ThaiPublica > เกาะกระแส > รู้ทัน! เคลมประกันภัยน้ำท่วม

รู้ทัน! เคลมประกันภัยน้ำท่วม

25 ธันวาคม 2011


เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย การเข้าตรวจสอบความเสียหายก็เริ่มต้นขึ้น บางรายดำเนินการตรวจสอบความเสียหายและเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือเคลมประกันภัยความเสียหายแล้ว ซึ่งบางรายได้รับเงินเคลมฯ ไปเรียบร้อยแล้ว เห็นได้จากข้อมูลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานว่า ประมาณ 2 สัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา มีเงินเคลมประกันภัยฯ จากต่างประเทศไหลเข้ามาจ่ายชดเชยความเสียแล้วประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้หากใครอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความเสียหาย เนื่องจากน้ำลดลงช้าก็มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยมาให้ความรู้เกีี่ยวกับการเคลมประกันภัยน้ำท่วม เนื่องจากเรื่องน้ำท่วมมีการประกันภัยเกี่ยวข้องหลายประเภท ได้แก่

1.ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และการประกันภัยสุขภาพ
2.ประกันภัยรถยนต์ (ประเภท 1 ประกันภัยชั้น 1 )
3.ประกันภัยทรัพย์สิน : ประกันอัคคีภัยรวมน้ำท่วม
4.ประกันภัยทรัพย์สิน : ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด (IAR : Industrial All Risks )
5.ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอันเป็นผลเนื่องจากภัยน้ำท่วม ( Business Interruption or Consequential Loss)
6.การประกันภัยเครื่องจักร
7.การประกันภัยเครื่องมือเครื่องจักรในการก่อสร้าง
8.การประกันภัยทางทะเล : Storage Risks
9.การประกันภัยความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ( Public Liability )

แต่การจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือ รู้เท่าทันบริษัทประกันภัย จำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเชื่อว่ามีหลายคนไม่เคยอ่านรายละเอียด เงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ซื้อไว้เลย

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเรียกร้องค่าสินไหมฯ ให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากกรมธรรม์ฯ ที่ถืออยู่ คณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภค ร่วมกับหอการค้าไทย จึงได้จัดสัมมนา “รู้ทัน! เคลมประกันภัยน้ำท่วม” โดยมี นายพิชิต เมฆกิตติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิเพ็นเดนท์ คนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทนายหน้าประกันภัย อดีตนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย 4 สมัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการประกันภัย มาบรรยายให้ความรู้ด้านประกันภัย

การสัมมนา : รู้ทัน! เคลมประกันภัยน้ำท่วม
การสัมมนา : รู้ทัน! เคลมประกันภัยน้ำท่วม

ประเด็นที่ควรรู้ก่อนเคลมประกัน

นายพิชิต แนะนำว่า ก่อนจะเรียกร้องค่าสินไหมฯ ประเด็นที่ควรรู้ก่อนเป็นอันดับแรกคือ ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ต้องมั่นใจก่อนว่ากรมธรรม์ประกันภัยที่ถือไว้มีความคุ้มครองภัยน้ำท่วม เพราะถ้าไมมีระบุไว้บริษัทประกันจะไม่คุยด้วย

จากนั้นแนะนำให้ไปดูรายละเอียดทรัพย์สินที่มี กับทรัพย์สินที่เอาประกันภัย โดยไปดูว่าทรัพย์สินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยมีอะไรบ้าง รวมส่วนประกอบเครื่องจักรไว้หรือไม่ และกำหนดวงเงินประกันภัยจำนวนเท่าไร หรือเขียนไว้คลุมครอบจักรวาล สามารถเคลมประกันภัยฯได้ทุกอย่าง แต่การเขียนรายการทรัพย์สินไว้จำนวนมากมีจุดที่ต้องระวังคือ วงเงินเอาประกันหรือมูลค่าทรัพย์สินที่ประกันอาจต่ำไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

“กรมธรรม์ที่เขียนสินทรัพย์เอาประกันไว้ครอบจักรวาล อาจเป็นดาบสองคม เพราะปัญหาที่พบบ่อยคือ ผู้ทำประกันภัยมักเสียดายเงินค่าเบี้ยประกันภัยก็จะต่อรองกับบริษัทประกันคุยกันไปต่อรองกันไปแล้วไปลดทุนประกัน และลดเงินทำประกัน อันนี้อันตราย” นายพิชิตกล่าว

อีกประเด็นที่อดีตนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย บอกว่าต้องรู้ก่อนการเรียกร้องค่าสินไหมฯคือ มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน กับจำนวนเงินเอาประกัน ตรงนี้อันตรายถ้ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินสูงกว่าทุนประกันภัยที่ทำไว้ เพราะหมายความว่าถ้าเครื่องจักรมูลค่า 100 ล้านบาท แต่ทุนประกันทำไว้ 70 ล้านบาท ส่วนต่าง 30 ล้านบาทนั้น บริษัทประกันภัยถือว่าส่วนนั้นเป็นการทำประกันตัวเอง คือรับประกันเครื่องจักรเอง 30 ล้านบาท

