ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บทเรียนรับมือภัยพิบัติแบบไทยๆ “ระเบิดจากข้างใน” ปลุกพลังให้คนสู้ สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง

บทเรียนรับมือภัยพิบัติแบบไทยๆ “ระเบิดจากข้างใน” ปลุกพลังให้คนสู้ สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง

1 มกราคม 2012


ความทุกข์ในห้วงวิกฤตน้ำท่วมกำลังหายไปจากใจผู้ประสบภัย เมื่อเทศกาลรื่นเริงสนุกสนานปีใหม่มาแทนที่ ขณะที่หลายพื้นที่น้ำท่วมทุ่งยังเอ่อนองพร้อมความทุกข์อยู่ คงเป็นที่น่าเสียดายหากปล่อยให้บทเรียนภัยพิบัติครั้งนี้หายไปพร้อมๆกับสายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนระดับประเทศ องค์กรเอกชน หน่วยงานราชการ ชุมชน และประชาชนทั่วไป เพราะมีโอกาสที่ภัยพิบัติจะมาเยือนถี่ๆขึ้น แผนป้องกันภัยพิบัติที่เป็นรูปธรรมและแนวปฏิบัติต้องชัดเจนว่าใครต้องทำอะไร อย่างไร หลายพื้นได้ถอดบทเรียนไปบ้างแล้ว เพราะเมื่อใดที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น ยากที่ใครใดคนหนึ่งหรือองค์กร หน่วยงานใดจะป้องกัน รับมือและฟื้นฟูได้เพียงลำพัง

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากภาคประชาชนที่ได้ถอดบทเรียนไปแล้ว หลายชุมชนหลายท้องถิ่น ต่างมีกระบวนการสร้างและหล่อหลอมเครือข่าย จนกลายเป็นทุนทางสังคมที่แข็งแกร่ง ที่ผูกยึด ผูกโยงกันเหนียวแน่นระหว่างประชาชนกับธุรกิจ ที่ผนึกกำลังกลายทุนภาคประชาชนที่เข้มแข็งกว่า ภาครัฐ เป็นการระบิดจากข้างใน ปลุกพลังให้คนลุกขึ้นมาสู้เพื่อศักดิ์ศรีของตัวเอง

น้ำท่วมครั้งนี้ได้ปรากฏชัดแล้วว่าภาคประชาชนส่วนใหญ่เข้มแข็งจริง

หลายตัวอย่างเป็นโมเดลที่ดีอย่างกรณีจังหวัดนครสวรรค์ ดร.ประกิจ ณรงค์ตะณุพล มูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน เล่าถึงโมเดลการรับมือกับวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมาว่าการทำงานป้องกันน้ำท่วมมีหลายส่วน ตั้งแต่การกันน้ำไม่ให้น้ำเข้า เมื่อน้ำเข้าแล้วจะทำอย่างไรต่อ นั่นคือต้องทำทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์ คือทำเขื่อนอย่างไร ที่สูบน้ำมาจากไหน ขณะที่การบริหารจัดการคือซอฟแวร์ต้องทำอย่างไร และอินฟอร์เมชั่นแวร์คือการกระจายข้อมูลต้องทำอย่างไร

สิ่งภาครัฐเก่ง มีศักยภาพมากคือเรื่องฮาร์ดแวร์ ส่วนซอฟแวร์ในแง่การบริหารจัดการภาครัฐอาจทำไม่ค่อยได้ ยิ่งอินฟอร์เมชั่นแวร์ ยิ่งไม่มีความน่าเชื่อถือเลย ซึ่งกลุ่มคนทำงานที่เป็นภาคประชาชนรู้ว่าใครคือใครบ้างในนครสวรรค์ จะทราบว่าใครเก่งเรื่องอะไร และเราเชื่อใจเขาได้ไหม พอเชื่อปั้บการทำงานก็เดินหน้าต่อได้ทันที

