ThaiPublica > คอลัมน์ > พ.ร.ก.หนี้กองทุนฟื้นฟู (ตอนที่ 1: ว่าด้วย ธปท.)

พ.ร.ก.หนี้กองทุนฟื้นฟู (ตอนที่ 1: ว่าด้วย ธปท.)

23 มกราคม 2012


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ถึงวันนี้ รัฐบาลก็ได้ผ่าน (ร่าง) “พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ของกระทรวงการคลังเพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” ไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีใครได้เห็นร่างฉบับจริง (ธปท. ก็บอกว่ายังไม่เห็น) มีเพียงแต่ร่างฉบับก่อนที่ “หลุด” ออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์จนกลายเป็นประเด็นโต้เถียงกัน

และเป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลเลือกที่จะใช้อำนาจออกกฎหมายนี้ ผ่านช่องทางการออก พ.ร.ก. ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ทำได้ใน “กรณีฉุกเฉินที่มีความรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษา […] ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ” และกฎหมายจาก พ.ร.ก. มีลำดับศักดิ์และสิทธิเท่ากับกฎหมาย (พ.ร.บ.) อื่นๆ

ผมคงไม่เถียงหรอกครับว่า พ.ร.ก. นี้มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ (หนี้นี้อยู่มาสิบกว่าปีแล้ว และเพดานหนี้สาธารณะกับเพดานงบจ่ายคืนเงินกู้ก็ยังไม่เต็ม) แต่มันมีประเด็นน่าสนใจตรงที่ กฎหมายนี้มีเนื้อความบางตอนที่อาจจะ “ขัด” กับเนื้อความในกฎหมายฉบับอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักและกรอบในการดำเนินนโยบายทางการเงินไว้

จริงอยู่ครับ กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์เท่ากันที่ออกมาทีหลัง สามารถขัดแย้งกับกฎหมายฉบับเก่าได้ และกฎหมายฉบับใหม่น่าจะเป็น “ผู้ชนะ” ในการตีความ (เพราะถือว่าคนเราเปลี่ยนใจกันได้)

แต่การออกกฏหมายโดยใช้มติ ครม. ที่มีคนเข้าใจเพียงไม่กี่คนในที่ประชุม พิจารณากันแค่ไม่กี่นาที แต่มีเรื่องที่ขัดกับกฏหมายที่เป็นกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ การออกกฎหมายแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรได้รับการพิจารณาถกเถียงให้รอบคอบกว่านี้หรือไม่ ก็น่าคิดครับ

(แต่บางคนอาจจะแซวว่า พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับนี้ ก็คลอดออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และไม่ใช่สภาที่มาจากการเลือกตั้ง)

เพราะผมยังไม่เห็นร่าง พ.ร.ก. ฉบับที่ผ่าน ครม. ไป ผมจึงขอวิจารณ์เรื่องนี้ ด้วยร่าง พ.ร.ก. ฉบับเก่า ที่ “หลุด” ออกมา และด้วยคำสัมภาษณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่บอกว่าแก้ข้อความบางส่วนแล้ว

ถ้ากฎหมายฉบับนี้สามารถมีผล “บังคับ” ให้ ธปท. รับผิดชอบกับภาระหนี้ได้จริงๆ อาจมีผลทำให้ ธปท. ต้องยอมแลกเป้าหมายความมีเสถียรภาพของระบบด้านราคา (เงินเฟ้อต่ำ) กับการมีกำไรมากขึ้นเพื่อนำเงินเอาไปจ่ายคืนภาระหนี้ นั่นก็หมายความว่า ธปท. อาจจะมีแนวโน้มที่จะยอมพิมพ์เงิน (มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น) หรืออยากให้เงินบาทอ่อนลง (เพื่อให้มีกำไรมากขึ้น) ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับเป้าหมายหลักของ ธปท. ก็เป็นได้ (แต่ผมยังมีข้อสงสัยนิดๆ ว่า รัฐบาลจะบังคับ ธปท. ได้อย่างไร)

นอกจากนี้ การออกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีแรงจูงใจมาจากความต้องการเพิ่มความสามารถในการกู้เงินของรัฐบาล ยังอาจส่งผลให้ผู้คนทั่วไปสงสัยถึงการรักษาวินัยทางการคลังและวินัยการเงินในเวลาเดียวกัน และความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ซึ่งอาจจะมีผลต่อแรงจูงใจในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ ธปท. และความเชื่อมั่นในค่าเงินบาทในที่สุด

————————-

หลายคนคงได้เห็น พ.ร.ก. นี้ผ่านตามาแล้ว ผมของสรุปสั้นๆ นะครับ

พ.ร.ก. ฉบับนี้ โอนความรับผิดชอบในการจ่ายคืนภาระหนี้กลับไปให้กองทุนฟื้นฟูที่กำลังจะปิดตัวลง (แต่ตัวหนี้ยังอยู่ที่กระทรวงการคลัง) โดยให้กำหนดให้ ​ธปท. หาเงินมาจ่ายให้ ซึ่งกำหนดให้มาจาก

1.เงินร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิของ ธปท. (เข้าใจว่าภายหลังมีการเพิ่มเติมว่า “หลังหักขาดทุนสะสม”)

2.บัญชีผลประโยชน์ประจำปีจากบัญชีเงินสำรองเงินตรา (โดยไม่ต้องโอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษ) ฟังแล้วอาจงงๆ เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟัง

3.ทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูฯ (ในร่างฉบับก่อนเขียนไว้ว่า “เงินหรือทรัพย์สินของ ธปท. และ กองทุนฟื้นฟูฯ ที่ ครม. กำหนด” ซึ่งถ้ากฎหมายออกมาแบบนั้นจริงๆ ผมว่าปิด ธปท. ไปเลยดีกว่าครับ)

4.รายได้ค่าธรรมเนียมที่อนุญาตให้ ธปท. เก็บจาก “สถาบันการเงิน” แต่เมื่อรวมกับเงินนำส่งสถาบันประกันเงินฝากแล้วไม่เกินร้อยละหนึ่ง เข้าใจว่าตรงนี้ก็มีการแก้ให้เก็บจากฐานอื่นๆ ได้ (เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน)

เดิมผมคิดว่า ข้อสามเป็นกลไกของรัฐบาลในการบังคับให้ ธปท. จ่ายคืนหนี้ แต่เมื่อมีการเอาลดหย่อนข้อนี้ออกไป ผมยังมองไม่ออกว่า รัฐบาลจะบังคับให้ ธปท. หาเงินมาจ่ายคืนหนี้นอกเหนือไปจากสี่ข้อนี้ได้อย่างไร (เช่น ถ้ามีเงินครบกำหนดเป็นปริมาณมาก รัฐบาลก็คงยังต้องออกพันธบัตร หรือตั๋วเงินคลังมาจ่ายคืนก่อนอยู่ดี)

ผมขออธิบายให้ฟังไปทีละข้อนะครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ธนาคารกลางมีหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

สาเหตุที่ต้องมีธนาคารกลางที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและการเมือง ก็เพราะว่า ระบบ “เงิน” สมัยใหม่ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์มาหนุนหลัง ถ้าไม่มีความน่าเชื่อถือของคนที่พิมพ์เงินนั้นออกมา เงินคงมีค่าไม่ต่างจากกระดาษใบหนึ่ง และเงินก็มีผลโดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า (เงินเฟ้อ)

ยิ่งการพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้รัฐบาลใช้โดยตรง ยิ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ของวงการธนาคารกลาง (ลองดู Fed กับ BoE เป็นตัวอย่าง ถึงขนาดตอนทำ QE หรือการพิมพ์เงินแบบฉีกตำราธนาคารกลาง ยังมีข้อแม้ว่า ต้องเป็นการซื้อจากตลาดรอง และไม่เป็นการให้รัฐบาลกู้เงินโดยตรง)

ลองนึกภาพดูนะครับ ว่าถ้าอยู่ดีๆ ธนาคารกลางประกาศว่า จะเพิ่มศูนย์ขึ้นอีกสองตัวในธนบัตรทุกใบ มันจะเกิดอะไรขึ้นครับ นั่นคือการเพิ่มปริมาณเงินในระบบขึ้นร้อยเท่าในทันทีใช่ไหมครับ ราคาสินค้าก็คงขึ้นตามปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นไปแน่ๆ

