ThaiPublica > สัมมนาเด่น > สัมมนาแบงก์ชาติ นักวิจัย – นักวิชาการ ชี้ไทยเสี่ยงตกรถด่วนขบวนเอเชีย รัฐเลิกเล่นบท “คุณพ่อรู้ดี”

สัมมนาแบงก์ชาติ นักวิจัย – นักวิชาการ ชี้ไทยเสี่ยงตกรถด่วนขบวนเอเชีย รัฐเลิกเล่นบท “คุณพ่อรู้ดี”

23 ตุลาคม 2011


ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-21 ต.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาประจำปี 2554 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยก้าวไกลไปกับเอเชีย” ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่ประเด็นสัมมนาของธปท. เป็นเรื่องการมองระยะยาว เพื่อเตรียมการในอนาคต ซึ่งอาจไกลตัวเกินไปเมื่อเทียบวิกฤตอุทกภัยในขณะนี้

แม้มวลน้ำก้อนใหญ่มาล้อมรอบกรุงเทพ แต่มีผู้มาร่วมงานสัมมนาในวันแรกกว่า 700 คน พอวันที่สองมีรายงานข่าวว่าจะมีมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลเข้าประชิดกรุงเทพ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานพร่องไปบ้าง งานสัมมนามีบทความวิจัยที่นำเสนอทั้งหมด 5 เรื่อง งานวิจัยชี้ว่า ถ้าประเทศไทยไม่พัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรเลย มีโอกาสเสี่ยงเจอวิกฤตในอนาคตแน่นอน และวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่เตรียมพร้อมหรือละเลยกับปัญหาระยะยาว

เริ่มจากบทความวิจัยเรื่องแรก เมื่อเศรษฐกิจแดนมังกรพลิกโฉม : นัยต่อเศรษฐกิจไทย ที่ชี้ให้เห็นว่า ไทยมีความเสี่ยงถูกเหวี่ยงตกรางรถด่วนขบวนเอเชีย ถ้าไม่เร่งปรับตัวให้เร็วกว่าที่ผ่านมา

ผู้วิจัยศึกษาพบว่าทิศทางการเติบโตของจีนในระยะสั้นถึงระยะปานกลางสามารถโตต่อไปได้ไม่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยปีละ 7 % และในระยะยาวจีนจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง และเร่งพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อรักษาการเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

จีนให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยี
จีนให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยี

ที่สำคัญผู้วิจัยประเมินว่า จีนกำลังจะก้าวกระโดดเท่าทันเกาหลีใต้ เนื่องจากจีนให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยี โดยระดับการลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนามีโอกาสจะเทียบเท่าประเทศอเมริกาอย่างสหรัฐอเมริกาในอีก 5 ปีข้างหน้า

“การผงาดของจีนสร้างโอกาสและความเสี่ยงกับประเทศไทย โดยที่ผ่านมาไทยได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเติบโตของจีนผ่านช่องทางการค้าต่างๆ ได้แก่ การส่งออกสินค้าเกษตร การส่งออกสินค้าสำเร็จรูปและบริการให้กับผู้บริโภคจีนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ” ดร.พรพินันท์ ฉันทภักดีพงษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าว

แต่ระยะต่อไป ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่า ไทยมีความเสี่ยงจะได้รับประโยชน์จากช่องทางเหล่านี้ลดลง เนื่องจากการปรับปรุงผลิตภาพของไทยล่าช้ากว่าประเทศคู่แข่ง ขาดการสร้างแบรนด์ และความแตกต่างของสินค้า ที่สำคัญเราก้าวตามไม่ทันด้านเทคโนโลยีการผลิตที่อาจทำให้ไทยหลุดออกจากเครือข่ายการผลิตของจีนได้

