ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (2) : แฉกระบวนการ “ghost jobs”

20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (2) : แฉกระบวนการ “ghost jobs”

25 สิงหาคม 2011


ฌากส์ ชีรัก ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในกระบวนการ ghost jobs
ฌากส์ ชีรัก ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในกระบวนการ ghost jobs
(ที่มาของภาพ: http://referentiel.nouvelobs.com)

ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่อยู่ตำแหน่งประธานาธิบดี “ฌากส์ เรอเน ชีรัก” รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีกรณีพัวพันกับซีรีส์คอร์รัปชั่นในสมัยนั่งคุมศาลาว่าการเทศบาลนครปารีส เพราะมีเอกสิทธิ์คุ้มครองเป็นเสมือนยันต์คุ้มภัย

แต่เมื่อพ้นจากอำนาจวาสนาในฐานะผู้นำสูงสุดของฝรั่งเศสเมื่อปี 2550 ชีรักก็ถูกตามเช็คบิลสิ่งที่เขาอาจมีส่วนรู้เห็นในอดีต

มีเพียงคดีเดียวในตอนนี้ที่มีหลักฐานมากพอจนทำให้ชีรักต้องเดินเข้าออกศาลในวันที่อายุล่วงเลยเข้าสู่วัย 78 กะรัต และอาจกระตุกให้ชีวิตทางการเมืองที่ยาวนานนับ 4 ทศวรรษ “จบไม่สวย” อย่างที่คิด

คดีความหนึ่งเดียวข้างต้น คือ “ตำแหน่งงานผี” (ghost jobs) ซึ่งฌากส์ ชีรัก ถูกกล่าวหาว่าในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครปารีส ได้นำเงินงบประมาณของรัฐไปใช้ว่าจ้างบุคลากรเพื่อทำงานในศาลาว่าการเทศบาลนครปารีส ทั้งที่ไม่มีตำแหน่งงานเหล่านี้จริง และกลับนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายสำหรับคณะทำงานในพรรคการเมืองแอร์เปแอร์ (RPR) ที่ชีรักก่อตั้งขึ้นแทน

หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่เชื่อมโยงชีรักกับคดี ghost jobs คือ จดหมายที่เขาลงนามในปี 2536 แจ้งให้สภาเทศบาลนครปารีสจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้กับพรรคแบบเต็มเวลา ซึ่งจากการขุดคุ้ยในเวลาต่อมา พบว่า ทั้งชีรักและพรรคพวกทำสัญญาจ้างงานในตำแหน่งที่ปรึกษาปลอมๆ มากถึง 500 ตำแหน่ง เท่ากับเป็นการผ่องถ่ายเงินจากรัฐมาใช้จ่ายสำหรับงานการเมืองคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4.5 ล้านยูโร (6.68 ล้านดอลลาร์)

เฉพาะที่มีหลักฐานค่อนข้างแน่ชัด เป็นสัญญาจ้างปลอม 28 ตำแหน่ง ที่ชีรักได้ลงนามจ้างงานต่างกรรมต่างวาระในระหว่างปี 2520-2538 โดยรายชื่อพนักงานที่ได้ทำสัญญาจ้างปลอมๆ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิดของชีรัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพ้อง รวมถึงกัลยาณมิตรทางการเมือง ซึ่งต้องสงสัยว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ทำงานเป็นชิ้นเป็นอันให้กับศาลาว่าการปารีส ทว่ากลับได้รับเงินค่าตอบแทนจากหลวงเป็นเงินก้อนโต

ที่มาของภาพ : www.consilium.europa.eu

อาจกล่าวได้ว่าการเล่นแร่แปรธาตุเงินจากศาลาว่าการปารีสไปให้กับพรรคการเมือง นับเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ชีรักก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้สำเร็จในปี 2538

นอกเหนือจากชีรักแล้ว ยังมีจำเลยร่วมอีก 9 คนในคดีนี้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นต่อการกระทำดังกล่าว ซึ่งจำเลยหนึ่งในนี้ คือ “มิเชล รูส์แซง” อดีตผู้บริหารของศาลาว่าการปารีสที่เป็นไม้เป็นมือของชีรัก และเป็นผู้ที่ถูกคนตายชี้นิ้วว่าเป็นผู้รับกระเป๋าบรรจุเงินสดที่ได้จากเงิน kickbacks รูส์แซงถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีคอร์รัปชั่นอีกกรณีที่เกี่ยวข้องกับศาลาว่าการปารีสเช่นกัน

อดีตประธานาธิบดีแดนน้ำหอมปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด โดยระบุว่าพนักงานเหล่านั้นไม่ได้ถูกว่าจ้างเพื่อรับมือการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2538 ซึ่งชีรักชนะการเลือกตั้งครั้งนั้น

ทว่าในระหว่างที่ชีรักได้เอกสิทธิ์คุ้มครอง พันธมิตรทางการเมืองอย่าง “อแลง ชูเป” อดีตนายกรัฐมนตรีและคนสนิทของชีรัก กลับถูกศาลตัดสินในเดือนธันวาคม 2547 ให้จำคุกกรณีความผิดฐานจ้างงานปลอม แต่ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 14 เดือน และถูกตัดสิทธิ์ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 1 ปี

หลังจากชีรักพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2550 เขายอมให้ศาลซักถามในฐานะพยาน (assisted witness) ซึ่งความร่วมมือในฐานะพยานนี้ไม่ได้ปิดโอกาสเอาผิดกับชีรักในภายหลัง เพราะศาลสามารถไต่สวนคดีได้หากมีหลักฐานใหม่เพิ่มเติม ทว่าสถานะพยานนี้ก็ทำให้ฝ่ายทนายของชีรักเข้าถึงเอกสารหลักฐานของเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชีรักพร้อมจะเปิดปากตอบคำถามของศาลเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เขาจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น ในขณะที่ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์หลังชีรักนั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุด