ThaiPublica > ประเด็นร้อน > โควิด-19 กับ19 นักเศรษฐศาสตร์ > วิกฤติ COVID-19 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์มหภาค

วิกฤติ COVID-19 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์มหภาค

15 เมษายน 2020


ดอน นาครทรรพ

วิกฤติ COVID-19 มีส่วนผสมของทั้ง supply shock ที่ทำให้การผลิตสินค้าและบริการหายไป และ demand shock ที่ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการหายไป และเนื่องจากทั้งสอง shock มีขนาดใหญ่ ผลลัพธ์รวมที่เกิดขึ้นจึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงจนถึงขั้นถดถอยในหลายประเทศ

สาเหตุหลักที่ทำให้การระบาดของโรค COVID-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าการระบาดของโรค SARS ในปี 2546 และโรค MERS ในปี 2555 หลายเท่าตัว แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้จะต่ำกว่ามากนั้น เนื่องจากติดต่อกันได้ง่ายกว่ามาก ทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการคุมเข้ม ทั้งการล็อกดาวน์ การห้ามเดินทาง และการห้ามออกไปสังสรรค์ เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้เสียชีวิต (แม้อัตราการตายจะไม่สูงมาก แต่ด้วยความที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มีมากกว่า SARS และ MERS รวมกันมาก)

มาตรการคุมเข้มนี้เอง ที่เป็นตัวทวีคูณผลทางเศรษฐกิจของการระบาด แต่ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะสุดท้าย ถ้ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เศรษฐกิจก็จะพังยิ่งกว่า

มาตรการเหล่านี้ทำให้คนจำนวนมากต้องทำงานที่บ้าน ลดการเดินทาง ลดการใช้จ่าย ธุรกิจต้องลดกำลังการผลิตหรือปิดกิจการ (จากมาตรการโดยตรง หรือจากความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง) ซึ่งนอกจากจะทำให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องหายไปจากตลาด และห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก (supply chain disruption) แล้ว ยังนำไปสู่การปรับลดค่าจ้างและการปลดพนักงาน ซ้ำเติมกำลังซื้อสินค้าและบริการที่เปราะบางอยู่แล้ว ทำให้กระแสเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก

ซึ่งหากไม่มีมาตรการรองรับทางเศรษฐกิจที่ดีพอ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินตลาดทุน กลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติได้

ในบริบทของไทยนั้น demand shock มีบทบาทเด่นชัดกว่า supply shock มาก โดยเฉพาะอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และการส่งออกสินค้าซึ่งจะถูกกระทบตามมาจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่อุปสงค์ในประเทศถูกฉุดรั้งจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการที่คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน อย่างไรก็ดี หากการปิดเมืองยืดเยื้อยาวนานและขยายขอบเขต ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของประเทศก็อาจถูกกระทบหนักได้

ด้วยความที่มีมิติด้านสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง การจะแก้ปัญหาวิกฤติ COVID-19 นี้ จึงต่างจากการแก้ไขปัญหาวิกฤติอื่นในอดีต โดยจำเป็นต้องอาศัยมาตรการด้านสาธารณสุขที่จำกัดการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมสถานการณ์ให้คนส่วนใหญ่สามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปรกติได้ ควบคู่ไปกับการอัดฉีดเงินผ่านมาตรการการเงินการคลัง เนื่องจากเป็นไปไม่ได้เลย ที่รัฐจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับเป็นปรกติได้ ไม่ว่าอัดฉีดเงินแค่ไหนก็ตาม ถ้าคนส่วนใหญ่ยังถูกล็อกดาวน์ หรือไม่กล้าเดินทาง ไม่กล้าใช้จ่าย เพราะยังกังวลกับการติดเชื้อ

ดังนั้น ในช่วงนี้ ภาครัฐควรทุ่มสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาด และการประคับประคองเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน โดยดูแลไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ จนหลังสถานการณ์โรคระบาดสามารถควบคุมได้ จึงเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายและการสร้างงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

แม้เรายังไม่รู้ว่าโรค COVID-19 จะถูกควบคุมได้เบ็ดเสร็จเมื่อไร เพราะขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีนและการรักษา (ซึ่งหมายความว่า รัฐต้องพร้อมที่จะเพิ่มขนาดของมาตรการ หากสถานการณ์ลากยาว) แต่ถ้าเราสามารถประคับประคองภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจให้ไปต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ให้พัฒนาไปสู่วิกฤติการเงินซึ่งแก้ยากและใช้เวลา

การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปรกติหลังสถานการณ์จบลงไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญมากกว่าในระยะยาว คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดรับกับบริบทเศรษฐกิจโลกหลัง COVID-19 รวมถึงการ re-build พื้นที่ทางการคลังและการเงินที่ถูกใช้ไป เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต