ThaiPublica > คอลัมน์ > ภูกระดึง หัวใจอีสาน ซ่อมไม่ได้ด้วยกระเช้าลอยฟ้า

ภูกระดึง หัวใจอีสาน ซ่อมไม่ได้ด้วยกระเช้าลอยฟ้า

17 มกราคม 2012


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ท่ามกลางภาวะน้ำท่วมใหญ่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจทั้งประเภทเถื่อนและทางการถือโอกาสช่วงสังคมเหนื่อยล้าอ่อนแรง พากันงุบงิบตัดไม้ในป่าบ้าง ริเริ่มโครงการไม่ชอบมาพากลในป่าบ้าง แต่ที่มาแรงสุดเห็นจะเป็นความพยายามเข้าเกียร์เดินหน้าโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง นำโดยนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยแลนด์ และนายดำรง พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาธรรมชาติโดยตรง

ภูกระดึงเป็นสถานที่พิเศษและวิเศษ เป็นเขาหินทรายรูประฆังคว่ำยอดตัด ตั้งโด่งสูงกว่า 1,200 เมตร กลางที่ราบ แค่มองไกลๆ ก็น่าอัศจรรย์ เหมือนภูเขาในเทพนิยาย แม่พาผู้เขียนขึ้นไปเที่ยวครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ขวบในปี พ.ศ. 2516 ทางเดินขึ้นจากบ้านศรีฐานถึงหลังแประยะทาง 5.5 กม. ชันราว 30-45 องศา ผ่านดงไผ่และป่าผลัดใบ แต่ช่วงท้ายสุดจาก 1000 ถึง 1200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล นั้นชันถึงราว 60 องศา ใกล้ยอดแต่มองไม่เห็นยอด แล้วอยู่ๆ หัวเราก็โผล่ขึ้นมาเห็นที่ราบโล่ง ป่าเปิดออกเหมือนฉากละคร คลี่ม่านประตูวิเศษสู่โลกของนางไม้ คงพากันแอบมาเต้นรำใต้แสงดาวระยิบระยับกลางทุ่งหญ้าคละดอกไม้ใต้ป่าสนสูงโปร่ง เห็นแล้วหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง มันเป็นวินาทีเปี่ยมสุขในชีวิตที่ไม่อาจลืมเลือนได้เลย

คุณชวดเคยเล่าให้แม่ฟังว่า ตอนที่คุณชวดขึ้นไปเหมือนต้องมนต์สะกด เพราะภาพแรกที่เห็นต่อหน้าเมื่อหัวโผล่ขึ้นไปถึงหลังแปคือกวางฝูงใหญ่เล็มหญ้าอยู่กลางป่าสนทุ่งกว้าง

ภูกระดึงมีสัตว์ใหญ่อยู่เยอะ เพราะมีทั้งป่าดิบเขาอุดมสมบูรณ์และทุ่งหญ้าอาหารสัตว์กีบ ซึ่งเป็นอาหารของเสืออีกต่อหนึ่ง มีพันธุ์พืชภูเขาถิ่นหนาวและพืชแปลกๆ อาทิ กล้วยไม้ไร้ใบและพืชกินแมลง ยอดนักปรับตัวกับดินทรายขาดแร่ธาตุ ทั้งต้นหยาดน้ำค้างและหม้อข้าวหม้อแกงลิง มีลำธารน้ำตกชัน ที่อยู่ของเต่าปูลูหางยาวและบรรดาปลาเกาะหิน

ด้วยอายุ 12 ขวบ ไม่มีความรู้มากมายเรื่องธรรมชาติ แต่ยังหยั่งถึงความแปลกประหลาดแสนวิเศษของภูกระดึง จึงรู้สึกมึนงงเมื่ออ่านข่าวคำสัมภาษณ์ของผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์พืชว่า ภูกระดึงไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงนัก ไม่ทราบว่าท่านไม่รู้หรือท่านสนองนโยบายผู้เป็นนาย

ภูกระดึงมีสัตว์ป่า 438 ชนิด ในเนื้อที่ 348 ตร.กม. เป็นสัตว์คุ้มครองและใกล้สูญพันธุ์รวม 232 ชนิด ผู้เขียนไม่มีรายการความหลากหลายทางชีวภาพของพืชภูกระดึงอยู่ในมือ จึงไม่สามารถประเมิน “ค่าความสูง” ของท่าน ผอ. ได้ แต่ที่แน่ๆ คือความโดดเด่นทางชีวภาพและระบบนิเวศ สัตว์และพืชบนภูกระดึงทั้งบนบกและในน้ำล้วนแล้วแต่เป็นตัวบ่งชี้คลาสสิคของระบบนิเวศประเทศไทย เป็นชนิดพันธุ์ที่ถือว่าเป็นธงชัย (flagship species) โบกสะบัดให้เรารับรู้ว่าที่นี่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เจ๋งจริง

ไม่แปลกเลยที่ภูกระดึงได้รับเลือกให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ของประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2505 หลังจากเขาใหญ่ในปี 2504

