ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจตลาด MICE อุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าประเทศเมียนมาร์ อีกธุรกิจที่น่าจับตา

สำรวจตลาด MICE อุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าประเทศเมียนมาร์ อีกธุรกิจที่น่าจับตา

13 ธันวาคม 2014


รายงาน ทศพร ว่องไวกลยุทธ์

ด้านหน้างานexpo พม่า

“ถนนทุกสายมุ่งสู่ย่างกุ้ง” คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริงมากไปนัก เมื่อเทียบกับกระแสนักลงทุนที่หลั่งไหลเข้าประเทศเปิดใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างเมียนมาร์หรือพม่าที่เราคุ้นเคย ผลจากการประกาศปฏิรูปการเมืองในปี 2011 นำมาซึ่งการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจและการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกในปี 2012 ส่งผลให้พม่าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจอย่างย่างกุ้ง ชนิดที่ว่า คนย่างกุ้งเองแทบจะปรับตัวไม่ทันกับความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามาเพียงไม่ถึง 5 ปี กลิ่นหอมของทานาคาของฟุ้งกระจายไปทั่วภูมิภาค

การออกงานแสดงสินค้าถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการชิมลางตลาดก่อนขยับขยายเข้ามาลงทุนอย่างถาวร ในช่วงปีที่ผ่านมา มีบริษัทออร์แกไนเซอร์ข้ามชาติเดินเข้าออกย่างกุ้งเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย จีน หรือสัญชาติอื่นๆ อย่างมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ยิ่งพม่าประกาศตัวว่าจะเป็นจุดหมายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการจัดประชุม นิทรรศการ และการแสดงสินค้า หรือ MICE (Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน. ของไทยร่วมมือกับหอการค้าประเทศพม่าในการส่งเทั้งนี้สริมอุตสาหกรรม MICE ระหว่างสองประเทศ โดยให้ไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญมากกว่าเป็นผู้ให้คำปรึกษา

การเติบโตของอุตสาหกรรม MICE – อาคารแสดงสินค้าในประเทศพม่า

การเติบโตของอุตสาหกรรม MICE ในพม่านั้น ถือว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นมากๆ จากรายงานของ International Congress and Convention Association Statistic Report: Country and City Ranking ปี 2013 ที่ผ่านมา พม่ามีการจัดประชุมระดับนานาชาติเพียง 5 ครั้ง จากที่ทั่วโลกมีการจัดประชุม 11,685 ครั้ง ถือว่าน้อยเป็นอันดับที่ 104 จากการจัดอันดับทั่วโลก ในขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 29 (136 ครั้ง)

ในขณะที่ส่วนการสัมมนาและอินเทนซีฟ ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากโรงแรมและสถานที่จัดงานยังไม่สามารถรองรับได้ ในช่วง 2-3 ปีที่พม่าเริ่มเปิดประเทศส่วนที่มีการเติบโตมากที่สุดจึงเป็นการจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้า ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงตลาดพม่า เห็นได้จากจำนวนการจัดงานแต่ละปี อยู่ที่มากกว่า 60 งานต่อปี (ประเทศไทยจัดอยู่ประมาณ 200 งานต่อปี)

ส่วนสถานที่จัดงานแสดงสินค้าในพม่าทั้งประเทศนั้นมีเพียง 4 แห่ง โดยอยู่ในย่างกุ้ง 3 แห่ง ได้แก่ Tatmadaw Exhibition Hall, Myanmar Convention Centre (MCC Hall) และ Myanmar Event Park (MEP) และเนปิดอว์ 1 แห่ง คือ Myanmar International Convention Centre (MICC)

การจัดงานแสดงสินค้าแทบจะทั้งหมดอยู่ที่ย่างกุ้ง อาคาร MICC ซึ่งอยู่ในเมืองหลวงเนปิดอว์จึงถูกใช้สำหรับการจัดประชุมนานาชาติหรือการจัดประชุมวาระทางการเมืองการปกครองเท่านั้น งานจัดแสดงสินค้าและเทรดแฟร์จะอยู่ที่ย่างกุ้งแทบทั้งหมด แทบจะทุกสัปดาห์ในย่างกุ้งตอนนี้มีการจัดงานไม่ฮอลใดก็ฮอลหนึ่ง หรืออาจจะทั้งสามฮอลพร้อมกัน ทั้งที่โครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมนี้ยังไม่พร้อมอยู่มาก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดคือ อาคารจัดแสดงสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวก และมาตรฐานอาคารในการจัดงาน ถือว่าพร้อมน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ห้องน้ำอยู่ภายนอกอาคาร
ห้องน้ำอยู่ภายนอกอาคาร

