ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนจาก “Mugabe” ..ซิมบับเวเปลี่ยนจากอู่ข้าวอู่น้ำของทวีปแอฟริกามาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลายโดยสิ้นเชิง

บทเรียนจาก “Mugabe” ..ซิมบับเวเปลี่ยนจากอู่ข้าวอู่น้ำของทวีปแอฟริกามาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลายโดยสิ้นเชิง

23 มกราคม 2012


วิรไท สันติประภพ

ตอนนี้ คนไทยได้ยินชื่อประเทศซิมบับเวและประธานาธิบดี Mugabe กันมากขึ้นจากเรื่องของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลายคนถามผมว่า ประธานาธิบดี Mugabe เลวร้ายแค่ไหน ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์พเนจร” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2551 จึงขอส่งมาให้อ่านกันครับ หวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และรัฐบาลไทยจะไม่เอานโยบายและวิธีการบริหารประเทศของ Mugabe มาเลียนแบบนะครับ

…….

ผมได้ยินชื่อประธานาธิบดี Robert Mugabe ครั้งแรกเมื่อสิบสี่ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเริ่มทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบประเทศซิมบับเว ตลอดสิบสี่ปีที่ผ่านมา ผมติดตามข่าวคราวของซิมบับเวมาโดยต่อเนื่อง และได้แต่หวังว่าจะมีใครโค่นประธานาธิบดี Mugabe ลงจากอำนาจได้เสียที

ซิมบับเวอาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทย เพราะอยู่ไกลถึงตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ซิมบับเวเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ประธานาธิบดี Mugabe ต่อสู้กับอังกฤษจนได้รับเอกราชในปี 1980

ซิมบับเวเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของทวีปแอฟริกา และเคยเป็นผู้ผลิตยาสูบรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ซิมบับเวมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามมากมายหลายแห่ง ที่โด่งดังที่สุดคงจะเป็นน้ำตก Victoria Falls ที่แม่น้ำแซมเบซีทั้งสายตกลงในเหวเป็นน้ำตกยาวกว่า 2 กิโลเมตร

ซิมบับเวมีเมืองหลวงชื่อฮาราเร ตั้งอยู่บนเขา อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีบ้านเรือนแบบอาณานิคม ผมจำได้ว่าเดินจากโรงแรมไปทำงานที่ธนาคารชาติได้อย่างปลอดภัยไม่ต้องกลัวอะไร ซิมบับเวเป็นประเทศพิเศษสำหรับผม เพราะซิมบับเวเป็นประเทศแรกที่ผมเริ่มอาชีพนักเศรษฐศาสตร์ และความน่ารักของคนซิมบับเวได้เปลี่ยนทัศนคติที่ผมเคยมีต่อคนผิวดำโดยสิ้นเชิง

ผมจำได้ว่า เมื่อสิบสี่ปีที่แล้ว อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างซิมบับเวดอลลาร์กับ US ดอลลาร์ อยู่ที่ประมาณ 8:1 วันนี้ อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดอยู่ที่ 250,000:1 ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของทางการสูงถึงร้อยละ 100,000 ต่อปี อัตราการว่างงานมากกว่าร้อยละ 80 ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลำบากมาก น้ำมันและอาหารขาดแคลนอย่างหนัก ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า สาธารณูปโภคหยุดงานมากกว่าทำงาน ประชาชนเกือบร้อยละ 20 ติดเชื้อ HIV และประชาชนกว่าร้อยละ 10 อพยพไปทำงานต่างประเทศ ในจำนวนคนที่อพยพออกไปนั้น เป็นหมอและพยาบาลกว่าครึ่งหนึ่งของหมอและพยาบาลที่ซิมบับเวเคยมี ระบบสาธารณสุขในซิมบับเวจึงล่มสลายโดยปริยาย

เห็นสถิติเหล่านี้แล้ว อาจจะเข้าใจผิดว่าซิมบับเวเพิ่งผ่านสงคราม แต่ตลอดสิบสี่ปีที่ผ่านมา ซิมบับเวไม่ได้รบกับใครและไม่มีสงครามกลางเมือง แต่การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจและสังคมซิมบับเว เกิดจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี Mugabe

นโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี Mugabe เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่เมื่อสิบสี่ปีที่แล้ว ก่อนที่จะผิดพลาดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสี่ถึงห้าปีหลัง เมื่อสิบสี่ปีที่แล้ว ซิมบับเวมีปัญหาการขาดดุลงบประมาณจากนโยบายประชานิยมโดยเฉพาะการอุดหนุนสินค้าเกษตร การขาดดุลงบประมาณบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ จนธนาคารกลางต้องพิมพ์เงินมาให้รัฐบาลใช้ ทำให้เริ่มเกิดปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินซิมบับเวดอลลาร์ตกลง สภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนเริ่มลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่แทนที่ประธานาธิบดี Mugabe จะแก้ที่ต้นเหตุ กลับซื้อเวลาด้วยการพิมพ์เงินมาสนับสนุนนโยบายประชานิยมมากขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจมหภาคตกลงในเหวลึก ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะรัฐบาลและธนาคารกลางขาดความเชื่อถือจากประชาคมเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศโดยสิ้นเชิง

ผมจำได้ว่า เมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว ผมได้พบกับผู้ว่าการธนาคารชาติซิมบับเวที่กรุงเทพฯ โดยบังเอิญ ท่านมากรุงเทพเพราะต้องการสร้างระบบการค้าต่างตอบแทน (barter trade) กับประเทศไทย เนื่องจากในเวลานั้น ซิมบับเวเริ่มขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศสำหรับนำเข้าสินค้าแล้ว