ในอดีต หลายประเทศเคยมีประสบการณ์ที่รัฐบาลถังแตก หนี้สินล้นพ้นตัว และขอให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อจ่ายคืนหนี้เหล่านั้น ผลหรือครับ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมหาศาลตามปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น และค่าของเงินก็ลดลงอย่างรวดเร็ว บนโต๊ะทำงานผม มีธนบัตรจากประเทศ Zimbabwe ใบละหนึ่งร้อยล้านล้านดอลลาร์ (ใช่ครับ 100,000,000,000,000 ดอลลาร์ มีศูนย์อยู่สิบสี่ตัว) เอาไว้เตือนใจถึงพลังในการทำลายล้างของธนาคารกลาง

แต่ที่พูดนี่ ผมไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางพิมพ์เงินไม่ได้นะครับ อย่าเข้าใจผิด การพิมพ์เงินเพิ่มเป็นหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง เงินที่ออกไปจากธนาคารกลางเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และเงินที่กลับเข้าไปอยู่ในธนาคารกลางก็เป็นการลดปริมาณเงินในระบบ

ธนาคารกลางเพียงต้องบริหารจัดการ ให้ปริมาณเงินในระบบมีความเหมาะสมกับความต้องการใช้เงินในระบบ และสอดคล้องกับทิศทางของนโยบายการเงิน

ร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิ ธปท.?

ผมขออธิบายหลักบัญชีของธนาคารกลางให้ฟังคร่าวๆ นะครับ

ในงบดุลของธนาคารกลาง ฝั่งสินทรัพย์มีสองตัวหลักๆ คือ สินทรัพย์ต่างประเทศ (เช่น เงินสำรองระหว่างประเทศในรูปพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่น) และสินทรัพย์ในประเทศ (เช่น พันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารกลางถืออยู่) ของ ธปท. สินทรัพย์ต่างประเทศมีมากกว่าสินทรัพย์ในประเทศเยอะครับ

ส่วนฝั่งหนี้สิน ประกอบไปด้วย พันธบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง และฐานเงิน (ซึ่งประกอบไปด้วยเงินที่หมุนเวียนในระบบ และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ที่ธนาคารกลาง) ใช่ครับ เงินที่เราใช้นั้น ถือว่าเป็นหนี้ของธนาคารกลางครับ เพราะธนาคารกลางเป็นคนออก

เอาสินทรัพย์หักด้วยหนี้สิน ส่วนที่เหลือก็คือ “ทุน” ของธนาคารกลางนั่นเองครับ

แล้วกำไรขาดทุนของธนาคารกลางคืออะไร

หลักๆ แล้วจะมาจากสามส่วนครับ (ไม่นับรายได้ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ธนาคารกลางเก็บจากธนาคารและประชาชนทั่วไปนะครับ)

ส่วนแรกคือ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เกิดจากการนำเงินทุนไปหาผลประโยชน์ ส่วนหนึ่งของกำไรนี้ เกิดจากสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า seigniorage คือความสามารถในการออก “หนี้” ที่ไม่มีต้นทุน ก็คือการพิมพ์ธนบัตรนั่นเอง และธนาคารกลางสามารถเอาเงินที่ออกไปหาผลประโยชน์ได้โดยไม่มีต้นทุน แต่อีกส่วนหนึ่ง มาจากการนำเงินที่มาจากการออกพันธบัตรของธนาคารกลางไปใช้ลงทุน

ส่วนที่สองคือ กำไรขาดทุนจากการซื้อขายสินทรัพย์ (เช่น การขาดทุนจากการป้องกันค่าเงินสมัยวิกฤตปี 40)

และสุดท้ายคือ กำไรขาดทุนทางบัญชี จากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน เพราะด้วยงบดุลของธนาคารกลาง ที่มักจะมีสินทรัพย์เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่มีหนี้สินส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลในประเทศ การที่ค่าเงินแข็งขึ้น ทำให้ธนาคารกลางขาดทุน และการที่ค่าเงินอ่อนลงทำให้ธนาคารกำไร

โดยทั่วไป กำไรที่เกิดจากการบริหารงานของธนาคารกลาง มีส่วนที่กำหนดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐบาล (เพราะรัฐเป็นเจ้าของธนาคารกลาง ย่อมได้รับประโยชน์จากธนาคารกลาง)

ถ้าว่ากันตามหลักแล้ว หากธนาคารกลางมีกำไรจากสองส่วนแรก แปลว่าธนาคารกลาง “รับ” เงินจากระบบมากกว่า “จ่าย” เงินออกไป ดังนั้น กำไรที่เกิดขึ้นสามารถนำส่งให้คลังเอาไปใช้ได้ โดยเท่ากับเป็นการนำเงินไปคืนในระบบ ไม่มีผลต่อปริมาณเงินสุทธิมากนัก

แต่ส่วนสุดท้ายนี่ เป็นประเด็นน่าคิดเล็กน้อย ถ้าทุกครั้งที่ค่าเงินอ่อนลง ทำให้ธนาคารกลางมี “กำไร” และถ้าธนาคารกลางนำกำไรนั่นส่งคลังไปใช้ เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบใช่หรือไม่ และจะไม่ทำให้เงินยิ่งอ่อนไปอีกหรือ หรือถ้าราคาทองคำสูงขึ้น ธปท. ควรพิมพ์เงินเพิ่มหรือไม่

ใน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเขียนถึงจุดนี้ไว้ค่อนข้างรอบคอบ คือถ้า ธปท. มีกำไร ต้องเอาไปหักกับขาดทุนสะสมก่อน แล้วจึงเอาไปตั้งสำรองนั่นสำรองนี่ ไม่นำส่งคลังง่ายๆ และ ถ้าปีไหน ธปท. ขาดทุน ไม่ต้องห่วงเลยครับ เงินไม่มีหลุดออกไปแน่นอน

และตั้งแต่ตกลงกันเรื่องหนี้สินกองทุนฟื้นฟูเสียดิบดีตั้งแต่ปี 2541 และ 2545 ว่าคลังจะรับภาระดอกเบี้ย และ ธปท. จะรับภาระเงินต้น ธปท. ก็มีกำไรอยู่ไม่กี่ปี และขาดทุนมาโดยตลอด เพราะด้วยค่าเงินที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเข้าแทรกแซงค่าเงิน และการทำ sterilization ด้วยการออกพันธบัตร ธปท.​ ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยรับจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ดอกเบี้ยรับสุทธิติดลบมาตลอด

ที่ตกลงกันไว้ เลยไม่ไปไหนสักที จนรัฐบาลทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาเอาคืน

การบังคับให้นำกำไรสุทธิร้อยละ 90 ไปจ่ายคืนหนี้ในทันที จึงน่าจะขัดกับ พ.ร.บ.ธราคารแห่งประเทศไทย และน่าจะหมิ่นเหม่ต่อการบังคับให้ ธปท. พิมพ์เงินเพิ่มในกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง (เช่น ปีที่แล้ว ค่าเงินอ่อนลงจาก 29 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อต้นปี กลายเป็น 31 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายปี ทำให้ ธปท. น่าจะมีกำไรรวมเฉพาะปีที่แล้ว กว่าแสนถึงสองแสนล้านบาทได้)

จริงอยู่ครับว่า ธปท. คงบริหารจัดการปริมาณเงินที่จะเพิ่มขึ้นในระบบได้ ด้วยการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องกลับมา แต่การทำเช่นนั้น ก็เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นในตลาดการเงิน เพราะจะมีความจำเป็นที่ ธปท. ต้องดูดซับสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

เงินบัญชีผลประโยชน์ประจำปี

อีกประเด็นที่ทำให้คนงงๆ ก็คือ ทำไมท่านผู้ว่าฯ ถึงบอกว่า ธปท. มีทุนติดลบ ทั้งๆ ที่ ธปท. มีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. อันนี้ก็มีสองประเด็นครับ

