ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “รสนา”ใช้กลไกศาลปกครอง ไล่บี้ต้นทุนเอ็นจีวีต่อ ปตท. แจงราคาปากหลุม 210 บาทต่อล้านบีทียู

“รสนา”ใช้กลไกศาลปกครอง ไล่บี้ต้นทุนเอ็นจีวีต่อ ปตท. แจงราคาปากหลุม 210 บาทต่อล้านบีทียู

18 มกราคม 2012


หลังจากที่มีกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ทั้งกลุ่มรถสิบล้อ รถแท็กซี่ รถตู้และรถโดยสารประจำทาง นำรถออกปิดขวางการจราจรในบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และที่หน้าสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายลอยตัวราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีที่ใช้ในภาคขนส่ง

จากนั้น เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 ตุลาคม 2555 เพื่อยับยั้งการปรับขึ้นราคาก๊าซ พร้อมกับขอให้ ปตท. เปิดเผยราคาต้นทุนที่แท้จริงของเนื้อก๊าซต่อประชาชน

วันที่ 16 มกราคม 2555 ศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าคำร้องดังกล่าวไม่ครบองค์ประกอบของกฏหมาย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับใช้กฏหมาย ทำให้ ปตท. สามารถปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีได้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป

ส่วนเรื่องราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังรอการพิสูจน์ ทั้งนี้เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2555 คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดสัมมนา “จับยุทธการกินรวบประเทศไทย ตอน การขึ้นราคาก๊าซ NGV และ LPG” ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้เกาะติดเรื่องการปรับราคาก๊าซและการแจกแจงราคาต้นทุนก๊าซ อ่าน สมาคมขนส่งอีสานยื่นหนังสือ รมว. พลังงานทบทวนลอยตัวเอ็นจีวี – แจงต้นทุนก๊าซโต้ ปตท.

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีให้ลอยตัวสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงนั้น ทำให้ต้องมาดูรายละเอียดราคาต้นทุนที่ ปตท. นำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สมเหตุสมผลหรือไม่

ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้มีการคุ้มครองการบังคับใช้ตามกฏหมาย เฉพาะกรณีขึ้นราคาก๊าซไปแล้วนั้น แต่ในประเด็นพิสูจน์หาต้นทุนที่แท้จริงยังคงดำเนินต่อไป ซึ่ง ปตท. จะต้องส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจ้งหักล้างข้อมูลที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นให้ศาลพิจารณาไปจนกว่าจะมีคำตัดสิน แต่ในเบื้องต้น ต้องปล่อยให้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซขึ้นไปก่อน เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล

“ที่ผ่านมามีนักวิชาการอิสระบางคน รวมทั้งผู้บริหารของ ปตท. ออกมาพูดเสมอว่าราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาก๊าซแอลพีจี ในตลาดโลกขายกันที่ 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ถูกรัฐตรึงราคาไว้ที่ 300 เหรียญต่อตัน ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน กล่าวคือเวลาจะขาย ปตท. ต้องการจะให้ราคาเป็นไปตามตลาดโลก แต่เวลา ปตท. ซื้อ กลับไม่ได้ใช้ราคาตลาดโลก” นางสาวรสนากล่าว

อย่างกรณีของเอ็นจีวี ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2554 ปตท. ได้ออกเอกสารเผยแพร่ต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม บวกค่าขนส่ง 5.56 บาทและภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1.01 บาท รวมแล้วมีต้นทุนรวมอยู่ที่ 14.96 บาท แต่ราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซ 8.39 บาท ที่ ปตท. นำมาชี้แจงต่อประชาชนนั้น เป็นราคาเดียวกันกับที่ ปตท. ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่บวกค่าผ่านท่อก๊าซส่งไปยังโรงไฟฟ้าของ กฟผ. , ค่าขนส่ง, ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับทางการพม่า และกำไรเอาไว้แล้ว จึงไม่น่าจะใช่ราคาต้นทุนก๊าซตามที่ ปตท. กล่าวอ้าง แต่เป็นราคาขายที่บวกกำไรเอาไว้แล้ว

