ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > เศรษฐกิจไทย: COVID-19 ความยากจน และการคุ้มครองทางสังคม

เศรษฐกิจไทย: COVID-19 ความยากจน และการคุ้มครองทางสังคม

21 เมษายน 2020


เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา, อาวินด์ แนร์, ฟรานเชสกา ลามานนา, แฮรี่ โมโรซ และ จูดี้ หยาง

อาชีพคนเก็บขยะในคลอง

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกชนชั้นทุกอาชีพ ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเด็กไทยทั่วประเทศต้องอยู่บ้านแทนที่จะได้ไปโรงเรียน ลูกจ้างต้องทำงานจากที่บ้าน ในขณะที่เจ้าของกิจการต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อให้กิจการดำเนินงานต่อไปได้ เราทุกคนต่างกำลังเรียนรู้ปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป ผู้ที่ตกงานหรือสูญเสียรายได้แบบไม่ได้ตั้งตัวมากมายต้องหาทางอื่นๆ เพื่อเลี้ยงชีพต่อไป

ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะสามารถลดผลกระทบจากโรคระบาดที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมโดยการขยายโครงข่ายคุ้มครองทางสังคมไปยังกลุ่มเปราะบาง และทบทวนมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน?

ผลกระทบเชิงลบจาก COVID-19 จะยิ่งทำให้สถานการณ์ที่ท้าท้ายแย่ลงอีกสำหรับครัวเรือนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง

การเติบโตของค่าจ้างคงที่ และความยากจนที่เพิ่มขึ้น ก่อนการระบาดของ COVID-19 รายงานของธนาคารโลกเรื่อง “จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” พบว่าอัตราความยากจนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยสูงขึ้นเมื่อปี 2559 และ 2561 ขณะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ลดลงท่ามกลางการแพร่ระบาด การสูญเสียงานและรายได้ อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือนไทยยิ่งขึ้น

รายได้ครัวเรือนที่ลดลงทำให้เกิดความท้าทายอย่างรุนแรงต่อการลดความยากจน รายได้จากการทำงานเป็นสัดส่วนสำคัญของรายได้ครัวเรือน และรายได้ที่ลดลงจะส่งผลต่อความสามารถของครัวเรือนในการใช้จ่ายและตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน รายได้จากเงินส่งกลับของแรงงานในต่างถิ่นนับว่าเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนเช่นกัน ยิ่งไปกว่าความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่หากแรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้ แหล่งรายได้นี้ของครัวเรือนคาดว่าจะลดลงด้วย และด้วยเงินออมในระดับต่ำ ครัวเรือนอาจขัดสนเงินในการจับจ่ายใช้สอยเมื่อรายได้ลดลงอย่างรุนแรง

แรงงานนอกระบบในประเทศไทยส่วนมากเป็นกลุ่มเปราะบางเนื่องจากไม่สามารถเข้าสู่โครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมได้ แรงงานมากกว่าครึ่งของประเทศไทยทำงานนอกระบบ ซึ่งหมายความว่ากลุ่มแรงงานดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรการประกันสังคม เมื่อปี 2561 พบว่าประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 21 ล้าน 2 แสนคน และแรงงานในระบบ 17 ล้าน 1 แสนคน นอกจากนี้ร้อยละ 92 ของแรงงานในภาคเกษตรเป็นแรงงานนอกระบบ รองลงมาคืออาชีพค้าขายที่มีแรงงานนอกระบบร้อยละ 60

ระบบคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย ท่ามกลางความจำเป็นเร่งด่วนเหล่านี้ ประเทศไทยใช้เงินในเรื่องการคุ้มครองทางสังคมน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในปี 2558 ประเทศไทยใช้เงินประมาณร้อยละ 3.7 ของจีดีพี ในการคุ้มครองทางสังคม เมื่อเทียบกับเวียดนามและจีนที่ใช้เงินร้อยละ 6.3 ส่วนประเทศที่มีรายได้สูง อย่างเกาหลีใต้ใช้เงินร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับจีน มาเลเซีย เม็กซิโก และประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงประเทศอื่นๆ แล้วนั้น ประเทศไทยยังขาดระบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมคนยากจนอย่างทั่วถึง แม้ว่ามาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับคนจนจะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในเรื่องนี้ไปอีกขั้น

รัฐบาลไทยได้ดำเนินการที่สำคัญหลายประการเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ครัวเรือนต้องเผชิญ หลังการระบาดของ COVID-19 รัฐบาลได้นำมาตรการด้านการเงินและการคลังมาใช้หลายมาตรการ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงมาตรการล่าสุดในเดือนเมษายนนี้ มาตรการด้านนโยบายนี้คิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 15 ของจีดีพี ซึ่งจัดว่าเป็นมาตรการที่มีวงเงินสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

มาตรการเหล่านี้ ได้แก่ เงินกู้แบบผ่อนปรน (soft loan) และการผ่อนผันการจ่ายเงินคืน การลดการสมทบเงินให้กับกองทุนประกันสังคม การลดภาษีให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ไม่ลดจำนวนลูกจ้าง มาตรการที่โดดเด่นที่สุดคือการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลาสามเดือนแก่แรงงานนอกระบบซึ่งไม่อยู่ในกองทุนประกันสังคม

