ThaiPublica > คนในข่าว > “ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” พลิกทฤษฎีสงครามชนชั้น ไม่มี “ออคคิวพายราชดำเนิน” มีแต่ “โจรร้องจับโจร”

“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” พลิกทฤษฎีสงครามชนชั้น ไม่มี “ออคคิวพายราชดำเนิน” มีแต่ “โจรร้องจับโจร”

28 ตุลาคม 2011


"รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“…วอลล์ สตรีท โมเดล ไม่น่าจะเกิดในเมืองไทย ตราบใดที่เรามีพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลชุดนี้ต้องการแนวร่วมกับทุนอย่างเข้มข้น ต้องทำแนวร่วมกับทุนใหญ่ทั้งนั้น และต้องอาศัยทุนเพื่อทำสงครามด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว ไม่รู้เหมือนกัน หรือถ้ามันจะเกิด ก็คงเกิดจากกลุ่มอื่น สมมุติเกิดจากเสื้อเหลืองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับพวกทุน ผมเชื่อว่าปะทะกับพวกเสื้อแดงแน่ ทำไปทำมาจะไม่ใช่สงครามระหว่างทุนกับประชาชน แต่เป็นสงครามระหว่างประชาชนด้วยกัน…”

จากจุดเริ่มต้นของ “นักศึกษาไม่ถึง 12 คน” ที่มาปักหลักค้างคืนที่สวนสาธารณะซัคคอตติ ด้านนอกตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (เอ็นวายเอสอี) ประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ-ความคับข้องใจในภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย”

กลายเป็นตัวจุดประกายให้คนว่างงาน คนไร้ที่อยู่ แม่บ้าน ฯลฯ ออกมาประท้วงชนชั้นนายทุนและ “ยึดวอลล์ สตรีท” ถนนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของชาติมหาอำนาจ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกนโยบายเอื้อมหาเศรษฐี

ผู้ร่วมขบวนการประท้วงเชื่อว่าพวกตนเป็นคน 99 % ของประเทศ ที่ถูกครอบงำ-กดขี่-เอาเปรียบจากเศรษฐีที่มีเพียง 1 %

“ออคคิวพาย วอลล์ สตรีท” กลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน “ทุนนิยมสามานย์” ที่แตกหน่อไปจุดต่างๆ ทั่วโลก โดยมีการเกิดขึ้นของออคคิวพาย นิวยอร์ก, บอสตัน, ลอสแองเจลิส เมมฟิส ฯลฯ รวมถึง “ออคคิวพาย ลอนดอน” รวมเบ็ดเสร็จกว่า 1,300 ขบวนการทั่วโลก

ท่ามกลางสงครามแห่งชนชั้น ที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด “รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นทั้งคนคิดนโยบายประชานิยมให้”รัฐบาลคึกฤทธิ์” และ “รัฐบาลทักษิณ” คน “ทำ” จากการเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และคน “เสนอแนะ” ในฐานะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เปิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองขึ้นอธิบายปรากฏการณ์ “ออคคิวพาย วอลล์ สตรีท” และทำนายโอกาสเกิดขึ้นกับประเทศไทย-ประเทศที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ตก

ไทยพับลิก้า : ปรากฏการณ์ออคคิวพาย วอลล์ สตรีท มีโอกาสเกิดขึ้นในไทยหรือไม่ ถ้าเกิดกลุ่มไหนจะเป็นตัวนำ

ในทฤษฎีการลุกขึ้นสู้มันมี 2 ทฤษฎี ทฤษฎีแรกบอกว่าถ้าประเทศไหนมีคนจนเยอะๆ ถูกกดขี่เยอะๆ ประเทศนั้นจะเสี่ยงต่อการมีคนลุกขึ้นสู้ ซึ่งบางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เราจะเห็นว่าคนในอินเดียจนมาก แต่ไม่มีการลุกขึ้นสู้ เพราะมันมีคำตอบทางทฤษฎีว่าการครอบงำทางความคิด พยายามเบี่ยงเบนว่าคุณเกิดมาในวรรณะนี้ก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ หรือเรื่องบุญเรื่องกรรม หรือเรื่องทำให้คนเกิดความหวาดกลัว จะมีหนูตัวไหนเอากระพวนไปแขวนคอแมว และสังคมไทยก็ตกอยู่ภายใต้ทฤษฎีนี้เช่นกัน ดังนั้นคนจนบ้านเราก็จะเป็นไม้ซีกอย่าไปงัดไม้ซุง ทำให้คนจนมีความรู้สึกยอมจำนน ไม่ลุกขึ้นสู้