“นครสวรรค์น้ำท่วมเป็นประจำ มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เป็นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วจากการทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมา เพราะเรารู้ว่าน้ำท่วมที่ไหนก็ขาดการประสานงาน ไม่รู้จะแจกของไปที่ไหนบ้าง พวกผมเปลี่ยนสถานีวิทยุชุมชนเป็นสถานีภัยพิบัติ ให้คนในเครือข่ายมาเป็นดีเจ เพราะเรารู้ว่าน้ำท่วม ไฟดับ ทีวีดูไม่ได้ และถึงมีทีวีดูก็มีข่าวของใครไม่รู้ ไม่มีเฉพาะนครสวรรค์อย่างเดียว ถ้ามีวิทยุ ดีเจสามารถรับเรื่องเองจากประชาชน ส่งให้ภาครัฐ เพราะทุกเช้าจะมีการพูดคุยกันในกลุ่มทำงานว่าจะทำอะไร อย่างไร และเอาเรื่องนี้ไปบอกประชาชนผ่านวิทยุ หากใครจะเอาของมาแจก กลุ่มเครือข่ายจะรู้ว่าของจะไปแจกที่ไหน จะได้ไม่ซ้ำกัน เป็นการสื่อสารสองทางตลอดระหว่างเครือข่ายและประชาชน ทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร มีความชำนาญอะไร”

การป้องกันน้ำท่วมจังหวัดนครสวรรค์ ในภาพซ้ายมือเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนไม้คือกำแพงคอนกรีตกระสอบทรายต่อขึ้นมาแล้วมีไม้ล็อคไม่ให้กระสอบหลุด ถัดมาเป็นดินคลุกหินถมเป็นกำแพงสูง 2-3เมตร และมีน้ำคั่นกลางเพื่อให้น้ำเป็นตัวเชื่อมคอยดันกำแพงคอนกรีตอีกที ที่มาภาพ http://uc.exteenblog.com/ifew/images/2011flood/29.jpg"
การป้องกันน้ำท่วมจังหวัดนครสวรรค์ ในภาพซ้ายมือเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนไม้คือกำแพงคอนกรีตกระสอบทรายต่อขึ้นมาแล้วมีไม้ล็อคไม่ให้กระสอบหลุด ถัดมาเป็นดินคลุกหินถมเป็นกำแพงสูง 2-3เมตร และมีน้ำคั่นกลางเพื่อให้น้ำเป็นตัวเชื่อมคอยดันกำแพงคอนกรีตอีกที ที่มาภาพ http://uc.exteenblog.com/ifew/images/2011flood/29.jpg"

ในส่วนภาครัฐที่เก่งเรื่องฮาร์ดแวร์ ทำได้ดีมากในการกั้นน้ำท่วม พอน้ำท่วมปั้บสามารถดูดน้ำออกเร็วมาก ทำให้ภาคประชาชนไม่ทุกข์มาก หากประชาชนต้องแก้ปัญหาเองก็ไม่สามารถทำได้นานๆเพราะมีทุนจำกัด

ประกอบกับภาคประชาชนแข็งแรง การบริหารจัดการในเรื่องอื่นๆที่ไม่ใช่เรื่องฮาร์ดแวร์จึงทำได้ดี เพราะทุนสังคมนครสวรรค์คือมีพ่อค้าเยอะ นิสัยพ่อค้าต้องพึ่งพาตัวเองอยู่แล้ว พอมีอะไรเกิดขึ้น จึงไวที่จะปรับตัว

ดร.ประกิจกล่าวว่านี่คือทุนทางสังคมที่นครสวรรค์มีอยู่คือเครือข่ายที่รู้จักกันอยู่แล้ว ไม่ใช่พอน้ำท่วมแล้วไปเรียกเครือข่ายใหม่ๆมา เอาคนที่มีจิตอาสามาร่วมกันทำ ซึ่งเขาอาจจะทำงานไม่เป็น ดังนั้นพอเกิดภัยพิบัติ เราต้องเอาคนทำงานเป็น และประสานงานเป็น โดยเอาคนที่มีจิตอาสามาเป็นมือเป็นไม้ แต่ไม่ใช่กลุ่มประสานงาน

“กลุ่มเครือข่ายที่มีอยู่ รู้จักกัน เพราะทำงานกันมาหลายปี รู้ว่าใครมีอะไร ใครเก่งอะไร คนนี้มีเรือ คนนี้มีโน่น คนนี้มีนี่ เป็นเครือข่ายที่มีหลายระดับ ทั้งเครือข่ายในหมู่พ่อค้า เครือข่ายในหมู่ชุมชน เครือข่ายในหมู่ภาครัฐ เรารู้ว่าใครทำงานตรงไหน การประสานงานจึงเป็นลักษณะใยแมงมุม ไม่ต้องประสานทุกกลุ่ม และกลุ่มเหล่านี้รวมกันได้โดยการประสานด้วยวิทยุ ”

นี่คือโมเดลของนครสวรรค์ คือมีความสามารถในการจัดการ ที่ทำได้ดีเกิดจากเครือข่ายที่รู้จักกันมาก่อน จึงทำให้การประสานงานมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่อยู่ดีๆไม่รู้จักกันมาทำงานด้วยกัน ซึ่งไม่มีทุนทางสังคม แต่นี่คือทุนที่สำคัญ ชุมชนใดก็ตามที่ต่อสู้ป้องกันภัยพิบัติได้เพราะเขามีทุนทางสังคมนี้อยู่ การสร้างเครือข่ายต้องสร้างมาก่อน การป้องกันต้องสร้างมาก่อน ไม่ใช่มาสร้างตอนที่เกิดเรื่อง แต่เมื่อเกิดเรื่องแล้ว เราก็ไม่ทิ้งวีระบุรุษเฉพาะกาล วีระบุรุษรุ่นใหม่ที่เพิ่งโผล่มา เราก็ตามเก็บๆๆ

“ถามว่าเราจะทำอย่างไรต่อ นั่นคือการป้องกันระยะยาว ถ้าน้ำยังไม่ท่วมทำอะไร น้ำท่วมแล้วทำอะไร น้ำลดทำอะไร การฟื้นฟูทำอะไร ดังนั้นการป้องกันทำอย่างไร มันต้องมีคน แต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่ไม่เหมือนกัน อันนี้ต้องรู้ว่าใครอยู่ที่ไหน เก่งอะไร มีอะไร ผมว่าที่ไหนๆก็ต้องทำอย่างนี้ มันเป็นธรรมชาติ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีความพร้อมในการทำ จริงๆแล้วเครือข่ายของนครสวรรค์ ทำงานกันมา 5-6 ปี ผมว่าทุกจังหวัดมีเครือข่ายอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เชื่อมโยงกัน นครสวรรค์โชคดีเพราะเราเชื่อมโยงกัน เรารู้ว่าจะไปหาดีเจที่ไหน สถานีวิทยุไปติดต่อที่ไหน มันมีทุนเดิมอยู่ แต่ความท้าทายสำคัญคือการป้องกันระยะยาว แต่ในขณะเดียวกันเราจะไม่ปล่อยให้วีรบุรุษที่เกิดใหม่ๆเหล่านี้หายไปกับสายน้ำ เราตามเก็บทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ วิทยุ ประชาสัมพันธ์ มาอยู่ในเครือข่ายพร้อมกับวิธีการว่าจะเชื่อมกันอย่างไรต่อไป”ดร.ประกิจกล่าว

โมเดลพร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ

เช่นเดียวกับโมเดลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง หนึ่งในมิชชั่นของมูลนิธิฯคือการแก้ปัญหาปากท้อง ลดความยากจน แก้ปัญหาหนี้สิน การสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ให้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาตัวเอง ลุกขึ้นมาบริหารจัดการชุมชนตัวเองได้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างมาช่วยให้มากนัก ภายใต้แนวคิดที่ว่าระเบิดจากข้างในคือให้ชาวบ้านลุกขึ้นมามีส่วนร่วม ลุกขึ้นมาทำเอง

โครงการพร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ เป็นโครงการฟื้นฟูประชาชนหลังน้ำท่วม อ่าน โครงการกล้า..ดี โมเดลฟื้นฟูเยียวยากู้จิตใจแบบบูรณาการ ด้วยชุด 3 พร้อม ..พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ โครงการนี้ริเริ่มจากม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มีแนวคิดที่จะช่วยฟื้นฟูเยียวยาประชาชนให้ลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเอง ลุกขึ้นมาสู้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่การแบมือขอให้ใครช่วย จากแนวคิดดังกล่าวจึงประสานงานในระดับรัฐบาลและภาคเอกชนที่จะมาช่วยสนับสนุน โดยรู้ว่าใครมีทรัพยากรอะไร เก่งอะไร มาช่วยกันทำเช่นกัน

จึงเป็นโมเดลการบริหารจัดการและการสื่อสารที่เหมือนกันๆกับโมเดลนครสวรรค์แต่ต่างกันที่โครงการ