“ที่ผ่านมาไทยได้ประโยชน์จากการที่จีนโต แต่เรามีข้อจำกัดที่ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่เร่งพอกับเศรษฐกิจในบริบทใหม่ เรามีข้อจำกัดในการพัฒนา เพราะว่าทำตัวเอง เมื่อก่อนจีนคือคู่แข่งที่วิ่งตามหลัง แต่วันนี้เขาคือผู้นำที่เราวิ่งตาม ในอนาคตเราคงไม่อยากเป็นผู้พ่ายแพ้ ดังนั้นเราต้องลุกขึ้นมาปรับ ปลดปล่อยภัยคุกคามต่างๆ เพื่อพัฒนาไปข้างหน้าให้ทันเขา” ดร.ณชา อนันต์โชติกุล เศรษฐกรอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธปท. หนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปตบท้ายของการนำเสนองานวิจัย

ขณะที่ผู้วิจารณ์บทความนี้ ดร. สารสิน วีระพล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เห็นด้วยว่า จีนกำลังเล่นบทบาทของมังกร และเชื่อว่าการกระโดดของมังกรมีศักยภาพไปได้ และมีความสามารถปรับตัวสอดคล้องกับโลกาภิวัตน์

“เราจะเต้นระบำไปกับมังกร เราต้องปรับตัว” นายสารสินกล่าว

บทความที่ 2 เรื่องมุ่งสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจและการเงินที่เหนียวแน่นขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2015 ชี้ว่า ไทยเปิดเสรีภาคการเงินน้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับระดับความพร้อม อาจทำให้การบริโภคผันผวน

ผู้วิจัยสรุปผลการศึกษาว่า การรวมกลุ่มทางการเงินภายใต้ประชาคมอาเซียน หรือ AEC จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนขยายตัวมากขึ้น และการบริโภคมีความผันผวนลดลง แต่จากการศึกษาการเปิดเสรีในภาคการเงินของไทย ทีมผู้วิจัยมีความเห็นว่า ไทยยังมีระดับการเปิดเสรีในภาคการเงินต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน-5 (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียน และสิงคโปร์) ซึ่งความเป็นจริงแล้วความพร้อมของไทยในด้านการเงินและปัจจัยแวดล้อมทางสถาบัน เป็นรองแค่สิงคโปร์และมาเลเซีย

ส่วนการเปิดเสรีภาคการค้าและการลงทุนของไทยมีความคืบหน้ามากที่สุด แต่ภาคบริการยังเปิดไม่เพียงพอ ภาคแรงงานแทบจะไม่เปิดเลย ทางผู้วิจัยจึงได้มีข้อเสนอให้เสนอให้จัดทำ positioning ของไทยในอนาคต โดยบรรจุเรื่องการเปิดเสรีลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้กฎ ระเบียบต่างๆ สอดคล้องกับการเปิดเสรีมากขึ้นในอนาคต เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม เป็นแรงผลักดันให้ไทยและอาเซียนเดินหน้าไปพร้อมกับเศรษฐกิจอื่นในเอเชียได้

ขณะที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขาสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้วิจารณ์บทความได้แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยต้องหันกลับมามองตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่อพูดถึง AEC คนไทยมักจะติดอยู่กับ “มายาคติ” ว่า AEC จะมุ่งสู่การรวมตัวแบบ EU ได้ในที่สุด

แต่ในความเป็นจริง AEC ไม่ได้มีการเปิดเสรี 100 % โดยเฉพาะเรื่องแรงงานที่กฎเกณฑ์ของประเทศต่างๆ ไม่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี การรวมตัวของ AEC จึงต้องร่วมมือพร้อมกันทุกประเทศ โดยจะอ้างว่าไม่พร้อมไม่ได้

“สำหรับด้านการเงิน ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเปิดเสรีภาคการเงิน แต่ยังติดอยู่กับกฎระเบียบต่างๆ จึงเสนอให้ทบทวนแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินในระยะต่อไปต้องสอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการเงินภายใต้ AEC และแบงก์ชาติควรลดระดับการควบคุมภาคการเงินให้น้อยลง เพื่อให้การแข่งขันในภาคการเงินของประเทศมีมากขึ้น” ดร.เดือนเด่นกล่าว

