ThaiPublica > คอลัมน์ > มรดกบาป : หนี้เน่ากองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท

มรดกบาป : หนี้เน่ากองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท

9 มกราคม 2012


อภิชาต สถิตนิรามัย
[email protected]

สิบสี่ปีกว่าแล้ว สังคมเศรษฐกิจไทยยังแบกรับมรดกบาป จากผลงานของเทคโนแครตธนาคารแห่งประเทศไทยและนายธนาคารพาณิชย์ผู้ล้มบนฟูกในรูปหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทของกองทุนฟื้นฟูฯ หลังจากซุกใต้พรมมาสิบกว่าปี ณ สัปดาห์แรกแห่งปี 2555 ก็ถึงเวลาที่บาปตามทัน…แม้จะไม่ติดจรวดก็ตาม แต่สุดท้ายผู้แบกรับผลกรรมคือ เราๆ ท่านๆ ที่ไม่ใช่ผู้สร้างบาป

1.เมื่อธปท.ก่อบาป

กล่าวได้เต็มปากว่า จุดเริ่มต้นแห่งบาปเกิดเมื่อนายวิจิตร สุพนิจ นักเรียนทุนการศึกษาธปท.รุ่นหนึ่ง นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคาร เพื่อตอบแทนนักการเมืองที่ตนร้องขอตำแหน่งผู้ว่าการ เทคโนแครตนายนี้จึงผลักดันเต็มกำลังให้เปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้ายโดยไม่ยอมปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากระบบคงที่เป็นระบบลอยตัว ทั้งๆที่ฝ่ายวิชาการของธปท.ได้เตือนแล้วว่า นโยบายเปิดเสรีการเงินนี้จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นได้

การเปิดเสรีทางการเงินแบบสุ่มเสี่ยงนี้จึงสร้างแรงจูงใจมหาศาลให้นายธนาคารพาณิชย์นำเข้าเงินตราต่างประเทศมาแปรรูปเป็นเงินบาทเพื่อปล่อยกู้ต่อให้ลูกค้า โดยไม่ทำประกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท เพื่อตนจะได้กำไรส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินต่างประเทศกับเงินบาท แรงจูงใจเช่นนี้ทำให้การปล่อยกู้เป็นไปอย่างหละหลวมมากทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เมื่อธปท.ไม่สามารถต้านทานการโจมตีค่าเงินบาทได้อีกต่อไปในวันที่ 2 ก.ค.2540 และปล่อยให้ค่าเงินบาทตกลง เงินให้กู้เหล่านั้นจึงกลายเป็นหนี้เน่าของสถาบันการเงิน เนื่องจากลูกค้าขาดทุนจากค่าเงินบาทที่ลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ขาดทุนมหาศาลตามไปด้วย

เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบธนาคารล้มทั้งยืน กองทุนฟื้นฟูฯ ร่างทรงทางกฎหมายของธปท.และอยู่ภายใต้การจัดการอย่างเบ็ดเสร็จของธปท. จึงอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าอุ้มธนาคาร ทั้งระหว่างก่อนและหลังวันที่ 2 ก.ค. 2540 และต่อมารัฐบาลต้องเข้ารับประกันเงินฝากและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินไม่ให้ต้องรับผลกระทบจากการขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ ทั้งหมดนี้จึงทำให้หนี้เน่าที่ก่อโดยภาคเอกชน ภายใต้แรงจูงใจที่สร้างโดยธปท. กลายมาเป็นหนี้สาธารณะมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 35 % ของ GDP

สรุปได้เต็มปากว่า ธปท.เป็นผู้ก่อบาปครั้งแรกในรูปนโยบายเปิดเสรีที่ผิดพลาด ก่อบาปครั้งที่สอง โดยการไม่ยอมลอยตัวเงินบาทเมื่อถูกโจมตีค่าเงิน และในระหว่างนั้นก็ปกปิดความอ่อนแอของสถาบันการเงิน ทั้งในที่ลับโดยการอัดฉีดเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ และในที่แจ้งโดยการยืนกระต่ายขาเดียวต่อสาธารณะชนว่า สถาบันการเงินของไทยมีความเข็มแข็ง

2.เมื่อธปท.ไม่ชำระบาป

นักการเมืองทุกพรรคหลัง 2 ก.ค. ย่อมไม่ยอมที่จะรับบาปที่ตนมีบทบาทรองในการก่อขึ้นเพียงคนเดียว รัฐบาลชวน 2 จึงพยายามบังคับให้ธปท.ชำระบาป โดยเกาะกระแสสังคมอ้างอย่างสมเหตุผลว่า ในเมื่อธปท.เป็นผู้ก่อบาปก็ต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูฯด้วย สิ่งนี้จึงกลายเป็นที่มาของ “พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2541” มาตรา 8 (1) กำหนดให้นำเอา 90 % ของกำไรสุทธิธปท.ในแต่ละปีมาใช้คืนเงินต้นของหนี้รัฐบาลที่กู้มาจ่ายให้กองทุนฯ โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ย