ปตท. แจงต้นทุนก๊าซ

จากนั้น ปตท. ก็ได้นำราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีมารวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีก 5.56 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบไปด้วยค่าก่อสร้างสถานีแม่ ค่าอัดก๊าซใส่รถบรรทุก และค่าจ้างรถบรรทุกขนาดใหญ่ขนส่งก๊าซไปส่งสถานีลูก ซึ่งปกติระบบขนส่งก๊าซที่ประหยัดที่สุดคือส่งผ่านท่อก๊าซ แต่ปรากฏว่าเมื่อปี 2552 ปตท. นำท่อก๊าซที่หมดอายุแล้วมาตีมูลค่าทรัพย์สินใหม่ พร้อมกับปรับอัตราค่าผ่านท่อก๊าซจาก 19.74 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู ทำให้ ปตท. มีรายได้จากค่าผ่านท่อเพิ่มขึ้นจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 22,000 ล้านบาท ปตท. จึงมีรายได้เพิ่มขึ้น มาทันที 2,000 ล้านบาท

หากนำตัวเลขค่าผ่านท่อก๊าซที่ 21.76 บาทต่อล้านบีทียู มาแปลงเป็นกิโลกรัม 1 ล้านบีทียู จะเท่ากับ 27.82 กิโลกรัม โดยนำตัวเลข 21.76 เป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วย 27.82 ก็จะได้ต้นทุนค่าผ่านท่ออยู่ที่กิโลกรัมละ 0.79 บาท เท่านั้น ไม่ใช่ 2 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นต้นทุน 5.56 บาท ตามเอกสารของ ปตท. นั้น ค่าใช้จ่ายหลักจะเป็นค่าก่อสร้างสถานีแม่ กับค่าขนส่ง เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นเหตุให้ต้องผลักภาระส่วนนี้ไปให้ประชาชน

ราคาซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติที่ตลาดเฮนรีฮับ สหรัฐอเมริกา
ราคาซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติที่ตลาดเฮนรีฮับ สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ประเด็นที่ ปตท. พูดอยู่เสมอว่า ราคาก๊าซต้องเป็นตามราคาตลาดโลก แต่ถ้าไปดูราคาก๊าซในตลาดเฮนรีฮับ ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2554 ราคาปิดอยู่ที่ 2.97 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ล้านบีทียู แปลงหน่วยมาเป็นกิโลกรัมจะอยูที่ 3.37 บาท นี่คือราคาที่ซื้อ-ขายกันในตลาดโลก และก่อนหน้านี้เคยมีผู้สื่อข่าวมาถามว่า ทำไมใช้ราคา SPOT มาคำนวณ เหตุผลก็คือ ปัจจุบัน ปตท. ยังไม่มีถังเก็บก๊าซขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อสูบก๊าซขึ้นมา ก็ขายออกไปวันต่อวัน จึงต้องใช้ราคา SPOT เป็นตัวเปรียบเทียบ

สูตรคำนวณหาราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวี
สูตรคำนวณหาราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวี

“ถ้าไปดูราคาก๊าซที่ตลาดไนเม็กซ์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2554 จะเห็นว่าราคาก๊าซในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง และถ้าไปดูราคาก๊าซธรรมชาติที่ตลาดเฮนรีฮับ ย้อนหลังกลับไป 5 ปี (ปี 2007-2011) พบว่าในปี 2008 ราคาก๊าซพุ่งขึ้นไปสูงสุด จากนั้นก็ปรับตัวขึ้นๆ ลงๆ และล่าสุดก็ยังอยู่ในช่วงขาลง แต่ทำไม ปตท. ขึ้นราคาก๊าซสวนทางกับตลาดโลก” นางสาวรสนากล่าว

ราคาก๊าซที่ตลาดเฮ็นรีฮับ

ราคาก๊าซที่ตลาดไนเม็ก

นอกจากราคาก๊าซในตลาดโลกที่ซื้อ-ขายกันที่ราคากิโลกรัมละ 3.37 บาท แล้ว ทางกรรมาธิการยังได้เก็บข้อมูลราคาก๊าซในตลาดโลกเปรียบเทียบกับราคาก๊าซที่ซื้อจากอ่าวไทยตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2551 คาดว่าราคาก๊าซอ่าวไทยน่าจะมีราคาถูกกว่าตลาดโลก 40-67% จึงคาดว่าราคาก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากอ่าวไทย น่าจะมีต้นทุนรวมอยู่ที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น ดังนั้น ตัวเลขที่ ปตท. นำมาแสดงต่อสาธารณะที่ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม จึงไม่น่าจะใช่ต้นทุนที่แท้จริง

