ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รู้จักกองทุนฟื้นฟูฯจาก “ทรัสต์ 4 เม.ย. 27” ถึงแก้หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท

รู้จักกองทุนฟื้นฟูฯจาก “ทรัสต์ 4 เม.ย. 27” ถึงแก้หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท

8 มกราคม 2012


กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เปิดดำเนินการมาเกือบ 27 ปี เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ”เครื่องมือในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินล้ม” และในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปช่วยอุ้มสถาบันการเงินที่มีปัญหาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยดูแลผู้ฝากเงินและผู้ถือตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จนทำให้มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีหนี้ที่เป็นภาระรัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ สูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท

ที่มาภาพ  : http://www.posttoday.com/media/content/2011/07/22/A48CEA5785E745C5817AD23D2985D7E5
ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com/media/content/2011/07/22/A48CEA5785E745C5817AD23D2985D7E5
เมื่อผ่านไปเกือบ 15 ปี ยอดหนี้คงค้างยังคงมีจำนวนสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้ก้อนนี้กำลังจะถูกโอนภาระการชำระหนี้ทั้งต้นเงินกู้และดอกเบี้ยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ทำหน้าที่รับผิดชอบบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่กว่า 100,000 ล้านบาท ให้มีรายได้ไปชำระดอกเบี้ยของหนี้ดังกล่าว

โดยภาระดอกเบี้ยของหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ประมาณปีละ 45,000 ล้านบาท ช่องทางหารายได้มาชำระหนี้ดังกล่าวนั้น รัฐบาลออกแบบให้นำรายได้จากเงินนำส่งของสถาบันการเงินให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก มาแบ่งมาชำระซึ่งคาดว่าได้ปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท ยังขาดอีก 15,000 ล้้านบาท ก็จะให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เก็บค่าธรรมจากสถาบันการเงินอีกประมาณปีละ 9,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากการบริหารทร้ัพย์สินที่เหลืออยู่ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จากเดิมต้องโอนไปให้กระทรวงการคลังบริหารจัดการ ก็ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ บริหารต่อไป รายได้จากช่องทางดังกล่าวถ้าชำระดอกเบี้ยแล้วมีเงินเหลือก็ให้นำไปช่วยลดต้นเงินกู้ที่่ขณะนี้ธปท. รับผิดชอบอยู่

การบริหารหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ถือเป็นความท้าทายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นตัวเลขหนี้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่กองทุนเพื่อการฟื้้นฟูฯ เคยบริหารมาก่อน หนี้จำนวนนี้ถือว่าสูงมากเป็น “มวลหนี้” ก้อนใหญ่ พอๆ กับ “มวลน้ำ” ที่เกิดขึ้นในปี 2554 อย่างไรก็ตาม กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีประสบการณ์เรื่องบริหารจัดการหนี้มาโดยตลอด นับตั้งแต่ก่อตั้ง

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นโดยการออกพระราชากำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประไทย พ.ศ. 2548 เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือในทางการเงินเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน

พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 พ.ย. 2528 และใช้ชื่อภาษาอังกฤษของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ว่า Rehabilitation and Development Fund for Financial Institution ต่อมาในเดือนมี.ค. 2529 ได้เปลี่ยนเป็น Financial Institutions Development Fund หรือใช้ตัวย่อว่า “FIDF”

การจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เริ่มขึ้นจากภายหลังเกิดวิกฤตการณ์บริษัทราชาเงินทุน จำกัด ได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องสถาบันประกันเงินฝาก แต่ไม่สามารถจัดตั้งได้ โดยร่างพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝากเสร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในปี 2523 แต่ไม่ได้มีการนำเสนอ และในปี 2524 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อรัฐสภาเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ด้วยเหตุผลบางประการได้มีผู้ขอเสนอให้เปลี่ยนวาระการประชุมนี้อยู่หลายคราจนในที่สุดสภาปิดสมัยประชุม

ต่อมาในปี 2524 ธปท. ในสมัย นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าการธปท. ได้เสนอปรับร่างพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝากซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดมาก เป็นให้จัดตั้งเป็นองค์กรขนาดเล็กภายใต้ร่มเงาของธปท. และให้ทางการสามารถเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินได้ พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายให้สามารถดำเนินการในเรื่องที่ธปท.ทำไม่ได้ เช่น การซื้อหุ้นสถาบันการเงิน เป็นต้น รวมทั้งมีแนวความคิดให้เพิ่มกองทุนขึ้นอีกกองหนึ่งในธปท. เช่นเดียวกับทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน (ปิดไปแล้วหลังปี 2540)

จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในปี 2526 ทางการได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาหลายมาตรการ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินและผู้ฝากเงินจะต้องผ่านองค์กรสถาบันการเงินเอกชน ปรากฏว่าแก้ไขปัญหาได้ลำบากไม่คล่องตัว ทำให้นายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลังในขณะนั้น จึงให้นำเรื่องดังกล่าวมาทบทวน นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธปท. สมัยนั้นจึงนำเสนอให้พิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีคลังเห็นด้วย จนมีการดำเนินการตั้งองค์กรลักษณะดังกล่าวขึ้นมา ด้วยการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548

การจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นลักษณะของการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ แหล่งที่มาของเงินกองทุนที่สำคัญได้มากจากเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน และเงินสบทบจากธปท. ในส่วนของเงินสบทบกฎหมายกำหนดอัตรานำส่งไว้ไม่เกิน 0.5 % ของยอดเงินฝาก ยอดเงินกู้ยืมหรือยอดเงินที่รับจากประชาชนในแต่ละปีที่สถาบันการเงินแห่งนั้นมีอยู่ ณ วันสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม การจะเก็บเงินนำส่งในอัตราที่เท่าไร ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีแต่ไม่เกินกฎหมายกำหนด ซึ่งในขณะนั้นคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ที่ 0.1 % มาตั้งแต่ต้น และขยับเป็น 0.15 % ในระยะต่อมา จนหลังวิกฤตการณ์ 2540 ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.4 % ของยอดเงินฝาก และใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่การนำส่งเงินส่งทบดังกล่าว เปลี่ยนการนำส่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นนำส่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากกำหนดอัตราการนำส่งให้ไม่เกิน 1 % ของเงินฝาก

ทั้งนี้ กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ที่สถาบันการเงินนำส่งเงินให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2553 มีประมาณ 66,000 ล้านบาท และล่่าสุดปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 80,000 ล้านบาท

ส่วนเงินกองทุนในปีแรกที่จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้เงินทดรองจากธปท. จำนวน 1,500 ล้านบาท ต่อมาในปี 2529 ธปท.ได้นำส่งเงินสมทบ จำนวน 500 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2537 ธปท.ได้ส่งสบทบเป็นประจำทุกปีที่มีกำไรประมาณปีละ 300 ล้านบาท และหยุดส่งเงินสบทบตั้งแต่ปี 2539 เนื่องจากขาดทุน และ ณ 30 ก.ย. 2553 มีเงินส่งสบทบจากธปท. ทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท ส่วนเงินกองทุนมีจำนวน 1.62 แสนล้านบาท

ในระยะแรกกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ทำให้ต้องเข้าไปถือหุ้นในสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์หลายแห่ง และได้เข้าไปบริหารทรัพย์สิน เร่งรัดติดตามหนี้สินที่ได้รับจากการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงิน

รวมทั้งได้มีบทบาทในการเข้าไปค้ำประกันและจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากเงินของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเหล่านั้นตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินของประเทศโดยรวม ต่อมาในปี 2546 กองทุนเพื่อการฟื้นฟููฯ ได้ลดบทบาทในการค้ำประกันเจ้าหนี้สถาบันการเงินลงเหลือเพียงการค้ำประกันการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงินเท่านั้น

เมื่อพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 บทบาทด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินของกองทุนได้สิ้นสุดลง โดยเป็นภารกิจของสถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นผู้รับไปดำเนินการ ภารกิจของกองทุนคงเหลือเพียงการทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อนำเงินไปชำระหนี้สินและภาระผูกพันที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เสร็จสิ้น เพื่อสามารถชำระบัญชีและปิดกองทุนได้ในที่สุด

ส่วนบทบาทการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินนั้น ในช่วงระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลใช้บังคับ กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าหากยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินใช้บังคับ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินต่อไป ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยรัฐบาลจะใช้คืนเงินที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวให้แก่กองทุน

หนังสือ "หนึ่งทศวรรษ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน"
หนังสือ "หนึ่งทศวรรษ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน"
ทั้งนี้ตามกฎหมายดังกล่าว กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีกำหนดจะยกเลิก หรือ ยุบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ช่วงกลางปี 2556 แต่ล่าสุด ก่อนสิ้นปี 2554 นายธีระชัย ภูวนาถนานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังได้ทำหนังสือถึงธปท. ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เปิดดำเนินการต่อไป นั่นหมายความว่า บทบาทกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยังต้องทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่อาจประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินต่อไป ซึ่งเป็นภารกิจการทำหน้าที่เป็นกลไกรองรับการแก้ปัญหาสถาบันการเงินในอนาคต

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามผลักภาระหนี้ที่กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อชดเชยความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท มาให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับผิดชอบชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าว ด้วยการออกพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ …

การกลับมามีบทบาทสำคัญของกองทุนเพื่อการฟืนฟูฯ อีกครั้งจากที่กำลังเตรียมสะสางปิดบัญชียุติบทบาทการดูแลความมั่นคงและเสถียภาพของระบบสถาบันการเงิน เนื่่องจากสามารถจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้สำเร็จ แต่กลับต้องอยู่ดูแลสถาบันการเงินในอนาคตต่อไปอีก แล้วสถาบันคุ้มครองเงินฝากจำเป็นต้องมีอยู่ต่อไปหรือไม่

เพราะกลไกของสถาบันคุ้มครองเงินฝากคงมีโอกาสได้ใช้น้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยังทำหน้าที่เป็นกลไกดูแลสถาบันการเงิน นั่นหมายความว่า เรากำลังกลับมาสู่แนวคิดเดิมคือ “สถาบันการเงินล้มไม่ได้” หรือโอกาสจะปล่อยให้สถาบันการเงินล้มมีความเป็นไปน้อยมาก หรือถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงมีแต่สถาบันการเงินขนาดเล็ก ที่สำคัญแนวคิดการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากก็เพื่อจะยุบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

ดังนั้นบทบาทกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ คงอยู่คู่ธปท.ไปอีกนานจนกว่าจะสะสางหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทหมด ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลานาน 25-30 ปี

อ่านเพิ่มเติม รัฐบาล“ศรีธนญชัย” ออกพ.ร.ก.บีบแบงก์ชาติรับภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ,หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท วิบากกรรมธปท. ปมร้อนยิ่งแตะยิ่งร้อน

,