ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สถาบันทางเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติของประเทศไทย

สถาบันทางเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติของประเทศไทย

15 เมษายน 2020


สมประวิณ มันประเสริฐ

“…วิถีชีวิตของคนเรานั้น จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาเนืองๆ ไม่มีผู้ใดจะอยู่เป็นปรกติสุขอย่างเดียวได้

ทุกคนจึงจะต้อง เตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการ ไว้ให้พร้อมเสมอ

เพื่อเผชิญและป้องกันแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท

ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม…”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2555
…(วันเสาร์ ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2554)

การแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกเป็นประวัติการณ์

การควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยการจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างผู้คน สิ่งดังกล่าวส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้ธุรกิจขาดรายได้ในขณะที่ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายประจำและชำระคืนหนี้ ภาวะการขาดสภาพคล่องกระทันหันจึงเกิดขึ้นอย่างรุงแรงและรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีสายป่านสั้น รายงานจากวิจัยกรุงศรีประเมินว่าผลกระทบของ COVID-19 จะส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการไทยประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่จะมีปัญหาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 19.3 ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงคือร้านอาหาร โรงแรม และผู้ให้บริการขนส่ง

ในปัจจุบัน แม้จะมีนโยบายสนับสนุนสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจบ้างแล้ว แต่ยังคงมีลักษณะเป็นมาตรการที่ประกาศใช้ฉุกเฉิน ‘เป็นการเฉพาะ’ ไม่ได้ออกแบบมให้าเป็น ‘ระบบกลไก’ เพื่อรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต หากเราเชื่อว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ประเทศไทยอาจต้องการ ‘สถาบันทางเศรษฐกิจ’ ในยามวิกฤติ เพื่อเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายอัตโนมัติที่สามารถจัดการปัญหาสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

การเข้าไม่ถึงสภาพคล่องในยามวิกฤติเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลและการยอมรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป

งานศึกษาของ Banternghansa Paweenawat and Samphantharak (2019) พบว่าธุรกิจขนาดกลางและเล็กอาศัยแหล่งเงินทุนจากส่วนของทุนเป็นหลัก (โดยมีค่ามัธยฐานของ Total Equity to Total Asset สูงถึงร้อยละ 85-90 ของสินทรัพย์) ขณะที่โครงสร้างหนี้สินจะเป็นสินเชื่อจากธนาคารที่มีสัดส่วนน้อยเนื่องจากธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีประวัติทางการเงินค่อนข้างสั้น มีสินทรัพย์ค้ำประกันน้อย ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีจำกัด อย่างไรก็ตาม แม้การช่วยเหลือผ่านการเพิ่มทุน (equity) ในยามวิกฤติดูเหมือนเป็นช่องทางช่วยเหลือตรงที่สุด แต่ก็ปฏิบัติจริงได้ยาก ดังนั้น ช่องทางที่เป็นไปได้ถัดมา คือ การให้ความช่วยเหลือผ่านระบบสินเชื่อธนาคาร (credit channel)

ในภาวะปกติ เงื่อนไขที่ทำให้ credit channel สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ ‘ข้อมูลข่าวสาร’ (information) ธนาคารจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการพิจารณาสินเชื่ออย่างรอบด้าน ภายใต้การกำกับที่เข้มงวด หากมีข้อมูลไม่เพียงพอก็อาจไม่สามารถเสี่ยงปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ จากข้อเท็จจริงข้างต้นที่ปรากฏว่าธุรกิจขนาดกลางและเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างจำกัด นั่นหมายความว่า ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารนั้นมีอยู่แล้วในระบบการเงินไทยแม้ในภาวะปรกติ OECD (2010) ระบุว่ากระบวนการพิจารณาสินเชื่อมักประสบปัญหาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ปัญหาใหญ่มาจากการที่ภาคธุรกิจไม่สามารถจัดทำแผนธุรกิจประกอบงบการเงินที่สามารถบ่งชี้โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจของตนได้อย่างชัดเจน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของธนาคารไม่สามารถสื่อสารให้ชัดเจนว่าต้องการข้อมูลอะไรในรูปแบบไหน

อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤติ Credit Channel จะยิ่งด้อยประสิทธิภาพลงจากพฤติกรรมการยอมรับความเสี่ยงที่ลดลงของผู้ให้กู้ในระบบการเงิน และเมื่อผนวกกับปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โอกาสการเข้าถึงสภาพคล่องจึงมียากขึ้นแม้ภาคธุรกิจเป็นกิจการที่ดีในภาวะปกติก็ตาม เนื่องจาก

