ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ป.ป.ช. แก้เกณฑ์เปิดบัญชีโครงการประมูลงานรัฐ เริ่ม 1 เมษา’55 – ปรับวงเงินจาก 5 แสนเป็น 2 ล้านบาท

ป.ป.ช. แก้เกณฑ์เปิดบัญชีโครงการประมูลงานรัฐ เริ่ม 1 เมษา’55 – ปรับวงเงินจาก 5 แสนเป็น 2 ล้านบาท

26 ธันวาคม 2011


คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้มีประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทําและแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญให้บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในการจัดหาพัสดุหรือจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป ต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายเงินของโครงการต่อกรมสรรพากร ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 ทาง ป.ป.ช. ได้มีการประกาศแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับเดิม โดยเลื่อนเวลาบังคับใช้เป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 แทน และมีการแก้ไขจำนวนมูลค่าสัญญาแบ่งเป็นสองช่วงระยะเวลา คือ ในช่วงแรก ต้องยื่นบัญชีโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป ในวันที่ 1 เมษายน 2555 ถึง 31 มีนาคม 2556 หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป จะเปลี่ยนมูลค่าโครงการที่ต้องยื่นบัญชีกลับมาเป็นตั้งแต่ 5 แสนบาทดังเดิม

โดย ป.ป.ช. ได้ให้เหตุผลว่าเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายท้องที่ของประเทศไทยได้ส่งผลกระทบต่อการดําเนินงานของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ประกอบกับคู่สัญญาและหน่วยงานของรัฐยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเท่าที่ควร อาจส่งผลให้เกิดข้อขัดข้องต่อการปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทําและแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2554 ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของภาคเอกชนและภาครัฐ และเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดักล่าวข้างต้น

นอกจากนั้นในประกาศฉบับใหม่ มีการแก้ไขนิยามและความหมายต่างๆ เช่นคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ได้เพิ่มเติมความหมายให้ครอบคลุมเป็นหน่วยงานทั้งหมดที่ดำเนินกิจการของรัฐ โดยได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินทรัพย์สินลงทุนจากรัฐ ส่วนคำว่า “สัญญา” ได้เพิ่มความหมายให้ครอบคลุมถึงการทำสัญญาสัมปทานและการให้ทุนของหน่วยงานรัฐเพื่อการวิจัยอีกด้วย

ในส่วนของข้อยกเว้นในการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีการเพิ่มข้อยกเว้นในกรณีที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ปตท. หรือการบินไทย ที่กฎหมายยังคงมีผลบังคับใช้

และส่วนสุดท้ายที่สำคัญคือประกาศฉบับใหม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแบบฟอร์มในการยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการ จากเดิมที่มีความยาวถึง 12 หน้ากระดาษ เหลือเพียง 2 หน้ากระดาษ มีรายละเอียดเหลือแค่ข้อมูลของสัญญา ข้อมูลคู่สัญญา รายรับ รายจ่าย กำไรหรือขาดทุนของสัญญา และบัญชีเงินฝากธนาคารที่ใช้ในการรับจ่ายเงินตามสัญญา

โดยระหว่างที่การจัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรยังไม่แล้วเสร็จ ให้คู่สัญญายื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายเป็นเอกสารต่อกรมสรรพากรไปก่อน

ตารางเปรียบเทียบการแก้ไขกฎหมาย เรื่องการแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการ 2554

สรุปกฎหมาย ป.ป.ช. เรื่องการแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการ 2554

ที่มาและความสำคัญของกฎหมาย

ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทําและแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2554 มีที่มาและอาศัยอำนาจตามกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 ในมาตรา 103/7 ที่ระบูว่า

“ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้”

เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในกรณีที่มีการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้น มีหน้าที่แสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต่อกรมสรรพากร นอกเหนือจากบัญชีงบดุลปกติที่ยื่นประจาปี เพื่อให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีเงินได้ในโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐดังกล่าวทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควร เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เนื่องจากการใช้อานาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรในการกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับไปปฏิบัติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอานาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐนั้นดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดมาตรการในเรื่องนั้นแล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบก็ได้ (วรรคสี่)

การใช้บังคับ

บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นๆของรัฐ เช่น หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

ประเภทของสัญญา

1.สัญญาที่เกี่ยวกับการจัดหาพัสดุหรือการพัสดุตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุ (ไม่รวมถึงสัญญาทางธุรกิจ)