เปรียบเทียบราคาก๊าซต่างประเทศกับราคาก๊าซที่อ่าวไทย

นางสาวรสนากล่าวต่ออีกว่า บริษัท ปตท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 52% มีหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติตามระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องชี้แจงว่าเหตุใด ปตท. ถึงซื้อก๊าซเอ็นจีวีแพงกว่าราคาตลาดโลก 3-4 เท่า โดยราคาที่ตลาดโลกซื้อ-ขายกันอยู่ที่ 3.37 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปตท.ซื้อ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อรวมกับค่าบริหารจัดการทำให้มีต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีโดยรวมอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม

“ตรงนี้เป็นหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องเข้าไปตรวจสอบ ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการบริหารงานของ ปตท. หรืออาจจะมีการถ่ายโอนกำไรไปให้บริษัทในเครือ หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดฐานละเว้น ปล่อยให้ ปตท. ซื้อของแพง แถมยังให้ ปตท. ขึ้นราคาอีก ทางกรรมาธิการฯ จำเป็นที่จะต้องส่งเรื่องให้กับ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป” นางสาวรสนากล่าว

นางสาวรสนากล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายลอยตัวก๊าซเอ็นจีวีเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บริษัท ปตท. เคยเสนอแผนการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี 6 บาท โดยขอให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระ 2 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งตอนนี้ก็จ่ายอยู่ปีละ 3,600 ล้านบาท และภาคขนส่งจ่าย 2 บาท ส่วน ปตท. อีก 2 บาท รวมแล้วเป็น 6 บาท หลังจากที่กรรมาธิการฯ ทราบข่าวว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะปรับขึ้นราคาก๊าซ วันที่ 28 กันยายน 2553 กรรมาธิการฯ ได้ส่งข้อมูลราคาตุ้นทุนก๊าซเอ็นจีวีไปให้ ในที่สุดรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซออกไป

“มาถึงยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปตท. ก็ขอขึ้นราคาเกือบ 6 บาท แท็กซี่ยืนตากแดดทั้งวัน ต่อรองกันไปต่อรองกันมา ปตท. ได้ไป 2 บาท กลุ่มที่ออกมาประท้วง ก็นึกว่าตนเองได้แล้ว เรื่องนี้จึงเป็นนิยายเก่าที่เอามาเล่ากันใหม่ นี่คือเทคนิคในการเจรจาต่อรองราคา ซึ่ง ปตท. ก็ได้ในสิ่งที่เขาต้องการไปแล้ว คือประชาชนจ่าย 2 บาท และถ้าขึ้นราคาได้แค่นี้ ส่วนที่เหลืออีก 4 บาท กองทุนน้ำมันจะต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่” นางสาวรสนากล่าว

ปตท. แจงต้นทุนก๊าซปากหลุม 210 บาทต่อล้านบีทียู

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้นำผู้สื่อข่าวสายกระทรวงพลังงาน เข้าเยี่ยมชมโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยองของบริษัท ปตท. เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการปรับราคาก๊าซดังกล่าว โดยมีผู้บริหารของบริษัท ปตท. ให้การต้อนรับและกล่าวบรรยายสรุป

นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ วางแผนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 2552 สนพ.ได้ไปจ้างบริษัทดีลอยท์เข้ามาศึกษาต้นทุนการผลิตของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ สีน้ำเงินคือต้นทุนของเนื้อก๊าซเฉลี่ยทุกหลุมในอ่าวไทย สีแดงคือต้นทุนในส่วนของเงินลงทุน และสีเขียวเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องแยกก๊าซ ค่าสารเคมี ค่าไฟฟ้า ตัวจับปรอท และค่าสกัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ต้นทุนรวมๆแล้วอยูที่ 450 เหรียญสหรัฐต่อตัน

นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ วางแผนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)
นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ วางแผนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)

“ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นคือราคาก๊าซในอ่าวไทย เส้นสีแดงเป็นเส้นที่ถูกรัฐควบคุมที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน จะเห็นได้ว่าในปี 2555 ยังไม่ทันเริ่มผลิตอะไร ราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซก็มีราคาสูงกว่าราคาที่รัฐกำหนดแล้ว ทั้งนี้ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นอกจากนี้ราคาก๊าซในอ่าวไทยยังอ้างอิงกับตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คาดว่าปี 2558 ราคาแอลพีจีจะอยู่ที่ 614 เหรียญต่อตัน ต้นทุนของเนื้อก๊าซมีสัดส่วนกว่า 60% ของราคาที่ผลิต”

