ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เบื้องหลังใบเหลืองประมงไทย “ข้อชี้แจงเดิมๆปัญหาการขึ้นทะเบียนเรือ – หน่วยงานลับอียูตรวจพบไทย”ผักชีโรยหน้า”

เบื้องหลังใบเหลืองประมงไทย “ข้อชี้แจงเดิมๆปัญหาการขึ้นทะเบียนเรือ – หน่วยงานลับอียูตรวจพบไทย”ผักชีโรยหน้า”

1 พฤษภาคม 2015


จากช่วง1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ได้ ประกาศเตือนประเทศไทยด้วยการแจก “ใบเหลือง” ระหว่างมีงาน Seafood Expo Global/Seafood Processing Global 2015 งานแสดงสินค้าประมงที่เรียกได้ว่ามีมูลค่าทางการตลาดมหาศาล ด้วยเหตุที่ประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) ไม่เพียงพอ

เค้าลางของการได้ใบเหลืองเริ่มในช่วงคาบเกี่ยวที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2557 ผู้แทนจากสหภาพยุโรปได้เข้ามาตรวจสภาพการทำประมงของไทยว่า สินค้าประมงที่ไทยส่งไปอียูเป็นไปตามที่อียูได้กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ตั้งแต่ปี 2553 หรือไม่ ปรากฏว่า อียูได้เตือนว่าไทยยังอยู่ในข่ายประเทศที่ “ไม่ให้ความร่วมมือ” พร้อมให้เวลาปรับปรุงระบบการประมงก่อนที่จะออกประกาศเตือนไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้การประกาศของอียูในครั้งนี้ไม่ผิดคาดของใครหลายคน(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ที่มาภาพ : http://ec.europa.eu/fisheries/documentation/eu_fisheries_key_facts/index_en.htm
ที่มาภาพ : http://ec.europa.eu/fisheries/documentation/eu_fisheries_key_facts/index_en.htm

จากข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ระบุถึงสิ่งที่ทางอียูเรียกร้องให้ไทยปฏิบัติตามมีดังนี้

– การปรับปรุงกฎหมายด้านการประมงในประเทศให้สอดคล้องกับหลักการสากล

– การปรับปรุงแผนระดับชาติในการป้องกัน ขจัด และยับยั้ง การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ NPOA-IUU พ.ศ. 2558–2562 ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

– ติดตั้งระบบติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) โดยเฉพาะเรือประมงขนาดใหญ่ ที่ออกไปทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศให้ทั่วถึง เพื่อควบคุมการทำผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

– จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง ที่จะต้องทำให้ทราบได้ว่า ปลาหรือสินค้าประมงที่จับมาได้ มาจากเรือลำใด ในน่านน้ำใด อาทิ การมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดย นายชลวิทย์ จุลบุต อดีตรองผู้ช่วยทูต (ฝ่ายเกษตร) ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ระบุถึงสาเหตุหลักๆ 2 ประการที่ทำให้ไทยได้รับใบเหลืองจากอียู คือ

1. ข้อชี้แจงเดิมๆ กับปัญหาการขึ้นทะเบียนเรือ

โดยปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไทยชี้แจงกับอียูว่า การขึ้นทะเบียนเป็นปัญหา เป็นอุปสรรคหลักนั้น เรื่องที่ชี้แจงมาตั้งแต่ปีแรกๆ (ปี 2551) ซึ่งมาถึง นี่เวลาก็ล่วงเลยมา 6-7 ปีแล้ว ประกอบกับไทยเองก็ถือเป็นผู้ส่งออกที่เรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของอียู การนำเข้าสินค้าประมงจากการทำประมงผิดกฎหมายจำนวนมากจึงไม่ใช่เรื่องที่อียูชอบใจนัก

“เห็นว่าประเด็นเกิดในช่วงก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา เนื่องจากกระบวนการในการทำงานของไทยไม่คืบหน้าเท่าที่ควร กรมประมงก็บอกว่ากรมเจ้าท่าขึ้นทะเบียนช้า จากที่เคยลงพื้นที่ เหตุที่อาจเกิดความล่าช้าเนื่องจากกรมเจ้าที่มีนายช่างวัด ที่จะเป็นผู้วัดขนาดเรือเพื่อออกใบอนุญาต มีจำนวนน้อยไม่สามารถทำงานได้ทัน มีเพียงจังหวัดละ 1 คนเท่านั้น” นายชลวิทย์กล่าว

นายชลวิทย์กล่าวว่าปัจจุบันกรมประมงและกรมเจ้าท่าต้องทำงานประสานกันในเรื่องของการขึ้นทะเบียนเรือ ซึ่งคาดว่า หาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 นี้มีความชัดเจนในเรื่องของการให้อำนาจหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยตรงในส่วนของการขึ้นทะเบียนได้ จะสามารถตอบโจทย์อียูได้ ปัญหาและความล่าช้าที่เคยเกิขึ้นกับการขึ้นทะเบียนจะหมดไป หรือจะเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างไร ซึ่งหากตอบโจทย์ในเบื้องต้นได้เช่นนี้ ไม่มีทางได้ใบแดง

ทั้งนี้แหล่งข่าวภายในกรมเจ้าท่าระบุว่า ปัญหาความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนเรือเป็นเพราะจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่พอส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ “นายทะเบียน” ที่ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนเรือประมง มีการหาประโยชน์จากการนำเรือเก่ามา “สวมทะเบียน” และการปลอม “หนังสือคนประจำเรือ” (seaman book)

สอดคล้องกับข้อมูลของ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ที่เคยกล่าวถึงสาเหตุที่ไทยไม่สามารถยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงที่ขัดต่อหลักสากล อย่างอวนลากและอวนรุนได้อันเนื่องมาจากประเทศไทยยังคงมี “เรือเถื่อน” และ “เรือสวมทะเบียน” จำนวนมาก

“คุณมีเรือที่ขึ้นทะเบียนเพียงลำเดียว แต่มีเรือในครอบครองจริงๆ 5 ลำ ราคาลำละ 10 ล้าน 50 ล้าน แต่การจะยกเลิกรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชย ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายแค่ 10 ล้านตามที่ขึ้นทะเบียน ก็ไม่ยอมใช่ไหม นี่คือข้อมูลที่พวกผมมี เพื่อนผมมี 8 ลำที่ใช้อยู่ลำเล็กเกือบ 8 ล้าน สูงสุดไม่รู้เท่าไร แต่จดทะเบียนเพียง 3 ลำ หากรัฐบาลเยียวยาก็เสียหายเพราะที่เหลือเป็นเรือสวมทะเบียน ก็รอติดสินบนทหารอินโดนีเซียอยู่นั่น นี่คือข้อเท็จจริงที่เจอในทะเลไทย”นายบรรจงกล่าว (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ที่มาภาพ : http://ec.europa.eu/fisheries/documentation/eu_fisheries_key_facts/index_en.htm
ที่มาภาพ : http://ec.europa.eu/fisheries/documentation/eu_fisheries_key_facts/index_en.htm

2. หน่วยงานลับอียูตรวจพบไทย “ผักชีโรยหน้า”

ด้านนายชลวิทย์กล่าวถึงปัญหาอีกหนึ่งประการว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากปัญหาประมงไอยูยูเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องในด้านกฎหมาย ทางอียูจึงได้ส่งหน่วยงานตรวจสอบอีกหน่วยงานหนึ่งเข้ามาตรวจสอบโดยที่ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ไทย หน่วยงานนั้นมีชื่อว่า โอลาฟ (European Anti-Fraud Office: OLAF) โดยหน่วยงานดังกล่าวตรวจสอบข้อมูลทั้งจากการลงพื้นที่และข้อมูลด้านอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยู

“กระทรวงการต่างประเทศ หรือทูตเกษตรที่ประจำในต่างประเทศก็ดี ทุกหน่วยงานต้องทำงานอย่างชาญฉลาดให้รู้ให้ได้ว่า หากมีการปรับปรุงแก้ไข ทำงานหนักขนาดนี้แล้ว เขายัง ไม่เชื่อถือในสิ่งที่ทำ แสดงว่าเขาต้องมีข้อมูลบางอย่างที่เป็นข้อมูลที่ทำให้เขาเชื่อว่าไทยไม่ได้ปฏิบัติจริง…ไอยูยูเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมาย จึงมีการใช้หน่วยพวกนี้เข้ามาตรวจ เพราะทำงานครอบคลุมถึงเรื่องการเงินได้ทั้งหมด โดยเวลาเขามาตรวจเขามาดูว่าเราทำจริงหรือเปล่า คือ เมื่อวันที่คณะมาตรวจมีอุปกรณ์ครบ แต่เมื่อมาตรวจสอบซ้ำเองกลับไม่พบดังเช่นรายงาน”

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานคลุกคลีกับเจ้าหน้าที่อียู นายชลวิทย์ให้ความเห็นว่าในช่วงที่ตนยังทำงานที่กรุงบรัสเซลส์ หน่วยงานโอลาฟเคยได้เข้าไปตรวจสอบการทำงานของไทยแบบลับๆ และการพูดคุยระหว่างมื้ออาหารก็ทำให้ได้ทราบจากผู้ตรวจว่า ไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ ซึ่งแม้จะผ่านระยะผ่อนผันมากว่า 5 ปีแล้วไทยอาจยังไม่สามารถปฎิบัติตามได้ ข้อมูลไม่มีการเคลื่อนไหวตามสถานการณ์จริง การแจ้งเตือนจึงเกิดขึ้น

และจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น สำนักข่าวไทยพับลิกาพบว่าข้อมูลการขึ้นทะเบียนเรือของกรมเจ้าท่ามีการจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ ข้อมูลไม่ครบ ข้อมูลบางชุดอยู่ในเว็บไซต์กรมเจ้าท่าเอง ในส่วนของสถิติทะเบียนเรือ ข้อมูลบางชุดอยู่ในส่วนของสถิติข้อมูล เว็บไซต์สำนักทะเบียนเรือ อีกส่วนหนึ่งอยู่ใน เว็บไซต์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ไม่ซ้ำกันและไม่ต่อเนื่อง

อีกทั้งเมื่อกรมประมงเก็บข้อมูลมารวมกับส่วนที่กรมประมงต้องขึ้นทะเบียนเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำแล้วมีการระบุไว้ในหมายเหตุทุกฐานข้อมูลที่อยู่ในระบบของศูนย์ประสานงานการออก ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ว่าจำนวนเรือมีความผิดพลาด จาก ทะเบียนเรือ/ตันกรอส บางลําไม่ตรงกับทะเบียนกรมเจ้าท่า และข้อมูลของกรมประมงเองก็มีการอัปเดตล่าสุดถึงเพียงปี 2555 เท่านั้น (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

จำนวนเรือประมงIUU

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเรือประมงเข้ารับการจดทะเบียนแล้วจำนวน 6,017 ลำ จากเป้าหมาย 12,258 ลำ คิดเป็นร้อยละ 49 ทำให้ขณะนี้มีเรือประมงที่จดทะเบียนแล้วรวม 53,268 ลำ และสามารถออกอาชญาบัตรการทำประมงได้จำนวน 11,312 ลำ จากจำนวนเป้าหมาย 19,107 ลำ คิดเป็นร้อยละ 60 รวมจำนวนเรือทั้งหมดที่มีใบอนุญาตทำการประมง 29,579 ลำ โดยกรมประมงจะเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้ ขณะที่ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 จากระบบฐานข้อมูลเรือประมงทะเลไทย โดยสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล พบเรือประมงทั้งหมด 57,141 ลำ

