ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ(1) : ชาวบ้านร้องเรียนมลภาวะ “ฝุ่นถ่านหิน ฝุ่นมันสำปะหลัง” ปัญหาเรื้อรังกว่า 10 ปีที่ยังแก้ไม่ได้

ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ(1) : ชาวบ้านร้องเรียนมลภาวะ “ฝุ่นถ่านหิน ฝุ่นมันสำปะหลัง” ปัญหาเรื้อรังกว่า 10 ปีที่ยังแก้ไม่ได้

12 มิถุนายน 2014


จากการร้องเรียนของชาวบ้านตำบลคลองสะแก ตำบลบ่อโพง และตำบลแม่ลา อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากมลภาวะทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียงและอื่นๆที่เกิดจากการขนถ่ายสินค้าจากท่าเทียบเรือในแม่น้ำป่าสัก ได้แก่ ปูนซีเมนต์ แป้งมันสำปะหลัง ปุ๋ย แร่เหล็ก ถ่านหิน และสินค้าอื่นๆ โดยทำการขนถ่ายจากท่าเทียบเรือสู่รถบรรทุก และรถบรรทุกนำไปเทกองไว้กลางแจ้ง ส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายก่อให้เกิดการรบกวนต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เสียงดังอันเกิดจากการทำงานในเวลากลางคืนด้วย การพังทลายของตลิ่งจากการจอดเรือที่ขวางลำน้ำเป็นต้นซึ่งปัญหานี้มีมากว่า 10 ปีแล้ว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 6 ตำบล อำเภอนครหลวง

สำหรับแม่ป่าสักไหลผ่านทิศตะวันออกจากอำเภอนครหลวงถึงอำเภอท่าเรือ ในอดีตท่าเทียบเรือบริเวณนี้ชาวบ้านใช้สัญจรไปมา ปัจจุบันการขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำป่าสักมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างมาก มีท่าเรือมันสำปะหลัง 6 แห่ง, สินค้าเกษตร 9 แห่ง, ข้าว 6 แห่ง,ปุ๋ย 5 แห่ง, อาหารสัตว์ แร่ โลหะภัณฑ์ที่ละ 1 แห่ง,ถ่านหินและซีเมนต์ 17 แห่ง(ถ่านหิน5,ถ่านหิน ปูน ปูนถุง 1,ถ่านหิน ปูนถุง 2,ปูนเม็ด 1,ปูนซีเมนต์ 3,ปูนถุง3),ไม้ 1 แห่งและดิน ทราย หิน 2 รวม 49 แห่ง

ทั้งนี้เนื่องจากเกิดปัญหาต่อต้านการขนถ่ายถ่านหินในจังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันมีผู้ประกอบการถ่านหินย้ายฐานการประกอบกิจการมาตั้งอยู่ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยามากขึ้น เนื่องจากพื้นที่อำเภอนครหลวงมีแม่น้ำป่าสักไหลผ่านซึ่งเหมาะสมในการขนส่งทางน้ำ และสะดวกที่จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศล่องเรือจากแหลมฉบัง เข้ามายังปากน้ำเจ้าพระยาสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามลำดับ ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ต้องการพัฒนาอำเภอนครหลวงให้เป็นเมืองแห่งการขนส่งทางน้ำ

ในรายงานการประชุมของชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 นายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาอยุธยา ยอมรับว่าปัญหาหลักในแม่น้ำป่าสักขณะนี้คือ 1)การจอดเรือซ้อนลำ และ 2)การบรรทุกสินค้ามากเกิน ส่วนปัญหาเรื่องฝุ่นละอองจากท่าเทียบเรือถ่านหินและมันสัมปะหลังที่ฟุ้งกระจาย ซึ่งเมื่อก่อนเกิดปัญหาอยู่ในเขตจังหวัดสุมทรสาคร และได้ย้ายมาดำเนินการที่อำเภอนครหลวงก็ยังเป็นปัญหาโดยต่อเนื่อง ซึ่งปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและความรำคาญของชาวบ้าน ขณะที่นายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม ประธานชุมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า กล่าวเสริมว่าท่าเรือที่จ.สมุทรสาครมีประมาณ 7 ท่า มีการขนถ่ายถ่านหินไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี แต่ที่อำเภอนครหลวง มีการขนถ่ายถ่านหินประมาณ 10 ล้านตันต่อปี

เรือขนสินค้าที่เข้ามายังท่าเรือในแม่น้ำป่าสัก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
เรือขนสินค้าที่เข้ามายังท่าเรือในแม่น้ำป่าสัก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้จากรายงานของชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวงเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 เป็นการประชุมเกี่ยวกับความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่อำเภอนครหลวง ตำบลปากจั่นและคลองสะแก คือเรื่องฝุ่นละอองที่มาจากฝุ่นถ่านหิน ฝุ่นจากแป้ง นายพิพัฒน์ ทองย้อย ผู้ได้รับผลกระทบกล่าวว่า”บ้านผมอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลคลองสะแก อยู่หลังอบต.คลองสะแก ผมเดือดร้อนมาก พี่ๆช่วยไปดูหน่อย ไม่ว่าวัดหรือโรงเรียนได้รับผลกระทบจากฝุ่น ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันแก้ไข ต้องแก้ไขด้วยความจริงใจ อยู่ด้วยกันได้ ชาวบ้านอยู่ได้ โรงงานอยู่ได้ ผมต้องการแค่นี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ้านเรือนที่อยู่ใกล้ท่าเทียบเรือและโรงงาน มีการปิดประตูหน้าต่างตลอดเวลาเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน และมีรถบรรทุกจำนวนมากวิ่งขนถ่ายสินค้าด้วยความเร็วสูง บางคันการปิดคลุมไม่มิดชิด ทำให้สินค้าตกหล่นและการฟุ้งกระจายของฝุ่น ขณะที่โรงงานที่มีการเทกองสินค้าประเภทถ่านหินนั้น เทกองในลักษณะกลางแจ้งบนลานดิน บางแห่งบนพื้นซีเมนต์โดยไม่มีอะไรปกคลุมและมีความสูงที่มองเห็นในระยะไกลๆได้ ซึ่งโรงงานส่วนมากอยู่ใกล้ชุมชนและพื้นที่ทำการเกษตร

นอกจากนี้การสำรวจพื้นที่พบว่ามีการซื้อขายที่ดินเพื่อสร้างโกดังหรือพื้นที่สำหรับเทกองสินค้าหลายแห่งที่กำลังดำเนินการอยู่ ขณะที่ในส่วนที่ดำเนินการไปแล้วพบว่ามีหลายพื้นที่มีการเทกองถ่านหินปริมาณมากเป็นแนวยาว ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 100 ไร่ เทกองในลักษณะเปิดไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ และบางแห่งมีการเทกองถ่านหินขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้กับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสะแกและโรงเรียนเพียง 200 เมตร

นายอำนาจ อ่วมภักดี ชาวบ้านตำบลคลองสะแก อำเภอนครหลวง กล่าวถึงปัญหามลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นว่า แบ่งออกเป็น ฝุ่นแป้ง ก็คือพืชผลทางการเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง, ข้าวโพด, ปาล์ม ซึ่งเกิดปัญหามากว่า 30 ปีแล้วแต่ออกมาเรียกร้องจริงๆ ประมาณ 15 ปี ต่อมาปี 2546 มีปัญหาฝุ่นจากถ่านหินเพิ่มเข้ามา โดยปีแรกที่มีการขนถ่ายถ่านหินชาวบ้านก็ออกมาต่อต้าน เนื่องจากระบบของโรงงานเป็นการเช่าเพื่อลงสินค้าไม่ได้ทำถ่านหินมาก่อน