ทฤษฎีที่ 2 คือการผิดจากความคาดหวัง ทฤษฎีนี้จะอธิบายเรื่องคนชั้นกลาง ประเทศใดก็ตามที่มีคนชั้นกลางมากขึ้น และมีความแตกต่างเยอะ คนที่รู้สึกถึงความแตกต่าง มักเป็นคนชั้นกลางมากกว่าคนชั้นล่าง คนชั้นล่างถึงรู้ว่าแตกต่าง แต่มักไปคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ความสูงต่ำเป็นธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมชาติ เจ้านายเขามีอำนาจวาสนาเพราะทำบุญมาเยอะ จึงไม่รู้สึกถึงการลุกขึ้นมาต่อต้าน แต่คนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีฐานะพอจะรับรู้อะไรมากกว่า เขาจะเข้าใจว่าความแตกต่างนั้นเกิดจากความอยุติธรรม การคอรัปชั่น นักการเมืองสามานย์ ทุนสามานย์ อะไรก็ว่าไป พวกนี้เมื่อเห็นมากยิ่งผิดหวังมาก เราจะเห็นว่าคนที่ไปประท้วงที่วอลล์ สตรีท ไม่ใช่คนจนในสลัม ไม่ใช่คนผิวดำที่ถูกเหยียดผิว แต่เป็นคนที่มีการศึกษา เขารู้ว่าทรัพยากรมันมีอยู่ แต่พวก 1 เปอร์เซ็นต์มันเอาไป

ในบ้านเราความเหลื่อมล้ำอาจจะมาก แต่โจทย์อยู่ที่ว่าคนชั้นกลางมีความรู้สึกแตกต่างรุนแรงหรือเปล่า ไม่ว่าเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง พื้นฐานเป็นคนชั้นกลางทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเป็นคนชั้นกลางแบบไหน คนที่เป็นเสื้อแดงดูเหมือนจะเป็นคนชั้นกลางประเภทโอล์ด โมเดล แต่เป็นนิว เจเนอเรชั่น เป็นคนรุ่นใหม่นะ แต่เป็นแบบเก่าคือ พวกมีรถกระบะ มีกิจการเล็กๆ น้อยๆ อาชีพค้าขาย ไม่ใช่ชาวนา ส่วนคนเสื้อเหลืองมีนิว โมเดลมากกว่า อาจจะเป็นโอลด์ เจเนอเรชั่นนะ สูงวัย แต่เป็นทนายความ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นลูกจ้าง อย่างผู้นำ เช่น สมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นพนักงานการรถไฟ สมเกียรติ์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นครู แม้แต่ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ก็เป็นลูกจ้างรัฐ

การตระหนักรู้ของคนชั้นกลางจะเป็นตัวจุดประเด็นในการลุกขึ้นสู้ อย่างการลุกขึ้นสู้ของเสื้อเหลืองก็มีประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรม การคอรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ การลุกขึ้นสู้ของเสื้อแดงก็อยู่ตรงนั้นเหมือนกัน แต่ไปชี้ประเด็นที่ต่างกัน ความรู้สึกของพวกออคคิวพาย วอลล์ สตรีท เป็นความรู้สึกเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม หากดูความรู้สึกของแต่ละสีในบ้านเรา ผมมองว่าความรู้สึกของพวกเสื้อเหลืองดูจะใกล้เคียงกว่า มีปัจจัยร่วมกันมากว่า โดยมองไปที่กลุ่มทุนที่มีทั้งคอร์รัปชั่น การรวบกินประเทศไทย ขณะที่พวกเสื้อแดงมองไปที่ความเหลื่อมล้ำเรื่องอำนาจ ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำเชิงทุนนิยม

ไทยพับลิก้า : มองเป็นเรื่องทุนเก่ากับทุนใหม่ได้หรือไม่

เขาไม่พูดนะ เขายังมองว่าเป็นเรื่อง 2 มาตรฐาน พวกนั้นมีอำนาจมากกว่าเลยทำอย่างนี้ พวกเรามีอำนาจน้อยกว่าเลยถูกทำอย่างนั้น หรือการไปชี้ความแตกต่างระหว่างไพร่กับอำมาตย์ ซึ่งไม่มีสาระทางทุนนิยมเลย บอกว่าไพร่ด้อยอำนาจ ทั้งอำนาจทางการปกครอง และอำนาจในทรัพย์สิน พวกไพร่คือพวกไร้สมบัติ ไร้อำนาจ ไร้โอกาส แต่ถามว่าในหมู่ไพร่ มีไพร่ 4 หมื่นล้าน ไร้สมบัติไหม ตรงนี้สับสน บอกว่าอำมาตย์มีอำนาจมาก แต่ไม่ได้บอกว่าอำนาจนั้นคืออำนาจอะไร และอำมาตย์เป็นใครก็ไม่ชัด

อำมาตย์ตามพจนานุกรมของทางราชการหมายถึงผู้บังคับบัญชาราชการ แล้วผู้บังคับบัญชาราชการคือใคร ก็คือรัฐมนตรี วันนี้คุณเป็นรัฐมนตรี คุณเป็นอำมาตย์หรือเปล่า ดังนั้นการลุกขึ้นสู้ของคนเสื้อแดงจึงไม่ได้อยู่ในโมเดลของวอลล์ สตรีท ขณะที่พวกเสื้อเหลืองมีปัจจัยร่วมวอลล์ สตรีท มากกว่า เพราะมีเป้าหมายอยู่ที่ทุนสามานย์ คำว่าทุนสามานย์ไม่ได้แปลว่าทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) นะ แต่เป็นพฤติกรรมของทุน ซึ่งมีหลายกลุ่ม เช่น พฤติกรรมของบริษัทปตท. นี่ทุนสามานย์แท้ๆ ไม่โปร่งใสเลย ปีหนึ่งส่งออก 3 แสนล้านบาท แต่บอกว่าผลิตได้ไม่พอ ต้องนำเข้า เมื่อต้องนำเข้าทำไมต้องส่งออกด้วยล่ะ เพราะอะไร

"รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อตัวละครเมื่อปี 2548 อยู่กันครบ และกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม ทั้งเสื้อเหลือง พรรคทักษิณ และทุนนิยมสามานย์ของทักษิณ หากเสื้อเหลืองจะออกมาในโมเดลวอลล์ สตรีท ต้องชูประเด็นอะไรถึงจะมีน้ำหนัก

เรื่องของทุนไง อย่างปตท. ตอนนี้มีทุนเอกชน 48 % ก็ต้องไปดูว่าเป็นใคร และมันดูดดึงทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างไร ซึ่งชัดเจนว่าเป็นกลุ่มทุนการเมือง เราจะเห็นว่ากลุ่มผูกขาดในสังคมไทยอิงกับการเมืองทั้งนั้น ดังนั้นการต่อสู้กับทุนสามานย์จะหมายถึงการต่อสู้กับบางส่วนที่เป็นผู้คุมอำนาจรัฐ เหมือนกับที่พวกวอลล์ สตรีท บอกว่าพวกทุนสามานย์วอลล์ สตรีท อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง นักการเมืองก็ต้องออกนโยบายใหม่ ปฏิรูปนโยบายใหม่ กดดันโอบามา (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ) แต่เวลาเสื้อแดงลุกขึ้นมาต่อสู้ เขาไม่ได้ชูเรื่องทุน เรื่องความแตกต่างระหว่างทุนกับประชาชน ทั้งที่ความจริงกลุ่มทุนกับประชาชนธรรมดาครองทรัพย์สินต่างกัน 60 เท่า ไม่ว่าจะทุนเก่าทุนใหม่ มันก็เป็นทุนทั้งนั้น

ผมสรุปว่าความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยเกิดจากพฤติกรรมของทุนเป็นหลัก ซึ่งความไม่เป็นธรรมได้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ 5 ประการ ตามที่คณะปฏิรูปคิดกันคือ รายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี ความแตกต่างทางรายได้มาจากความเป็นทุนกับไม่เป็นทุน แต่เรากำลังถูกชี้ประเด็นว่าเป็นเรื่องไพร่กับอำมาตย์

ไทยพับลิก้า : แท้จริงแล้วคนที่เรียกตัวเองว่าไพร่คือนายทุนที่ประดิษฐ์วาทกรรมขึ้นมาบล็อกความคิดคนในสังคมหรือเปล่า