จากระดับนโยบายลงมาสู่การปฏิบัติ โครงการนี้เล็งทำเลที่จังหวัดอุทัยธานีและลพบุรี เพื่อเป็นศูนย์เพาะและกระจายต้นกล้าที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่จะฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)จ. อุทัยธานี

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เล่าถึงที่มาโครงการพร้อมกินพร้อมปลูกพร้อมเพาะ
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เล่าถึงที่มาโครงการพร้อมกินพร้อมปลูกพร้อมเพาะ

ม.ร.ว.ดิศนัดดาเล่าว่ามูลนิธิฯเป็นแค่แกนกลางในการบริหารจัดการ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน ขณะเดียวกันในส่วนของจังหวัด นายกอบจ.จังหวัดอุทัยธานีเป็นผู้บริหารจัดการประสานงานกับเครือข่ายต่างๆในจังหวัด ซึ่งโครงการนี้ทุกคนมีส่วนร่วมหมด เพราะมูลนิธิฯทำเองคนเดียวไม่ได้

“ลองดูว่าพื้นที่เพาะปลูกต้นกล้า 1.4 ล้านต้น ต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่ ต้องต่อท่อน้ำยาวเท่าไหร่ ข้อต่อพีวีซีต้องใช้เท่าไหร่ ถุงดำที่ใช้เพาะจะเอาจากที่ไหน 15 ตัน รวมทั้งดินทั้งปุ๋ยและเครื่องมือต่างๆ เช่นการคลุกดิน หากใช้คนคลุกคงไม่สามารถทำได้ทันตามกำหนดเวลา ที่นี่มีเครื่องมือคลุกดิน เป็นต้น”

หรืออย่างถุงดำต้องติดต่อทางบริษัทปูนซิเมนต์ให้เขาจัดการให้ เขารู้ว่าจะสั่งการอย่างไร เราบอกว่าเรามาช่วยคนเดือนร้อน ไม่งั้นต้องรอ 4-5 เดือนถึงจะได้ เพราะต้องเข้าคิว หรือเรื่องปุ๋ย หากอบจ.ไม่ช่วยจัดการให้ ก็ไม่มีปุ๋ย ต้องไปเอามาจากที่อื่น อาทิ สุพรรณบุรี

นี่คือการออกรบ ต้องให้ทุกคนช่วยกันทำ ที่สำคัญต้องรู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร รวมทั้งต้องรู้ว่าที่ไหน ใครมีอะไรใครเก่งอะไร และสื่อสารประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในแต่ละระดับนั่นเอง

โมเดลอุทัยธานี

ขณะที่นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีได้เล่าว่า นอกเหนือจากการเข้ามาช่วยประสานงานในโครงการพร้อมกิน พร้อมปลูกและพร้อมเพาะแล้ว ในส่วนของการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมจังหวัดอุทัยธานีที่ผ่านมาที่สามารถรับมือได้ดีเพราะการมีเครือข่ายที่รู้จักกันดีอยู่แล้วจึงทำให้การบริหารงานมีความคล่องตัวและรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดจึงรู้จักทั้งพื้นที่และคนเป็นอย่างดีว่าใครมีอะไร ใครเก่งอะไร และที่สำคัญเคยทำงานด้วยกันมานาน

“การรับมือแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ป้องกันน้ำเข้า จนป้องกันไม่ไหวแล้ว น้ำเข้าแล้วจะทำอย่างไรต่อ น้ำเอาที่ไหน ข้าวเอาที่ไหน คุยกันตลอด เราตรวจสอบพื้นที่ทุกจุดที่น้ำท่วม ปัญหาอยู่ตรงไหน แก้ปัญหาแต่ละวัน ผมเป็นคอลเซ็นเตอร์ ใครเดือดร้อนอะไรโทรมาหา สามารถเป็นศูนย์กลางกับหัวหน้ากลุ่มผู้อพยพ และเครือข่ายอื่นๆ เราประสานกันทุกวัน การสื่อสารจึงสำคัญมาก เราทราบปัญหาและไล่ปัญหาไปเรื่อยๆ ต้องรู้ข้อมูลจริง แก้ปัญหาให้ถูกต้อง เราโทรเช็คทุกวัน เราแก้ปัญหาทุกวัน เช่นหม้อแปลงจะจมน้ำแล้วนะ ก็โทรฯหาไฟฟ้า ไปยกขึ้น”

นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จ.อุทัยธานี
นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จ.อุทัยธานี ด้านหลังที่เห็นเป็นแปลงเพาะต้นกล้าโครงการพร้อมกินพร้อปลูกพร้อมเพาะ โดยใช้พื้นที่ของอบจ.จ.อุทัยธานี

หรือกรณีที่ต้องจัดหากับข้าว อาหารสดมาให้ผู้ประสบภัย เพราะน้ำท่วมนาน 2 – 3 เดือน ประชาชนเครียด มีการปรึกษาหารือกัน จึงประสานงานให้เทศบาลแต่ละแห่ง อบต.แต่ละแห่งที่อยู่ในพื้นที่น้ำไม่ท่วม ให้รับผิดชอบทำอาหารอาทิตย์ละวัน ให้เขาไปประสานกับพี่น้องในตำบลเขา รวบรวมแต่ละหมู่บ้านมา หมู่บ้านไหนกี่ถุง เวียนให้แต่ละหมู่บ้านทำมาส่งเลย ไม่ได้ใช่งบประมาณของรัฐ ประชาชนเขาทำมาให้เลย

“แต่ละหมู่บ้านเวียนกันทำอาหารแห่งละวัน อย่างไข่พะโล้ ทำเป็นถุงใหญ่เลย วนกันไป ให้พี่น้องที่น้ำท่วมหุงข้าวรออย่างเดียว ทางนี้เป็นคนจัดหาอาหารถุง ส่งจากรถ ลงเรือ ไปแจก แต่ละอำเภอ เกื้อกูลกันหมด เช่น ที่สะแกกรัง 2,000 ถุง เกาะเทโพ 1,200 ถุง หรือน้ำดื่มผมประสานซื้อขวดมาใบละ 1.50 บาท มาแพ็คที่โรงงาน เขาให้น้ำฟรีประหยัดไปเยอะ แทนที่จะไปซื้อขวดละ 5-6 บาท มีอาสาสมัครไปช่วยกันแพ็ค 1 นาที 24 ขวด หากรอบริจาคไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ผมประกาศวิทยุ รับสมัครคนแพ็ค ผมคิดว่าโมเดลนี้น่าจะใช้ทั่วประเทศ ไม่ต้องใช้งบประมาณ”

นายเผด็จเล่าว่าในทุกท้องถิ่นของที่นี่ทำงานแบบบูรณาการ ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วม อุทัยธานีมี 14 เทศบาล 49 อบต. สนิทสนมกันหมด โดยอบจ.มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เมื่อพี่น้องเดือดร้อน อาทิเรื่องน้ำทำนา ก็มาเอารถแม็คโครไป เขาออกค่าน้ำมัน เขาจะได้เฝ้าน้ำมัน เป็นการทำงานร่วมกัน หรือการขุดลอกคู คลอง การลาดยางถนน ทำร่วมกันหมด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เช่น ที่อื่นเขาลาดยางถนนกันราคา 3.5 ล้านบาท แต่เราลาดยางแค่ 1.5 ล้านบาท ประหยัดไป 2 ล้านบาท โดยใช้เครื่องจักรอบจ. หรือการขุดลอกคลอง หากไปจ้างเหมาราคา 1 ล้านบาท แต่ทำเองเติมน้ำมันไม่ถึง 5 หมื่นบาท ประหยัดไป 9.5 แสนบาท อบจ.เอารถขุดไปให้ โดยขุดให้ได้ผลสัมฤทธิ์ของงาน ขุดให้ได้น้ำ ไม่ใช่ขุดตามแบบที่ชลประทานบอกให้ขุด ซึ่งพี่น้องประชาชนจะได้น้ำหรือไม่ มันตอบไม่ได้ แต่ที่นี่เราทำงานกันแบบนี้ทำแบบให้ได้ผลของงานจริง

นี่คือบทเรียนน้ำท่วม ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นสู้จนกลายเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เป็นทุนทางสังคมที่พวกเขาร่วมด้วยช่วยกันจนกลายเป็น ชุมชนตัวอย่างที่มีทุนสังคมเข้มแข็ง ยืนหยัดพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคตได้ จากที่ทุกข์ล้นอกก็เหลือทุกข์น้อยลง นี่คือการระเบิดจากข้างในที่ทุกคนๆสามารถทำได้