ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 : บททดสอบความพร้อมสู่โลกการทำงานอนาคต

COVID-19 : บททดสอบความพร้อมสู่โลกการทำงานอนาคต

15 เมษายน 2020


กิริยา กุลกลการ

COVID-19 ส่งผลต่อสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างมากเป็นประวัติการณ์ รูปแบบการทำงานต้องปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น COVID-19 จึงเปรียบได้กับบททดสอบความพร้อมของมวลมนุษย์ในการเข้าสู่โลกอนาคตของการทำงาน และฝากประเด็นให้ได้เรียนรู้อย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้

COVID-19 ทำให้อัตราว่างงานสูงขึ้น COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน รุนแรง และขยายวงกว้างครอบคลุมทุกภาคส่วน แรงงานที่ทำงานโรงแรมและบริการด้านอาหาร ซึ่งมีการจ้างงานสูงถึง 3 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อน ตามมาด้วยกลุ่มอื่นๆ เช่น ค้าส่งและปลีกที่มีการจ้างงาน 6.29 ล้านคน ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญกับการหยุดจ้างชั่วคราว การเลิกจ้าง และการปรับลดเงินเดือน ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า จะมีจำนวนผู้ตกงานราว 7.13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของคนมีงานทำทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานที่ผ่านมาของไทยถึง 18.8 เท่า และสูงกว่าสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 5

การช่วยเหลือจากภาครัฐจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยบรรเทาความยากจนให้กับแรงงาน ในขณะเดียวกันแรงงานจำเป็นต้องหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่และเพิ่มพูนทักษะในช่วงที่รอเศรษฐกิจฟื้น

COVID-19 จำลองภาพการทำงานแห่งอนาคตที่พึ่งพิงเทคโนโลยีมากขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ากว่ายุคที่ผ่านมา เทคโนโลยีทำให้ผู้คนสามารถรักษาระยะห่างทางร่างกาย แต่ยังคงติดต่อสื่อสารทำงานร่วมกันได้ การเรียนการสอน การสั่งซื้อสินค้า และการทำงานเปลี่ยนรูปแบบไปใช้ระบบออนไลน์ COVID-19 บังคับให้แรงงานต้องปรับตัวรับเอาเทคโนโลยีมาใช้และเรียนรู้อย่างก้าวกระโดด

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เปรียบเสมือนภาพจำลองวิถีชีวิตของคนในโลกอนาคตที่เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของชีวิต อีกทั้งเทคโนโลยียังทำให้ธุรกิจและภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเปรียบได้กับขุมทรัพย์มหาศาล COVID-19 ทำให้เห็นการเข้าถึงข้อมูลภายในร่างกายของมนุษย์ นั่นคือข้อมูลด้านสุขภาพ (อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร ความดัน) แสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยี

และการที่ประเทศไทยไร้ซึ่งสตาร์ทอัปในระดับยูนิคอร์นเป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้หากต้องการออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

COVID-19 สะท้อนประเด็นการคุ้มครองแรงงาน หากคนขับแท็กซี่ที่ทำงานผ่านแอปพลิเคชันติดเชื้อ COVID-19 จากผู้โดยสารและต้องหยุดงานรักษาตัวในพยาบาล หรือตกเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว 14 วันเพราะผู้โดยสารติดเชื้อ COVID-19 หรือหากจำนวนผู้โดยสารลดลงจากการรณรงค์อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ของภาครัฐ

คำถามคือใครจะเป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดรายได้นี้บ้าง

คำตอบขึ้นอยู่กับว่า คนขับแท็กซี่มีสถานะเป็นลูกจ้างหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจของบริษัทแอปพลิเคชัน หากคนขับรถแท็กซี่มีสถานะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ คนขับจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง (หากต้องการลดความเสี่ยง ก็สามารถซื้อประกันเองได้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางด้านการเงินและการเก็บออม) แต่หากคนขับรถแท็กซี่มีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัท คนขับจะได้รับการคุ้มครองจากบริษัท เช่น ค่ารักษาพยาบาล สิทธิ์ลาป่วยโดยไม่หักเงินเดือน บริษัทจึงมีบทบาทช่วยดูดซับแบ่งปันความเสี่ยง หรือทำหน้าที่ประกันความเสี่ยงให้กับคนขับในฐานะที่เป็นบริษัทใหญ่มีลูกจ้างจำนวนมากและมีกำไรส่วนเกินสูง

โลกอนาคตจะประกอบด้วยรูปแบบการทำงานนอกระบบในลักษณะเช่นนี้เพิ่มสูงขึ้น เช่น แม่บ้านทำความสะอาดผ่านแอปพลิเคชัน จึงเป็นโจทย์ที่สังคมต้องช่วยกันคิดออกแบบการคุ้มครองความเสี่ยงให้กับแรงงานนอกระบบกลุ่มใหม่นี้

COVID-19 ฉายภาพความเหลื่อมล้ำสองขั้ว COVID-19 ทำให้มนุษย์ได้ลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่โดยหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งแรงงานอาจถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ความต้องการใช้แรงงานน้อยลง และมีแนวโน้มจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นในอนาคตแม้จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายด้วยก็ตาม และหากสิ่งที่ ยูวาล โนอา ฮารารี พยากรณ์ไว้ในหนังสือ Homo Deus เป็นจริง มนุษย์จะถูกแบ่งเป็น 2 ชนชั้นคือ ชนชั้น Super Elite ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมปัญญาประดิษฐ์ และชนชั้น Useless ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นขนาดใหญ่ที่ไร้ประโยชน์ เป็นผู้ไม่มีงานทำ ไม่มีความจำเป็นในระบบเศรษฐกิจ

COVID-19 จึงชวนให้มนุษย์คิดก่อนการณ์ว่า เราจะจัดการโลกที่ความเหลื่อมล้ำถูกถ่างออกเป็นสองขั้วนี้อย่างไร กล่าวคือ เราจะจัดสรรปันส่วนรายได้ให้กับชนชั้นไร้ประโยชน์ที่ไม่มีงานทำนี้อย่างไร

COVID-19 จึงสะท้อนโลกอนาคตของคนทำงานที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีมากขึ้น งานนอกระบบที่จะทวีความสำคัญมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น แรงงานจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ สังคมจำเป็นต้องออกแบบระบบการคุ้มครองแรงงานนอกระบบกลุ่มใหม่ และหาวิธีจัดแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชนชั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์