Tatmadaw Exhibition Hall อาคารจัดแสดงสินค้าแห่งแรก

อาคารที่อยู่ใจกลางเมืองและเป็นที่นิยมในการจัดแสดงสินค้ามากที่สุดได้แก่ Tatmadaw Hall ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 90 ปีที่แล้วโดยรัสเซียซึ่งขณะนั้นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกับประเทศพม่า เพื่อหวังเป็นสถานที่จัดแสดงสินค้าของรัสเซีย ต่อมาเมื่อรัฐบาลเผด็จทหารเข้าครองอำนาจจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Tatmadaw Hall (Tatmadaw คือชื่อกองทัพทหารของประเทศพม่า) และปรับปรุงเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้าโดยเฉพาะ อาคารนี้จึงเป็นอาคารจัดแสดงสินค้าที่เก่าแก่มากที่สุดและมาตรฐานต่ำที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคารที่เก่าทรุดโทรม ห้องน้ำที่ไม่เพียงพอและล้าสมัย ไม่มีพื้นที่จอดรถที่อยู่พื้นที่เดียวกับอาคารจัดแสดงสินค้า อาคารสามารถรองรับบูธแสดงสินค้าได้ไม่เกิน 150 บูธ

Myanmar Convention Centre ศาลากลางที่ถูกดัดแปลงมาเป็นอาคารแสดงสินค้า

ในขณะที่อาคาร MMC Hall นั้นใหม่กว่าและดูดีที่สุดในบรรดาอาคารจัดแสดงสินค้า 3 แห่งในเมืองย่างกุ้ง สร้างโดยรัฐบาลท้องถิ่น Yangon City Development Committee (YCDC) เมื่อประมาณ 10-15 ปีที่แล้ว แต่เป็นอาคารที่เล็กที่สุด เนื่องจากจุดประสงค์ในการสร้างนั้นเป็นไปเพื่อการจัดประชุมหรือจัดงานเลี้ยงมากกว่าการจัดแสดงสินค้า ตัวอาคารสามารถรองรับบูธได้ประมาณ 70 บูธ แต่สถานที่ของ MCC Hall มีพื้นที่ภายนอกที่สามารถใช้เป็นพื้นที่จอดรถหรือจัดแสดงสินค้ากลางแจ้งได้ แต่ข้อเสียของที่นี่นอกจากความเล็กแล้วก็คือยังอยู่ในสถานที่ค่อนข้างไกลจากเมือง หากไม่มีการประชาสัมพันธ์งานให้คนรับรู้ดีๆ ก็ยากที่คนจะผ่านไปผ่านมาแล้วเดินเข้ามาชมงานใน MCC Hall

Myanmar Event Park อาคารแสดงสินค้าของเอกชนแห่งแรกในย่างกุ้ง

Myanmar Event Park หรือ MEP ฮอลแห่งที่สามในย่างกุ้ง เป็นฮอลที่ใหญ่ที่สุดและใหม่ที่สุด สร้างขึ้นเมื่อปีที่แล้วด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Forever Group (พม่า) กับบริษัท Index Creative Village (ไทย) ที่ได้รับสัมปทานให้ใช้พื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาคารรัฐสภาเก่ามาจัดเป็นสถานที่แสดงคอนเสิร์ตและแสดงสินค้าเป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้อาคารแห่งนี้เป็นอาคารกึ่งถาวร คือเป็นเพียงเต็นท์ขาวขนาดใหญ่แต่สามารถรองรับบูธได้สูงสุดถึง 300 บูธ ฮอลนี้มีจุดเด่นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมกว่าฮอลอื่นๆ ในการจัดแสดงสินค้า เนื่องจากถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นอาคารจัดอีเวนท์โดยเฉพาะ ขนาดฮอลที่รองรับคนได้กว่า 15,000 คน มีที่จอดรถภายในพื้นที่จัดแสดง มีพื้นที่จัดแสดงกลางแจ้งและสถานที่ตั้งที่อยู่ในเมืองมากกว่า MCC Hall อย่างไรก็ตาม ราคาค่าใช้สถานที่ก็แพงมากที่สุดเช่นกัน อีกทั้งความใหม่และความกึ่งถาวรของฮอลก็ทำให้ชาวย่างกุ้งหลายคนก็ยังไม่รู้จัก MEP มากนัก ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน และมีไว้ทำอะไร