ไพร่คืออะไร คือผู้ไร้สมบัติ คุณไร้สมบัติหรือ เป็นวาทกรรมหลอกลวงหรือเปล่า จะเข้าทฤษฎีของเหมา เจ๋อ ตุง (ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน) ที่โจรร้องให้จับโจร บอกเฮ้ย! กูไม่ใช่โจร ไอ้คนนั้นโจรต่างหาก ถ้าคุณวิ่งตามจับโจรตามที่เขาชี้เนี่ย จะจับโจรตัวจริงได้ไหม โจรคนไหนบ้างที่บอกว่าตัวเองเป็นโจร มันใช่อย่างนั้นหรือเปล่า ผมว่าใช่นะ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ดังนั้นถ้าถามว่าโมเดลวอลล์ สตรีท จะเกิดขึ้นในเมืองไทยไหม จะเห็นว่าร่องรอยการลุกขึ้นมาต่อสู้มันมีอยู่ แต่ว่าทิศทางที่มันต่อต้านถูกหรือเปล่า อันนี้ต้องคิด

ไทยพับลิก้า :ในเมื่อร่องรอยการต่อสู้มีอยู่ กลุ่มที่ลุกขึ้นมาสู้แล้วมีพลังที่สุดจำเป็นต้องเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุดของสังคมไทยคือ ลูกจ้าง 17 ล้านคนหรือเปล่า

คำว่าลูกจ้าง มีลูกจ้างภาครัฐ 3 ล้านคน ลูกจ้างภาคเอกชน 11 ล้านคน และลูกจ้างภาคเกษตรอีก 3 ล้านคน รวมเป็น 17 ล้านคน แต่ลูกจ้างเหล่านี้ถูกสิ่งที่กรัมชี่ (นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี) เรียกว่าเฮจโมนี่ครอบหัวไว้ คิดไม่ออก มันถูกวาทกรรม ถูกระบบการศึกษา ถูกสื่อชี้ไปอีกทางหนึ่งให้เขาคิดไม่ออก จะมีหนูตัวไหนเอากระพรวนไปแขวนคอแมว

ไทยพับลิก้า : แต่จริงๆ คนชั้นกลางเหล่านี้คือหนู หรือไม่ใช่หนู

ก็เขาถูกทำให้คิดว่าตัวเขาคือหนู คุณเป็นยักษ์ก็ได้ ถ้าคุณคิดที่จะเป็น ในอาหรับเนี่ย คนส่วนใหญ่เขาคิดว่าตัวเองคือหนูใช่ไหม เพราะทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นหนูไง เผด็จการถึงอยู่ได้ 40-50 ปี แต่เมื่อไรเขาคิดได้ว่าเฮ้ย! กูไม่ใช่หนูนี่หว่า กูก็เป็นเสือได้เหมือนกันนี่ ทุกอย่างก็เปลี่ยน ดังนั้นการเปลี่ยนความคิดมันถึงเป็นเรื่องใหญ่

ไทยพับลิก้า : ในขณะที่คนชั้นกลางควรรู้ว่าตัวเองไม่ใช่หนู แต่รัฐบาลพยายามตอกย้ำว่าใช่ด้วยการออกนโยบายอุดปาก ทั้งการขึ้นค่าแรง 300 บาท ขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท

ใช่ ถูกต้อง แต่คำถามคือทำได้หรือเปล่า เขาพูดไปเรื่อยๆ วันนี้ทำได้ที่ไหน คนพูดควรจะทำก่อน แต่ทำหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งเป็นความพยายามลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกสถานะให้คนข้างล่าง เพื่อทำให้คนจนลดลงหรือไม่

แล้วได้หรือยัง 300 บาท ที่พูดนะพูดได้ แต่ทำได้หรือยัง คำว่า 300 คืออะไร คนที่ไม่มีฝีมือ และทำงานวันแรก แต่นี่ได้ 300 บาท แต่เขาทำงานมา 5 ปีแล้ว ขณะที่คนทำใหม่ๆ ซิงๆ วันแรกได้ 300 บาทมีไหม มันคนละเรื่อง แต่นี่ไงวิธีทำให้คนสับสน และไม่เข้าใจ เหมือนเวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย รากหญ้าสำคัญที่สุด ลูกจ้างเป็นรากหญ้าหรือเปล่า ถ้าเป็น คุณยอมให้ลูกจ้างมีประชาธิปไตยไหม เราลืมไปแล้วว่าระบบทุนโดยพื้นฐานคือระบบเผด็จการ เพียงแต่ในประเทศที่เจริญแล้ว ระบบทุนถูกต่อต้าน ถูกต่อสู้ ทุนก็เลยยอมจำนนต่อระบบประชาธิปไตยที่เรียกว่าเดโมเครซี่ แอท เวิร์ค นั่นคือนายจ้างจำต้องยอมการมีส่วนร่วม การแสดงความคิด การต่อรองของลูกจ้างผ่านระบบสหภาพแรงงาน ถามว่าทุนไทยยอมไหม ขอโทษ พวกนายทุนเรียกหาประชาธิปไตย คุณเคยยอมให้ประชาธิปไตยมีในลูกจ้างของคุณไหม

