ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > COVID-19 กับการกลับมาของแนวคิด Decommodification

COVID-19 กับการกลับมาของแนวคิด Decommodification

15 เมษายน 2020


ธร ปีติดล

วิกฤติจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เผยให้เห็นมุมที่อ่อนแอของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี โดยเฉพาะความเปราะบางที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ทั่วไปเมื่อกลไกตลาดถูกสกัดกั้นไม่ให้ทำงานได้ วิกฤตินี้อาจนำความสนใจกลับมาสู่แนวคิดหนึ่งซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญของระบบ/รัฐสวัสดิการ แนวคิดนั้นก็คือ decommodification หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่าการลดฐานะความเป็นสินค้าของชีวิตมนุษย์

แนวคิด decommodification พัฒนาผ่านนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองคนสำคัญ เช่น Karl Marx และ Karl Polanyi นักคิดเหล่านี้ให้ข้อสังเกตว่าพัฒนาการของระบบทุนนิยมได้ส่งผลให้ระบบตลาดเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จนเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้มีค่าประหนึ่งเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่จะต้องคอยพึ่งพิงระบบตลาดให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แนวคิด decommodification จึงเสนอให้มีกลไกที่จะช่วยพยุงให้มนุษย์สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพได้โดยไม่ต้องผ่านการขายแรงงานของตนผ่านระบบตลาด กลไกดังกล่าวก็คือระบบสวัสดิการนั่นเอง

Gøsta Esping-Andersen นักวิชาการด้านนโยบายสวัสดิการ ได้ลองแบ่งระบบสวัสดิการในประเทศตะวันตกไปตามระดับของ decommodification1 โดยจัดให้ประเทศหนึ่งๆ มีระดับ decommodification สูงเมื่อมีชุดนโยบายสวัสดิการที่ครอบคลุมหลากหลายแง่มุมของชีวิตและมีสิทธิประโยชน์เข้มข้น ตัวอย่างเช่น มีสวัสดิการรองรับคนที่อยู่ในสถานะว่างงาน ลาคลอด ต้องเลี้ยงดูเด็กเล็ก หรือแก่ชรา ให้ยังคงดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพได้แม้คนเหล่านี้จะไม่สามารถทำงานได้

Esping-Andersen ตั้งข้อสังเกตว่า ระดับของ decommodification ที่แตกต่างกันนั้นเชื่อมโยงอยู่เป็นสำคัญกับระดับความเชื่อมั่นในระบบตลาด ในประเทศที่มีความเชื่อมั่นสูงในคุณค่าของระบบตลาด มองว่าตลาดสามารถสร้างประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมได้มาก ก็มักจะไม่ต้องการระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมและเข้มข้น และลงเอยด้วยการมีระดับ decommodification ต่ำ ในขณะที่ประเทศที่ไม่ได้เชื่อมั่นในคุณค่าของระบบตลาดเท่า และให้ความสำคัญมากกว่ากับแนวคิดอื่น เช่น สิทธิทางสังคม (social rights) ที่พลเมืองทุกคนควรได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นพื้นฐาน ก็จะมีระดับของ decommodification สูงกว่า

ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่วิกฤติปัจจุบันนั้น แนวคิด decommodification เสื่อมพลังลงไปมาก ด้วยเพราะความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของกลไกตลาดกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักที่ทรงพลัง พร้อมกับการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศทั่วโลกภายใต้แนวทางเสรีนิยมใหม่ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แต่ด้วยผลพวงจากวิกฤติ COVID-19 ที่ได้เผยถึงปัญหาของการพึ่งพิงระบบตลาดที่มากเกินไป เราอาจจะได้เห็นแนวคิด decommodification กลับมามีอิทธิพลมากขึ้นกับการดำเนินนโยบายในประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ด้วยเหตุผลอีกอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก สภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ เชื่อมโยงเอาความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนรายได้น้อยและคนชายขอบ เข้ากับความอยู่รอดของสังคมโดยรวม การที่มาตรการต่อกรกับการแพร่ระบาดของไวรัสในภาพใหญ่จะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องอาศัยกลไกที่ช่วยคนรายได้น้อยให้ไม่ต้องถูกบีบบังคับจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจจนยอมเสี่ยงกับโรค ด้วยเหตุนี้ ความเปราะบางภายใต้การอยู่กับระบบทุนนิยมของเหล่าคนเล็กน้อย ซึ่งปรกติมักจะถูกมองข้ามไปอย่างง่ายดาย ก็กลายเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนไม่สามารถละเลยได้

ประการที่สอง เรายังอาจตั้งข้อสังเกตได้อีกด้วยว่าประเทศที่มีการสร้างระบบสวัสดิการไว้เข้มแข็ง มีการลงทุนกับระบบสุขภาพให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย และมีการวางระบบคุ้มครองทางสังคมไว้เข้มข้น ยังมักจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่อย่างในปัจจุบันได้ดีกว่าตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มประเทศตะวันตกซึ่งเผชิญปัญหากันอยู่รุนแรง ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียกลับเป็นกลุ่มที่ดูจะเผชิญปัญหารุนแรงน้อยกว่าเพื่อน2 ข้อสังเกตนี้ช่วยเน้นย้ำถึงประโยชน์จากการมีระบบสวัสดิการที่ดีที่เราอาจไม่คาดคิดก่อนหน้านี้

ในภาวะปัจจุบันที่ประเทศทั่วโลกต่างก็รีบออกมาตรการมารองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประชาชนทุกกลุ่ม โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มที่มีความเปราะบางสูง ประเทศไทยเองก็อาจจะใช้โอกาสนี้เรียนรู้จากวิกฤติที่เกิดขึ้น และมองไปถึงการนำเอาแนวคิด decommodification มาใช้เพื่อปรับปรุงระบบสวัสดิการของประเทศในระยะยาว เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศอย่างสเปน ที่มีการพูดคุยอย่างจริงจังถึงการออกมาตรการประกันรายได้ให้กับผู้ที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้าเป็นการถาวร 3

หมายเหตุ

1.Esping-Andersen, Gosta. 1990. The Three Worlds of Welfare Capitalism. New Jersey: Princeton University Press.

2. ที่จริงยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ระดับความเชื่อมั่นในรัฐ ระดับความความรับผิดชอบต่อส่วนร่วมของพลเมือง การมีความเหลื่อมล้ำน้อย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้มักจะแปรไปในทางเดียวกันกับการมีระบบสวัสดิการที่ดี

3.คนมักจะเข้าใจผิดว่าข้อเสนอที่ได้รับการพูดคุยในสเปนเป็นการสร้างระบบ universal basic income แต่ที่จริงแล้วข้อเสนอดังกล่าวเป็นยังเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ โปรดดู https://basicincome.org/news/2020/04/spain/