ThaiPublica > คอลัมน์ > สิบคำถามต่อหลักความชอบธรรม คำพิพากษาคดี ‘อากง SMS’

สิบคำถามต่อหลักความชอบธรรม คำพิพากษาคดี ‘อากง SMS’

29 พฤศจิกายน 2011


‘หมานิลมังกร’

คดีส่งข้อความสั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ คดีอากง หรือคดีลุงเอสเอ็มเอส เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 22 พฤษภาคม 2553 ท่ามกลางการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ ได้มีผู้ส่งข้อความดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเข้ามายังมือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขาฯ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น

นายสมเกียรติได้เข้าแจ้งความ และพนักงานสอบสวนได้อาศัยหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้จากนายสมเกียรติ ติดตามหาตัวผู้ส่งข้อความ และเข้าจับกุมนายอำพลในวันที่ 3 สิงหาคม 2553

วันที่ 18 มกราคม 2554 พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายอำพล กล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือพิมพ์ข้อความอันเป็นการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ และดูหมิ่นหยาบคายต่อสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข

กระทั่งวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.311/2554 พิพากษาจำคุกนายอำพล วัย 61 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษจำคุก 20 ปี ฐานดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และทำให้ราชวงศ์เสื่อมเสียพระเกียรติ

นับเป็นคำพิพากษาลงโทษจำคุกในกรณีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

คำพิพากษาดังกล่าวก่อให้เกิดข้อถกเถียง ความสะเทือนใจ และความคับข้องใจเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ไม่พบการรายงานข่าวถึงผลกระทบดังกล่าวจากหนังสือพิมพ์กระแสหลักแต่อย่างใด โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ภาษาไทย

จากการสำรวจเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์รายวันในวันตัดสินคดีบนพื้นที่ออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำพิพากษาเป็นข่าวเบรกเพียงสั้น ๆ เดลินิวส์รายงานโดยให้รายละเอียดมากกว่า แต่จัดประเภทข่าวไปอยู่ในหมวด “สังคม” และมองไม่เห็นจากหน้าหลัก ไทยโพสต์ไม่รายงาน โพสต์ทูเดย์รายงานอย่างรวบรัด คมชัดลึกรายงานเพียงสั้น ๆ เน้นที่คำพิพากษาความผิด ผู้จัดการออนไลน์รายงานโดยใช้คำพาดหัวข่าวในท่วงทำนองสาแก่ใจ ไม่พบการรายงานในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ข่าวสดในวันดังกล่าว ฉบับที่ให้รายละเอียดของข่าวมากที่สุดและนำเสนอในหน้าแรกคือ มติชนออนไลน์ และลำดับถัดมาคือ กรุงเทพธุรกิจ ส่วนหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษของไทย คือ บางกอกโพสต์ และ เดอะ เนชั่น รายงานเพียงสั้น ๆ แต่นำเสนอในหน้าแรก มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ยังมีบทความวิเคราะห์วิจารณ์ตามมาในอีกไม่กี่วันถัดมา

ทั้งที่คำพิพากษาคดีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นกระบวนการสืบสวนและไต่สวนที่เต็มไปด้วยคำถาม เมื่อรายละเอียดและความเห็นของผู้รู้ในกรณีที่เกี่ยวกับหมายเลขอีมี่ทยอยปรากฏขึ้นตามสื่อทางเลือกและกระดานสนทนา บทความและข้อเขียนจำนวนมาก อีกทั้งแถลงการณ์จากองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ล้วนแสดงออกไปในทิศทางที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา

จากการสำรวจเบื้องต้น พบประเด็นคำถามสำคัญที่ศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุขต้องตอบกับสังคม อย่างน้อย 10 ประเด็นดังนี้

คำถามที่หนึ่ง นายอำพลเป็นเพียงคนหาเช้ากินค่ำ และมีอายุมากแล้ว อาศัยเงินที่ลูกส่งมาเลี้ยงดู ไม่เคยมีประวัติยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแม้แต่น้อย และไม่น่าจะอยู่ในฐานะที่สามารถหาเบอร์โทรศัพท์มือถือของเลขาฯ นายกรัฐมนตรีได้โดยง่าย อยู่ ๆ ทำไมพนักงานสอบสวนตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ของนายอำพล โดยที่ยังไม่ได้รับหมายเลขอีมี่ของผู้ก่อเหตุจากข้อมูลการจราจรของ DTAC

คำถามที่สอง หมายเลขอีมี่ (IMEI) ที่ได้จากข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (log file) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะนำมาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีใด ๆ ก็ตามจริงหรือไม่

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าโทรศัพท์หาย ผู้ให้บริการก็จะไม่สามารถล็อกเลขอีมี่ไม่ให้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวใช้งานในเน็ตเวิร์คได้ แสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการมีข้อจำกัดในการระบุเครื่องโทรศัพท์เป็นการเฉพาะเจาะจง

คำถามที่สาม ทำไมตำรวจและศาลจึงเชื่อว่าเลขอีมี่สามารถยืนยันว่าเครื่องโทรศัพท์ของนายอำพลเป็นเครื่องที่ใช้ก่อเหตุ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าหมายเลขอีมี่สามารถแก้ไขได้ และปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอยู่ทั่วไป เฉพาะในกรณีของศาล คำให้การของทั้งพยานโจทก์และทนายจำเลย ก็ระบุถึงข้อบ่งชี้หรือยืนยันว่าหมายเลขอีมี่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ทำไมศาลไม่พิจรณา และยกให้เป็นภาระของจำเลยต้องหาพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้การทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่ผู้สนใจเทคโนโลยีและร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือ

คำถามที่สี่ ในเมื่อตำรวจยังไม่ได้รายงานข้อมูลการจราจรจากบริษัท เอไอเอส เหตุใดศาลจึงเชื่อว่าหมายเลขอีมี่ที่ได้จากข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์เพียงพอแล้ว ทำไมจึงใช้ข้อมูลที่ได้มาเป็นหลักฐานโดยที่ยังมิได้ตรวจสอบข้อมูลการจราจรของผู้ให้บริการอย่างครบถ้วนทุกบริษัท

คำถามที่ห้า เหตุใดศาลจึงเชื่อว่าเครื่องโทรศัพท์ของจำเลยเป็นเครื่องที่ใช้ก่อเหตุ ทั้งที่เบอร์โทรศัพท์ไม่ตรงกัน และโจทก์สามารถพิสูจน์ได้เพียงยี่ห้อของโทรศัพท์ว่าตรงกับยี่ห้อของจำเลย

คำถามที่หก นายอำพลไม่เคยมีประวัติในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในทางตรงข้ามนายอำพลเคยไปลงนามถวายพระพรพระมหากษัตริย์ และได้ไปร่วมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา และร้องไห้ในศาลเมื่อได้ทราบข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุใดศาลจึงเห็นว่าประจักษ์พยานแวดล้อมสามารถนำสืบเพื่อชี้เจตนาภายในให้เห็นว่านายอำพลต้องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คำถามที่เจ็ด ในเมื่อศาลระบุว่า เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน แล้วในกรณีที่นายอำพลให้การว่าตนเองใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวอยู่ผู้เดียว เหตุใดศาลจึงเชื่อและอาศัยเพียงคำให้การนี้เพียงลำพังในการสรุปว่า “ยากที่จะมีผู้อื่นนำไปใช้”

ศาลใช้หลักการใดในการตัดสินว่าคำให้การของจำเลยข้อใดน่าเชื่อถือ ข้อใดไม่น่าเชื่อถือ ถ้าจำเลยพยายามปกปิดการกระทำผิดของตนตามที่ศาลเชื่อ เหตุใดจำเลยจึงให้การกับศาลว่าตนเองใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวอยู่ผู้เดียว ทั้งที่อาจจะเป็นคำให้การที่ผูกมัดตนเอง และเหตุใดศาลจึงเลือกที่จะเชื่อคำให้การนี้ ในเมื่อศาลเชื่อว่าจำเลยย่อมจะต้องปกปิดการกระทำผิดของตน

