ThaiPublica > คอลัมน์ > การล่าหาความจริงกับเอรอล มอร์ริส (Errol Morris)

การล่าหาความจริงกับเอรอล มอร์ริส (Errol Morris)

19 มกราคม 2012


กิตติภัต แสนดี

หนังสารคดีโดยทั่วไป มีเป้าประสงค์ของการแจ้งให้ทราบเป็นสรณะ คนดูจะได้รับบรรดาข้อมูลที่คนทำหนังหยิบยกขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นความยากจนในชุมชน ผลกระทบของวิถีชีวิตสมัยใหม่กับสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมขององค์กรบริษัทกับฐานะการเงินของประเทศ ในสารคดี ข้อมูลที่แจ้งกับข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ผู้กำกับอาจนำเสนอข้อมูลด้านเดียว แปลงสารใส่สี หรือจงใจเอาเรื่องแต่งมาปนเปกัน แต่สำหรับเอรอล มอร์ริส (Errol Morris) ผู้กำกับสารคดีรางวัลออสก่าร์ปี 2003 ชาวอเมริกันแล้ว ข้อเท็จจริงที่รอบด้านคือสิ่งที่เขาต้องการแถลงไขเสมอในหนังของเขา

เล่าเรื่องจริงในสารคดี

มอร์ริสไม่ได้เรียนจบทางด้านการทำหนัง เขาจบสาขาประวัติศาสตร์ พยายามจะเอาเอาดีทางสายวิชาการปรัชญาวิทยาศาสตร์แต่ก็ต้องมีเรื่องบาดหมางกับโทมัส คูห์น ที่ปรึกษาที่เป็นปรมาจารย์ของโลกในเรื่องประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขามืดบอกในเรื่องการทำหนัง เขารู้ดีว่าสไตล์การถ่ายภาพไม่ช่วยทำให้สารคดีสมจริงขึ้น เขาอาจถ่ายภาพโดยการถือกล้องสดๆ เล่าความเท็จตลอดเรื่องก็ได้ เขาอาจใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงสูงเลียนแบบอารมณ์ภาพข่าวแต่เอาไปใช้เล่าเนื้อหาที่บิดเบือนก็ได้ โดยคนดูไม่อาจตกในเล่ห์กลอันตื้นเขินนี้

ภาพสัมภาษณ์บุคคลหลากหลายคืออาวุธหลักของมอร์ริส เรื่องราวในหนังเขาอยู่และหมุนล้อกับบทสัมภาษณ์ ตั้งแต่ The Thin Blue Line (1988) ที่ใช้บทสัมภาษณ์ของพยานแวดล้อมในเหตุการณ์ฆาตกรรมเจ้าหน้าที่เมืองดาลลัส มาร้องเรียงบอกเล่าถึงกระบวนการสืบค้น คลี่คลายปมคดี, หรือ Tabloid (2010) ที่ยังใช้บทสัมภาษณ์ของจอยส์ แมคคินนี่ย์ (Joyce McKinney) พร้อมผู้เกี่ยวข้องในคดีสุดอื้อฉาวที่ศาลตัดสินว่าเธอลักพาตัวบาทหลวงมากระทำชำเราในกระท่อมไกลปืนเที่ยงที่เดวอน ประเทศอังกฤษ

มอร์ริสชอบเรื่องลี้ลับสืบสวน เขาชอบการเจาะข่าว ปอกเปลือกเหตุการณ์น่าสนใจ เขาต่อสู้กับความดำมืดของข้อเท็จจริงด้วยบทสัมภาษณ์ที่รอบด้าน จากแหล่งข่าวที่รู้จริง อย่างใน Tabloid มอร์ริสพาผู้ที่เห็นว่าจอยส์รอบจัด มักมากในกาม มาปะทะคัดง้างกับบทสัมภาษณ์ของจอยส์ที่พยายามนำเสนอตัวเองในฐานะสาวบริสุทธิ์ผู้มีรักเดียวใจเดียว และไม่เคยคิดจะทำร้ายใคร หรือในผลงานโบว์แดงรางวัลออสก้าร์ The Fog of War (2003) ที่นำโรเบิร์ต แมคนามารา (Robert McNamara) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา มาเจาะลึกเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างประเทศร่วมสมัยอย่างสงครามเวียดนาม, วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาอย่างผู้คลุกคลีในเหตุการณ์

และแน่นอนว่าเขาไม่ได้ใช้มุกสไตล์ภาพอย่างการใช้กล้องคุณภาพต่ำ ไม่ใช้ขาตั้ง ฯลฯ เพราะมอร์ริสจัดเต็มเสมอ โดยใช้ภาพประกอบ เหตุการณ์จำลอง ดนตรีสุดอลังการ มาเปิดเลียบเคียงไป กล้องที่ใช้ก็เป็นอุปกรณ์เฉพาะสำหรับการสัมภาษณ์อย่าง “อินเทอร์โรตรอน” (Interrotron) ที่ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์จ้องมองผู้ชมตลอดเวลาที่พูด สไตล์ที่เป็นเฉพาะของเขาทำให้คนที่คุ้นเคยกับหนังมอร์ริส สามารถบอกได้ว่าหนังเรื่องใดเป็นหนังของมอร์ริสโดยไม่จำเป็นต้องทราบมาก่อน เรื่องลึกลับ ความดำมืด บทสัมภาษณ์ที่ถึงแก่น และที่สำคัญที่สุดคือการนำเสนอข้อเท็จจริง เหล่านี้คือลายเซ็นที่แฟนหนังนิยมตลอดมา

เล่าเรื่องจริงในภาพถ่าย

บทสัมภาษณ์จากคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทำให้คลี่ปมปริศนาได้ แล้วพยานหลักฐานที่เป็นที่นิยมสมัยนี้อย่างรูปถ่าย จะมีศักยภาพแบบเดียวกันหรือไม่ ต้องลำบากไปหาคนมาสัมภาษณ์สืบพยานถึงเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไปแล้วด้วยภาพถ่ายหรือไม่? เอรอล มอร์ริสตอบเสียงดังๆ ว่ายังจำเป็น และนี่คือหัวข้อที่เขาสืบสวน คิดค้น ถ่ายทอดครั้งแล้วครั้งเล่าตามสื่อ ตามหนังสือ และตามหนังของเขาในช่วงปลายยุค 2010’s เป็นต้นมา

Standard Operating Procedure (2008) คือความตั้งใจของมอร์ริส ที่จะสืบค้นเรื่องราวข้างหลังภาพถ่ายจากเรือนจำอาบู กราอิบในอิรัค ที่ส่งชื่อเสียสั่นคลอนเก้าอี้โดนัลด์ รัมสเฟล รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในช่วงปี 2005

ซาบริน่า เฮอร์แมน กับศพนิรนามในเรือนจำอาบู กราอิบจากกล้องถ่ายภาพเพื่อนร่วมงาน
ซาบริน่า เฮอร์แมน กับศพนิรนามในเรือนจำอาบู กราอิบจากกล้องถ่ายภาพเพื่อนร่วมงาน

มอร์ริสพยายามชักจูงให้เชื่อว่าภาพถ่ายอย่างเดียวไม่เพียงพอที่ใช้ตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือนจำ เราเห็นภาพนักชำนาญการซาบริน่า เฮอร์แมน ยิ้มแย้มแจ่มใสชูนิ้วโป้งถ่ายภาพกับศพของผู้ต้องขังรายหนึ่ง เราอาจจะถูกโน้มน้าวใจให้เชื่อว่าเธอเป็นผู้ก่อให้เกิดการฆาตกรรม และรู้สึกยินดี นับว่าเป็นความไร้มานุษยธรรม แต่แล้วข้อกล่าวอ้างนั้นก็ต้องหมดไปเมื่อจากบทสัมภาษณ์ ทำให้ทราบเรื่องราวอีกมุมว่าศพดังกล่าวเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่ประมาทเลินเล่อตั้งไว้อยู่ก่อนแล้ว ซาบริน่าเองก็ถูกบังคับจากเพื่อนร่วมงานให้ต้องร่วมถ่ายภาพกับศพด้วย โดยเธอต้องจำใจฝืนยิ้มเพื่อผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน ส่วนการชูนิ้วมือก็เป็นปฎิกิริยาปรกติของการต้องถูกถ่ายรูป ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงอื่นใด ทั้งในจดหมายส่วนตัวของเธอ ก็ยังแสดงให้เห็นว่าเธออึดอัดกับเหตุการณ์นี้มาก มิติเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในภาพ และรู้ไม่ได้เพียงดูจากภาพ ทั้งที่เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่ควรรู้

ภาพหน้าปก The Economist ปี 2004 ลงบทความเรียกร้องให้โดนัลด์ รัมสเฟลรับผิดชอบต่อกรณีอื้อฉาวในเรือนจำ
ภาพหน้าปก The Economist ปี 2004 ลงบทความเรียกร้องให้โดนัลด์ รัมสเฟลรับผิดชอบต่อกรณีอื้อฉาวในเรือนจำ

หรืออย่างภาพที่ได้ชื่อว่าเป็นไอคอนของสงครามอิรัค ที่เป็นผู้ต้องขังยืนอยู่บนลังกระดาษโดยมีสายไฟผูกติดตามอวัยวะต่างๆ พร้อมถูกขู่เข็ญว่าจะถูกกระแสไฟฟ้าชอตหากหล่นลงมาด้านล่าง ซึ่งก็ต้องอาศัยปากคำจากผู้รู้จริงว่าสายไฟดังกล่าวถูกถอดออกหลังจากถ่ายรูป ไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าเช่นว่าจริง และมาตรการดังกล่าวเป็นการทำตามคำสั่งจากเจ้าหน้าที่สืบสวนที่ต้องการให้ผู้ต้องหาไม่นอนหลับ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในมาตรการปฎิบัติงานปรกติ ไม่ควรปะปนกับเหตุการณ์ที่เข้าข่ายความผิดทางอาญาอย่างการซ้อมผู้ต้องหาที่ผู้กระทำไม่มีอำนาจ

