ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โอกาสทางสิ่งแวดล้อมจากสถานการณ์ระบาดของ COVID-19

โอกาสทางสิ่งแวดล้อมจากสถานการณ์ระบาดของ COVID-19

15 เมษายน 2020


ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย

ในสภาวะที่ COVID-19 พัดพาวิถีชีวิตเดิมๆ ของคนทั่วโลกจากไปประหนึ่งสึนามิลูกใหญ่ และในสถานการณ์ที่สุขภาพจิตของคนส่วนมากอยู่ในภาวะตึงเครียดจากความกังวลต่อสุขภาพและข่าวร้ายทางเศรษฐกิจ ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านมองมุมบวกของเหตุการณ์ครั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายถึงเพียงไหน ก็ยังคงมีแสงสว่างแห่งความหวังอยู่รำไร และในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม จึงขอชวนผู้อ่านมองประเด็นเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมจากการระบาดของโรค COVID-19 กัน

ในมุมมองของผู้เขียน การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางสังคมและเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19 สร้างทั้งบทเรียนและโอกาสที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

บทเรียนสำคัญบทหนึ่งจากคุณครู COVID-19 คือ การสร้างความตระหนักรู้ว่าการกระทำของคนตัวเล็กๆ เพียงหนึ่งคน มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมหาศาล

ประเทศของเราจะรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ได้ ก็ต่อเมื่อคนไทยทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ในลักษณะเดียวกัน ความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่รุมเร้า ไม่ว่าจะจากภาวะอากาศเป็นพิษ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะขยะล้นเมือง จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากทุกภาคส่วนไม่ร่วมแรงร่วมใจกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหากเรานิ่งนอนใจในประเด็นเหล่านี้ ในอนาคตเราอาจต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกเช่นเดียวกันกับสิ่งที่เราต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้ก็เป็นได้

วิกฤติการณ์ในครั้งนี้ยังทำให้เราได้ตระหนักถึงผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาวะปกติ เมื่อคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมหยุดสายการผลิต เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลง และเมื่อการเดินทางระหว่างเมืองและระหว่างประเทศชะงักงัน เรากลับพบว่าเราได้อากาศบริสุทธิ์กลับคืนมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดลงทั่วโลก และแหล่งธรรมชาติที่เสื่อมโทรมเริ่มฟื้นฟูกลับมา

จริงอยู่ที่เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาของเรานั้นสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของเราไม่น้อยทีเดียว อีกทั้งยังมีความเปราะบาง เมื่อเศรษฐกิจเกิดชะงักงัน คนขาดรายได้ และทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม การยังชีพของคนย่อมทำได้ยาก แต่หากเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แม้คนจะตกงาน แต่ก็ยังพอพึ่งพาธรรมชาติในการดำรงชีวิตได้ ดังนั้นวิกฤติการณ์ในครั้งนี้จะช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเราและรุ่นลูกรุ่นหลานเราต่อไป

ในภาวการณ์ที่จำเป็นต้องมีแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากภาครัฐเพื่อช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจซบเซานั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีในการที่รัฐจะสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เช่น การลงทุนในพลังงานทางเลือก (renewable energy) และการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการติดต่อสื่อสารแบบไม่ต้องเดินทาง เช่น เทคโนโลยี 5G และจากการเข้าช่วยเหลือธุรกิจของภาครัฐ จึงสร้างโอกาสสำคัญในการกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน เช่น การกำหนดเงื่อนไขด้านธรรมาภิบาล การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและทรัพยากรอื่นๆ การบังคับให้บริษัททำตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศ ฯลฯ

โดยอาจเรียงลำดับการทำตามเงื่อนไขจากเงื่อนไขที่สามารถช่วยบริษัทลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ก่อนในระยะสั้น และกำหนดให้บริษัททำตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจมีต้นทุนในการดำเนินการเมื่อกิจการดีขึ้นแล้วต่อไป

หากเราเรียนรู้บทเรียนและใช้โอกาสที่หาได้ยากนี้อย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่เราจะก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้อย่างเจ็บตัวน้อยที่สุด แต่ยังสามารถทำให้ประเทศตั้งหลักได้ใหม่บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อนำประเทศไปสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างแท้จริงได้อีกด้วย