นอกจากการพิมพ์เงินมาให้รัฐบาลจับจ่ายใช้สอย เพื่อทั้งส่วนรวมและส่วนตนแล้ว นโยบายประชานิยมที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของซิมบับเวแตกหักลง คือนโยบายปฏิรูปที่ดิน แต่ตั้งเดิมระบบการเกษตรของซิมบับเวเป็นระบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่เกษตรกรผิวขาวเป็นเจ้าของ และมีคนท้องถิ่นผิวดำกว่าหนึ่งล้านคนเป็นลูกจ้าง

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ประธานาธิบดี Mugabe จะยกเอาเรื่องการปฏิรูปที่ดินมาเป็นนโยบายหลักหาเสียงกับคนท้องถิ่นผิวดำ ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจมหภาคตกต่ำลงเท่าใด พรรครัฐบาลยิ่งยกนโยบายปฏิรูปที่ดินแรงขึ้น ขายฝันว่า คนท้องถิ่นผิวดำจะได้มีที่ดินทำกินของตนเอง จนในที่สุดรัฐบาลได้ออกนโยบายยึดฟาร์มจากคนผิวขาว และนำมาแบ่งให้คนท้องถิ่นผิวดำอย่างถูกกฎหมาย ผลที่เกิดขึ้นคือ ระบบเศรษฐกิจและระบบการเกษตรของซิมบับเวพังลงโดยทันที คนท้องถิ่นผิวดำขาดทุนและความรู้ที่จะบริหารจัดการฟาร์มขนาดใหญ่ ซิมบับเวได้เปลี่ยนสถานะของตนจากอู่ข้าวอู่น้ำของทวีปแอฟริกามาเป็นประเทศที่ขาดแคลนอาหาร

ฟาร์มของคนผิวขาวที่เหลืออยู่หยุดลงทุนและหยุดผลิต เพราะไม่แน่ใจว่าจะถูกรัฐบาลยึดเมื่อไหร่ คนผิวดำกว่าหนึ่งล้านคนที่เคยเป็นแรงงานในฟาร์มต้องตกงาน ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งหมดเป็นเพราะประธานาธิบดี Mugabe บริหารประเทศโดยเอาการเมืองและผลประโยชน์ของพวกพ้องนำเรื่องเศรษฐกิจ คิดแต่ผลการเมืองระยะสั้นมากกว่าผลระยะยาว ปล่อยให้นโยบายที่มีผลประโยชน์สำหรับการหาเสียงทำลายโครงสร้างการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมระบบเศรษฐกิจซิมบับเวล่มสลายแล้ว แต่ประธานาธิบดี Mugabe ซึ่งมีอายุถึง 84 ปียังคงอยู่ในอำนาจได้นานถึง 28 ปี

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Mugabe สร้างฐานเสียงจากความแตกต่างด้านรายได้ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ด้วยนโยบายประชานิยม และใช้นโยบายปกครองโดยสร้างความแตกแยกให้แก่สังคม ประชาชนกลุ่มใดที่เป็นพวกของรัฐบาลจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ถ้าประชาชนกลุ่มใดไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็จะกลายเป็นพลเมืองชั้นสองทันที โดยไม่เพียงถูกตัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่านั้น แต่จะถูกรังแกด้วยอำนาจรัฐอย่างทารุณ

นับได้ว่า ประธานาธิบดี Mugabe ไม่ได้ใช้เพียงแค่นโยบายการเมืองนำเศรษฐกิจ แต่ยังใช้นโยบายอันธพาลนำการเมืองอีกด้วย

การเลือกตั้งในซิมบับเวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา เริ่มจะทำให้ซิมบับเวเห็นแสงสว่างริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ ในที่สุด ความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจและสังคมซิมบับเวได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับประธานาธิบดี Mugabe อีกต่อไป ขณะนี้ ผลการเลือกตั้งแสดงว่า ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและที่นั่งในรัฐสภา แต่นั่นก็เป็นเพียงผลการเลือกตั้งเบื้องต้นเท่านั้น เพราะแม้ว่าจะผ่านไปกว่าหนึ่งเดือนแล้ว แต่คณะกรรมการเลือกตั้งที่เป็นพวกของประธานาธิบดี Mugabe ยังไม่ยอมประกาศรับรองผล

ถ้ารอบนี้ประธานาธิบดี Mugabe ถูกโค่นลงสำเร็จ รัฐบาลใหม่จากฝ่ายค้านจะต้องเหนื่อยมากกับการบริหารประเทศ เพราะต้องสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่จากก้นเหว ลดความแตกแยกในสังคม และต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นฐานของกลุ่มอำนาจเก่า

ท่านผู้อ่านเห็นเรื่องประธานาธิบดี Mugabe แห่งซิมบับเวแล้วคงคิดว่ายากที่จะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่ครับ แต่ลึกๆ แล้วเราประมาทไม่ได้ เพราะเมื่อสิบสี่ปีที่แล้ว ผมก็นึกไม่ถึงว่าซิมบับเวจะเปลี่ยนสถานะตัวเองจากอู่ข้าวอู่น้ำของทวีปแอฟริกามาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลายโดยสิ้นเชิง เพราะการปกครองที่สร้างความแตกแยกในสังคม การหาประโยชน์ให้พวกพ้องของรัฐบาล การใช้นโยบายประชานิยมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลัก และการปล่อยให้ปัญหาการกระจายรายได้รุนแรงขึ้นโดยไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ ถ้าปล่อยไว้โดยไม่แก้ที่ต้นเหตุมีแต่ยิ่งบานปลาย เพราะถ้ารัฐบาลจวนตัวเมื่อไหร่ มักจะตกกระไดพลอยกระโจนใช้นโยบายการเมืองนำเศรษฐกิจ และถ้าจวนตัวมากขึ้น ก็อาจจะใช้นโยบายอันธพาลนำการเมือง มุ่งแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์พเนจร” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2551