ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19: เมื่อคนหยุดนิ่งแต่โลกหมุนเร็วขึ้น

โควิด-19: เมื่อคนหยุดนิ่งแต่โลกหมุนเร็วขึ้น

15 เมษายน 2020


สันติธาร เสถียรไทย

โควิดเร่งให้โลกอนาคตมาถึงเร็วขึ้น เพราะภายใต้วิกฤติโควิดความเหลื่อมล้ำจะกลายเป็นปัญหาของทุกคน

ในขณะโควิด-19 กำลังทำให้คนทั่วโลกต้อง “หยุดอยู่กับที่” จากการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ วิกฤตินี้อาจมีปฏิกิริยาเร่งให้ “โลกหมุนไปข้างหน้าเร็วขึ้น”

ตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด เศรษฐกิจไทยกำลังย่างก้าวสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย (รวมอุตสาหกรรม อีคอมเมิร์ซ มีเดียออนไลน์ แพลตฟอร์มเดินทางและท่องเที่ยว) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 29% จนมีมูลค่าประมาณ 5.2 แสนล้านบาท จากรายงานของ Google, Temasek และ Bain & Company ส่วนด้านการชำระเงินก็มีการหันมาใช้อีเพย์เมนต์ผ่านระบบ Promptpay ถึงเกือบ 10 ล้านบาทต่อวันในปี 2562 (จาก Bangkok Post)

ความไม่ปกติที่ยาวนานจะสร้างความปกติใหม่ (New normal)

การทำ social distancing หรือเว้นระยะห่างทางสังคมที่อาจจะอยู่กับสังคมเราไปอีกนานเป็นปีจะเร่งให้เทรนด์นี้แรงขึ้น เพราะช่องทางดิจิทัลไม่ใช่ทางเลือกแต่กลายเป็นทางรอดที่คน ธุรกิจ รัฐบาล ต่างต้องใช้เพื่อไม่ให้ชีพจรเศรษฐกิจตายสนิทระหว่างที่กำลังต่อสู้กับไวรัส เกิดเป็น “เศรษฐกิจคนติดบ้าน” (at home economy)

ความเคยชินที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาดอาจทำให้โลกไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแม้โควิดจะผ่านไปแล้ว

ผู้บริโภคอาจสินค้าจำเป็นมาที่บ้าน แทนที่จะไปร้านค้าจนเริ่มเคยชิน ผู้ประกอบการที่ผันมาใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้นอาจเริ่มมองว่าการเช่าหน้าร้านค้าในที่แพงๆ มีความจำเป็นน้อยลง ดังที่เราได้เห็นการระบาดของโรค SARS มีส่วนผลักดันแพลตฟอร์ม “เถาเป่า” ของอาลีบาบาและยุคทองแห่งอีคอมเมิร์ซในจีนมาแล้ว

เมื่อคนต้องเลี่ยงการใช้เงินสดที่เสี่ยงติดเชื้ออาจทำให้หลายคนพบว่าอีเพย์เมนต์ง่ายและสะดวกกว่าที่คิด

ธุรกิจต่างๆ ต้องทำการประชุมและจัดงานสัมนาต่างๆ ด้วยช่องทางออนไลน์ จนอาจเริ่มถามตัวเองว่าทำไมก่อนหน้านี้เราต้องไปออฟฟิศหรือเดินทางไปประชุมต่างประเทศมากขนาดนี้ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดียิ่งหาเรื่องตัดงบเดินทาง-ค่าเช่า

นักเรียนต้องหันมาพึ่งการเรียนระยะไกลและ EdTech (educatuon technoloy — เทคโนโลยีด้านการศึกษา) อาจช่วยทำการเรียนแบบที่เหมาะกับความต้องการแต่ละคน (personalized learning) มากขึ้นเปลี่ยนแปลงบทบาทของครูอย่างถาวร

เพราะฉะนั้น มองด้านหนึ่งในวิกฤติโควิดอาจมีโอกาสให้บางส่วนของเศรษฐกิจปรับตัวสู่อนาคตที่พูดกันมานานแต่ไม่เคยทำได้จริง ให้เกิดเร็วยิ่งขึ้น

โลกอนาคตมาเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน

แต่ความท้าทายที่แท้จริงก็คือ เมื่อ “รถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง” ออกวิ่งเร็วยิ่งขึ้น คนที่ “ถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลา” ย่อมมีมากขึ้นเช่นกัน หากไม่ทำอะไรเลยการเว้นระยะห่างทางสังคมอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) รุนแรงยิ่งกว่าที่เคยคาดกัน

การจะแก้ปัญหา digital divide ในเวลาอันสั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมชอบแนวคิดของ คุณสฤณี อาชวานันทกุล ว่าจุดเริ่มต้นของการดีไซน์นโยบายที่ดีต้องมาจากความเข้าอกเข้าใจ (empathy) เพราะเหตุผลที่ทำให้คนแต่ละกลุ่มไม่สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลในยามทำ social distancing ได้ย่อมต่างกันทำให้แนวทางแก้ไขต่างกัน ขอยกมา 5 ตัวอย่าง เช่น

    1. บางกลุ่มอาจต้องการช่องทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในราคาถูก โดยเฉพาะหากต้องใช้ต่อเนื่อง เช่น เพื่อการศึกษา

    2. บางกลุ่มอาจต้องการการอบรมเพิ่มทักษะดิจิทัล เพื่อให้ทำธุรกิจขายของออนไลน์เป็น ให้ทำการศึกษาจากที่บ้านได้

    3. บางกลุ่มอาจต้องการเงินสนับสนุนเนื่องจากเขาไม่สามารถปลีกเวลาไปลองวิธีการใช้ช่องทางออนไลน์ได้ เพราะต้องหาเช้ากินค่ำเลี้ยงครอบครัวทุกวัน

    4. นี่ยังไม่นับพวกที่ลักษณะของอาชีพอาจไม่สามารถทำงานจากที่บ้านเพราะต้องพบคนหรือใช้เครื่องจักรพิเศษ ตามการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยมีแค่ 6% ของคนทำงานในไทยเท่านั้นที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้

    5. บางกลุ่มอาจต้องการการลดหย่อนกฎกติกาที่ไร้ความยืดหยุ่น ที่ทำให้ข้าราชการยังต้องมาทำงานที่หน่วย และคนที่ต้องการบริการจากรัฐต้องเข้าคิวยาวตามหน่วยงาน ทั้งที่ควรจะทำออนไลน์ได้

การแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้รัฐบาลไม่สามารถทำเองได้หมด แต่อาจต้องผนึกกำลังกับเอกชนและภาคประชาชนที่เข้าใจปัญหาของแต่ละกลุ่ม

ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาของทุกคน

นอกจากนี้ วิกฤติโควิดยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาของทุกคน ไม่ใช่แค่คนบางกลุ่ม

เหตุผลก็คือ หากหลายคนไม่สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลทำงานจากบ้านได้ คนกลุ่มนี้อาจต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพแม้ในยามที่มีการรณรงค์ให้อยู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สายป่านสั้นและไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพร่เชื้อไวรัสต่อให้ผู้อื่น เกิดปัญหาทางสาธารณสุขซ้ำเติมด้านเศรษฐกิจเข้าไปอีก

เราจึงกำลังอยู่ใน “ภาวะผิดปกติใหม่” (new abnormal) ที่วิกฤติเศรษฐกิจสังคมและวิกฤติสาธารณสุขกลายเป็นปัญหาของกันและกันในระดับที่ไม่เคยพบมาก่อน

และสิ่งที่รอเราอยู่หลังจากนี้คือ “ความปกติใหม่” (new normal) ที่มาถึงเร็วกว่าที่เคยคิดไว้มาก