยู่รอดบนโลกนี้อย่างมีความสุขร่วมกัน

อันที่จริง นับตั้งแต่ได้ดำเนินกิจการตามวิถีที่ตนเลือก ไร่ปลูกรักก็ได้รับรางวัลที่งดงามจากความตั้งใจของตนเองไปแล้ว แต่เพื่อให้สังคมได้ภาคภูมิใจร่วมกัน และเพื่อเชิดชูจิตใจที่ดีงามให้สังคมได้เห็นเป็นหลักชัยของผู้ที่ประสบความสำเร็จตามความใฝ่ฝันในวิถีเกษตรอินทรีย์ จึงขอร่วมแสดงความยินดี ด้วยการมอบรางวัล SVN Award ภาคธุรกิจ ประจำปี 2554 แก่ไร่ปลูกรัก

รางวัลชูเชิดเกียรติพิเศษ : ไทยพีบีเอส

สื่อมวลชนถือเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่มีอิทธิพลต่อวิธีคิดของประชาชนมากที่สุด เป็นระยะเวลายาวนานที่สังคมไทยเฝ้ารอคอยสื่อสาธารณะที่อิสระจากทุกอำนาจ เพื่อบอกความจริงที่ครบด้านให้กับประชาชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อการนี้ แต่ต้องประสบชะตากรรมไปนานหลายปี กว่าที่จะฟื้นกำเนิดขึ้นใหม่จนสามารถทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

การทำหน้าที่สื่อสาธารณะอย่างกล้าหาญ การแสดงความจริงที่รอบด้านอย่างท้าทาย การดำรงตนเยี่ยงนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ การเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เสียเปรียบในสังคมได้เข้าถึงสื่อ ให้สามารถบอกความจริงของตนผ่านจอทีวี ยังผลให้เกิดความเป็นธรรมตามมา นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งในสังคมได้ใช้พื้นที่สื่อสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน

ในยามวิกฤต ไทยพีบีเอสได้ทำหน้าที่สื่อที่ปราศจากผลประโยชน์ นำเสนอเรื่องราวต่างๆ เสมือนฉายส่องภาพที่มืดมัวให้เกิดความกระจ่าง ทำให้สังคมเข้าใจความจริง และผู้เดือดร้อนเข้าถึงความช่วยเหลือ เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันด้วยความรู้และความคิดที่หลากหลาย เพื่อให้สังคมมีข้อมูลในการตัดสินใจ

สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้น กระบวนการทำงานของเวทีสื่อสาธารณะได้ก่อให้เกิดข่ายใยสังคมที่อุดมด้วยน้ำใจ กระจายอยู่ทุกกลุ่มชนทั้งในเมืองและชนบทอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งทั้งด้านความสัมพันธ์ในหมู่ประชาชน นักวิชาการ นักปกครอง นักคิด ตลอดจนผู้รู้แขนงต่างๆ ของสังคม เกิดการประสานความคิด ความรู้ ความเข้าใจกัน มีการสร้างความร่วมมือ จนกระทั่งส่งผลให้เกิดการคลี่คลายสถานการณ์ของสังคมที่หนักหน่วง ให้เบาบางลงอย่างเห็นได้ชัดหลายกรณี

เมืองโบราณ ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/822/5822/images/muangboran/P1132639.jpg
เมืองโบราณ ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/822/5822/images/muangboran/P1132639.jpg

รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ : เมืองโบราณ

ความพิเศษของคนธรรมดามีอยู่ในตัวคนทุกคน หากบุคคลผู้นั้นทำสิ่งพิเศษที่คนทั่วไปทำได้ยากจนประสบความสำเร็จ

ทายาทของชาวจีนโพ้นทะเลผู้เติบโตในย่านสำเพ็ง คิดต่อยอดความร่ำรวยของวงศ์ตระกูลด้วยการสร้างสนามกอล์ฟ ซึ่งเมื่อห้าสิบปีที่แล้วถือเป็นผู้นำที่ล้ำสมัยตามค่านิยมตะวันตก แต่จุดหักเหได้เกิดขึ้นเมื่อความซาบซึ้งใจในศิลปวัฒนธรรมไทยชำแรกแทรกซึมเข้าในจิตใจ กระทั่งกลายเป็นเมืองโบราณที่สร้างความภาคภูมิใจมาถึงทายาทรุ่นที่สามในปัจจุบัน