ในปี 2550 เริ่มมีการขนถ่ายถ่านหินมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างมาก การขนถ่ายสินค้าส่วนมากมักจะทำเป็นระบบเปิด คือใช้รถแมคโครตักจากท้องเรือแล้วสวิงขึ้นรถ ซึ่งช่วงที่สวิงกับลำเรือจะมีช่องว่างทำให้วัตถุดิบร่วงหล่นลงแม่น้ำ และการขนถ่ายสินค้าจะทำในตอนกลางคืน ซึ่งจะมีเสียงดังรบกวนชาวบ้าน แล้วยังมีปัญหาการจอดเรือซ้อนลำที่ทำให้ตลิ่งพังอีกด้วย ตลอดระยะเวลาที่เกิดปัญหาได้มีการแจ้งให้หน่วยงานราชการของจังหวัดทราบ แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

นายอำนาจ อ่วมภักดี ชาวบ้านตำบลคลองสะแก อำเภอนครหลวง
นายอำนาจ อ่วมภักดี ชาวบ้านตำบลคลองสะแก อำเภอนครหลวง

“ตอนนี้สิ่งที่พวกเราอยากจะทราบคือ ถ่านหินมันคืออะไร เป็นอันตรายไหม ผมไปถามหน่วยงานราชการเขาบอกว่ามันไม่มีอันตราย แต่ทำไมชาวบ้านคันและมีอาการเป็นโรคภูมิแพ้ จนตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้คำตอบจากสาธาณสุขอย่างชัดเจนว่าถ่านหิน ฝุ่นจากถ่ายหิน การปนเปื้อนของถ่านหินในแม่น้ำมีอันตรายไหม” นายอำนาจกล่าว

นายอำนาจกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีการพูดคุยกับโรงงานเรื่องโรงงานสีขาว ว่าพวกเราอยากจะมีโรงงานที่เป็นต้นแบบเพื่อที่จะเป็นมาตรฐานให้โรงงานอื่นเห็นว่า ประชาชนและโรงงานสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มี ก่อนหน้านี้มีการเสนอบ่อล้างล้อเพื่อที่จะลดปัญหาฝุ่นละอองที่ติดล้อรถบรรทุกออกมา แต่กว่าทางโรงงานจะทำก็เสนอกันมาถึง 10 ปี

“การแก้ปัญหาด้วยการฉีดพรมน้ำ การปลูกต้นไม้ การขึงแสลน ถามว่าแก้ปัญหาได้ไหม แก้ได้แค่ 10% ไม่มีใครขึงแสลนเท่ายอดกองสินค้าที่กองไว้ มันคล้ายนอนกางมุ้งแต่ไม่คลุมข้างบนยุงมันก็เข้าได้ แล้วโรงงานเขากั้นแค่ด้านข้างสูง 7-10 เมตร แต่ยอดกองสูงกว่านั้นมากเพราะงั้นเวลาลมมามันก็ไม่ได้กั้นอะไรเลย”

ก่อนหน้านี้มีการจัดทำโครงการโมเดลของตำบลคลองสะแก คือให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมสามารถเข้าไปตรวจโรงงานได้ และโรงงานก็มาเยี่ยมบ้านของประชาชน ผมเคยเข้าไปตรวจประมาณ 3-4 ครั้ง ซึ่งการตรวจต่อครั้งต้องเว้นระยะประมาณ 6 เดือน สุดท้ายโครงการนี้ก็ล้มเหลว และได้มีการทำสัญญาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แต่ก็ไม่มีโรงงานไหนทำตามข้อตกลง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นมันทำให้ผมรู้สึกว่า ผมอยู่ในสังคมที่อ่อนแอมาก ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผมเคยพูดกับทางผู้ประกอบการและหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า ผมขอแค่ความถูกต้อง หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ไม่มีหน่วยงานไหนเลยที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง เวลาไปแจ้งหน่วยงานนี้ก็บอกว่าเป็นความรับผิดชอบของอีกหน่วยงาน พอไปอีกหน่วยงานก็บอกให้ไปแจ้งที่หน่วยงานนั้นก่อน” นายอำนาจกล่าว

