ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ครูสุราษฎร์ฝันสลาย องค์การค้าฯขายที่ดิน 48 ไร่ ส่อขัดมติบอร์ดต้องสร้างบ้านขายสมาชิกครู

ครูสุราษฎร์ฝันสลาย องค์การค้าฯขายที่ดิน 48 ไร่ ส่อขัดมติบอร์ดต้องสร้างบ้านขายสมาชิกครู

25 ธันวาคม 2011


นอกจากข่าวการจัดซื้อจัดจ้างเรื่อง เปิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง “องค์การค้าของสกสค.” ภาคพิเศษ แล้วทางองค์การค้าของสกสค. หรือ ที่รู้จักกันในนามของ “ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์” เป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรสูงสุด และไม่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล มีภารกิจในการผลิตและจำหน่ายตำราและอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยจัดสรรเงินกำไรจากการดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 20 % ให้กับคุรุสภาและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมกรรมต่างๆ รวมทั้งจัดเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิกคุรุสภา ครู และบุคลากรทางการศึกษา แต่อีกบทบาทหนึ่งที่คนทั่วไป มักจะไม่ค่อยทราบ ก็คือหน่วยงานแห่งนี้ เป็นนักพัฒนาที่ดิน

แหล่งข่าวจากองค์การค้าของสกสค. กล่าวว่า ย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ประชุมคระกรรมการองค์การค้าคุรุสภา (ชื่อเดิม) ครั้งที่ 2/2534-2535 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 ได้มีมติ ให้องค์การค้าคุรุสภาไปหาซื้อที่ดิน เพื่อมาทำโครงการเคหะสงเคราะห์ขายให้กับสมาชิกครู โดยให้องค์การค้าคุรุสภากันเงินกำไร 25-30 % ไปไล่ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ๆมาได้ทั้งหมด 10 แปลงกระจายอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี และลำปาง เป็นต้น ปรากฏว่าโครงการพัฒนาที่ดินแปลงอื่นๆไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือโครงการพัฒนาที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ล่าสุด องค์การค้าของสกสค.ได้ตัดสินใจขายที่ดินให้กับนางสาวจตุพร รัตนวิสาลนนท์,นางสาวปนัยกร สินธุเสน และนายเฉลิม เสถียรคุณ ไปเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ในราคา 47 ล้านบาท ทำให้กรรมการขององค์การค้าฯ บางคนตั้งข้อสังเกตุว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้ ไม่น่าจะเป็นไปตามมติของคณะกรรมการองค์การค้าที่เคยมอบหมายให้นำที่ดินไปพัฒนาเป็นโครงการเคหะสงเคราะห์ขายให้กับสมาชิกครู

วันที่ 7 ธันวาคม 2554 นายสินติภาพ อินทรพัฒน์ ผู้อำนวยการ องค์การค้าของสกสค. จึงได้ทำหนังสือเลขที่ 5206.1/200 ชี้แจ้งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขายที่ดินจังหวัดสุราฎร์ธานีออกไป ซึ่งมีสาระคือ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค.ครั้งที 3/2553 เมื่อวันที 23 มีนาคม 2553 มีมติรับทราบว่าที่ดินแปลงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่ใช่ที่ราชพัสดุและได้มอบหมายให้องค์การค้าฯไปกำหนดรูปแบบโครงการ,วิธีการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน และประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้ารวมโครงการ พร้อมกับเสนอแนะองค์การค้าฯพิจารณาให้เอกชนเข้ามาซื้อเหมาทั้งโครงการ โดยองค์การค้าได้รับผลประโยชน์ในครั้งเดียวซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทางองค์การค้าฯได้ทำการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้ผู้สนใจทราบมาจนถึงปัจจุบัน

แต่เนื่องจากองค์การค้าของสกสค.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นการแปลงสินทรัพย์ที่มีให้เป็นทุนแทนการกู้ยืมเงินจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ได้ และเมื่อมีผู้แสดงความประสงค์จะซื้อที่ดินขององค์การค้าฯในราคา 47 ล้านบาท เปรียบเทียบกับต้นทุนเดิมซื้อมาในราคา 12 ล้านบาท,ราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราฎร์ธานีอยู่ที่ 5.2 ล้านบาท และราคาซื้อขายที่บริษัทเอกชนประเมินเมื่อปี 2553 อยู่ที่ 25 ล้านบาท

จากราคาที่ผู้ซื้อเสนอเข้ามาสามารถช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินขององค์การค้าฯได้ โดยไม่ต้องกู้ยืมเงินจากภายนอก จึงได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับผู้แสนอซื้อ

แหล่งข่าวจากกองค์การค้าของสกสค. กล่าวต่อไปอีกว่า หนังสือชี้แจงของนายสันติภาพ ได้อ้างถึงมติคณะกรรมการ สกสค. ที่สั่งให้นำที่ดินไปพัฒนาเป็นโครงการ ทั้งในรูปแบบของการร่วมทุน หรือจะให้ภาคเอกชนเข้ามาซื้อเหมาไปทั้งโครงการ ซึ่งคณะกรรมการ สกสค.ไม่ได้มอบหมายให้นำที่ดินไปขาย แถมยังไม่มีประกาศประกวดราคาแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าราคาที่ผู้ซื้อทั้ง 3 คนเสนอราคาเข้ามาเป็นราคาที่องค์การค้าฯจะได้รับประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ไม่ได้ระบุว่าจะนำที่ดินแปลงนี้ไปพัฒนาเป็นโครงการเคหะสงเคราะห์ขายให้สมาชิกคุรุสภาหลังละ 1.5 ล้านบาทตามเจตนารมย์ของคณะกรรมการ สกสค. หรือ ร่วมทุนกับผู้ซื้อพัฒนาโครงการ หรือ ขายเหมายกโครงการ แต่เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินปกติ

แหล่งข่าวกล่าวว่าการขายที่ดินครั้งนี้ จึงมีเหตุผลสำคัญคือ องค์การต้องการเงินสด เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาสภาพคล่องการเงิน ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมย์เดิมที่ให้ไปสร้างบ้านให้กับสมาชิกครู การขายที่ดินครั้งนี้องค์การค้าจะได้รับเงินก้อนแรกไปเสริมสภาพคล่องแค่ 3 ล้านบาท ส่วนอีก 44 ล้านบาทจะได้รับการเงินในอีก 9 เดือน

ดูรายละเอียดตามไฟล์แนบสัญญาซื้อขายที่ดินสุราษฎร์ธานีขององค์การค้าฯ

ที่มาที่ดินสุราษฎร์ฯ 48 ไร่

สืบเนื่องมาจากผลการประชุมของคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภา ครั้งที่ 2/2534-2535 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 ได้มีมติให้องค์การค้าคุรุสภา จัดสรรเงิน 25-30 % ของกำไรไปซื้อที่ดิน เพื่อมาทำโครงการเคหะสงเคราะห์แก่สมาชิกคุรุสภา องค์การค้าคุรุสภาไปจัดหามาได้ 10 แปลง กระจายอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ ลำปาง อุทัยธานี ร้อยเอ็ด และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ต่อมาองค์การค้าคุรุสภาถูกโอนเข้าไปเป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นองค์การค้าของสกสค.

พอจะเริ่มลงมือพัฒนาโครงการตามมติของคณะกรรมการ สกสค. จึงเกิดประเด็นข้อสงสัยว่าที่ดินที่ได้มาเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ วันที่ 29 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงทำหนังสือที่ ศธ 209/3070 ไปสอบถามอธิบดีกรมธนารักษ์

วันที่ 12 ธันวาคม 2550 กรมธนารักษ์ทำหนังสือตอบกลับมาว่า “ที่ดินทั้ง 10 แปลง ที่คุรุสภาได้จัดซื้อมา มิใช่อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 และการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรการศึกษา 2546 เพื่อนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสกสค.ที่บัญญัติไว้ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคล การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยผลของกฏหมายดังกล่าว จึงไม่ใช่โอนไปเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ที่ดินนั้นเปลี่ยนสถานะไปเป็นที่ราชพัสดุ”

จากนั้นในการประชุมคณะกรรมการสกสค. ครั้งที่ 1/2553 วันที่ 22 มกราคม 2553 ได้มีมติมอบหมายให้นายธงทอง จันทรางสุ อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา ไปศึกษารายละเอียดข้อมูลและกฏหมายเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงนี้ขององค์การค้าของสกสค.

ต่อมาได้มีการนำผลการศึกษารายงานในที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค.ครั้งที่ 3/2553 วันที่ 23 มีนาคม 2553 ว่า “ข้อเท็จจริงจากวัตถุประสงค์การจัดซื้อที่ดินต่างจังหวัดขององค์การค้าของสกสค. เพื่อพัฒนาและจำหน่าย อีกทั้งการได้มา ซึ่งที่ดินดังกล่าวจัดซื้อด้วยเงินรายได้ขององค์การค้าของสกสค.เอง ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณหรือเงินอุดหนุนของแผ่นดิน และการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคล มิใช่เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ตามการตอบข้อหารือจากกรมธนารักษ์”

เมื่อคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค.พิจารณาผลการศึกษาของนายธงทองแล้ว จึงมีมติดังนี้คือ 1) รับทราบว่าที่ดินทั้ง 10 แปลงไม่ใช่ที่ดินราชพัสดุ 2) มอบองค์การค้าของสกสค. ดำเนินการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และภารกิจขององค์การค้าสกสค.

วันที่ 26 มีนาคม 2551 ในการประชุมครั้งที่ 3/2551 คณะกรรมการองค์การค้าของสกสค. มีมติให้เดินหน้าโครงการพัฒนาที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ดและสุราษฎร์ธานี พร้อมกับจัดทำแผนการพัฒนาโครงการพัฒนาที่ดินมามาเสนอต่อที่ประชุม

การประชุมครั้งที่ 4/2551 วันที่ 23 เมษายน 2551 ผู้บริหารขององค์การค้าฯจัดทำแผนมานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ประมาณ 2 รูปแบบ คือ จัดสรรที่ดินขาย กับ ร่วมทุนกับเอกชนก่อสร้างบ้านขาย

รูปแบบแรก ที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ดมี 2 โฉนด เนื้อที่รวม 49 ไร่ องค์การค้าฯซื้อมาเมื่อวันที 24 มกราคม 2534 ในราคา 18 ล้านบาท และเมื่อรวมกับค่าพัฒนาพื้นที่อีก 4.9 ล้านบาท มีต้นทุนอยู่ที่ 22 ล้านบาท หากนำไปจัดสรร หรือแบ่งพื้นที่เป็น 250 แปลง ขายแปลงละ 5 แสนบาท คาดว่าจะได้รับเงิน 125 ล้านบาท

ส่วนที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ซื้อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2534 ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 12 ล้านบาท มีอยู่ 2 โฉนดเหมือนกัน เนื้อที่รวม 48 ไร่ สามารถจัดสรรพื้นที่ได้ 250 แปลง ขายแปลงละ 5 แสนบาท คาดว่าจะได้รับเงินทั้งสิ้น 125 ล้านบาท

ประมาณการรายได้ กรณีจัดสรรที่ดินแบ่งขาย
รูปแบบที่ 2 ร่วมทุนกับเอกชน นำที่ดินมาสร้างบ้านขาย 250 ยูนิต ในราคายูนิต 1.5 ล้านบาท คาดว่าจะเวลาก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 2 ปีได้รับเงินทั้งหมด 375 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าก่อสร้างบ้าน 200 ล้านบาท และแบ่งให้เอกชนที่เข้ามาร่วมทุน 50 ล้านบาท ทำให้เหลือส่วนแบ่งที่องค์กการค้าฯจะได้รับ 125 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายในการแบ่งโฉนดที่ดิน และค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เช่น ถนน สวนสาธารณะ สาธารณูปโภคอีก 30 ล้านบาท ถ้าหักออกไปองค์การค้าฯจะได้รับส่วนแบ่งที่เหลือแค่ 95 ล้านบาท

ประมาณการรายได้จากการสร้างบ้านขาย

วันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ที่ประชุมครั้งที่ 5/2551 คณะกรรมการองค์การค้าของสกสค.มีมติให้กำหนดรูปแบบโครงการ และวิธีการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน พร้อมกับประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุน นอกจากที่คณะกรรมการฯยังได้เสนอแนะทางเลือก โดยให้เอกชนยื่นซองเสนอราคาซื้อเหมาทั้งโครงการ โดยองค์การค้าของสกสค.จะได้รับประโยชน์ครั้งเดียวเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

เนื่องจากคณะกรรมการมองว่า องค์การค้าฯการขายบ้านเป็นหลังๆจะใช้เวลานาน และแต่ละครั้งจะได้รับเงินเป็นจำนวนไม่มากพอที่จะไปแก้ปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ราคาขายที่ตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านบาท เป็นราคาที่สูงพอสมควร หากจะทำเป็นสวัสดิการให้กับครู ควรจะมีราคาถูกกว่าโครงการใกล้เคียง และควรทำแบบบ้านให้เลือก 2-3 แบบ พร้อมกำหนดราคาเริ่มต้นตั้งแต่ยูนิตละ 1.2 ล้านบาท หรือ 1.3 ล้านบาท เป็นต้น

จากนั้นทางองค์การค้าฯได้ส่งคณะทำงานพื้นที่ไปสอบถามชาวบ้
านที่จัดสรรที่ดินขายในบริเวณใกล้เคียง พบว่าปัจจุบันขายกันไร่ละ 500,000 บาท ที่ดินแปลงนี้ควรจะมีมูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 24 ล้านบาท และหากคำนวณจากบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินปี 2552-2554 ที่ดินขององค์การค้าฯตั้งอยู่ติดถนนซอยทาง มีราคาประเมินเพื่อเสียภาษีอยู่ที่ไร่ละ 200,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 9.63 ล้านบาท

วันที 31 พฤษภาคม 2554 สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีทำหนังสือแจ้งมาที่องค์การค้าฯว่าราคาประเมินรวมของที่ดินผื้นนี้อยู่ที่ 5.125 ล้านบาท ขณะที่บริษัทเอกชนประเมินราคาซื้อ-ขายตามภาวะตลาดเมื่อปี 2553 อยู่ที่ 25 ล้านบาท

เมื่อมีผู้แสดงความประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงนี้ในราคา 47 ล้านบาท องค์การค้าฯจึงตัดสินใจขายที่ดินแปลงนี้ให้กับนางสาวจตุพร รัตนวิสาลนนท์,นางสาวปนัยกร สินธุเสนและนายเฉลิมชัย เสถียรคุณ โดยมีการลงนามในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเลขที่ 199 /2554 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ณ องค์การค้าของสกสค. เลขที่ 128/1 ถนนราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300