บทความวิจัยต่อมา เรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหม่ : เตรียมความพร้อมให้กับเศรษฐกิจไทย เป็นการเตือนภัยให้รองรับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะพัดมาแรงและเร็วกว่าในอดีต โดยผู้วิจัยศึกษาพบว่า โครงสร้างภาคอุตสาหกรรมไทยจะถูกกดดันให้ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปจากปัจจุบัน และระดับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะมีขนาดใหญ่ เป็นเสมือนพายุที่อยู่ใกล้ตัว คือจีน และประเทศอาเซีย โดยจะมีความรุนแรงมาจากทิศทางหลากหลาย รวมทั้งจังหวะและความเร็วถูกกำหนดจากภายนอก

“ประเด็นที่น่าห่วงคือ พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เศรษฐกิจโลกผันผวนมากกว่าในอดีต ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในลักษณะ shock และความผันผวนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น และพายุที่พูดถึงจะน่ากลัวกว่า 5 ปีที่ผ่านมา” นายเกียรติพงษ์ อริยปรัญชา เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาประเมินความพร้อมของเศรษฐกิจไทย ทีมผู้วิจัยระบุว่า ภาพรวมในระดับรายสาขาอุตสาหกรรมไทยมีความยืดหยุ่นในการรองรับการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับนานาประเทศ และเมื่อมองลึกลงระดับธุรกิจ ผู้ประกอบไทยมีความสามารถที่จะรับมือกับความผันผวนอยู่ในระดับดีและปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

บทวิจัยยังพบว่า การแข่งขันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้การจัดสรรทรัพยากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจ อันนำมาสู่ความทนทานต่อความผันผวนได้มากขึ้นอีก

“จากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มอิเลคทรอนิกส์ กับ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีความสามารถในการปรับตัวสูง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ส่วนกลุ่มขนส่ง สื่อสาร โลจีสติกส์ มีความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหม่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย” นายเกียรติพงษ์ กล่าว

งานวิจัยเรื่องที่ 3 นี้ได้รับคำชมว่าเป็นงานวิจัยที่มองจากด้านมหภาค เชื่อมโยงเจาะลึกลงถึงรายธุรกิจ ต่างจากงานวิจัยอื่นที่ศึกษาเฉพาะภาพกว้าง แต่ผู้วิจารณ์ให้มุมมองเพิ่มเติมที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อคิดจากงานวิจัยนี้ว่า การเตรียมพร้อมธุรกิจไทยให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจนั้น ควรพิจารณาบทบาทของภาครัฐด้วย

โดยบทบาทภาครัฐที่ควรจะเป็นเพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด ดร.วิรไทเสนอว่า ต้องมีลักษณะเป็น “ครูกวดวิชา” ที่มีความรู้ความสามารถทำนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจปรับตัว ทั้งนี้รัฐบาลไม่ควรเป็นแบบ “ตัวใครตัวมัน” คือนั่งเฉยไม่สนใจจะเกิดอะไรขึ้น หรือทำเป็น “ครูแนะแนว” ที่ได้แต่ออกมาพูด และที่สำคัญรัฐบาลไม่ควรทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” คือรู้ดีว่าควรทำยุทธศาสตร์นี้ ไม่ควรทำยุทธศาสตร์นั้น แล้วสั่งการ

“รัฐบาลต้องมีบทบาทในการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ จะทำให้เราวิ่งทัน และรองรับพายุลูกใหญ่ได้”

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ให้ความเห็นสนับสนุนเรื่องบทบาทภาครัฐว่า มีความสำคัญต่อการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าระดับรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะกลายเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่น่าห่วงที่สุด และจะทำให้เราถูกทิ้งห่างออกไปอีก