อันแรกคือ ทุนสำรองนี้อยู่ฝั่งทรัพย์สิน โดยไม่ได้ดูว่ามีหนี้สินอยู่เท่าไร จึงไม่ใช่ฐานะที่แท้จริงของ ธปท. ถ้าดูทุนหรือสินทรัพย์สุทธิ (หักหนี้สินออกไป) ธปท. มีทุนอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ที่ผมเล่าไปคราวที่แล้วว่า ยังไง ธปท. ก็รับหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท มาทั้งหมดไม่ได้

(แต่ไหนว่าติดลบไงครับ) อันนั้นเป็นประเด็นที่สองครับ คือ ธปท. มีบัญชีภายในอยู่ 3 บัญชีครับ คือ (1) บัญชีการดำเนินงานของ ธปท. เอง (2) บัญชีทุนสำรองเงินตรา และ (3) บัญชีของฝ่ายกิจการธนบัตร

ระบบบัญชีของ ธปท. ให้ความสำคัญต่อบัญชีทุนสำรองเงินตราเป็นอันมาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เราเคยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์ต่างประเทศที่ใช้หนุนหลังธนบัตรมีความสำคัญเป็นอันมาก บัญชีนี้จึงถูกปกป้องไว้เป็นอย่างดี และเป็นบัญชีที่เข้าได้แต่ออกไม่ได้ ทุกครั้งที่มีดอกผลจากทุนสำรองฯ เงินจะเข้าสู่บัญชีสำรองพิเศษเสมอ แต่ถ้ามีการขาดทุน (เช่นจากค่าเงินที่แข็งขึ้น) ส่วนที่ขาดทุนจะไปเข้าบัญชีการธนาคาร

จำประเด็นขัดแย้งเรื่องเงินบริจาคหลวงตาบัวฯ ได้ไหมครับ ก็บัญชีนี้แหละครับ ที่เรียกว่า เงิน “คลังหลวง”

จนทำให้บัญชีของ ธปท. เอง มีขาดทุนสะสมเกือบสองแสนล้านบาท และบัญชีสำรองพิเศษ (ที่ ธปท. ไปแตะต้องไม่ได้) มีทุนส่วนเกินกว่าเจ็ดแสนล้าน

การกำหนดให้นำเงินผลประโยชน์ประจำปีไปจ่ายหนี้โดยตรง ผมว่าทางปฎิบัติ แล้วน่าจะทำได้ และ พ.ร.บ.เงินตรา เองก็เปิดช่องให้ทำได้ (ด้วยอำนาจกฎหมายอื่น) แม้ว่าปริมาณจะไม่มากก็ตาม (ปีละประมาณหมื่นล้านบาท) แต่อาจต้องถือว่าเป็นการพิมพ์เงินอยู่ดี เพราะเป็นฝั่งรายได้ ไม่ใช่กำไร

สรุปแล้ว ไม่ว่าการนำเงินออกจาก ธปท. ไปจ่ายคืนหนี้ก็ถือว่าเป็นการ “พิมพ์เงินเพิ่ม” เกือบทุกกรณี แต่ ธปท. ก็สามารถลดผลกระทบต่อปริมาณเงินได้โดยการดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งเป็นภาระเพิ่มเติมจากพันธบัตร ธปท. ที่มีอยู่กว่า 2.5 ล้านล้านบาท และยังต้องดูดซับสภาพคล่องของดอกเบี้ยจ่ายบนพันธบัตรเหล่านั้นด้วย

นอกจากนี้ จริงๆ แล้ว ธปท. น่าจะสามารถแบ่งปริมาณฐานเงินที่เติบโตอยู่เป็นปกติตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประมาณ 5-11% ต่อปี (จากฐานเงินประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ก็ประมาณปีละ 0.6-1 แสนล้านบาท) นำไปใช้หนี้ได้บ้าง แต่แน่นอนว่า การทำเช่นนั้น ย่อมไม่ถูกต้องต่อหลักการที่ว่า ธนาคารกลาง ไม่ควรพิมพ์เงินออกมาให้รัฐบาลใช้ หรือจ่ายคืนหนี้การคลังเป็นแน่

ชักยาวแล้ว ไว้ผมจะเอาไว้คุยต่อในเรื่องผลกระทบจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคาร ในตอนต่อไปนะครับ