น่าเสียดายที่ในหนังเรื่องนี้ มอร์ริสละเลยเสียงของนักโทษชาวอิรัคเพื่อสอบทานปากคำของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ

3 ข้อข้างหลังภาพ

บทเรียนของภาพถ่าย ถูกสรุปโดยมอร์ริสง่ายๆ 3 ข้อ

1) ภาพถ่ายไม่อาจเป็นจริงหรือเท็จได้ มันเพียงแสดงสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า

ภาพถ่ายไม่สามารถใช้ยืนยันข้อเท็จจริงใดๆ ได้โดยไม่อธิบายที่มาที่ไปของมัน เราอาจเห็นผู้ตาย เห็นเจ้าหน้าที่ยิ้มแย้ม แต่ในตัวภาพเองไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงใดมากไปกว่ามีคนยิ้มชูนิ้วมือใกล้กับศพ ศพหนึ่ง ส่วนความรู้สึกที่ว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเป็นคนฆ่า เป็นคนไร้สำนึก คือเรื่องที่ภาพไม่ได้พูด แต่เกิดจากการประดิดประต่อของผู้ชมเองซึ่งในความเห็นมอร์ริสแล้วนั่นคือความอันตรายเพราะ…

2) ภาพถ่ายทุกภาพคือการจัดฉาก

ภาพของโรเจอร์ เฟนตันที่มอร์ริสนำมาดัดแปลง เพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดว่าต่อให้มีช้างในทิวทัศน์นี้ เฟนตันก็สามารถตัดมันออกไปจากภาพได้
ภาพของโรเจอร์ เฟนตันที่มอร์ริสนำมาดัดแปลง เพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดว่าต่อให้มีช้างในทิวทัศน์นี้ เฟนตันก็สามารถตัดมันออกไปจากภาพได้

ภาพมีกรอบภาพจำกัดพื้นที่ อีกทั้งปริมาตรสามมิติถูกยุบเป็นสองมิติทำให้มุมมองถูกบิดเบือน มีอุปกรณ์นานาขวางกั้น มอร์ริสยกตัวอย่างว่าในที่นั่นอาจมีช้างตัวใหญ่เดินอยู่ โดยคนถ่ายภาพอาจเลือกไม่ให้มีช้างในภาพนั้นก็ย่อมได้ ตัวอย่างนี้จึงสอนให้ตระหนักว่าภาพถ่ายสามารถใช้ชักจูงความคิดเห็นได้ ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาอย่างที่เข้าใจ

ตัวอย่างนี้คนไทยน่าจะคุ้นเคยดีกับภาพที่เผยแพร่ทั่วไปในโซเซียลเนตเวิร์กช่วงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2011 ที่เป็นภาพเทียบการตรวจงานน้ำท่วมแบบเปียก-ไม่เปียกระหว่างนายกรัฐมนตรีหญิงกับอดีตนายกรัฐมนตรี

3) เจตนาคนถ่ายภาพ ไม่ถูกแสดงในภาพ

เจตนาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเจตนาในด้านศิลป์อย่าง ต้องการให้เป็นภาพนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นสัจนิยมหรือเหนือจริง ฯลฯ แต่กำลังหมายถึงเจตนาพื้นๆ อย่างคำถามที่ว่า ถ่ายทำไม? ถ่ายเล่น ถ่ายเป็นหลักฐานในคดี หรือแม้แต่ถ่ายแกล้งผู้อื่น? เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่คนดูภาพที่คิดจะตัดสินใดๆ จากภาพต้องรู้ให้แจ้งชัดเสียก่อนจึงเจตนานี้ เพื่อที่จะไม่หลงตกเป็นเครื่องมือของผู้ถ่ายภาพ

แฟนหนังคนหนึ่งเคยถามเขาว่า ทำไมทำแต่หนังหดหู่ วิเคราะห์แต่ภาพหดหู่ เขาตอบว่าช่วยไม่ได้ ที่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกย่อมเจ็บปวดโดยสภาพของมันเอง ต่อให้เขาหยิบเรื่องแต่งงานอันมีฉากหน้าเป็นความรื่นรมย์มาวิเคราะห์ ข้อเท็จจริงที่เขาขุดคุ้ยเบื้องหลังก็ย่อมต้องพบความขมขื่นอย่างที่ตัวเขาเองเจอภรรยาขู่หย่าหลายวาระหลังจากแต่งงานไม่กี่วัน และการกระแทกหาความจริงนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เขารู้สึกสบายหรือคุ้นชินเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เขาจำเป็นต้องขุดคุ้ยเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของผู้ถูกสัมภาษณ์ให้ได้ มอร์ริสกล่าวในเรื่องนี้ว่าการหาความจริงไม่ใช่งานสบายในตัวมันเอง แต่เขาจำเป็นต้องทำเพราะมันคือหน้าที่ที่ยินดีจะทำต่อไป