ส่วนบทวิจัยเรื่อง ก้าวข้าม Middle Income Trap : บทบาทการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ชี้ว่าหลายประเทศที่เคยมีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงไทยก้าวข้ามกับดักประเทศมีรายได้ขั้นกลาง (Middle Income Trap) เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และล้ำหน้าไทยไปมาก

รายได้ต่อหัวที่แท้จริง คิดเป็นร้อยละเทียบกับสหรัฐ
รายได้ต่อหัวที่แท้จริง คิดเป็นร้อยละเทียบกับสหรัฐ

ผู้วิจัยเรื่องนี้ศึกษาพบว่า ประเทศไทยเป็นปู่โสมเฝ้าระดับรายได้ขั้นกลางมานานแล้วกว่า 20 ปี และมีความเสี่ยงที่จะติดอยู่ในกับดับนี้ต่อไปอีกนาน เพราะมีอาการเหมือนกับหลายๆ ประเทศที่ติดอยู่ในกับดักนี้เป็นเวลานานๆ โดยอาการของประเทศที่ติดกับดับรายได้ขั้นกลาง คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนชะลอตัว การพัฒนาและสั่งสมองค์ความรู้ต่ำ

“หลังวิกฤติ 40 เป็นต้นมา การลงทุนของไทยอยู่ระดับต่ำมาตลอดยังไม่กลับขึ้นไปอยู่ระดับเดิมก่อนช่วงวิกฤติ จึงทำให้ไม่สามารถก้าวกระโดดขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ดังนั้นจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มอีกจำนวนมากถึงจะเพียงพอหลุดพ้นจากกับดับรายได้ขั้นกลางเป็นขั้นสูง อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การก้าวจากประเทศรายได้ต่ำเป็นรายได้ขั้นกลางง่ายกว่าการก้าวจากรายได้ขั้นกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง”

การจะหลุดพ้นจากกับดักนี้ ทีมผู้วิจัยเสนอว่า ไทยจะก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง ต้องปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมโดยให้ความสำคัญกับภาคการผลิตที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง โดยใช้บทเรียนจากเกาหลีใต้และไต้หวัน สะท้อนว่าไทยต้องเร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพ เช่น สาธารณูปโภค และระบบขนส่ง และทางสังคม เช่น การปฏิรูปการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย ให้มีความพร้อม

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

ด้านดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ผู้วิจารณ์บทความมีความเห็นว่า ประเด็นที่นำเสนอเป็นเรื่องเดิมๆ ที่พูดกันมานานแล้ว แต่ควรเน้นศึกษาให้ลึกกว่านี้ถึงความแตกต่างระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีความสำคัญต่อการก้าวจากประเทศรายได้ต่ำไปสู่ประเทศรายได้ขั้นกลาง กับการก้าวจากรายได้ขั้นกลางไปสูง

นอกจากนี้ ดร.สมชัยเสนอว่า ควรขยายกรอบการศึกษาให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ อาทิ ประเภทโครงสร้างอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เช่น เครือข่ายโทรคมนาคม ท่าเรือ และ กฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่น การวิจัยและพัฒนา การบังคับใช้กฎหมาย และเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงการพิจารณาถึงการวางกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศที่เอื้อต่อการเติบโตในอนาคต

และบทความวิจัยสุดท้ายเรื่อง เมื่อไทยลงทุนต่างประเทศน้อยเกินไป : สืบสาวปัจจัยโยงใยผลกระทบ ได้สะท้อนถึงการกระจุกตัวการออกไปลงทุนของธุรกิจไทยต่ำมาก และปรับตัวในเรื่องนี้ช้ากว่าประเทศอื่น