ไทยพับลิก้า : ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนติดภาพว่าสหภาพเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่พอใจก็สไตร์ค เลยกลายเป็นพลังที่ไม่สร้างสรรค์หรือเปล่า

คือการล้างสมองของระบบรัฐเผด็จการไง ถามว่ารัฐเผด็จการนี่มันส่งเสริมใคร คุณกลับไปดูประวัติศาสตร์สิ จำไว้เลยว่าทุนที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่เคยให้ประชาธิปไตยแก่คนนั้น ถามง่ายๆ ทุนในเครือข่ายชินวัตร มีกี่บริษัทที่มีสหภาพ หนังสือพิมพ์เรียกหาประชาธิปไตย มีกี่ฉบับที่มีสหภาพ แล้วคุณจะเรียกหาไปทำไม ในเมื่อตัวคุณเองยังไม่มีเลย

ไทยพับลิก้า : ในทรรศนะของอาจารย์ ทฤษฎีประชาธิปไตย กับทฤษฎีการต่อรองผลประโยชน์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ประชาธิปไตยเป็นอำนาจประชาชน เมื่อคุณให้ประชาชนมีอำนาจ อำนาจต่อรองเป็นอำนาจชนิดหนึ่งใช่ไหม แล้วคุณไม่ให้เขาหรือ ถ้าไม่ให้เขา เขาจะมีอำนาจได้อย่างไร อำนาจต่อรองเป็นอำนาจเบื้องต้นนะ คุณซื้อขายสินค้ายังต่อรองได้เลย

ไทยพับลิก้า : เวลาประชาชนต้องต่อรองกับนักการเมือง หรือลูกจ้างต่อรองกับนายทุน อะไรจะทำให้คนข้างล่างมีอำนาจในการต่อรอง

อำนาจต่อรองมีอยู่ 3 เงื่อนไขคือ ความคิด จิตวิญญาณ และการจัดตั้ง คนเราจะมีความคิดก็ต่อเมื่อมีปัญญา ดังนั้นมันเริ่มตรงนี้ ในทางพุทธ ผู้ปกครองจะมีอำนาจได้ต้องมีองค์ประกอบ 5 ตัวที่เรียกว่าขัตติยพละคือ 1. โภคพละ พลังที่มาจากทรัพย์สิน 2. พาหาพละ พลังที่เกิดจากอาวุธ 3. ปัญญาพละ พลังที่เกิดจากความคิด ความอ่าน ความรู้ 4. อมัจจพละ พลังจากการบริหารจัดการ และ 5. สามัคคีพละ พลังของการรวมหมู่ จะเห็นว่าอำนาจในการต่อรองมันมาจาก 5 พลังนี้ คุณต้องมีพลังก่อนถึงจะต่อรองได้ เขาจึงพยายามทำให้คนไร้พลังไง

คนที่ลุกขึ้นมาต่อรองส่วนใหญ่เริ่มจากคนชั้นกลาง 14 ตุลาคม 2516 ก็เริ่มจากนักศึกษาที่ก่อร่างทางความคิด ไม่ใช่ชาวนายากจนที่ไหน ทำไมชาวนาและกรรมกรยากจนไม่ลุกขึ้นมา เพราะไม่มีความคิด แม้แต่ในทฤษฎีปฏิวัติของเลนิน เขาก็ไม่เชื่อว่ากรรมกรจะลุกขึ้นมาปฏิวัติได้ ดังนั้นทฤษฎีปฏิวัติจากคนชั้นล่าง แท้จริงแล้วนำเข้ามาจากข้างนอก กรัมชี่ถึงบอกว่าการต่อสู้ต้องมีปัญญาชนอภิวัฒน์ ซึ่งทำงานกับคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคนชั้นล่างเพื่อต่อสู้ทางความคิด ทำสงครามทางความคิด ถามว่าเวลาเราทำสงครามทางความคิด เราทำกับใคร ทำกับอะไร การใช้ทฤษฎีไพร่-อำมาตย์เป็นการทำสงครามทางความคิดไหม พูดตรงๆ นะผมไม่เห็นเสื้อแดงทำสงครามกับทุน

"รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไทยพับลิก้า : เป้าหมายของเสื้อแดงคือทำสงครามทางความคิดระหว่างฝ่ายซ้ายเก่ากับฝ่ายขวาหรือเปล่า

ไม่รู้ ผมไม่รู้ แต่ถ้าการเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้เสื้อแดง โมเดลวอลล์ สตรีท ไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่ถ้าเสื้อเหลืองเป็นไปได้ เพราะมันมีตัวร่วมที่คล้ายๆ กันมากกว่า

ไทยพับลิก้า : ไม่ว่าเป็นเสื้อสีอะไร แต่พอมีพรรค มีทุนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ทำให้น้ำหนักในการต่อสู้เบาลงหรือเปล่า

ในทางทฤษฎีขณะนี้มันเป็นการช่วงชิงการนำระหว่างทุนกับราชการ ถ้าคุณบอกว่าอำมาตย์คือราชการ เราพูดได้นะในภาษาราชบัณฑิต แต่ถามว่าแล้วไพร่คืออะไร

ไทยพับลิก้า : ไพร่ไปบริหารราชการแผ่นดินอยู่

ไพร่คือสามัญชน แล้วเศรษฐีเป็นสามัญชนไหม (หยุดให้คิด) เห็นไหม มันติดปัญหาในทางทฤษฎี เศรษฐีอยากได้สายสะพายไหม เศรษฐีจำกัดเสรีภาพลูกจ้างไหม เศรษฐีเป็นพวก 1 % ไหม ถ้าเป็นโมเดลวอลล์ สตรีท พวกเศรษฐีคือ 1 % ต่างจากพวก 99 % คนที่ลุกขึ้นสู้ เขาสู้กับเศรษฐีสามานย์ 1 %

ไทยพับลิก้า : ของไทยเศรษฐีเป็นส่วนผสมของทุกกลุ่มใน 99 % ทำให้แยกลำบาก

อ่า… เรากำลังเป็นโจรร้องจับโจรหรือเปล่า ถ้าตอบในทางทฤษฎีคือปรากฏการณ์ออคคิวพาย วอลล์ สตรีท ไม่เกิด ของเราจึงไม่ใช่สงครามชนชั้น การเอา 99 คน ไปสู้กับ 1 คน มันมีภาพชนชั้นชัดเจนนะ อย่างน้อยระหว่างชนชั้นกลางที่เกิดความผิดหวังในระบบ กับชนชั้นร่ำรวย แต่ของเราไม่ใช่

ไทยพับลิก้า : คำว่าสงครามชนชั้นของไทย ถูกบัญญัติว่าหมายถึงกรรมไพร่-อำมาตย์ไปแล้ว ถ้าจะมีใครสักคนลุกขึ้นมาทำสงครามชนชั้นใหม่ ก็ต้องล้างวาทกรรมเดิมก่อน

แล้วมันมีชนชั้นอำมาตย์ หรือชนชั้นไพร่ในสังคมไทยไหม ใครคืออำมาตย์ หรือไพร่ ตอบโดยทฤษฎีได้ไหม หรือคุณตอบตามใจตัวเองล่ะ ความคิดแบบอำมาตย์มันอยู่ในหัวเศรษฐีมากกว่าราชการอีก อำมาตย์คือพวกอยากเป็นเจ้าคนนายคน อำมาตย์แปลว่าพวกราชการใหญ่ สมัยก่อนคือคนทำงานให้พระเจ้าแผ่นดิน เป็นเจ้าพระยา ถ้าบอกว่าเรายังมีระบบศักดินาอยู่ เพราะมีพระเจ้าแผ่นดิน พวกนั้นก็อำมาตย์หมด เพราะคุณได้เป็นเพราะการโปรดเกล้าฯ ไหนลองบอกมาสิว่าไพร่คืออะไร

ไทยพับลิก้า : นิยามกลุ่มไพร่อาจไม่ชัด แต่อำมาตย์ชัดเจนว่าทำให้สังคมนึกถึงหน้าพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

