ThaiPublica > เกาะกระแส > จับตากรมวิชาการเกษตรเตรียมปล่อยผีขึ้นทะเบียนสารพิษร้ายแรง”คาร์โบฟูราน – เมโทมิล”

จับตากรมวิชาการเกษตรเตรียมปล่อยผีขึ้นทะเบียนสารพิษร้ายแรง”คาร์โบฟูราน – เมโทมิล”

21 กุมภาพันธ์ 2015


สารตกค้าง-2

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้เปิดเผยว่าขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังจะดำเนินการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 2 ชนิด คือ “คาร์โบฟูราน” และ “เมโทมิล” ซึ่งเป็นสารพิษที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้และหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน เช่น องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้เสนอให้มีการยกเลิกการใช้โดยทันที

“นับตั้งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งหมด รวมถึงสารทั้งสองชนิดนี้หมดอายุลง อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ผ่านมา เช่น นายจิรากร โกศัยเสวี, นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในอดีต เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายธีระ วงศ์สมุทร ล้วนไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้งสองชนิด มาถึงตอนนี้คงต้องจับตาว่านายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีคนปัจจุบัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา จะแสดงบทบาทปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนหรือบริษัทสารเคมี” นางสาวปรกชล กล่าว”

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวยืนยัน ข้อมูลทางวิชาการว่า ทั้งคาร์โบฟูรานและเมโทมิลเป็นสารที่มีอันตรายร้ายแรงจนหลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว ซึ่งคาร์โบฟูรานเองมีต้นกำเนิดที่สหรัฐอเมริกาแต่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (EPA) ได้ประกาศว่า คาร์โบฟูรานที่ตกค้างอยู่ในอาหารไม่ว่าปริมาณใดก็ตามไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงยกเลิกการใช้คาร์โบฟูรานในสหรัฐตั้งแต่ปี 2008 และยกเลิกค่าปริมาณสารพิษตกค้างในอาหาร (tolerance) ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ปัจจุบันหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้คาร์โบฟูรานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย จาไมกา ศรีลังกา เป็นต้น สำหรับเมโทมิลเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูงมาก มีการนำไปก่ออาชญากรรมและใช้ฆ่าตัวตายจำนวนมากและหากได้รับเป็นระยะเวลานานจะมีผลต่อตับและมีฤทธิ์ทำลายดีเอ็นเอ จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังอีกหลายชนิด ทำให้หลายประเทศยกเลิกการใช้ ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น

อนึ่ง บริษัทดูปองท์ และเอฟเอ็มซี เป็นบริษัทสารเคมีสหรัฐ เจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

“การที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้งสองชนิดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตรวจพบการตกค้างของสารทั้งสองน้อยลงมาก โดยการสุ่มตรวจของไทยแพนปี 2555 และ 2557 พบสารพิษสองชนิดนี้ตกค้างลดลงประมาณ 60% ทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากขึ้นจากการบริโภคผักผลไม้ที่มีการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดดังกล่าว ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า ทุกนโยบายต้องคำนึงถึงสุขภาพ” นายแพทย์ปัตพงษ์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม ซีรี่ส์วิกฤติอาหารอาบพิษ