2.สัญญาสัมปทาน

3.สัญญาให้ทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัย

4.สัญญาให้ทุนสนับสนุนเพื่อดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

มูลค่าของสัญญา

ช่วงแรก 1 เม.ย. 2555 – 31 มี.ค. 2556 ใช้บังคับกับสัญญาที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาท
ช่วงสอง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2556 เป็นต้นไป ใช้บังคับกับสัญญาที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 แสนบาท

ข้อยกเว้นการใช้บังคับ

1.ไม่ใช้บังคับสัญญาที่ได้ทำก่อนวันที่ 1 เมษายน 2555 เว้นแต่มีการแก้ไขสัญญาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เช่น ข้อตกลงเรื่องรูปแบบ ปริมาณ จำนวน ราคา การปรับหรือการรับประกันความชำรุดบกพร่อง

2.ไม่ใช้บังคับกับกรณีคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ปตท. การบินไทย เป็นต้น

3.ไม่ใช้บังคับกับคู่สัญญาที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และไม่มีตัวแทนหรือผู้แทนในประเทศ แต่มีการส่งมอบหรือให้บริการในประเทศ และหน่วยงานของรัฐได้ชำระเงินตามสัญญาให้แก่คู่สัญญาออกไปต่างประเทศโดยตรง

วิธีการใช้จ่ายเงินของคู่สัญญา

ต้องรับจ่ายเงินผ่านบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินสดในแต่ละครั้งจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

วิธีการยื่นและระยะเวลาในการยื่น

ยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายต่อกรมสรรพากร โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามกำหนดระยะเวลา ดังต่อไปนี้

1. กรณีบุคคลธรรมดาเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ

1.1 หากการรับจ่ายเงินตามสัญญาทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในปีเดียวกันให้ยื่นพร้อมกับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

1.2 หากการรับจ่ายเงินตามสัญญาทั้งหมดมิได้เสร็จสิ้นภายในปีภาษีเดียวกัน ให้ยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีภาษีพร้อมกับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษีนั้น

2. นิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ

2.1 กรณีการรับจ่ายเงินตามสัญญาทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ให้ยื่นเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีพร้อมกับการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคลของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

2.2กรณีการรับการจ่ายเงินตามสัญญาทั้งหมดมิได้เสร็จสิ้นภายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ให้ยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายซึ่งประกอบด้วยรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี พร้อมกับการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

โดยจะต้องยื่นจนกว่าจะสิ้นภาระผูกพันตามสัญญาหรือสิ้นสุดการประกันผลงาน

บทกำหนดโทษ

บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐผู้ใด ไม่แสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการตามประกาศนี้ หรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสาคัญให้ถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ

มาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฎิบัติ

1.บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐซึ่งได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement : e-GP) ต้องลงทะเบียนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลางที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และคู่สัญญาต้องไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ

2.ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งดาเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement : e-GP) ของกรมบัญชีกลาง บันทึกข้อมูลของคู่สัญญาที่ต้องแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายในระบบอิเล็กทรอนิกส์

3.หน่วยงานของรัฐใดที่มิได้ดาเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง (e-Government Procurement : e-GP) ให้รายงานข้อมูลของคู่สัญญาที่ต้องแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และกรมสรรพากร

4.ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งได้มีการระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อว่าเป็นคู่สัญญาที่ไม่ได้แสดงบัญชีรายรับรายจ่ายหรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสาคัญ เว้นแต่บุคคลหรือนิติบุคคลนั้นจะได้แสดงบัญชีรายรับรายจ่ายตามประกาศนี้หรือได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง และมีการสั่งเพิกถอนรายชื่อจากบัญชีดังกล่าวแล้ว

สรุปหลักเกณฑ์ที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติ

1.จัดทำและยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายต่อกรมสรรพากร (ตามแบบแนบท้ายประกาศ)

2.บันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นรายโครงการ (ไม่ต้องยื่น)

3.เก็บรักษาเอกสารหลักฐานประกอบไว้ ณ สถานประกอบการ หรือที่อยู่อาศัยของคู่สัญญา เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า
5 ปี นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาสัญญา หรือการตรวจสอบหรือไต่สวน ตามข้อ 13 เสร็จสิ้น

4.รับจ่ายเงินผ่านบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เว้นแต่รับจ่ายเงินไม่เกินสามหมื่นบาท

5.ลงทะเบียนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเว็ปไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง

ข้อมูลเพิ่มเติม : ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2554