ผู้วิจัยศึกษาพบว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศในเอเชียที่มีโครงสร้างและพัฒนาการทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เช่น มาเลเซีย ได้เพิ่มการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนไทยทั้งการลงทุนในหลักทรัพย์และการลงทุนโดยตรงยังจำกัดอยู่ภายในประเทศค่อนข้างมากหรือมีระดับของ Home-bias หรือ “การติดถิ่น” สูง นอกจากนี้การปรับลดของการติดถิ่นของไทยช้ากว่าประเทศอื่นในระยะที่ผ่านมา

ผู้วิจัยระบุว่า การที่ประเทศไทยติดถิ่นลงทุนในต่างประเทศน้อยเกินไป ทำให้ไทยเสียโอกาสที่จะกระจายความเสี่ยงของประเทศในการรักษามาตรฐานการบริโภคเมื่อเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจขึ้น และการไทยมีระดับการติดถิ่นสูงเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ทำให้ไทยมีความสามารถในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจต่ำกว่ามาเลเซียเกือบ 1 เท่าตัว

ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุที่ทำให้นักธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศน้อย เป็นผลมาจากข้อจำกัดทางนโยบายที่ไม่ส่งเสริมให้มีการลงทุนในต่างประเทศ ขาดนักลงทุนที่เชี่ยวชาญ และปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

ดังนั้นข้อเสนอแนะของผู้วิจัยคือ การจะสร้างรากฐานที่แข็งให้ภาคธุรกิจสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐเข้าช่วย โดยในระดับนโยบายการเปิดเสรีเงินทุน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการลดการติดถิ่น หรือการกระจุกตัวของการลงทุนในประเทศ ภาครัฐจะต้องกำหนดการเปิดเสรีเงินทุนเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ สนับสนุนทั้งด้านภาษีและการเข้าถึงทุน พร้อมกับมีการปรับทัศนคติคนไทยให้ก้าวเข้าสู่โลกภายนอกมากขึ้น โดยเรื่องเหล่านี้ต้องเริ่มทำในทันที เพราะเป็นเรื่องที่ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล

ด้าน ดร. จอน วงศ์สวรรค์ ผู้วิจารณ์บทความ แสดงความเห็นด้วยกับผลการวิจัยดังกล่าวว่า การลดการกระจุกตัวของการลงทุนในประเทศของไทยมีมากและลดลงช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เนื่องมาจากประเทศไทยมีข้อจำกัดทางด้านนโยบาย และความสามารถของนักลงทุนในประเทศ โดยการกระจุกตัวของการลงทุนในประเทศมีความสัมพันธ์กับระดับการคอร์รัปชันอย่างมีนัยสำคัญ คือเมื่อระดับการกระจุกตัวของการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ก็มีแนวโน้มที่ระดับการคอร์รัปชันภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นไปด้วย

“ภาครัฐควรสร้างให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น มีการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อลดสิทธิพิเศษของบริษัทท้องถิ่นที่แข่งขันอยู่ในตลาดภายในประเทศ ทำให้นักลงทุนของไทยออกไปแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีศักยภาพเพียงพอที่จะไปลงทุนแข่งขันในเวทีโลก ด้วยการให้หน่วยงานต่างๆของไทยดูแลนักลงทุนไทยในต่างประเทศ พร้อมกับสนับสนุนปัจจัยอื่นๆที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินจากตลาดเงินและตลาดทุนมากขึ้น”

อาจกล่าวโดยสรุปว่า บทความวิจัย 5 เรื่อง กำลังบอกว่า ในบริบทใหม่ของภูมิภาคเอเชียที่กำลังจะก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยมีจีนเป็นหัวรถจักรนำพารถด่วนขบวนเอเชีย ถ้าไทยจะฉกฉวยประโยชน์จากภูมิภาคเอเชียในบริบทใหม่ จะต้องเร่งพัฒนาปรับปรุุงในทุกด้านโดยเร็วในทันที

แต่ถ้าไทยไม่ทำอะไรเลย ก็คงสูญเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากภูมิภาคเอเชียในบริบทใหม่ และอาจตกรถด่วนขบวนเอเชียได้