พฤติการณ์ในการพิพากษาของศาลดังกล่าว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ศาลเลือกเชื่อคำให้การของจำเลย เฉพาะในส่วนที่จะผูกมัดจำเลยว่าเป็นผู้กระทำผิด และละเลยไม่พิจารณาคำให้การของจำเลยในส่วนที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด

คำถามที่แปด ทำไมศาลจึงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในกรณีของกฎหมายอาญาที่ระบุว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับมีพฤติการณ์ตัดสินคดีไปในทางตรงกันข้ามกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

คำถามที่เก้า เหตุใดศาลจึงพิพากษาจำคุกจำเลยถึง 20 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษที่สูงที่สุด ทั้งที่พฤติการณ์ของการกระทำผิดเป็นการส่งเอสเอ็มเอสถึงบุคคลเพียงคนเดียวเป็นการเฉพาะเจาะจง ข้อความดังกล่าวหาได้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณะ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม และเผยแพร่ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำกัดกว่าหลายคดีที่ผ่านมาในอดีต แต่กลับลงโทษสูงกว่า ศาลใช้มาตรฐานใดในการพิจารณาว่าควรลงโทษจำเลยมากน้อยเท่าใด

คำถามที่สิบ ถ้าอำพลกลายเป็นแพะ และถูกจำคุก 20 ปี โดยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และปรากฏว่าเขาเป็นผู้ที่มีความผูกพันจงรักภักดีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถอย่างลึกซึ้ง นายสมเกียรติจะรู้สึกอย่างไร รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นนักการเมืองที่กล่าวอ้างประชาชนและสถาบันกษัตริย์มาตลอดจะรู้สึกอย่างไร

ใครจะรับผิดชอบต่อการกระทำที่ละเมิดทั้งร่างกายและจิตใจของเขาอย่างร้ายแรงเช่นนี้ คำถามนี้ บรรดาผู้ที่อ้างความจงรักภักดีซึ่งฉวยโอกาสในการก่นด่าประนามและแสดงความเกลียดชังต่อนายอำพลและครอบครัวโดยไม่ใช้เหตุผลและดุลพินิจพิจารณา อยู่ ณ ขณะนี้ ล้วนแต่จำเป็นต้องตอบ

อ่านเพิ่มเติม
รายงานและข่าวเกี่ยวกับคำพิพากษา และรายละเอียดคดี
http://ilaw.or.th/node/1229
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322032768&grpid=&catid=03&subcatid=0305
http://www.prachatai3.info/journal/2011/11/37991
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9540000149340
http://thaienews.blogspot.com/2011/11/20sms-101.html

ความเห็นเรื่องหมายเลขอีมี่
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322233300&grpid=01&catid=&subcatid=
http://www.mydrmobile.com/shopmobile/sumsung.html
http://www.geocities.ws/phonethai/nkimei.htm
http://hitech.sanook.com/mobile/news_01614.php
http://www.pdamobiz.com/forum/forum_posts.asp?TID=375068&PN=1
http://forums.macrumors.com/showthread.php?t=441185
http://en.wikipedia.org/wiki/International_Mobile_Equipment_Identity
http://www.gsm-security.net/faq/imei-international-mobile-equipment-identity-gsm.shtml
http://atcloud.com/stories/56404
http://community.siamphone.com/viewtopic.php?p=40684
http://www.nokiagang.com/forums/imei-t43358.html
http://www.pdamobiz.com/forum/forum_posts.asp?TID=464079&PN=1&TPN=1
http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=4040.0

คำแถลงปิดคดี
http://prachatai.com/journal/2011/11/38032

ป้ายคำ :