IMG_4342

จุดลงทะเบียนเข้าชมงาน
จุดลงทะเบียนเข้าชมงาน

การจัดงานแสดงสินค้าในย่างกุ้ง ความท้าทายที่รอการเปลี่ยนแปลง

หากดูจากอายุของ Tatmadaw Hall แล้ว การจัดแสดงสินค้าในประเทศพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ว่างานแสดงสินค้าจากต่างประเทศจะเข้ามาตีตลาดพม่าเมื่อไม่ถึง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีการจัดงานแสดงสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่เนืองๆ ซึ่งถ้าเป็นงานขายหรือจัดแสดงสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป คนพม่าจะให้ความสนใจเข้าชมงานมากกว่า โดย Shwe Sin ผู้อำนวยการบริษัท Smart Business Group ซึ่งเป็นออร์แกไนเซอร์ท้องถิ่นที่จัดงานในพม่ามากว่า 10 ปี บอกว่าการเข้ามาของบริษัทออร์แกไนเซอร์ข้ามชาติที่นำงานแสดงสินค้านานาชาติเข้ามา ทำให้จำนวนคนเข้าชมงานแสดงสินค้าลดน้อยลง เพราะคนเริ่มเบื่องานจัดแสดงสินค้าแบบเดิมๆ ตอนนี้ชาวย่างกุ้งแสวงหาความตื่นตาตื่นใจจากสิ่งใหม่ๆ ที่ไหลทะลักเข้ามาพร้อมกับบริษัทต่างชาติ แต่ก็ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตพวกเขาด้วย เพราะชาวย่างกุ้งจะไม่ค่อยสนใจงานแสดงสินค้าเฉพาะทางที่พวกเขาไม่มีพื้นฐานความรู้มาก่อน

ดังที่ Shwe Sin กล่าวว่าหากไปเดินงานแสดงสินค้าเครื่องจักรหรืออุตสาหกรรมเฉพาะ คนบางตากว่างานแสดงสินค้าอุปโภคบริโภคมาก ซึ่งคนที่ไปเดินคือคนที่ตั้งใจไปเดินจริงๆ ไม่ใช่เดินเล่นฆ่าเวลาหรือเพื่อความเพลิดเพลิน งานที่เกี่ยวกับการค้าหรืออุตสาหกรรมเฉพาะส่วนมากจะจัดแสดงถึง 5 โมงเย็นเท่านั้น ไม่เหมือนกับงานแสดงสินค้าทั่วไปที่จัดแสดงถึงสองทุ่ม เผื่อเวลาคนเลิกงานแล้วมาเดินชมงานต่อ เพราะฉะนั้น การจัดงานแสดงสินค้าที่ประเทศพม่าจะต้องประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน การส่งอีเมลหรือโทรเชิญกลุ่มเป้าหมายให้มาร่วมงานโดยตรง รวมทั้งสร้างสรรค์การจัดงานแบบใหม่ หรือมีการแจกของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เรียกคนให้เข้ามาร่วมชมงาน

บรรยากาศในงาน

บูธภายในงาน

ย่างกุ้ง…..ตัวเลือกใหม่ของผู้จัดงาน

จำนวนการจัดงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่ถึง 3 ปี และการหลั่งไหลเข้ามาของเงินทุนต่างชาตินั้น น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พม่าตั้งเป้าให้เนปิดอว์เป็นจุดหมายใหม่ในการจัดประชุม นิทรรศการ และการแสดงสินค้า แข่งกับสิงคโปร์และไทยที่ถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ ถึงแม้เมืองหลวงจะมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าย่างกุ้ง ทั้งสนามบิน โรงแรม และอาคารจัดแสดง แต่ผู้เข้าชมงานยังอยู่ที่ย่างกุ้ง ในขณะนี้รัฐบาลพม่าเองก็ยังไม่มีแผนในการย้ายศูนย์กลางธุรกิจจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์