    1) Systematic Risk วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ฐานะการเงินของธุรกิจด้อยลงพร้อมกันเป็นวงกว้างส่งผลให้โอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น
    2) Adverse Selection ในภาวะวิกฤติที่มีความต้องการสินเชื่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก จะมีธุรกิจที่มีพื้นฐานไม่ดีอยู่แล้วเข้ามาขอสินเชื่อมากขึ้น
    3) Moral Hazard นอกจากนี้ ธนาคารยังไม่มีกลไกในการติดตามพฤติกรรมการบริหารสภาพคล่องของธุรกิจเมื่อได้รับเงินไปแล้ว จึงมีความเสี่ยงที่ธุรกิจจะนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

เราจะแก้ปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่องอย่างเป็นระบบได้อย่างไรในภาวะวิกฤติ?

ระบบเศรษฐกิจไทยต้องการสถาบันทางเศรษฐกิจที่แก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารระหว่างธนาคารกับภาคธุรกิจโดยทำหน้าที่เป็น ‘คนกลาง’ ที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลในการประเมินสินเชื่อ ทั้งนี้ สถาบันทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะต้องมีหน้าที่หลัก 5 ประการ คือ

1) รวบรวมและส่งต่อข้อมูลระหว่างธุรกิจกับธนาคาร สถาบันดังกล่าวจะต้องเป็นคนกลางในการสื่อสารความต้องการของภาคธุรกิจและธนาคาร ประสานให้ผู้ประกอบการจัดทำข้อมูลการขอสินเชื่อที่มีคุณภาพ และประสานให้ธนาคารพิจารณาสินเชื่ออย่างสมเหตุสมผล

2) สนับสนุนให้เกิดการสร้างและใช้ข้อมูลในการประเมินสินเชื่อ เช่น ให้คำแนะนำกับภาคธุรกิจในการจัดทำแผนธุรกิจและงบการเงิน หรือเป็นผู้ร่วมประเมินสินเชื่อคู่ขนานไปกับธนาคารเพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

3) ปรับแรงจูงใจของสถาบันการเงินให้เกิดความสมดุลระหว่างการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจกับการบริหารความเสี่ยงเครดิต โดยอาจอยู่ในรูปแบบของการลงนามข้อตกลงร่วมสนับสนุนเศรษฐกิจโดยการให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจและใช้อัตราการเติบโตของสินเชื่อเป็นเป้าหมายเชิงนโยบาย

4) สถาบันทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะต้องมีความเป็นกลางในการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคธุรกิจกับภาคการเงิน ต้องสนับสนุนให้เกิดการชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสและความเสี่ยงในการให้สินเชื่ออย่างสมดุล โดยสถาบันทางเศรษฐกิจจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายหรือระบบการประเมินคุณภาพที่โปร่งใส

5) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดกลไกรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็น automatic stabilizer ผ่าน credit channel กล่าวคือ ในข้อกฎหมายควรมีข้อความที่ระบุให้นโยบายช่วยเหลือด้านสภาพคล่องถูกให้บังคับใช้โดยอัตโนมัติในยามเศรษฐกิจชะลอตัวลงหรือวิกฤติ

ตัวอย่างสถาบันทางเศรษฐกิจดังกล่าวในต่างประเทศ ได้แก่ The National Credit Mediator ในฝรั่งเศส และ The Corporate Credit Mediator ในเบลเยียม ซึ่งสถาบันทั้งสองแห่งนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจซับไพรม์ และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงภาคธนาคารกับภาคธุรกิจต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เปลี่ยนนโยบายฉุกเฉินให้เป็นระบบกลไกที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับกับความไม่แน่นอนได้ในอนาคต

การใช้มาตราการเศรษฐกิจแบบฉุกเฉินที่มีลักษณะเฉพาะกาลทุกครั้งที่เกิดปัญหาหมายความว่าเรากำลังวิ่งตามปัญหาทุกครั้งไป หากเราเชื่อว่า ‘ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน’ ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ และหากในทุกวิกฤติมีลักษณะร่วมสำคัญบางประการที่เหมือนกัน เราก็น่าจะสามารถ “เตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการ ไว้ให้พร้อมเสมอ” ก่อนได้…ระบบเศรษฐกิจไทยอาจจำเป็นต้องมี ‘ระบบกลไก’ ที่มีลักษณะถาวร เป็นสถาบันทางเศรษฐกิจที่สามารถติดตาม ประเมิน และตอบสนองต่อวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ใหม่…อีกครั้ง