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจข้อมูลพบข้อบกพร่องของการจัดเก็บข้อมูล การนำเสนอ การยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูล ความครบถ้วน ความถูกต้องของข้อมูล ยังเป็นปัญหาใหญ่ของการเปิดเผยข้อมูลของระบบราชการไทย

เมื่อความมั่นคงทางการค้าและอาหารเพิ่ม แปรผันตามต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าช่องทางการค้าของไทยเหลือไม่มาก เนื่องจากไทยถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP จำนวน 6,200 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 อาทิ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์และสินค้าประมงแปรรูป อาทิ ปลาทูน่ากระป๋องและกุ้งแปรรูป อาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ อาทิ กุ้งแปรรูปเสียภาษี ในอัตราร้อยละ 20 จากเดิมร้อยละ 7 สำหรับกุ้งแช่แข็งเสียภาษีในอัตราร้อยละ 12 จากเดิมร้อยละ 4.2

การที่ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป ในขณะที่ไม่มีสิทธิเรื่องภาษีแล้ว จะต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องประสิทธิภาพการผลิตให้มีต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งการทำไอยูยูนั้นส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นแน่นอน เนื่องจากการติดตั้งระบบติดตามเรือ หรือวีเอ็มเอส นั้นมีค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 บาท/ลำ

แต่การจะควบคุมต้นทุนอาจไม่ใช่ทางออกหลัก มิติทางการค้าได้ก้าวข้ามไปถึงต้นทุนในอนาคต คือทรัพยากรธรรมชาติหรือความมั่นคงทางอาหารที่อาจสูญเสียไปกับการทำประมงไอยูยู ซึ่งหากระบบไทยดีจริงก็จะสามารถทำให้อียูยอมรับได้ดังเช่นที่ยอมรับประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

นายชลวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้ามาตรวจสอบ (audit) ของอียู ต้องทำความเข้าใจว่าเขาไม่ได้เข้ามาตรวจสอบเพื่อจับผิด แต่เป็นไปเพื่อตรวจประสิทธิภาพของหน่วยรับรอง ซึ่งเขาเองเสมือนมอบอำนาจที่กฎหมายของอียูว่าไว้ในเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าให้กับกรมประมงไทยเป็นผู้ดำเนินการแทน และเชื่อมั่นว่าใบรับรองที่ออกจากกรมประมงไทยมีความศักดิ์สิทธิ์เที่ยบเท่าสิ่งที่เขาปฏิบัติเอง

“อย่ามองว่าไอยูยูให้ผลลบกับไทยเท่านั้น ต้องมองว่าไอยูยูจะเป็นสิ่งที่ทำให้ไทยทำประมงถูกต้องทั้งระบบ และตัวเลขที่จะส่งออกจะเป็นตัวเลขที่ชี้แจงได้ว่าสินค้าประมงทั้งหมดที่จะส่งออกไปทั่วโลกไม่ได้ทำประมงไอยูยูหรือประะมงที่ผิดกฏหมายขาดการรายงานและควบคุม” นายชลวิทย์กล่าว

อนึ่ง เรื่องประมงไอยูยู เริ่มต้นมาจากองค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ซึ่งคณะมนตรียุโรปได้ประกาศการบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 และกฎข้อบังคับดังกล่าวเริ่มมีผลกับไทยในวันที่ 1 มกราคม 2553

ตั้งแต่แรกเริ่มไทยมีความกระตือรือร้นอย่างมากในการจัดการกับปัญหาประมงไอยูยู กรมประมงได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่ปีที่อียูประกาศใช้กฎระเบียบดังกล่าว แต่เมื่อคล้อยหลังปี 2553 ความเคลื่อนไหวของไทยในเรื่องประมงไอยูยูก็เงียบไป