“สิ่งที่บริษัทที่มาจัดแสดงสินค้าต้องการคือจำนวนคนที่มาเยี่ยมชมมากๆ โดยเฉพาะนักธุรกิจท้องถิ่นที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจในการเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือขายสินค้าให้ได้ ซึ่งการจัดงานที่เนปิดอว์อาจจะไม่ตอบโจทย์ตรงนี้ ศูนย์กลางทางธุรกิจก็ยังคงเป็นที่ย่างกุ้ง” Darren Siow, project manager บริษัท AMB Events Group ซึ่งเป็นบริษัทออร์แกไนเซอร์สัญชาติมาเลเซียกล่าว

ในส่วนของอุปสรรคของอุตสาหกรรมการจัดแสดงสินค้าในพม่านั้น Darren กล่าวว่า อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอและยังไม่ได้มาตรฐาน แต่ค่าใช้จ่ายการจัดงานกลับแพงเท่าๆ กับการจัดงานในกรุงเทพฯ ในขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกมีความพร้อมน้อยกว่ามาก เช่น การจัดงานที่ Tatmadaw Hall และ MCC Hall ผู้จัดงานต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศเอง และสำรองเครื่องปั่นไฟเองเพราะไฟตกบ่อย หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไม่มีห้องสำหรับผู้จัดงาน ไม่มีอินเทอร์เน็ตไร้สายให้บริการ “การจัดงานแสดงสินค้าในย่างกุ้งค่อนข้างแพงและไม่ง่าย” Darren กล่าว

อุตสาหกรรม MICE รัฐบาลคือผู้ผลักดันสำคัญ

แม้ว่าการจัดงานแสดงสินค้าและเทรดแฟร์ในย่างกุ้งจะยากกว่าการจัดงานในประเทศอื่น แต่ความต้องการของนักลงทุนที่สนใจเข้ามาทำตลาดในพม่าก็มีมากเกินกว่าที่บริษัทออร์แกไนเซอร์จะละเลยได้ ทำให้ไม่ว่าจะอย่างไรอุตสาหกรรมนี้ก็จะเติบโตและขยายตัวอย่างแน่นอน เพียงแต่จะรวดเร็วและยั่งยืนเพียงใด คงต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพม่าในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้หรือไม่ หากรัฐบาลพม่าต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง คงต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอาคารแสดงสินค้า เช่น ปรับปรุง Tatmadaw Hall ที่เป็นอาคารแห่งเดียวในย่างกุ้งที่ถูกออกแบบมาเพื่อจัดแสดงสินค้าโดยตรง

นอกจากจะต้องปรับปรุงตัวอาคารใหม่แล้ว การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทันสมัยก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น หรือการขยาย MCC Hall ให้รองรับการจัดงานที่หลากหลายขึ้น อีกทั้งเปิดกว้างทางข้อกฎหมายหรือแก้ไขกฎเกณฑ์บางอย่างที่สกัดกั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ เช่น Tatmadaw Hall นั้นไม่อนุญาตให้จัดงานเกิน 6 โมงเย็น หรือการจำกัดให้ MEP จัดงานแสดงสินค้าได้ไม่เกิน 2 งานต่อเดือน เพียงเพราะต้องการกระจายงานแสดงสินค้าให้ Tatmadaw Hall และ MCC Hall ซึ่งเป็นของกองทัพและรัฐบาลท้องถิ่น การจำกัดสิทธิ์ในการจัดงาน รวมถึงการให้สัมปทานเอกชนในการบริหารพื้นที่เพียง 3 ปี ทำให้เอกชนเองก็ไม่กล้าลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานมากนัก

ขณะที่ปัจจุบันอาคารสำนักงานและโรงแรมในย่างกุ้งกำลังก่อสร้างและจะเปิดให้บริการได้ภายใน 2-3 ปี ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคการประชุม สัมมนา และอินเทนซีฟ ในอุตสาหกรรม MICE เติบโตได้ หากรัฐบาลไม่มีการแก้ไขกฎเกณฑ์หรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน ไม่เพียงพม่าจะไม่บรรลุเป้าหมายในการเป็นจุดหมายใหม่ของอุตสาหกรรม MICE ได้แล้ว จะกลับกลายเป็นว่า ตัวรัฐบาลเท่ากับเป็นอุปสรรคก้อนใหญ่ต่ออุตสาหกรรมนี้เสียเอง