แล้วมันใช่หรือเปล่า คือในทางลึกๆ ไปพูดเอาไว้ก่อนว่าเนี่ย..อำมาตย์ ทำให้คนเชื่อว่าพล.อ. เปรมคืออำมาตย์ นั่นแสดงว่าสิ่งที่คุณทำ ทำให้คนเข้าใจในวาทกรรมของคุณ แต่ถูกต้องในทางทฤษฎีหรือเปล่า การสร้างวาทกรรมเป็นการสะกดจิตอย่างหนึ่ง คุณสะกดจิตคนให้ไปตามทางที่ถูกหรือเปล่า วิชาสะกดจิตเป็นได้ทั้งมารและเทพ ถ้าทำให้คนหลงผิดก็เป็นมาร ถ้าทำให้คนเข้าใจสัจจะก็เป็นเทพ ตกลงคุณคือมารหรือเทพ

ถามว่าพล.อ. เปรมเป็นอำมาตย์ไหม เป็น แล้วคนเป็นรัฐมนตรีล่ะเป็นไหม ไม่เป็น มันเป็นไปได้อย่างไร พล.อ. เปรมเป็นได้เพราะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แล้วคุณล่ะ เป็นเองอย่างนั้นหรือ ไอ้อย่างนี้มารแล้วนะ (หัวเราะ) หลายคนมาเถียงกับผม ผมถามว่าคุณจะพูดกับผมในภาษาสงคราม หรือภาษาวิชาการ ภาษาสงคราม ถ้าโกหกแล้วชนะก็โกหก หลอกลวงแล้วชนะก็หลอกลวง สงครามไม่ใช่หลักวิชาการบริสุทธิ์ แต่ใช้ทั้งการหลอกลวง ล่อลวง แต่ภาษาวิชาการนั้นสัจจะทั้งนั้น ความจริงบางครั้งอาจเป็นความสูญเสียก็ได้ ถ้าคุณเคารพความจริง คุณต้องยอมรับความสูญเสีย

ไทยพับลิก้า : การทำสงครามชนชั้นแบบออคคิวพาย สี่เสาเทเวศร์ หรือออคคิวพาย ราชดำเนิน ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

บ้านเรามีการลุกขึ้นสู้แน่ ชัวร์ หลังน้ำท่วมนี้คอยดูเถอะ แต่วอลล์ สตรีท โมเดล ไม่น่าจะเกิดในเมืองไทย ตราบใดที่เรามีพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลชุดนี้ต้องการแนวร่วมกับทุนอย่างเข้มข้น ต้องทำแนวร่วมกับทุนใหญ่ทั้งนั้น และต้องอาศัยทุนเพื่อทำสงครามด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว ไม่รู้เหมือนกัน หรือถ้ามันจะเกิด ก็คงเกิดจากกลุ่มอื่น สมมุติเกิดจากเสื้อเหลืองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับพวกทุน ผมเชื่อว่าปะทะกับพวกเสื้อแดงแน่ ทำไปทำมาจะไม่ใช่สงครามระหว่างทุนกับประชาชน แต่เป็นสงครามระหว่างประชาชนด้วยกันเพราะความไม่เข้าใจ อันนี้อันตรายกว่า ถูกปั่นหัวให้ฆ่ากัน

ความขัดแย้งในสังคมไทยไม่ใช่ความขัดแย้งไพร่-อำมาตย์ตามวาทกรรมสงคราม ขณะนี้ถ้าพูดถึง 2 ขั้วใหญ่ๆ ข้างบนที่ขัดแย้งกันอยู่เนี่ย ก็เป็นคนในชนชั้นเดียวกัน แล้วที่เหลือไล่ลงมามีชนชั้นสูง ชนชั้นนายทุน ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างเหมือนกัน คือแต่ละซีก มันประกอบด้วยคนหลายชนชั้นเหมือนกัน ที่อันตรายคือไอ้ข้างบนเป็นกลุ่มคนเล็กๆ เวลาทะเลาะกันก็ยุคนข้างล่างเข้าข้างเขา แต่พอเขาดีกัน เขาก็เกี้ยเซี้ยกันลงตัว และไม่ได้บอกคนข้างล่างให้รู้นะ คนข้างล่างก็ฆ่ากันต่อไป นี่คือสังคมไทย ผมคิดว่าจะมีอย่างนี้รุนแรงขึ้นในปีต่อๆ ไป

ดังนั้นโมเดลบ้านเราไม่ใช่โมเดลวอลล์ สตรีท แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนำในสังคม แล้วมาดึงเอาคนข้างล่างเป็นพวก

