ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ป.ป.ช. เผยบัญชีทรัพย์สิน “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” สูงกว่ารายได้ที่แจ้งไว้ เตรียมไต่สวนร่ำรวยผิดปกติ

ป.ป.ช. เผยบัญชีทรัพย์สิน “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” สูงกว่ารายได้ที่แจ้งไว้ เตรียมไต่สวนร่ำรวยผิดปกติ

13 มกราคม 2012


นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2009/06/17/images/news_img_52151_1.jpg
นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2009/06/17/images/news_img_52151_1.jpg

ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวบิ๊กแบ็ก สุพจน์ ทรัพย์ล้อม… ‘บรรหาร-เนวิน-ศรีสุข’ เส้นทางชีวิตปลัดคมนาคมที่โจรขโมยเงิน 200 ล้าน และ เกมหักเหลี่ยม เฉือนเงิน เชือด “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” ขโมยขึ้นบ้าน 200 ล้าน สถานการณ์จริงหรืออุปโลกน์ วันนี้ (12 มกราคม 2555) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าของคดีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ว่าอาจมีการทุจริตในหน้าที่ เนื่องจากมีจำนวนทรัพย์สินมากผิดปกติ หลังเป็นข่าวกรณีบ้านถูกปล้น

นายกล้านรงค์เปิดเผยความคืบหน้าในคดีว่า ขณะนี้อนุกรรมการได้ไต่สวนนายสุพจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ในข้อหากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในราชการ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และมีพฤติการร่ำรวยผิดปกตินั้น คณะอนุกรรมการได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2554 ให้นายสุพจน์แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองและคู่สมรส ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นวันก่อนเกิดการปล้นบ้าน โดยให้นายสุพจน์ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ภายในวันที่ 11 มกราคม 2555

ปรากฎว่านายสุพจน์ได้มอบหมายให้ผู้แทนมายื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 10 มกราคม 2555 ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบเอกสารที่นายสุพจน์ยื่นนั้น นายสุพจน์ได้แสดงว่า ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ก่อนเกิดเหตุการปล้น ตนมีเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 5,068,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสินสอดและเงินที่รับไว้ในงานแต่งงานของลูกสาวในช่วงเช้าของวันนั้น โดยอ้างว่าลูกสาวได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งของหมั้นให้นายสุพจน์เก็บรักษาไว้ที่บ้าน เพื่อเตรียมเข้าบัญชีเงินฝากของลูกสาวและเจ้าบ่าวในวันเปิดทำการของธนาคาร

ต่อมา คณะกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่นายสุพจน์ได้ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. ก่อนถูกปล้นจำนวน 36 บัญชี และหลังถูกปล้นอีก 3 บัญชี ได้พบประเด็นที่น่าสนใจว่า รายการทรัพย์สินและหนี้สินบางรายการ มีราคาสูงกว่ารายได้ที่ได้แสดงไว้เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนทรัพย์สินดังกล่าว 36 บัญชี รวมทั้งเงินที่ถูกปล้นไปทั้งหมด ที่พนักงานสอบสวนยึดเอาไว้ 18 ล้านบาทเศษ

ในประเด็นเรื่องการทุจริตนั้น จากการสอบสวนได้พบเอกสารเกี่ยวกับสายรัดธนบัตร และได้พบว่า ในสายรัดธนบัตรมีบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมกับกระทรวงคมนาคมจำนวนทั้งสิ้น 4 บริษัท ในประเด็นนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนจะทำการไต่สวนในเชิงลึก เพื่อดูว่าเงินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 4 บริษัท จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนายสุพจน์อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตและการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

ส่วนกรณีการแสดงบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินว่าเป็นเท็จหรือไม่นั้น คณะอนุกรรมการกำลังดำเนินการตรวจสอบ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแต่ละบัญชีที่เคยยื่นมาจำนวน 36 ครั้ง ว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินที่เกินหรือขาดจากที่เคยยื่นไว้หรือไม่ เพื่อพิจารณาว่าเป็นการจงใจยื่นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงในการยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่

“ในวันนี้ อนุกรรมการไต่สวนในเรื่องนี้จึงมีมติให้ดำเนินการไต่สวนนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ โดยให้แจ้งนายสุพจน์มารับทราบข้อกล่าวหาในวันทื่ 23 มกราคม 2555 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ เพื่อให้นายสุพจน์ชี้แจงว่าเงินทั้งหลายที่ได้มานั้นได้มาอย่างไร ได้มาโดยชอบหรือไม่” นายกล้านรงค์กล่าว

และในวันเดียวกันนี้ นายกล้านรงค์ได้เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการไต่สวนเกี่ยวกับการซื้อถุงยังชีพว่า ทีี่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้สำนักการข่าวไปรวบรวมข้อมูลตามสื่อต่างๆ และได้ตั้งเรื่องว่ามีเหตุอันควรสงสัย และมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งชุด เป็นคณะกรรมการไต่สวน โดยได้ตั้งข้อกล่าวหาแก่เจ้าหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากการดำเนิการรวบรวมหลักฐานในเบื้องต้นแล้ว

ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 เป็นสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงของ DSI ซึ่งระบุว่า พบการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจำนวน 10 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับผู้อำนวยการกรม และเจ้าหน้าที่ระดับนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ โดย DSI มีความเห็นว่าเจ้าหน้าทั้ง 10 คนนั้นได้นำเนินการเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 จึงได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ

ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้ดำเนินการไต่สวนเรื่องนี้ไว้ในเบื้องต้น และมีความเห็นว่า ข้าราชที่ DSI ส่งมาทั้ง 10 คนนั้น อยู่ในข่ายมีเหตุอันควรสงสัย หรือมีข้อเท็จจริงปรากฎต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ามีมูลกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 จริง

ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเห็นว่ามีอีก 4 คน ที่กรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนไว้แล้ว เพิ่มเติมจากที่ DSI ส่งเรื่องมา อยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินการไต่สวนด้วย โดยใน 4 คนนั้นเป็นข้าราชการระดับรองอธิบดี 1 คน และเป็นข้าราชการที่รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอีก 1 คน นอกจากนี้ยังพบข้อเท็จจริงว่า มีห้างหุ้นส่วนอีก 2 ห้าง ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย

“คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติดำเนินการแจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนให้กับคนทั้ง 14 ราย เพื่อทราบถึงการตั้งกรรมการไต่สวน และจะได้ดำเนินการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานต่อไป” นายกล้านรงค์กล่าว

โดยภายหลัง หากพบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมในหน่วยงานอื่น นอกเหนือจาก 14 คนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัย คณะกรรมการป.ป.ช. ยังคงอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าและกรรมการที่รับผิดชอบ สามารถดำเนินการไต่สวนเพิ่มเติมต่อไปได้