ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผลสำรวจแบงก์ชาติบริษัทแม่ในนิคม “บางประอิน-ไฮเทค-นวนคร” สั่งทบทวนย้ายฐานหนีน้ำท่วม

ผลสำรวจแบงก์ชาติบริษัทแม่ในนิคม “บางประอิน-ไฮเทค-นวนคร” สั่งทบทวนย้ายฐานหนีน้ำท่วม

29 ธันวาคม 2011


ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ได้ลงพื้้นที่เข้าพบนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรรมนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา และเขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดประทุมธานี เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา และได้สรุปประเด็นการเข้าพบครั้งนี้ในหัวข้อ “เห็นมากับตา ฟังมากับหู : 3 นิคมอุตสาหกรรม ฟื้นแล้วหรือยัง?”

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปผลการเข้าพบครั้งนี้ว่า เริ่มมีบางอุตสาหกรรมเริ่มผลิตบางส่วน อาทิ นิคมอุตสาหกรรมบางประอิน มี 12 โรงงาน เช่น Western Digital เฉพาะโรงงานที่ 4 จาก 5 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า เช่น โรงงานใน SME Zone กับ Cannon และเขตอุตสาหกรรมนวนคร 4 โรงงาน เช่น Rohm Nanko และ Giffarine

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวช้า คือ การรอบริษัทประกันมาประเมินความเสียหาย รอดูนโยบายของรัฐในการป้องกันน้ำท่วม รอซ่อมแซมเครื่องจักร ทำความสะอาดโรงงาน และรอเครื่องจักรใหม่ รวมทั้งรอให้สาธารณูปโภคเพียงพอ

ส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบการ พบว่า บางโรงงานกระจายกำลังการผลิตไปโรงงานอื่นๆ การมองหาที่ตั้งโรงงานนอกเหนือจากอยุธยาหรือปทุมธานี แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงต้องการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เนื่องจากลงทุนไปมากแล้ว ทั้งเครื่องจักรและทักษะแรงงาน

แต่นโยบายการจัดการน้ำของภาครัฐที่ล่าช้าและไม่ชัดเจน อาจทำให้นักลงทุนย้ายฐานการลงทุนไปต่างประเทศได้ อาทิ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เนื่องจากบริษัทแม่หลายบริษัทได้ให้บริษัทลูกในไทยทบทวนการย้ายฐานการผลิตแล้ว แต่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทลูกทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นยังต้องการที่จะเดินหน้าลงทุนในไทยต่อไป จึงต้องหาคำตอบที่ทำให้บริษัทแม่เชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดอุทกภัยเช่นนี้อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการกำลังรอคำตอบจากภาครัฐ

นิคมอุตสาหกรรมไฮเทควางบิ๊กแบ๊กป้องกันน้ำท่วมในช่วงวิกฤตแต่ไม่สามารถป้องกันได้ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online/2011/11/13205531711320553636l.jpg
นิคมอุตสาหกรรมไฮเทควางบิ๊กแบ๊กป้องกันน้ำท่วมในช่วงวิกฤตแต่ไม่สามารถป้องกันได้ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online/2011/11/13205531711320553636l.jpg

ทั้งนี้ หากมีการย้ายฐานการผลิตจะเริ่มจากการย้ายของบริษัทรายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทที่เป็น Supply chain ย้ายฐานการผลิตตามได้

“สิ่งสำคัญเร่งด่วนขณะนี้คือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อ การเร่งฟื้นฟูและการลงทุนใหม่ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งผลักดันโดยสร้างความชัดเจนด้านนโยบายการบริหารจัดการน้ำให้แล้วเสร็จ และมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่เอกชนพิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้มค่า”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมยืนยันที่จะสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมอุตสาหกรรม แต่ยังคงมีความไม่มั่นใจในหลายประการ อาทิ

1) ไม่มั่นใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันยังมีน้ำค้างทุ่งเป็นจำนวนมาก ทำให้การระบายน้ำจากเขื่อนด้านบนยังทำได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับมีคำเตือนจากกรมชลประทานว่าปีหน้าน้ำอาจมากกว่าปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการกังวลว่าแม้ภายในนิคมจะไม่ท่วมแต่หากรอบนอกนิคมท่วม การผลิตจะได้รับผลกระทบเช่นกัน

2) แม้ผู้ประกอบการนิคมจะให้ความสนใจมาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมในระดับหนึ่ง แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของหลักประกันที่ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างเหมาะสมว่าควรใช้สิ่งใดมาเป็นหลักประกัน เนื่องจากเขื่อนหรือคันดินไม่สามารถสร้างกำไรให้แก่นิคมได้

3) ผู้ประกอบการนิคมอาจจำเป็นต้องขึ้นค่าบริการส่วนกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของนิคม

ทั้งนี้ ธปท.ยังพบว่า ผู้ประกอบการบางรายมีการเลิกจ้างแรงงานบ้าง อย่างไรก็ตาม คาดว่าแรงงานจะสามารถหางานได้
ไม่ยากนัก เนื่องจากแรงงานในภาพรวมยังตึงตัว

“คาดว่าไตรมาส 2 ของปี 2555 การผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) จะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เหมือนเดิม”นายทรงธรรมกล่าว