ย้อนตำนานเขียน “สหภาพ” ให้น่ากลัว

"รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะ “การต่อรอง” คือ “อำนาจพื้นฐาน” ของผู้คน

แต่พลันที่ฝ่ายหนึ่งต่อรองแล้ว”ได้”ตามนั้น ย่อมหมายถึงอีกฝ่ายต้อง”เสีย” สิ่งเดียวกันไปโดยปริยาย

“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” เชื่อว่าการต่อรองที่ทรงประสิทธิภาพ และสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในหมู่คนเล็กๆ คือการรวมกลุ่มต่อรองในนาม “สหภาพ”

ผลิตผลที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตยในปีพ.ศ.2475

โดยเกิด “สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” ระบบสหภาพแรงงานระดับชาติที่ทำงานเคียงคู่กับ “พรรคสหชีพ” ของ “ปรีดี พนมยงค์”

“เมื่อจอมพลป. พิบูลสงคราม ปฏิวัติขับไล่ปรีดีออกไป ก็วางแผนทำลายสหภาพ ในยุคนั้นมันมีสหภาพสากลที่อยู่ภายใต้การนำของฝ่ายสังคมนิยม ทำให้สหรัฐฯ ต้องการล้มองค์กรพวกนี้ โดยบอกว่ามันเป็นพวกหัวเอียงซ้าย ก่อนตั้งสหภาพอีกแบบขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่าไอซีเอฟทียู (สหพันธ์แรงงานเสรีระหว่างประเทศ) พอจอมพลป. ขึ้นมา ก็รับแผนซีไอเอ (สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ) มาทั้งหมด มาทำลายสหอาชีวะฯ บอกว่าสหอาชีวะฯ เป็นพวกปรีดี พวกหัวเอียงซ้าย ก็ทำลายหมด เหลือแต่สหภาพแบบจอมพลป. ที่เรียกว่าไทย เทรด ยูเนียน (สหบาลกรรมกร ซึ่งต่อมาเป็นชื่อเป็นสมาคมกรรมกรไทย)”

โดยตั้ง “สังข์ พัธโนทัย” เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล”จอมพลป.” เป็นประธานสหภาพ และยังมอบเงินสนับสนุนให้ถึง 2 แสนบาท/ปี

“ต่อมาเมื่อซีไอเอและสหรัฐฯ แนะนำให้จอมพลป. ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ลดอำนาจรัฐวิสาหกิจ จอมพลป. ไม่ยอม เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นฐานอำนาจ เป็นฐานเศรษฐกิจของตัวเอง ซีไอเอเลยเลิกหนุนจอมพลป. หันไปหนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แทน สุดท้ายจอมพลสฤษดิ์ก็ปฏิวัติจอมพลป. แล้วล้างระบบสหภาพทั้งหมด ห้ามตั้งสหภาพนับจากนั้น โดยมีการเขียนในประกาศคณะปฏิวัติว่าสหภาพเป็นเครื่องมือคอมมิวนิสต์”

ก่อนที่คณะปฏิวัติจะสั่งยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่ออกในสมัยจอมพลที่ถูกโค่นอำนาจ

“มันบ้าหรือไง การเคลื่อนไหวในเรื่องสหภาพมันมีแต่ประเทศทุนนิยม ประเทศคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวสหภาพที่ไหนล่ะ ในประเทศคอมมิวนิสต์ สหภาพเป็นเพียงหน่วยเล็กๆ ของพรรคเท่านั้นเอง ทำหน้าที่เป็นสาขาของพรรคด้านแรงงาน สไตร์คไม่ได้ นัดหยุดงานไม่ได้ ต่อรองรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้นสหภาพที่เคลื่อนไหวอิสระเป็นสหภาพทุนนิยมทั้งนั้น และต้องเป็นทุนนิยมแบบประชาธิปไตย ส่วนยุคสฤษดิ์เรียกว่าทุนนิยมแบบเผด็จการ สหภาพเกิดขึ้นได้ทั้งในสังคมนิยม และทุนนิยม และมีทั้งเผด็จการและประชาธิปไตย อย่าไปคิดว่าถ้าทุนนิยมต้องประชาธิปไตย”

นั่นคือครั้งแรกที่เกิดเครื่องมือ “ต่อรอง” ที่ชื่อ “สหภาพ” ขึ้นในสยามประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ “เผด็จการ” เขียน “สหภาพ” ให้เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับผู้คนในสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ!!!