แน่นอนว่ามันไม่เพียงพอ รัฐบาลชวน 2 จึงพยายามที่จะล้วงเงินธปท.มาจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นโดยการควบรวมบัญชีของฝ่ายการธนาคารและฝ่ายทุนสำรองของธปท.เข้าด้วยกัน กล่าวคือ กำไร(ขาดทุน)ในบัญชีแรกนั้นเป็นผลจากการทำธุรกรรมการเงินระหว่างธปท.กับสถาบันการเงินทั้งหลาย ส่วนบัญชีที่สองเป็นกำไร(ขาดทุน)จากบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศจากการเปลี่ยนแปลงค่าของเงินต่างประเทศที่ธปท.ถืออยู่เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท รวมทั้งผลตอบแทนที่เกิดจากการถือเงินตราต่างประเทศในแต่ละปีด้วย ในช่วงรัฐบาลชวน 2 นั้นค่าเงินบาทอ่อนลงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อน 2 ก.ค. 2540 ดังนั้นธปท.จึงมีกำไรในบัญชีนี้สูงมากพอที่เมื่อรวมกับผลขาดทุนในบัญชีที่หนึ่งแล้วจะทำให้บัญชีรวมของธปท.แสดงผลกำไร ซึ่งรัฐบาลจะสามารถล้วงออกมาจ่ายหนี้ได้ แต่ความพยายามนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อผู้ว่าการหม่อมเต่าเกาะชายผ้าเหลืองหลวงตามหาบัวออกมาต่อต้านการรวมบัญชี

ความล้มเหลวในการรวมบัญชีครั้งนี้ส่วนหนึ่งส่งผลให้ในทางปฎิบัติแล้ว ธปท.จ่ายคืนเงินต้นได้น้อยมาก ในขณะที่รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 6 หมื่นล้านมานับสิบปีแล้ว เนื่องจากเมื่อไม่รวมบัญชีแล้วบัญชีฝ่ายการธนาคารของธปท.จะแสดงผลขาดทุนมาเกือบตลอด ทำให้ธปท.ไม่มีกำไรที่จะเอาไปใช้คืนเงินต้น คาดว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ธปท.ขาดทุนนั้น น่าจะเป็นผลจากการแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้เงินบาทเข็งขึ้นเร็วเกินไป (ตามทัศนะของธปท.) วิธีการแทรกแซงคือการเอาเงินบาทไปรับซื้อเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าไทยในอัตราที่ธปท.กำหนดไว้ ซึ่งทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นมากมายด้วย ผลที่ตามมาอีกทางหนึ่งคือปริมาณเงินบาทที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยก็จะเพิ่มขึ้น หากธปท.ไม่ออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่การออกพันธบัตรนี้ย่อมทำให้ธปท.มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งจะกลายเป็นรายจ่ายที่ทำให้ธปท.ขาดทุนนั้นเอง ในอีกทางหนึ่ง เมื่อค่าเงินบาทค่อยๆแข็งขึ้นตามกาลเวลา เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ธปท.ถือไว้ก็จะด้อยค่าลง หากคิดในรูปเงินบาท ทำให้ธปท.ต้องขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อหนึ่งด้วย

สรุปคือการที่ธปท.ไม่สามารถชำระบาปได้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการชะลอค่าเงินบาทไม่ให้แข็งขึ้นตามกลไกตลาด ผู้ได้ประโยชน์เต็มๆ ตลอดมาจากบาปคงค้างนี้คือภาคอุตสาหกรรมส่งออก ในขณะที่ภาคนำเข้าเป็นผู้เสียประโยชน์ (เช่นผู้บริโภคน้ำมัน) เมื่อธปท.โอบอุ้มขนาดนี้ ผู้ส่งออกจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาคุณภาพการผลิตเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอื่นๆ หวังพึ่งเพียงการส่งออกราคาถูกจากค่าเงินบาทที่อ่อนกว่าที่ควร คำถามจุดนี้คือสมควรที่สังคมจะอุ้มผู้ส่งออกต่อไป และปล่อยให้ผู้เสียภาษีรับภาระจ่ายดอกเบี้ยกองทุนปีละ 6 หมื่นกว่าล้านไปเรื่อยๆ หรือไม่

