ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > COVID-19: การต่อสู้ในระบบสุขภาพ

COVID-19: การต่อสู้ในระบบสุขภาพ

15 เมษายน 2020


นพพล วิทย์วรพงศ์

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 เป็นภาวะคุกคามของระบบสุขภาพ เพราะทำให้ความต้องการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดด ในขณะที่ขีดความสามารถของสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย การขาดสมดุลในระบบส่งผลให้ความต้องการรักษาพยาบาลของประชาชนบางกลุ่มไม่ได้รับการตอบสนอง เกิดความเจ็บป่วยรุนแรงและการตายเป็นจำนวนมาก ตัวเลขของผู้ติดเชื้อสะสม ณ วันที่ 10 เม.ย. 2563 อยู่ที่ราว 1.6 ล้านคนและมีคนตายแล้วเกือบ 1 แสนทั่วโลก

ในสถานการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้ การควบคุมผลกระทบทำได้เพียง 2 ทาง ได้แก่

    (1) การธำรงขีดความสามารถของระบบสุขภาพ ด้วยการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อและการโยกย้ายทรัพยากรเพื่อจัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

    (2) การลดความต้องการรักษาพยาบาลของประชาชน ด้วยการควบคุมกิจกรรมทางสังคม (ที่เรียกกันในวงวิชาการว่า “มาตรการที่ไม่ใช้ยา (non-pharmaceutical interventions)” ซึ่งหมายถึง การลดการระบาดเมื่อปราศจากวัคซีน)

การแก้ปัญหาทั้งสองประการนี้เป็นหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก เนื่องด้วยการระบาดใหญ่จัดการด้วยระบบสุขภาพหรือประชาชนกันเองไม่ได้

การควบคุมกิจกรรมทางสังคมมีหลายระดับ ตั้งแต่การชะลอการแพร่ระบาด (mitigation) ไปจนถึงการหยุดการแพร่ระบาดอย่างสมบูรณ์ (suppression) ทั้งนี้ การชะลอและการหยุดการแพร่ระบาดเป็นกลไกของรัฐในการควบคุมปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทั้งคู่มีมาตรการคล้ายกัน เช่น การปิดสถานที่ต่างๆ การกักตัว และการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) เป็นต้น แต่กระทำด้วยความเข้มข้นที่ต่างกันทั้งในมิติของพื้นที่และเวลา หากรัฐเลือกที่จะหยุดการแพร่ระบาดอย่างสมบูรณ์ การควบคุมกิจกรรมทางสังคมจะต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ บังคับใช้กับทุกคน และต้องทำไปจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน (Walker et al., 2020)

การศึกษาที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นว่าความเข้มข้นของนโยบายของรัฐส่งผลโดยตรงต่ออัตราการระบาดของโรค โดยหากรัฐควบคุมกิจกรรมทางสังคมอย่างเข้มข้นและไม่ลดระดับการควบคุมเร็วเกินไป โอกาสที่จะควบคุมการระบาดได้และไม่มีการติดโรคใหม่ก็จะสูงขึ้น ดังนั้น หากพิจารณาผลกระทบในระบบสุขภาพเพียงอย่างเดียว นโยบายที่รัฐควรจะเลือกใช้จึงน่าจะเป็นการควบคุมขั้นสูงสุด ดังเช่นการหยุดการแพร่ระบาดอย่างสมบูรณ์ที่อธิบายไว้ข้างต้น (Garrett, 2007; Martini et al., 2019; Walker et al., 2020)

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจร่วมด้วย การใช้ “ยาแรง” อาจไม่ได้ส่งผลดีในภาพรวม ในปัจจุบัน งานวิจัยยังไม่มีข้อสรุปถึงระดับที่เหมาะสมของการควบคุมกิจกรรมทางสังคม มีการศึกษาที่ชี้ว่าการควบคุมที่เข้มข้นเกินไปอาจสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มากกว่าประโยชน์ของการควบคุมโรคได้ (Keogh-Brown et al., 2010) และในขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาที่พบว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการควบคุมกิจกรรมทางสังคมจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น และการควบคุมอย่างเข้มข้นจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น (Correia et al., 2020; Garrett, 2007)

ในภาวะที่ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรคที่มีประสิทธิผล การจัดการกับการระบาดใหญ่จึงเป็นการหาสมดุลระหว่างการแก้ปัญหาทางสุขภาพกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว จนกว่าปัญหาจะบรรเทาลง

แม้ในช่วงหลังวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว COVID-19 ก็จะยังสร้างควันหลงทางภาระให้กับระบบสุขภาพอยู่ เพราะการแก้ปัญหาในปัจจุบันอาจสร้างปัญหาในอนาคต ตัวอย่างของปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคจิตเวชจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ การรักษาผู้ป่วยคั่งค้างซึ่งอาจมีความก้าวหน้าของโรค (disease progression) เพิ่มขึ้นแล้ว การลาออกและภาวะหมดไฟของบุคลากรทางการแพทย์ และความสูญเสียทางการเงินของโรงพยาบาลและระบบหลักประกันสุขภาพในการจัดการกับ COVID-19

ปัญหาทั้งหมดนี้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในระบบสุขภาพ (ซึ่งหมายถึง ทุกคนในประเทศ) สร้างต้นทุนในอนาคตอันใกล้ และหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจส่งผลต่อความมั่นคงของระบบในระยะยาวด้วย

การเกิดขึ้นของ COVID-19 ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของรัฐในการลงทุนเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับการเตรียมรับการระบาดใหญ่ (pandemic preparedness) ภายใต้ระบบสุขภาพในอนาคต และชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีบทบาทสำคัญในธำรงระบบสุขภาพด้วยการดูแลตัวเอง เพราะการกระทำนั้นเทียบเท่ากับการปกป้องผู้อื่น อันเป็นการลดภาระแก่ระบบสุขภาพในภาวะวิกฤติเช่นนี้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

Correia, S., Luck, S., and Verner, E. (2020). Pandemics depress the economy, public health interventions do not: Evidence from the 1918 flu. SSRN Working Paper.

Garrett, T. A. (2007). Economic Effects of the 1918 Influenza Pandemic. Report by the Federal Reserve Bank of St. Louis.

Keogh-Brown, M. R., Wren-Lewis, S., Edmunds, W. J., Beutels, P., and Smith, R. D. (2010). The possible macroeconomic impact on the UK of an influenza pandemic. Health Economics, 19, 1345-1360.

Martini, M., Gazzaniga, V., Bragazzi, N. L., and Barberis, I. (2019). The Spanish influenza pandemic: A lesson from history 100 years after 1918. Journal of Preventive Medicine and Hygiene, 60(1), E64–E67.

Walker, P. G. T., Whittaker, C., Watson, O. et al. (2020). The Global Impact of COVID-19 and Strategies for Mitigation and Suppression. Report by Imperial College London.