ทั้งนี้ราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซอยู่ภายใต้การดูแลของ สนพ. ซึ่งจ้างดีลอยท์เข้ามาตรวจ นอกจากนี้ยังมี กฟผ.คอยตรวจเช็คต้นทุนอยู่ตลอดเวลา การคำนวณใช้ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามราคาก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากปากหลุมมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ นายวัชระตอบว่า “ราคาก๊าซเฉลียปากหหลุมที่ ปตท. ซื้อเฉลี่ยในปี 2554 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 210 บาทต่อล้านบีทียู นี่คือราคาเฉลี่ยที่ซื้อมาจากปากหลุมทุกแหล่ง ยังไม่ได้รวมค่าขนส่งค่าผ่านท่อมาถึงที่ระยอง กระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติจะได้ก๊าซออกมาได้หลายตัว อย่างเช่น โพรเพน บิวเทน มีเทน แต่ละตัวก็จะมีค่าความร้อนไม่เท่ากัน ฉะนั้นในการคำนวณราคาต้นทุน ค่าความร้อนจะเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ราคาก๊าซที่แยกออกมาแต่ละชนิดมีราคาต้นทุนไม่เท่ากัน”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ราคาที่เราส่งขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่าไหร่ นายวัชระกล่าวว่า ราคาที่ขายให้ปิโตรเคมีประมาณ 500-600 เหรียญต่อตัน ต่ำกว่าราคาขายทั่วไป คือราคาขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นราคาขายที่ตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ก่อนที่จะมีการลงทุน เมื่อโรงงานปิโตรเคมีก่อสร้างเสร็จ ก็ต้องส่งขายตามราคาที่ตกลงกันตามสัญญา แต่ราคาแอลพีจีที่ขายภาคครัวเรือนเป็นราคาที่กำหนดโดยภาครัฐ ถ้ารวมภาษีเข้าไปแล้วจะอยู่ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าไปดูราคาก๊าซแอลพีจีที่ขายในลาว 30 บาท เวียดนาม 37 บาท กัมพูชา 41 บาท และมาเลเซีย 19 บาท ประเทศไทยถูกที่สุดในภูมิภาคนี้ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการลักลอบนำก๊าซจากไทยออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

“ในกระบวนการแยกก๊าซจะได้ก๊าซมีเทน โพรเพน บิวเทน และอื่นๆ แต่ว่าตัวเนื้อก๊าซที่มาจากปากหลุมจะไม่เท่ากัน ของใครของมันขึ้นอยู่กกับค่าความร้อน แต่ในการคำนวณต้นทุนของแอลพีจี เราก็จะดึงเฉพาะก๊าซที่ใช้ในการผลิตแอลพีจีเท่านั้น และก็นำมาแชร์ค่าใช้จ่ายในการแยกก๊าซกัน กล่าวโดยสรุปคือต้นทุนของเนื้อก๊าซแต่ละประเภทที่ ปตท. ซื้อมาจากปากหหลุมจะไม่เท่ากัน แต่ค่าใช้จ่ายในการแยกก๊าซจะเฉลี่ยเท่ากัน ต้นทุนคิดจากค่าความร้อน สมมุติว่าเราซื้อมาที่ 210 บาทต่อล้านบีทียู แยกก๊าซออกมาได้กี่ตัว ก็จะนำไปหารเฉลี่ยออกมาเป็นต้นทุนเท่ากันทั้งหมด จากนั้นก็เอาค่าความร้อนของก๊าซแต่ละตัวคูณเข้าไป จึงทำให้ต้นทุนก๊าซแต่ละชนิดไม่เท่ากัน”

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า สามารถเปิดเผยต้นทุนราคาก๊าซแต่ละชนิดได้หรือไม่ อาทิ เอ็นจีวี โพรเพน บิวเทน นายวัชระกล่าวว่า “ต้นทุนราคาก๊าซมันเท่ากันทุกตัว C1 หรือมีเทนก็เท่ากับ 210 บาทต่อล้านบีทียู แต่ว่าตัว C1 จะมีปริมาณค่าความร้อนเท่าไหร่ก็ต้องไปคำนวณทางวิชาการอีกครั้ง”

องค์ประกอบของก๊าซธรรมชาติตามแหล่งต่างๆ ของไทย