สถาปัตยกรรมช่างสิบหมู่ ระบบนิเวศน์วิทยาที่สอดคล้องทั้งวิถีชีวิตและธรรมชาติเดิมแท้ของไทย ระบบเกษตรอินทรีย์และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรม ได้รังสรรค์ให้เมืองโบราณเป็นสถานที่ที่มีชีวิต สามารถรวมจิตวิญญาณไทยได้ครบรสสมสมัยอย่างน่าทึ่ง

ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทที่สร้างขึ้นในเมืองโบราณ เป็นสถานที่รับรองการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณค่าอันประมาณมิได้ของสถานที่แห่งนี้

แต่ยังมีสิ่งที่มีค่าสำคัญกว่าอาคารสถานที่ นั่นคือคำพูดของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณได้บันทึกไว้ว่า

“…ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากความไม่รู้ แต่ไม่รู้จริงเสียหายมากกว่า ยิ่งไม่รู้จริงแล้วทำเป็นรู้ผลที่สุดคือหายนะ โบราณและปัจจุบัน ความสำเร็จกับความล้มเหลวตกอยู่ในห้วงแห่งสาเหตุนี้มากต่อมาก การที่จะรู้จริงนั้นต้องมาจากความยากลำบาก จะต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ โลกปัจจุบันนี้แคบลงทุกวัน เรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในมุมเล็กๆ มุมหนึ่งของโลกสามารถกระทบกระเทือนถึงทุกแห่งในโลกได้

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงหวั่นวิตกว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมระบบใหม่เกิดขึ้นจากความบีบคั้นของสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ประกอบกับปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมประเพณีตะวันออกกับตะวันตกกำลังเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงและคงจะร้ายแรงยิ่งขึ้น ผู้ที่มีสติปัญญาหรือบัณฑิตทั้งหลาย จะต้องเพ่งเล็งในกรณีนี้เป็นพิเศษ แม้แต่พวกที่ถือคัมภีร์ของตนเป็นสรณะนับเป็นศตวรรษมาแล้วก็ตาม ต้องละทิ้งทิฐิของตน หันมาพิจารณากับสิ่งที่เขาเคยคิดว่าเป็นปรปักษ์

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ศีลธรรมของพลโลกปัจจุบันนี้เสื่อมลง ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ไม่ปฏิเสธว่าวิทยาศาสตร์เจริญ มีคุณค่าที่ปรากฏแก่มวลมนุษย์ ไม่มียุคไหนเทียบเท่า แต่ชาวตะวันออกเราเชื่อว่า วิทยาศาสตร์สามารถให้ความรู้แก่มนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถที่จะยกระดับจิตของมนุษย์ให้สูงขึ้นได้ มีแต่ทำให้ผู้คนนับถือลัทธิวัตถุนิยม มุ่งแต่ความสุขในทางโลก สิ่งต่างๆ ในจักรวาลนี้เกิดขึ้นด้วยความเหมาะสมของธรรมชาติและความสำเร็จของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เหมาะสมหนึ่ง จุดศูนย์กลางที่พอดีหนึ่ง เวลาที่ถูกต้องหนึ่ง

ตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นหมายถึงตำแหน่งที่ต้องอยู่อย่างพอเหมาะพอดี จุดศูนย์กลางนั้นหมายถึงความเจริญอยู่ในกฎเกณฑ์ เวลาที่ถูกต้องนั้นหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ต้องการในขณะนั้น หากสวรรค์ต้องการให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดคงเหลืออยู่ ย่อมไม่ให้เจริญเกินขอบเขตของความเจริญ นี่คือบ่อเกิดของความสมดุลตามกฎแห่งธรรมชาติ ความเหมาะสมและดีงามของสิ่งใดๆ ไม่มีขอบเขตแห่งความเก่าแก่ พิสูจน์จากจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงาม เป็นมรดกของมนุษยชาติที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้แก่เราเป็นเวลานานแสนนาน มีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้เสื่อมโทรมแม้แต่น้อย ศิลปะไม่มีลัทธิ ศาสนา และกาลเวลา ศิลปะเท่านั้นที่หล่อเลี้ยงจิตใจมนุษย์มาตราบเท่าทุกวันนี้ เหตุไฉนประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้แก่เราจึงถูกทอดทิ้งบ้าง ทำลายบ้าง ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมประเพณีนั้นเหมาะสมกับสังคมมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของเรา

โดยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงอยากให้มนุษย์ร่วมโลกรู้จักประเพณีและวัฒนธรรมของเรา เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ อย่างน้อยก็เป็นเครื่องเตือนใจของผู้ที่กำลังหลงทางในสังคมปัจจุบัน นี่คือจุดประสงค์ของข้าพเจ้าที่สร้าง “เมืองโบราณ” ขึ้น หวังเพื่อแก้ไขสิ่งเลวร้ายที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน แต่ปัญหายิ่งใหญ่จะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างไร ใครจะเป็นผู้แก้ไข คำตอบของข้าพเจ้าคือ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องทุกๆ คน ไม่ใช่เรื่องราวของเช้าเย็นวันหนึ่ง จะต้องเป็นเดือน เป็นปี เป็นศตวรรษ เสมือนที่โบราณกล่าวไว้ว่า หากจะสร้างภูเขาหนึ่งภูเขา ดินก้อนหนึ่งมีคุณค่าของดินก้อนหนึ่ง เปรียบเสมือนคนเดินทาง ก้าวหนึ่งย่อมมีคุณค่าของก้าวหนึ่ง ภูเขาที่สำเร็จต้องอาศัยคุณค่าของหินก้อนแรก ระยะทางที่เราเดินสำเร็จต้องอาศัยคุณค่าของก้าวแรก

หากคติของข้าพเจ้าไม่สอดคล้องกับคนที่ยึดถือว่าสังคมปัจจุบันนี้ถูกต้อง และยึดถือไว้ปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป ข้าพเจ้าใคร่ขอวอนให้ท่านเหล่านั้นตั้งอยู่ในความเที่ยงธรรม จงพยายามหาสิ่งที่ดีจากสิ่งที่เราเกลียด หาสิ่งที่เลวร้ายจากสิ่งที่เรารัก เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยกับวัฒนธรรมประเพณีของโบราณไทย ว่ามีคุณค่า สมเจตนารมณ์ของข้าพเจ้าหรือไม่

จะได้ผลประการใด แล้วแต่สวรรค์จะทรงโปรด…”

ดร.กาญจนา นิตยะ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
ดร.กาญจนา นิตยะ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ : ดร.กาญจนา นิตยะ ผู้รักษ์ผืนป่า

การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอย่างซื่อสัตย์สุจริต มีความมั่นคงในหน้าที่ สร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นที่ประจักษ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ยากยิ่งขึ้นทุกวัน ในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าอันเป็นฐานชีวิตที่สำคัญของคนไทยลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ด้วยน้ำมือมนุษย์ที่อาศัยอำนาจและความโลภเข้าบุกรุกทำลายโดยไม่หวั่นเกรงกฏหมายบ้านเมือง

ข้าราชการผู้มีหน้าที่ปกป้องป่าผืนสำคัญ หากไม่ตกเป็นเหยื่อความโลภ ก็จะต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของผู้มีอิทธิพล การจะยืนหยัดรักษาป่าผืนใหญ่ให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่มีเพียงอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ย่อมต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ การต้องเลือกระหว่างความอยู่รอดของตนเองกับความอยู่รอดของผืนป่า สร้างความเครียดอย่างหนักหน่วงแก่ผู้ทำหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณนักอนุรักษ์ เพราะต้องเอาชีวิตตนเองเข้าขวางผู้จ้องหาโอกาสบุกรุกทำลายป่าที่แฝงเร้นมาในหลายรูปแบบ รวมถึงโครงการพัฒนาบางโครงการก็ยังเปิดช่องที่จะก่อให้เกิดการเข้าทำลายผืนป่าภูเขียวอยู่โดยนัย

ตลอดเวลากว่าสี่ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการประกาศให้ภูเขียวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีเจ้าหน้าที่ต้องสังเวยชีวิตไปแล้วหลายราย เนื่องจากป่าภูเขียวมีขนาดพื้นที่ถึงหนึ่งในสี่ของผืนป่าเขาใหญ่มรดกโลก มีเนื้อที่เกือบหนึ่งล้านไร่ในสามอำเภอของจังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์พืชและมีสัตว์ป่าหายาก อันเป็นที่หมายปองของนักท่องไพร นับวันเจ้าหน้าที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวต้องทำงานอย่างหนัก กว่าที่จะปกป้องผืนป่าที่สำคัญของประเทศแห่งนี้ไว้ได้