แม้ว่าจะควบคุมการระบาดของโรคได้ในประเทศไทย แต่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบด้านลบจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว ผลกระทบที่สำคัญ ได้แก่ (1) จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าปลีกและที่พักอาศัยอ่อนตัวลง (2) การบริโภคภายในประเทศที่หดตัวลง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการสูญเสียค่าแรงและตำแหน่งงานจากการที่ภาคธุรกิจปรับตัวรับวิกฤติครั้งนี้ และ (3) การผลิตของอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญชะลอตัวลง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของภาคส่งออกประเทศไทย

จากปัจจัยเหล่านี้ ธนาคารโลกได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2563 จากเดิมร้อยละ 2.9 (เมื่อเดือนตุลาคม 2562) มาอยู่ในช่วงร้อยละ -3.0 ถึงร้อยละ -5.0 ซึ่งสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่หดตัวลงอย่างมาก ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การดำเนินนโยบายอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาชีวิตผู้คนและการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนจนและกลุ่มคนเปราะบางจะสามารถช่วยผ่อนบรรเทาผลกระทบในเรื่องนี้ได้

รัฐบาลสามารถให้ความช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่องและต้องมั่นใจได้ว่ากลุ่มประชากรที่เปราะบาง ได้แก่ แรงงานย้ายถิ่น คนสูงวัย สตรีมีครรภ์ จะได้รับการคุ้มครอง

นอกจากนี้ รัฐบาลสามารถพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือทางสังคมรูปแบบอื่นๆ ผ่านการสนับสนุนให้รักษาลูกจ้างไว้โดยการให้เงินชดเชยการจ้างงาน และการสร้างมาตรการขั้นต้นเพื่อจัดตั้งระบบการประกันการว่างงานที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ในระหว่างที่รอเศรษฐกิจฟื้นตัวจากช่วงเวลาเว้นระยะห่างทางสังคมนี้ รัฐบาลอาจจะพิจารณาขยายมาตรการเพื่อปรับปรุงและเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานที่ว่างงานให้ครอบคลุมจำนวนแรงงานที่ต้องการมากขึ้น

ในระยะกลาง ประเทศไทยสามารถพิจารณาถึงมาตรการที่สำคัญเพื่อสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของระบบคุ้มครองทางสังคม โดยมีลำดับความสำคัญ ดังนี้

เรื่องสำคัญเร่งด่วนลำดับแรกคือ การจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อความพยายามรับมือกับ COVID-19 เพื่อเน้นย้ำถึงความพยายามรับมือกับสถานการณ์ การรับรองผลประโยชน์ขั้นต่ำสำหรับกลุ่มคนเปราะบางมากที่สุดและการช่วยเสริมความพยายามของครัวเรือนและบุคคลเพื่อแบ่งปันความเสี่ยงกับภาครัฐจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก การดำเนินการนี้อาจเพิ่มการจัดสรรงบประมาณให้กับการคุ้มครองทางสังคมนอกเหนือจากการรับมือกับ COVID-19 อย่างเร่งด่วนซึ่งจะทำให้ประเทศไทยใช้งบประมาณในด้านการคุ้มครองทางสังคมในระดับเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดียวกัน

การรับมือกับ COVID-19 ในครั้งนี้ได้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างกลไกเพื่อให้ความช่วยเหลือสำหรับโครงการคุ้มครองทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ในการรับมือกับ COVID-19 อย่างเร่งด่วนนั้น ประเทศไทยมีการจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกต้องที่ให้เงินช่วยเหลือแก่ประชากรส่วนใหญ่อย่างรวดเร็ว

หลังจากนี้ต่อไป ประเทศไทยควรพิจารณาถึงประโยชน์ของการจัดทำโครงการที่เป็นผลประโยชน์กับประชาชนทุกคนในการช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่กระจายของโรคระบาด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในระยะกลาง รวมไปถึงการบรรเทาผลกระทบเชิงลบด้านอื่นๆ ประกอบกับโครงการที่ตรงเป้ามากยิ่งขึ้น (และทั่วถึง) สำหรับกลุ่มคนจน ในระยะต่อจากนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างกลไกเพื่อระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ประการสุดท้าย ในระยะกลางและระยะยาว การคุ้มครองทางสังคมจะต้องถูกเสริมด้วยนโยบายตลาดแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจฐานความรู้ โครงการฝึกอบรมและบริการด้านการจ้างงานจำเป็นต้องถูกปฏิรูปเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งกำลังเปลี่ยนไปสู่ความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านอารมณ์และสังคม ความสามารถและความชำนาญในการคิดที่ซับซ้อนและทักษะด้านเทคนิคที่สูงขึ้น

การระบาดของ COVID-19 และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้ได้คิดทบทวนถึงนโยบายการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยแบบเดิมที่ยึดหลักกับการจ้างงาน ระบบที่เข้ากับเป้าหมายการคุ้มครองทางสังคมนั้น ต้องตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงของลักษณะงานและสัดส่วนของเศรษฐกิจนอกระบบที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ระบบนี้ต้องตรงกับความต้องการของคนจนและกลุ่มเปราะบาง ในขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจได้ว่ามีความยั่งยืนด้านการคลัง นอกจากนี้ยังต้องมีความคล่องตัวเพื่อที่จะตอบสนองต่อภัยคุกคามต่างๆ ได้เฉียบพลันเหมือนโรคระบาด