ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อบังคับเปิดราคากลาง – วิธีคำนวณจัดซื้อจัดจ้างของ ป.ป.ช. ค้างเติ่ง ไม่มีคำตอบจาก ครม.

ข้อบังคับเปิดราคากลาง – วิธีคำนวณจัดซื้อจัดจ้างของ ป.ป.ช. ค้างเติ่ง ไม่มีคำตอบจาก ครม.

27 มกราคม 2012


ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2554 บัดนี้เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้วที่ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” หรือ ป.ป.ช. เสนอให้ ครม. รับทราบและเห็นชอบข้อเสนอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจดูได้ตามกฎหมายทุจริตของ ป.ป.ช.

ราคากลางในที่นี้คือ ราคาอ้างอิงหรือราคามาตรฐานในการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งประกาศราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางนี้ เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้

หากจะย้อนที่มาที่ไปและความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ต้องไล่ย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่กำหนดให้มีองค์กรอิสระ คือ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ. ของ ป.ป.ช. เป็นเครื่องมือที่ให้อำนาจ ป.ป.ช. จัดการกับการทุจริต

แต่หลังจากมีการแก้ไข พ.ร.บ. นี้ในปี 2554 ได้มีการเพิ่มบทบัญญัติใหม่ขึ้นมาเพื่อป้องกันและดูแลการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐไม่ให้มีการทุจริต คือมาตรา 103/7 และ 103/8 สาระสำคัญของทั้งสองมาตรานี้คือ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

ประกาศเรื่องราคากลางและรายละเอียดการคำนวนราคากลางฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีมติ ครม. เห็นชอบและสั่งการให้หน่วยงานของรัฐไปปฏิบัติภายใน 180 วัน หลังจาก ครม. เห็นชอบ

เนื้อหาหลักของประกาศนี้ เป็นการขยายความและกำหนดระเบียบปฏิบัติ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์หรือในเว็บไซต์ของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ หากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายของ ป.ป.ช.

กล่าวคือ ก่อนที่จะจัดให้มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยราคากลาง และต้องระบุให้ชัดเจนถึงที่มาของราคากลางว่า ราคากลางที่ได้ประกาศไปก่อนการประมูลนั้นมีวิธีคิดคำนวณอย่างไร เพื่อให้คนเข้าไปตรวจสอบได้ เช่น ในการจัดซื้อถุงยังชีพราคาถุงละ 800 บาท การเปิดเผยที่มาของราคากลางคือการบอกว่าราคาของถุงยังชีพมีที่มาอย่างไร คิดราคาข้าวกิโลกรัมละเท่าไหร่ ปลากระป๋องกระป๋องละเท่าไหร่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและมีการตั้งคำถามหากมีการประกาศราคากลางสูงเกินไปหรือผิดปกติ คำว่า “ราคากลาง” กับ “รายละเอียดการคำนวณราคากลาง” จึงมีความหมายแตกต่างกัน

แต่ปัญหาคือ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ที่ ครม. มีวาระการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ ผลปรากฎว่า ครม. ไม่ได้มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่บอกในเบื้องต้นว่า ครม. รับทราบรายงานของ ป.ป.ช. และได้กำชับให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามกฎระเบียบที่บังคับใช้ในปัจจุบันอย่างเคร่งครัด (ระเบียบสำนักนายกฯ ที่กำหนดให้มีการเปิดเผยราคากลางอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องเปิดเผยวิธีคำนวน) และมีความเห็นว่า บางข้อที่ ป.ป.ช. เสนออาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ได้ระบุวันให้ประกาศนี้มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด ดังนั้น ประกาศเรื่องราคากลางฉบับนี้จึงยังไม่มีผลบังคับใช้

ต่อมา ได้มีนักการเมืองและข้าราชการจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศฉบับนี้ แสดงความเห็นว่า การเปิดเผยราคากลางและวิธีคำนวณจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ หากเอกชนรู้ราคากลางอย่างละเอียดก่อน ก็จะเสนอราคาสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับราคากลาง รัฐก็จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูง

ส่วนฝ่ายราชการที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า ในทางปฏิบัติของการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ผู้เข้าประมูลแต่ละรายจะมีต้นทุนต่างกัน ต้นทุนสินค้าแต่ละชนิดไม่เท่ากันโดยจะแตกต่างกันไปตามความสามารถทางธุรกิจ เช่น ผู้รับเหมารายหนึ่งอาจมีต้นทุนค่าเหล็กแพงกว่าราคากลางเป็นจำนวนมาก แต่ค่าไม้ ค่าปูน ของผู้รับเหมารายนี้อาจต่ำกว่ารายอื่นๆ เมื่อมีการประมูล ผู้รับเหมารายนี้จึงมีโอกาสเสนอราคาได้ต่ำที่สุด ทำให้ชนะการประมูล

ทั้งนี้ อาจทำให้เกิดการร้องเรียนภายหลังว่า ราคาเหล็กของผู้รับเหมาเจ้านี้สูงกว่าราคากลางมาก แต่กลับชนะการประมูล ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ต้นทุนของผู้ประมูลแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การเปิดเผยวิธีคิดคำนวณราคากลางจึงเป็นการเปิดช่องให้มีการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น โดยข้าราชการจะถูกเพ่งเล็งมากกว่าฝ่ายอื่น การตัดสินใจเรื่องราคากลางจึงควรต้องดูบริบทอื่นๆ ประกอบกันด้วย

นายเมธี ครองแก้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แสดงความเห็นแย้งเหตุผลข้างต้นว่า การกำหนดราคากลางที่สูงโดยไม่มีที่มาที่ไป จะเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตจากส่วนต่างของราคากลาง ที่เอื้อให้เกิดการทุจริตเพราะไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ แต่การเปิดราคากลางต่อสาธารณะ จะทำให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ขึ้น เมื่อผู้ชนะต้องแข่งขันกับคนอื่น จึงเป็นไปได้ยากที่จะได้ราคาประมูลสูงกว่าราคากลาง เพราะคนอื่นๆ ก็รู้เช่นกัน จึงช่วยให้รัฐประหยัดต้นทุนได้

ในเรื่องข้าราชการจะถูกเพ่งเล็งหากมีการร้องเรียนนั้น หากมองในทางกลับกัน การเปิดเผยวิธีคำนวณราคากลาง อาจเป็นการช่วยปกป้องข้าราชการจากการถูกร้องเรียนได้เหมือนกัน เนื่องจากการเปิดเผยวิธีคิดคำนวณเป็นเหมือนการแสดงความโปร่งใสของข้าราชการ ทำให้การประมูลขาวสะอาด และเรื่องที่อาจได้ผู้ประมูลที่มีราคาของวัสดุบางอย่างสูงกว่าราคากลางเป็นจำนวนมากนั้น หากดูที่วัตถุประสงค์ของการประมูล ซึ่งคือการหาผู้ที่ให้ราคาต่ำที่สุดแล้ว รายละเอียดบางอย่างที่สูงกว่าราคากลาง อาจพิจารณาให้ตรวจสอบภายหลังได้ เพียงแต่ต้องมีที่มาที่ไปของราคากลางให้ชัดเจนเป็นหลักในการเปรียบเทียบได้

สำหรับประเด็นเรื่องความยุ่งยากซับซ้อนจนเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ในอดีตที่ผ่านมา ป.ป.ช. เคยมีปัญหามาแล้วกับการออกกฎหมายที่ซับซ้อน จนเป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถนำกฎหมายไปปฏิบัติใช้ได้จริง คือกฎหมายที่ให้เอกชนเปิดเผยบัญชีโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย และมีแบบฟอร์มในการยื่นบัญชีมากถึง 12 หน้า แต่หลังจากที่มีการประกาศใช้ ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า การกำหนดรายละเอียดมากมายแบบนี้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ จน ป.ป.ช. ต้องยอมแก้ไขกฎหมาย ลดความยุ่งยากซับซ้อน ขยายกรอบเงินบัญชีขั้นต่ำที่ต้องยื่นและแก้แบบฟอร์มในการยื่นบัญชีเพียงเหลือเพียง 2 หน้า

ดังนั้น หากจะให้การบังคับใช้สามารถบรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ ป.ป.ช. ต้องตระหนักด้วยว่า ถึงแม้จะมีการออกแบบกฎหมายมาดีแค่ไหน แต่หากไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง กฎหมายนั้นก็ไม่มีประโยชน์ การวางหลักเกณฑ์ในเรื่องต่างๆ ของ ป.ป.ช. จึงต้องนึกถึงผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ถูกบังคับใช้ด้วย ว่าทำอย่างไรให้เมื่อออกมาเป็นกฎหมายแล้วจะสามารถบังคับใช้ภายใต้หลักการที่ดีต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องรายละเอียดอื่นๆ ป.ป.ช. ยังคงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมจากข้อเสนอของกระทรวงการคลัง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด โดย ป.ป.ช. จะต้องไปติดตามและทวงถาม ครม. ให้ประกาศใช้กฎหมาย เพื่อเตรียมรับมือกับงบประมาณอีกหลายแสนล้านในการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม หากประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ได้ทัน การใช้จ่ายในโครงการต่างๆ จะมีความโปร่งใสมากขึ้น เป็นการป้องกันการทุจริตและช่วยประหยัดงบประมาณประเทศชาติได้มหาศาล

ข้อมูลเพิ่มเติม: แนวทางการดำเนินการประกาศราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 103/7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554