ดังนั้น ประเด็นที่ควรรู้คือ บริษัทประกันภัยจะเอาหลักเฉลี่ยความเสียหายมาคำนวณ คือ สมมติเครื่องจักรเสียหาย 69 ล้านบาท บริษัทประกันภัยจะไม่จ่าย 70 ล้านบาท เพราะไม่ได้ประกันเต็ม 100 ล้านบาท แต่ความเสียหายเท่าไรก็เอาหลักการเฉลี่ยความเสียหายมาคิด คือบริษัทประกันจะจ่ายเพียง 70 % ของความเสียหาย ที่เหลืออีก 30 % ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ซื้อประกัน

นอกจากนี้ มีเกล็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ที่ควรรู้คือ ถ้ากรมธรรม์มีเงื่อนไขพิเศษที่เขียนไว้ว่า 80 % Average Clause, Escalation Clause (20 % of sum insured) กรณีนี้ นายพิชิต อธิบายเงื่อนไขพิเศษนี้หมายความว่า ถ้าจำนวนเงินเอาประกันภัยกับมูลค่าที่แท้จริงต่างกันไม่ถึง 20 % ก็ถือว่าประกันภัยจะจ่ายเต็มมูลค่า

“กรมธรรม์ประกันภัยที่ทุกคนซื้อจะได้ “กรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐาน” คือจะได้ข้อความการประกันภัยเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นข้อความตามที่ คปภ. กำหนด แต่กรมธรรม์จะแตกต่างกันตรงเงื่อนไขพิเศษ ดังนั้นผู้ซื้อประกันต้องรู้ว่า กรมธรรม์มีเงื่อนไขพิเศษอะไรที่เขียนไว้ในกรมธรรม์”อดีตนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย

ทั้งนี้ เงื่อนไขคุ้มครองพิเศษ เช่น ค่าใช้จ่ายในการป้องกันทรัพย์สินจากภัยที่ได้รับความคุ้มครอง การสูญเสียรายได้จากการที่ไม่สามารถเข้าไปในสถานที่เอาประกันภัย ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายซากทรัพย์สินที่เสียหาย การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก หรือความเสียหายต่อเนื่องจากภัยน้ำท่วม เป็นต้น

ประเด็นที่ควรรู้ก่อนการเรียกร้องค่าสินไหมฯ คือเงื่อนไขผู้รับประโยชน์จากรมธรรม์ประกันภัย เช่น อาจระบุให้ธนาคารหรือเจ้าหนี้เงินกู้ กรณีนี้นายพิชิตแนะนำว่า ให้ผู้ทำประกันภัยไปเจรจากับธนาคารว่าเป็นไปได้ไหม หรือขออนุโลมผ่อนผันว่า ค่าสินไหมฯงวดนี้อย่ายึดไว้ก่อน แล้วให้ธนาคารออกหนังสือยินยอมแล้วนำไปให้บริษัทประกัน การดำเนินการเรื่องนี้ต้องทำก่อนที่บริษัทประกันภัยจะตกลงตัวเลขกับธนาคาร

“ในอดีตเคยมีกรณีโรงงานไฟไหม้ แต่ผู้รับผลประโยชน์เป็นธนาคาร ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีเงินทุนหมุนเวียนต้องรอเงินเคลมฯ แต่เมื่อได้เงินเคลมฯ ธนาคารไม่ปล่อยเงินเคลมฯให้ เพราะไม่พอหักหนี้เก่า ทำให้ผู้ประกอบการล้มทั้งยืน ต้องปิดโรงงาน” นายพิชิตกล่าว

ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องระวังหากโรงงานต้องปิดหรือไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ผู้ประกอบการที่ทำประกันภัยจะไม่สามารถเรียกร้องประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักที่ทำประกันภัยไว้

นอกจากนี้ เรื่องผลประโยชน์จากคณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรณี การนำเข้าเครื่องจักรใหม่ การขายซากเครื่องจักรเก่าที่เสียหายจากน้ำท่วม ประเด็นเหล่านี้นายพิชิติแนะนำว่า เรื่องเล่านี้ต้องคุยให้รู้เรื่อง เช่น ถ้าเครื่องจักรเสียหาย แล้วบริษัทประกันภัยเคลมประกันภัยฯให้หมด แล้วจะเอาเครื่องจักรที่เสียหายไป ก็ต้องไปคุยกับ BOI เพราะปกติ BOI จะให้นำเครื่องจักรเหล่านี้ส่งออกไปนอกประเทศ หรือกรณีเครื่องจักรได้รับยกเว้นภาษีก็มีผลต่อการเคลมประกันภัยฯและถ้าสิทธิการได้รับยกเว้นภาษีหมดไปแล้วทำเรื่องใหม่หรือเปล่า เป็นต้น

รวมถึงเรื่องเงื่อนไข “ข้อยกเว้น” ของกรมธรรม์ประกันภัย (Exclusion) และเงื่อนไข “ข้อรับรอง” ของกรมธรรรม์ประกันภัย (Warranty) เป็นอีกประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญประกันภัยบอกว่า เป็นประเด็นที่ต้องรู้ก่อนเคลมประกันภัย

อดีตนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย มีความเห็นว่า เงื่อนไขข้อรับรองสำคัญกว่าข้อยกเว้น ซึ่งข้อรับรองมีทั้งประเภทระบุเป็นตัวหนังสือ และไม่ระบุเป็นตัวหนังสือในกรมธรรม์ โดยการระบุเป็นตัวหนังสือหมายความว่า ผู้เอาประกันเป็นผู้ให้คำรับรองกับบริษัทประกันภัย

“ข้อควรระวังของข้อรับรอง คือ ข้อรับรองห้ามทำ หรือ ต้องทำ เช่น ห้ามเก็บสินค้าอันตราย หรือ ต้องทำการติดปั๊มน้ำกี่ตัว ถ้าผู้เอาประกันภัยผิดข้อรับรอง บริษัทประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธจ่ายสินไหมได้ทันที”นายพิชิตกล่าว

การเรียกร้องค่าสินไหมฯ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิเพ็นเดนท์ คนซัลแตนท์ จำกัด แนะนำว่า ก่อนยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ควรมีการจัดเตรียมเอกสาร เช่น แผนผังโรงงาน แผนผังแสดงเครื่องจักร ฯลฯ และผังแสดขั้นตอนการผลิตสินค้า เพื่อช่วยให้การเรียกเคลมประกันภัยฯ ทำได้ไม่ตกหล่น เพราะทำให้รู้ว่ามีสินทรัพย์อะไรที่เสียหาย และมีสินทรัพย์อยู่ตรงไหน

รวมทั้งทำให้รู้ว่าในขั้นตอนการผลิตมีวัตถุดิบเสียหายหรือค้างในกระบวนการผลิตท่าไร จะได้รู้ต้นทุนการผลิตสามารถนำไปเคลมประกันภัยฯได้ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการป้องกันภัยน้ำท่วม เช่น ค่าแรง ค่ากระสอบทราย เป็นต้น สามารถเคลมประกันภัยฯได้

นายพิชิตแนะนำอีกว่า ควรปรึกษาวิศวกรเรื่องรายละเอียดของสิ่งปลูกสร้าง อายุการก่อสร้าง นอกจากนี้ต้องเตรียมรายละเอียดบัญชีทรัพย์สิน เช่น เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงาน เพราะจะมีรายละเอียดวัน เดือน ปี ที่ซื้อมา และมูลค่าที่ซื้อมา สิ่งเหล่านี้จะเป็นเอกสารกันลืม ที่มีผลต่อเรื่องตัวเลขการเคลมประกันภัยความเสียหาย

นอกจากนี้ สิ่งที่ควรเตรียมให้พร้อมคือ รายละเอียดของใบเสนอราคามูลค่าทดแทน (Replacement value) รายละเอียดสต๊อกสินค้าวัตถุดิบ สินค้าระหว่างการผลิต และสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงรายงานการผลิตย้อนหลัง เนื่องจากในกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยได้กำหนดเงื่อนไขการประกันภัยแบบกระแสรายวัน (Stock Declaration) จะมีการนำรายละเอียดในการแจ้งยอดสต๊อกประจำเดือนมาใช้ประกอบในการพิจารณา

ในกรณีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อเนื่องหรือธุรกิจหยุดชะงัก นายพิชิต บอกว่า ส่วนใหญ่จะระบุระยะเวลาสูญเสีย หรือกำหนดตั้งแต่หยุดจนถึงการฟื้นตัวสู่สภาพเดิม ในกรณีนี้เอกสารที่ต้องเตรียมไปยื่นเคลมฯ ได้แก่ งบการเงินของผู้ตรวจสอบบัญชีย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี บัญชีต้นทุนการผลิตของสินค้า บัญชีเงินเดือน ค่าแรง ค่าล่วงเวลา และค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้อื่นผลิตสินค้าในช่วงระยะเวลาสูญเสีย เหล่านี้สามารถเคลมประกันภัยฯได้ทั้งหมด

ข้อคิดการเคลมสินค้า

นายพิชิตมีข้อคิดสำหรับการเคลมฯสินค้าว่า การเคลมฯสินค้ากับบริษัทประกัน อย่าลืมเมื่อเคลมสินค้าแล้วบริษัทประกัน จะเอาสินค้าไป สิ่งที่ต้องระวังคือ ยี่ห้อที่ติดกับสินค้า เพราะบริษัทประกันอาจนำสินค้าที่ยึดมาไปขายต่อ แล้วคนซื้อต่อเอาของไปวางแผงขายต่อ ถ้าเป็นของกิน หามีคนซื้อไปกินแล้วเป็นอะไรขึ้นมา ระวังเขาจะย้อนกลับมาฟ้องวามรับผิดต่อผลิตภัณฑ์

“ตอนเคลมฯ ต้องดูกรมธรรม์ว่ามีเงื่อนไขพิเศษ บริษัทต้องทำลายยี่ห้อก่อนนำไปขาย แต่ต้องมั่นใจเคลมแล้วไม่มียี่ห้อติดไว้ ดังนั้นควรทำลายยี่ห้อก่อนให้บริษัทประกันยึด”นายพิชิตกล่าว