ตอนผู้เขียน 12 ขวบ ภูกระดึงมีบ้านพักป่าไม้เพียง 3 หลัง เราขนอาหารขึ้นไปทำครัวเองและขนขยะกลับลงมาเอง (โดยอาศัยลูกหาบช่วย) ทั้งภูมีคณะเราเพียง 6 คน แม้จะเป็นช่วงปิดเทอม ต่อมาตอน 18 ขวบ ขึ้นไปอีกกับคณะพฤกศาสตร์จุฬาฯ ภูกระดึงมีลานตั้งแคมป์เรียงเป็นแนว มีทัวร์ฉิ่งฉับแบกกลองและกีต้าร์ขึ้นไปร้องเพลงเสียงดัง ขยะทิชชู่และเศษพลาสติกตามรายทาง

จนทุกวันนี้จำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงปีละหลายแสน มีปัญหาขยะมากมาย จนทางอุทยานต้องพยายามจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้ไม่เกิน 5000 คนต่อวัน และพยายามห้ามไม่ให้นำกล่องโฟมขึ้นภู

โครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงอ้างว่า กระเช้าลอยฟ้าจะช่วยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้อยู่ในจำนวนที่ควบคุมได้ และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่มีกำลังทรัพย์แต่เดินไม่ไหวขึ้นไปได้ แต่การควบคุมจำนวนคนและคุณภาพการท่องเที่ยวยังคงเป็นเรื่องที่ทางกรมอุทยานฯ ต้องแสดงข้อมูลและแผนปฏิบัติการที่มีเหตุผลชัดเจน น่าเชื่อถือ สามารถตีแผ่ให้สังคมอภิปรายถกเถียงกันได้ในวงกว้าง เพราะภูกระดึงไม่ใช่สมบัติของกรมอุทยานฯ และไม่ใช่มรดกของชาวจังหวัดเลยเท่านั้น แต่เป็นมรดกของธรรมชาติ เป็นสมบัติของเราทุกคนที่ต้องรักษาไว้ (อ่านรายละเอียดความคืบหน้าของโครงการได้ที่ “วาระข้ามปี กระเช้าบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง” ใน www.seub.or.th

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฒนธรรมการท่องเที่ยวของเราเป็นภัยคุกคามธรรมชาติ คุณภาพของนักท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ที่กำลังทรัพย์ มันอยู่ที่ทัศนคติและนิสัยของเรา ในประวัติศาสตร์ชาติไทยยังไม่เคยปรากฎเลยว่า การเข้าถึงสถานที่อนุรักษ์ธรรมชาติได้สะดวกสบายสามารถช่วยให้เราดูแลรักษาธรรมชาติได้ดีขึ้น มันมีแต่ทำให้แย่ลง เกิดขึ้นซ้ำซากทุกหนทุกแห่ง เพราะปัญหามันอยู่ที่หัวใจของเรา ตราบใดที่เราท่องเที่ยวเพียงเพื่อเสพวิวแกล้มกาแฟด้วยกล้องถ่ายรูป รักธรรมชาติเชื่องๆ อย่างสะดวกสบายเหมือนชมความงามในโรงภาพยนตร์หรือสวนโรงแรม เราก็คงได้แต่นักท่องเที่ยวที่มีคุณสมบัติไม่ต่างจากผู้บริโภคชมสัตว์ในกรงตามห้างมากนัก เรียกร้องแต่ความสะดวกของตนเอง กระทบธรรมชาติและส่วนรวมอย่างไรไม่ต้องรับรู้ กลายเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องคอยเก็บขยะตามหลัง เหมือนพนักงานทำความสะอาดในห้างเช่นนั้นหรือ

น่าสังเกตว่าคนไทยเราชอบเที่ยว แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการเดินทาง เราชอบไปทำบุญตามวัด แต่เราไม่ใส่ใจกับการเดินทางจาริกสู่วัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เราจึงอยากขับรถคันโตเข้าไปเทียบหน้าวัด ไม่ต้องสนใจว่าวัดจะตัดต้นไม้ไปกี่ต้นเพื่อทำที่จอดรถ แตกต่างจากชาวอินเดีย ธิเบต เนปาล และฝรั่งหลายกลุ่ม ที่เน้นกระบวนการเดินทางเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำบุญ ทุกๆ ก้าวที่เดินคือการเรียนรู้ คือการเจริญสติ คือการทำบุญ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว การเดินทางนั้นจึงเป็นการดำรงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่

สถานที่ธรรมชาติก็เช่นกัน ในยุควิกฤตสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์จำต้องเข้าใจธรรมชาติให้มาก รัฐบาลยิ่งควรต้องหาทางส่งเสริมให้คนไทยเรียนรู้เคารพธรรมชาติในธาตุแท้ของมัน ส่งเสริมให้เราละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ของชีวิตเรากับธรรมชาติ เห็นคุณค่าของสรรพชีวิตรายทาง รับรู้สัมผัสได้ว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเพียงใด

การท่องเที่ยวอย่างเรียนรู้เป็นธุรกิจสร้างสรรค์ของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี มีตัวอย่างให้เห็นที่อื่นๆ มากมาย

ถ้ามองลงมาจากก้อนเมฆ เราจะเห็นที่ราบสูงยอดภูกระดึงมีรูปร่างเหมือนหัวใจ เป็นหัวใจของผืนแผ่นดินอีสาน ที่ที่เราต้องดูแลรักษาด้วยหัวใจเช่นกัน