คุณค่าของนักอนุรักษ์ในเครื่องแบบข้าราชการในป่ากว้าง ต้องทำงานดุจอาสาสมัครของสังคมที่ปฏิบัติภารกิจโดยไม่จำกัดวันเวลา เพื่อปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้ด้วยใจรักอย่างทุ่มเท นับว่าเป็นแบบอย่างของข้าราชการที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชู ให้เป็นขวัญและกำลังใจของผู้ทำความดีโดยสังคมไม่มีโอกาสรับรู้

เครือขายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงขอมอบรางวัล SVN Award เชิดชูเกียรติพิเศษ ประจำปี 2554 แด่ ดร.กาญจนา นิตยะ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเป็นกำลังใจแด่ข้าราชการที่ดีทุกคนผู้ปกป้องป่าภูเขียวให้อยู่คู่แผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน

ประเภทภาคสังคม : กลุ่มปัญญาอิสระ

ในท่ามกลางสังคมที่การเอารัดเอาเปรียบเป็นสิ่งที่ไม่ถูกปฏิเสธ ทำให้ผู้ขาดโอกาสทางสังคมโดยเฉพาะผู้ไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษาอย่างเพียงพอ ตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้เท่าทันเล่ห์กล เกิดเป็นรอยแผลทางจิตใจ อันหมายถึงบาดแผลของสังคมที่เราต่างต้องรับความเจ็บปวดร่วมกัน การให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นคนไร้สัญชาติ หรือผู้ใช้แรงงานตามแนวชายแดน เปรียบเสมือนน้ำสะอาดในยามแล้ง เป็นการตอบสนองความหิวโหยในจิตใจที่มีค่ายิ่ง

การสร้างความรู้ผ่านการศึกษา โดยหยิบยกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมาเป็นบทเรียน เพื่อความรู้เท่าทันสังคม และนำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ในตนเอง ออกมายกระดับให้เกิดความหมายทางจิตใจ ช่วยทำให้ความกดดันทางสังคมที่เลวร้ายซึ่งผู้ใช้แรงงานและคนไร้สัญชาติต้องประสพ มีทางออกและช่วยลดความรุนแรงด้านจิตใจลงได้ จนสามารถเปลี่ยนเป็นความเข้มแข็ง สร้างความหวังที่จะทำให้ตนเองมีความมั่นคงในชีวิต ด้วยฐานคิดที่เกิดจากความรู้เท่าทันและมีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่รอบด้าน มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น การศึกษาที่เคารพความเป็นมนุษย์ อันจัดตรงไปยังผู้ที่พร้อมจะสร้างความตื่นรู้ในตนเอง ช่วยทำให้เกิดพลังขึ้นในท่ามกลางสังคมเล็กๆ ที่เคยอ่อนแอ สามารถเปลียนสภาพจากผู้ยอมจำนนสู่ผู้รู้เท่าทัน และสามารถเผชิญความจริงด้วยความรู้ของตนเอง เป็นฐานรากสำคัญสู่สังคมที่เข้มแข็ง

กลุ่มปัญญาอิสระ เป็นการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่จิตใจผ่องใสและมองโลกในแง่ดี ที่ช่วยเสริมสร้างและหนุนเนื่องความหวัง ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในตัวทุกคนซึ่งมีอยู่แล้วอย่างเสมอภาคได้รับการยอมรับ และสามารถใช้ศักดิ์ศรีนั้นอย่างเห็นคุณค่าต่อทุกชีวิต กระบวนการเรียนรู้อย่างง่ายๆ ในวันเวลาที่ว่างจากการงาน ด้วยการทำงานแบบอาสาสมัครในวันหยุดของกลุ่มฯ ทำให้เกิดชุมชนแห่งความความรอบรู้ที่มีความร่าเริงเบิกบานทั้งผู้เรียนและผู้สอน ต่างช่วยกันทำให้สังคมมีความงดงามน่าอยู่ แม้ว่าเมฆมัวแห่งการเอารัดเอาเปรียบจะยังไม่จางคลาย แต่ความหวังเล็กๆ ที่ก่อตัวอย่างต่อเนื่อง ได้ช่วยพยุงให้เกิดความมั่นคงยิ่งเป็นลำดับ อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยจิตใจที่น่าชื่นชม

กลุ่มปัญญาอิสระจึงควรค่าแก่รางวัล SVN Award ภาคสังคม ประจำปี 2554 ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนให้สืบสานรอยเดินแห่งปัญญาสาธารณะแก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่ให้เป็นจริงยิ่งขึ้นสืบไป