3.ใครคือพระผู้ไถ่บาป

ถึงจุดนี้คำถามคือใครจะเป็นพระผู้ไถ่บาป มติครม.เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 55 อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ…เท่ากับบังคับให้ธปท.เป็นผู้ไถ่บาปทั้งต้นทั้งดอก จากข้อมูลสาธารณะเท่าที่มี ณ ขณะนี้ร่างพ.ร.ก.กำหนดให้

1.โอนหนี้คงค้าง 1.14 ล้านล้านบาทไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับผิดชอบทั้งการชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะมีผลเท่ากับการโอนภาระทั้งหมดให้ธปท.จัดการ เพราะในทางกฎหมายแล้วกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นแต่เพียงร่างทรงของธปท.มาโดยตลอดตั้งแต่จัดตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2528

2.ให้อำนาจธปท.เก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก เมื่อรวมกับอัตราที่กำหนดให้นำส่งเงินนำเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้วไม่เกิน 1 % จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.4 %

ผมเห็นด้วยกับมาตราการนี้ เพราะการคุ้มครองผู้ฝากเงินเต็มจำนวนในอดีตเป็นแหล่งที่มาสำคัญของหนี้กองทุนฯ มาตราการนี้จึงเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ฝากในปัจจุบันไปจ่ายผู้ฝากในอดีต ซึ่งจะมีปัญหาความไม่ยุติธรรมระหว่างรุ่นอยู่บ้าง หากผู้ฝากทั้งสองรุ่นเป็นคนละคนกัน แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างบัญชีเงินฝากแล้ว จะพบว่าจำนวนบัญชีเพียง 10-20 % ของทั้งประเทศ กลับมียอดเงินฝากรวมกันประมาณ 90 % ของเงินฝากทั้งหมด จึงอนุมาได้ว่าเจ้าของบัญชีเหล่านี้น่าจะเป็นคนรวยพอที่จะถูกบังคับให้เป็นพระผู้ไถ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับฐานะของผู้จ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมทั่วไป

3.มาตรา 7 กำหนดว่า ในระหว่างการชำระหนี้ต้นเงินกู้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการ 3 ประการ ได้แก่

(1)ในแต่ละปีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินกำไรสุทธิเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90 เข้าบัญชีตามมาตรา 5

(2)ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงิน ตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องเข้าบัญชีสำรองพิเศษ

(3)ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนฯ เข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ข้อความใน (1) และ (2) ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร ธปท.ต้องทำอยู่แล้วในปัจจุบัน เนื่องจากทั้งสองวงเล็บมาจากพ.ร.ก.พ.ศ. 2541 และ 2545 ตามลำดับ แต่ข้อขัดแย้งคือ (3) เนื่องจากธปท.เห็นว่าเปิดอำนาจให้รัฐบาลสามารถล้วงเอาทุนสำรองระหว่างประเทศที่ธปท.ดูแลอยู่ไปใช้หนี้ได้

คำถามสำคัญมีอยู่ว่า รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมประกันเงินฝากเพิ่มขึ้นนั้น คงไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้ ดังนั้นแล้วธปท.จะต้องทำอย่างไร ซึ่งมีสองวิธีดังที่ดร.สมชัย จิตสุชนแห่งทีดีอาร์ไอให้ความเห็นไว้คือ หนึ่ง พิมพ์เงินมาจ่ายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ผลที่ตามมาคือเงินเฟ้อสูงขึ้นและความน่าเชื่อถือในระยะยาวของธปท.จะลดลง สอง ธปท.หยุดหรือลดการแทรกแซงค่าเงินบาท ซึ่งจะลดการขาดทุนของธปท.ลงได้ ทำให้ธปท.มีกำไรไปจ่ายหนี้ได้

ณ จุดนี้ขอเสนอให้พิจารณามาตราการในวงเล็บ 3 ข้างต้นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นวิธีที่ 3 แน่นอนว่ารัฐบาลตั้งใจจะล้วงทุนสำรองไปใช้ดังที่ธปท.กังวล แต่สมมุติว่าเรามั่นใจในทางกฎหมายได้ว่าพ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่อนุญาตให้รัฐบาลล้วงทุนสำรองไปใช้อย่างอื่นๆ นอกจากการจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูฯแล้ว มาตราการนี้จะมีข้อดี-เสียอย่างไร ในแง่หนึ่งคำถามนี้ถามใหม่ได้ว่า ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่เหมาะสมควรมีค่าเท่าไร จากจุดต่ำสุดในเดือนพ.ค.2540 หลังจากที่ธปท.ใช้ทุนสำรองเพื่อปกป้องค่าเงินบาทจนเกือบหมด ‘คลังหลวง’ ระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมาธปท.สะสมทุนสำรองไว้ถึง 178,254.84 ล้านเหรีญ (พ.ย. 54) และส่วนใหญ่ถือไว้ในรูปของสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงเช่นพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งได้ผลตอบแทนต่ำและนับวันอาจมีมูลค่าในรูปเงินบาทลดลง พูดง่ายๆ คือไทยส่งออกทุนสำรองไปให้ประเทศร่ำรวยกู้อยู่แล้ว ทั้งๆที่เราเป็นประเทศไม่รวย คำถามคือจะคุ้มค่ากว่าไหมที่จะเอาส่วนหนึ่งของทุนสำรองนี้มาจ่ายเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูฯ คาดเดาได้ว่าธปท.คงตอบคำถามในทำนองนี้

หนึ่ง ทุนสำรองคือเครื่องมือสำคัญในการรักษาสเถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ในยุคโลกาภิวัฒน์ทางการเงินปัจจุบันทุนไหลเข้า-ไหลออกเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทุนสำรองจำนวนมหาศาลข้างต้นอาจไหลออกอย่างรวดเร็วก็ได้ ธปท.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาระดับทุนสำรองปัจจุบันไว้

สอง หากเอาไปจ่ายหนี้มากไปจะทำให้งบดุลรวมในทางความเป็นจริงของธปท.มีส่วนทุนที่ติดลบ ทำให้ธปท.ขาดความน่าเชื่อถือ

สาม การนำทุนสำรองมาจ่ายหนี้จะเป็นการเพิ่มฐานเงินในระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่อไป แต่ประเด็นนี้ธปท.น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ไม่ยาก ผ่านการออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน

เห็นได้ว่าประเด็นที่หนึ่งและสองข้างต้น เอาเข้าจริงแล้วก็คือคำถามว่าด้วยระดับที่เหมาะสมของทุนสำรองที่ธปท.ควรถือไว้นั้นเอง ผมไม่มีความรู้พอที่จะคิดต่อประเด็นนี้ รบกวนธปท.คำนวณให้สาธารณชนพิจารณาก็จะเป็นประโยชน์ต่อการถกเถียงต่อไปยิ่งนัก

เอาเข้าจริง ผมเดาว่าเรื่องจริงๆ ที่เทคโนแครตธปท.กลัวไม่ใช่ว่า เฉพาะการล้วงทุนสำรองครั้งนี้จะสร้างความเสียหายแก่หน้าที่ธนาคารกลางของตนอย่างกู่ไม่กลับ ประเด็นหลักอยู่ที่เทคโนแครตไม่ไว้ใจนักการเมืองว่าการล้วงเงินครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และในอนาคตจะไม่หาเหตุอื่นๆ มาล้วงอีก (แต่เราก็น่าจะถามตัวเองด้วยว่า เราจะไว้ใจเทคโนแครตธปท.ในการบริหารทุนสำรองได้แค่ไหน หากดูจากผลงานของเขาเมื่อปี 2540) ดังนั้นการต่อสู้ผ่านสื่อสารมวลชนขณะนี้จึงเป็นการประลองกำลังกันว่า ระหว่างนักการเมืองกับเทคโนแครตสาธารณชนจะเชื่อมั่นใครมากกว่ากัน ซึ่งผมเดาว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแพ้ในสายตาคนดู (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นกลางขึ้นไป) ในขณะที่รัฐบาลสามารถอ้างได้ว่า เหตุที่ต้องดึงเรื่องนี้ออกจากใต้พรมเพราะรัฐบาลจะมีภาระมาก โดยเฉพาะการหาเงินมาใช้จ่ายในการสร้างโครงการป้องกันน้ำท่วม แต่รัฐบาลก็ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นเลยว่าจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ตัวอย่างง่ายๆ ที่รัฐบาลจะทำได้คือ ประกาศยกเลิกนโยบายช่วยเหลือคนซื้อบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกด้วยการอ้างว่าจะเอาเงินไปแก้เรื่องน้ำท่วม ทั้งๆที่นโยบายหาเสียงทั้งสองเป็นนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบที่สุดของพรรคเพื่อไทย เพราะนอกจากจะเป็นการใช้งบประมาณอย่างไร้ความจำเป็นแล้ว ยังจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ-ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

อ้อ…เกือบลืมไปแล้วว่า 14 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก แต่นายธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายที่ล้มบนฟูกยังไม่มีใครติดคุกสักคนเดียวเลย ส่วนอดีตผู้ว่าการท่านนั้นก็ดูจะมีความสุขดีในการทำดีลทางการเงินต่างๆต่อไป แต่หนักมือไปหน่อยจนถูกลูกน้องแต่งชุดดำประท้วงไปเมื่อไม่นานนี้เท่านั้นเองนี่ครับ !