กองถ่านหิน อ.นครหลวง

พื้นที่เทกองถ่านหินมองเห็นได้ในระยะไกลและฝุ่นสะสมบนพื้นถนนที่รถบรรทุกวิ่งผ่าน
พื้นที่เทกองถ่านหินมองเห็นได้ในระยะไกลและฝุ่นสะสมบนพื้นถนนที่รถบรรทุกวิ่งผ่าน
บ่อล้างล้อรถก่อนออกจากโรงงาน
บ่อล้างล้อรถก่อนออกจากโรงงาน

ทั้งนี้จากปัญหาที่เกิดขึ้น ล่าสุดชาวบ้านได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือกับคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภาโดยนายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย อดีตเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ในอำเภอนครหลวง พบว่าตำบลคลองสะแก ตำบลบ่อโพง และตำบลปากจั่น เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด เนื่องจากมีท่าเรือขนถ่ายสินค้ารวมแล้ว 24 แห่ง เป็นท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน 16 แห่ง ซึ่งท่าเรือทุกแห่งระบุไว้ว่ามีขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส และมีเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมแนบท้ายใบอนุญาตโดยเฉพาะกำหนดให้ท่าเรือที่ขนถ่ายถ่านหิน ปูนซีเมนต์ และสินค้าเทกอง ต้องดำเนินการภายในช่องลำเลียงแบบระบบปิดหรือใช้มาตรการควบคุมฝุ่นละอองไม่ให้ฟุ้งกระจาย เช่น ฉีดพรมน้ำ ติดตั้งอุปกรณ์ดักฝุ่นละออง บ่อล้างล้อรถ

“จากการตรวจสอบพบว่า การขนถ่ายสินค้าทำเป็นระบบเปิด ขนใส่รถบรรทุกแล้วนำมาเทกองโดยไม่มีการปกคลุม และพบว่าบางแห่งรับเรือที่มีขนาดมากกว่า 500 ตันกรอส ซึ่งเป็นขนาดที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการอนุญาต” นายสนธิกล่าว

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย อดีตเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย อดีตเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา

นายสนธิกล่าวต่อว่า จากการตรวจพบว่ามีการรับเรือขนาดมากกว่า 500 ตันกรอส จึงได้มีการเร่งให้กรมเจ้าท่าและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำการสำรวจและส่งข้อมูลให้เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพท่าเรือ

ทั้งนี้มีการมอบหมายให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นประธาน และมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ โดยมีการดำเนินการตรวจสอบเงื่อนไขการอนุญาตของใบอนุญาตทุกฉบับที่เกี่ยวกับการดำเนินการขนส่งสินค้าทางการเกษตร ถ่านหิน ที่ออกโดยกรมเจ้าท่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบว่าผิดเงื่อนไขการอนุญาตให้หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการสั่งให้มีการแก้ไขหรือสั่งหยุดการประกอบกิจการตามขั้นตอนกฎหมายจนกว่าจะดำเนินการปรับปรุงให้ถูกต้อง

นายสนธิกล่าวว่า คณะกรรมการพหุภาคีต้องให้คำปรึกษาหารือระหว่างภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการกำหนดข้อตกลงที่จะหามาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เมื่อได้ข้อยุติแล้วให้มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันและนำไปเป็นเงื่อนไขการสั่งอนุญาตต่อไป และการกำหนดรูปแบบของมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอำเภอนครหลวง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อชุมชน

ทั้งนี้การขนส่งถ่านหินและการสะสมถ่านหินเข้าข่ายประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 135 ประเภทตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ทางกรมอนามัยต้องดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และข้อเสนอแนะในการกำหนดที่ตั้งของสถานที่ทำการสะสมถ่านหินเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ให้กรมควบคุมมลพิษทำการเก็บตัวอย่างและตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองบริเวณที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในส่วนของ Opacity PM-10 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป