ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > SET SD Forum (2) จับตาตลาดทุนโลกตื่นออกกฎบังคับเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฯ ตลท.-ก.ล.ต. หนุน บจ. รายงาน

SET SD Forum (2) จับตาตลาดทุนโลกตื่นออกกฎบังคับเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฯ ตลท.-ก.ล.ต. หนุน บจ. รายงาน

9 เมษายน 2017


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า  จัดงานสัมมนา SET SD Forum 1/2017: Climate change: Key trend in Capital Market Risks and Opportunities  ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงบ่าย มีการบรรยายในหัวข้อ “Greenhouse Gas Management Tool and Reporting” โดย “ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์” รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นผู้บรรยาย พร้อมด้วยการเสวนาแบ่งปันบทเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการรายงานการปล่อยคาร์บอนฯ โดย ผู้แทนจาก “ราชบุรีโฮลดิ้ง” และ “เอสซีจี”

ผลวิจัยชี้ธุรกิจเสียหายแสนล้านเหรียญฯ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดร.พงษ์วิภากล่าวว่า climate change เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเมกะเทรนด์ของโลก โดย 5 เมกะเทรนด์ของโลกขณะนี้ประกอบด้วย 1. การขยายตัวของสังคมเมือง 2. การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลก 3. การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ 4. ความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี และ 5. climate change และการลดลงของทรัพยากร ฉะนั้น ถามว่าภาคธุรกิจพร้อมรับมือเมกะเทรนด์เหล่านี้หรือยัง

ยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ มีความอ่อนไหวสูงมาก เพราะจะมีเรื่องอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นแน่นอน จะมีช่วงฤดูแล้งที่ยาวนานขึ้น มีภาวะอดอยากมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายในค่าอาหารเพิ่มมากขึ้นอีก 35% มีภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่อง climate change ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

นอกจากนี้ มีการทำวิจัยว่า climate change มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก มีผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงาน โดยในปี 2010 พบว่า ความเสียหายของผลิตภาพแรงงานที่เกิดจาก climate change อยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่มีอะไรมาจัดการ จะทำให้เกิดความเสียหายมากถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 หรือเรื่องการประมง ปัจจุบันเกิดความเสียหายจาก climate change 15 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าในปี 2030 จะเสียหายมากขึ้นเป็น 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในภาคเกษตรเสียหาย 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อไปในอนาคตคาดว่าจะเสียหายอีก 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญของ climate change คือ ไม่ว่าใครปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบถ้วนหน้า แต่จะได้รับผลกระทบรุนแรงมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความเปราะบางของสภาพภูมิประเทศและความเปราะบางในการจัดการเรื่องนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จัดได้ว่ามีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับบริษัทที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องใส่ใจว่าเรื่องเหล่านี้มีความเสี่ยงทางภาคธุรกิจมากน้อยขนาดไหน

เตรียมรับมือศักยภาพการผลิตลด ต้นทุนและความเสี่ยงใน supply chain เพิ่ม

ก่อนหน้านี้ บริษัท first carbon solution ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม advisory board ในการทำธุรกิจต่างประเทศ ได้สำรวจบริษัทธุรกิจกว่า 2,000 แห่ง พบว่าบริษัทธุรกิจส่วนใหญ่ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ศักยภาพในการผลิตลดลงหรือถูกรบกวน ทำให้ต้องมีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตมากขึ้น และทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 31% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แม้จะเกิดในต่างประเทศ แต่ก็สะท้อนใกล้เคียงกับธุรกิจในประเทศไทยเช่นกัน

ส่วนเรื่อง supply chain จะเกิดกับสินค้าที่มีความเปราะบางหรือมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอุณหภูมิ ซึ่งไม่จำเป็นว่าสินค้านั้นจะเป็นสินค้าทางการเกษตรเสมอไป เช่น หากเจอภาวะน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร supply chain ก็เสียหายทั้งหมด ยิ่งกลุ่มประเทศเหล่านั้นหรือธุรกิจเหล่านั้น มี supply chain ที่กระจุกตัว ก็จะพยายามกระจายให้มี supply chain มากกว่าหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยง

กรณีน้ำท่วมประเทศไทยเมื่อปี 2554 เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของความเสี่ยงใน supply chain ที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างกรณีน้ำท่วมประเทศไทยเมื่อปี 2011 มีเรื่องคือ HDD (hard disk drive) ที่ 45% ผลิตที่ประเทศไทย โดย HDD ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสินค้าสำเร็จรูปหลายตัว แต่เมื่อผลิตกระจุกตัวอยู่ที่เมืองไทย ปรากฏว่าผลิตไม่ได้ หรือส่งออกไม่ได้จากปัญหาน้ำท่วม ปัญหาจึงเกิดเป็นลูกโซ่ เช่น ไม่สามารถผลิตคอมพิวเตอร์ได้ เป็นต้น ดังนั้น กรณีน้ำท่วมประเทศไทย จึงเป็นปรากฏการณ์เรื่อง climate change ฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือตกหนักมาก ยิ่งกว่านั้นยังมีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ สะท้อนความเสี่ยงออกมาด้าน supply chain

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทย ก่อให้เกิดความเสียหาย 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท และในจำนวน 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ปรากฏว่าประกันครอบคลุมแค่ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แสดงว่าอีก 35 พันล้าน ทั้งรัฐบาลและธุรกิจต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด เรียกว่าเป็นความเสียหายที่ไม่มีใครจ่ายทดแทน นี่คือเรื่องที่ climate change มีผลกระทบต่อธุรกิจ

ดร.พงษ์วิภาเปิดเผยว่า ปัจจุบันเสียงส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ระบุว่า 90% ของภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ผ่านกิจกรรมที่มนุษย์เผาเชื้อเพลิง ใช้พลังงาน ฯลฯ ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เตือนลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ดันไทยสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฯ 20%

จากข้อมูล World Resource Institute (WRI) ในปี 2012 พบว่า โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 44,000 ล้านตัน ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือจีน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 24% รองลงมาคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปรวม 28 ประเทศ ส่วนประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 23 ของโลก จาก 190 กว่าประเทศทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 0.8 % ของโลกใบนี้

ขณะที่ อบก. คำนวณพบว่า ในปี 2013 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 344 ล้านตัน แต่มีการดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศจากป่าไม้ได้ถึง 177 ล้านตัน ฉะนั้นเบ็ดเสร็จแล้วประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 226 ล้านตัน แต่ส่วนใหญ่จะใช้ตัวเลข 344 ล้านตัน ที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงๆ

ทั้งนี้ ใน 344 ล้านตัน มี “ภาคพลังงาน” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึง 75% ทั้งจากพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม, พลังงานที่ใช้ในภาคขนส่ง, และพลังงานที่ใช้ในภาคครัวเรือนต่างๆ รองลงมาคือ ภาคเกษตร, ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากปฏิกิริยาเคมี และภาคของเสีย ดังนั้น รัฐก็จะจัดการกับภาคพลังงานก่อน เพราะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

สัดส่วนของปริมาณการปล่อยก๊าชเรือนกระจกของไทยโดย อบก. ที่ชี้ให้เห็นถึงภาคพลังงานที่เป็นภาคที่ปล่อยก๊าซฯ มากที่สุดถึง 75%

นอกจากนั้นยังพบว่า เศษ 2/3 ของก๊าซเรือนกระจกบนโลกใบนี้ เกิดขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต่างประเทศจะทำก่อนและกำลังทำต่อเนื่อง คือ กำลังหาวิธีว่าจะจัดการอย่างไรไม่ให้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต ซึ่งภาคธุรกิจต้องมองเรื่องนี้มากขึ้น

อบก. ยังพบว่า จากสถิติปี 2000-2013 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 5.9% ต่อปี และปล่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  และยังคำนวณพบว่า เมื่อผ่านไปถึงปี 2030 ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)  ประเทศไทยยังปล่อยไม่ถึงจุดสูงสุด ยังปล่อยได้อีก แต่ไม่ถือว่าไม่เป็นผลดี เพราะเรายังปล่อยไปเรื่อยๆ

ดร.พงษ์วิภาอธิบายว่า สาระสำคัญของ Paris Agreement ในปี 2558 คือต้องพยายามช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะลดได้หรือไม่ได้ ทุกประเทศต้องรายงานอย่างสม่ำเสมอให้สหประชาติทราบว่า ได้พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปปริมาณเท่าใด แต่ทุก 5 ปีต้องลดให้สูงขึ้นกว่าเดิม ยกเว้นจะมีการเจรจาเป็นอย่างอื่น ซึ่งทุกประเทศได้ให้สัตยาบันปฏิบัติร่วมกัน

สำหรับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559  และแสดงเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วประมาณ 14% ส่วนหลังปี 2020 ตามความตกลงปารีส ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สัญญาว่า ประเทศไทยจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2030 ตามการปล่อยตามธุรกรรมปกติ

จากการคำนวณการปล่อยตามธุรกรรมปกติพบว่า ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 555 ล้านตัน ในปี 2030 เพราะฉะนั้น ถ้าจะลดให้ได้ 20% ภายในปี 2030 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลง 111 ล้านตัน โดยลดจากทุกภาคส่วน ฉะนั้น ประเทศไทยมีสัญญาเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรตระหนัก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะกรรมการ คณะทำงานอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นคณะ “SDGs” (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งพัฒนาโดยสหประชาชาติอีกกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นกรอบทั่วโลก ประกอบด้วย 17 เป้าหมายหลัก 169 เป้าหมายย่อย

โดยเป้าหมายที่น่าสนใจคือเป้าหมายที่ 13 คือเรื่อง “climate action” ขณะที่เป้าหมายหลักอื่นๆ ก็เกี่ยวข้องกับ climate change ด้วยกันทั้งสิ้น เช่น เป้าหมาย 12 ที่ระบุว่า ต้องผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องมองแล้วว่าจะผลิตอย่างไรให้ยั่งยืน และผลิตสินค้าอะไรให้ผู้บริโภคได้บริโภคอย่างยั่งยืน หรือเป้าหมายที่เกี่ยวกับเรื่องเมือง ทำอย่างไรให้เป็นเมืองโลว์คาร์บอน ทำอย่างไรให้เป็นเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งแผนนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินงานอยู่เช่นกันในแต่ละเป้าหมาย เป็นนโยบายของประเทศ

ตลาดทุนทั่วโลกตื่นออกกฎ ให้ธุรกิจเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์

ดร.พงษ์วิภายังกล่าวถึงเรื่องการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร และการบูรณาการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกในการรายงานความยั่งยืน
ว่า คาร์บอนฟุตพรินต์ คือ “ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ปล่อยจากองค์กร ปล่อยจากวงจรผลิตภัณฑ์  และเมื่อปล่อยแล้ว จะมีคำนวณเป็นตัน

หลังจากนั้น เมื่อวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ต้องมาดูว่าจะไม่ปล่อยหรือหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ หรือจะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ปลูกต้นไม้เยอะๆ หรือจะทำการชดเชยคาร์บอน ฯลฯ นี่คือการจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจก สำหรับขั้นตอนการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ ขั้นแรกต้องรู้ก่อนว่าจะวัดอะไร หลักการเหมือนการทำ ISO จากนั้นก็คำนวณว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ แหล่งปล่อยอยู่ที่ไหน และนำค่าที่วัดได้มาคำนวณ

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมาจากกลุ่มกิจกรรม 3 ประเภท ประเภทแรก คือ ปล่อยโดยตรงจากการเผา การใช้พลังงาน ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยโดยตรงจากแหล่งผลิตพลังงานที่อยู่กับที่ เช่น โรงงานที่มีหม้อน้ำ (boiler) หรือปล่อยแบบการเกิดปฏิกิริยาเคมีภายโรงงาน เช่น กลุ่มปูน กลุ่มเหล็ก

กลุ่มที่สอง คือ ปล่อยจากพลังงานทางอ้อม เช่น พลังงานไฟฟ้าความร้อน ไอน้ำ และประเภทที่สาม คือ อื่นๆ เช่น การบินไปประชุม หรือจัดการขยะแบบให้คนอื่นจัดการ โดยข้อมูลที่เก็บนี้เรียกว่า “ข้อมูลกิจกรรม” นำมาคูณกับค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก คูณกันแล้วก็จะรู้ว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมนั้นเป็นปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นจะส่งรายงานไปให้ผู้ตรวจสอบที่ขึ้นทะเบียน มีการรับรองเหมือนลักษณะการตรวจสอบบัญชี ที่จะรับรองว่าคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ปล่อยออกมาเป็นปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งจะมีบริษัทมาขึ้นทะเบียนกับ อบก. 12 ราย บางรายเป็นมหาวิทยาลัย บางรายเป็นบริษัทมืออาชีพ แม้กระทั่งสภาอุตสาหกรรมก็มาขึ้นเป็นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ ต่อมา บริษัทเหล่านี้ก็จะส่งผลมาให้ อบก. พิจารณาอนุมัติ แล้วองค์กรนั้นๆ ก็จะได้ใบรับรอง

ดร.พงษ์วิภากล่าวด้วยว่า คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรจะทำให้องค์กรสามารถทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ปัจจุบันมีบริษัทเริ่มทำแล้ว 200 กว่าองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน แม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอยากจะสนับสนุนให้มีการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์และรายงานออกมา

สำหรับประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับจากการเปิดเผยหรือรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทมหาชน ที่ผู้ลงทุนเป็นคนสำคัญที่ทำให้บริษัทมีทุนที่จะไปเพิ่มผลผลิตหรือเพิ่มสายการผลิต หรือเพิ่มเรื่องการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะแสดงความโปร่งใส และเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ลงทุนที่เขาใส่ใจบริษัทของเรา หากบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อ climate change แล้วไม่ได้จัดการดูแลอะไรเลยก็จะไม่มีใครอยากมาลงทุน เพราะผู้ลงทุนมีความเสี่ยงที่เงินจะสูญ ฉะนั้น ผู้ลงทุนอยากได้บริษัทลงทุนที่มีความยั่งยืน โปร่งใส และเปิดเผยข้อมูลได้ เป็นข้อมูลที่เขาควรจะได้รู้ว่าควรสนับสนุนบริษัทนั้นหรือไม่ เพราะลูกค้าก็อยากจะทำธุรกิจกับบริษัทที่มีความโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม การายงานเป็นแค่เพียงปลายทาง แต่ต้นทางที่สำคัญคือ หากคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์แล้วรู้ว่าปล่อยก๊าซเรือนปริมาณกระจกไปเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต กระบวนการโลจิสติกส์ หรือกระบวนการจัดการเรื่อง supply chain ให้ประหยัด ลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด

อย่างประเทศในกลุ่มโออีซีดี (OECD: Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย ก็ผลักดันให้ประเทศสมาชิกคู่ค้าเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขอให้มีเรื่องการรายงานเรื่องก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศไทย หากใครทำรายงานของตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย เหมือนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะกำหนดให้บริษัททำตามจีอาร์ไอ (GRI: Global Reporting Initiative) ซึ่งในส่วนหนึ่งของจีอาร์ไอ มีการรายงานเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่อาจจะไม่เข้มข้นมากนัก

แต่ที่ให้ความสำคัญว่าต้องรายงานก๊าซเรือนกระจกมากๆ คือ ดีเจเอสไอ (DJSI: Dow Jones Sustainability Index) หรือ ซีดีพี (CDP: Carbon Disclosure Project) เป็นต้น ซึ่งหลายองค์กรในประเทศไทยมีการรายงาน DJSI แล้ว ส่วน CDP ได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกใบนี้ต่อความเชื่อถือของนักลงทุน ที่หากต้องการลงทุน ก็จะมาเปิดรายงานใน CDP

วันนี้ ตลาดทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญ โดยเฉพาะเรื่อง climate change เช่น ประเทศออสเตรเลีย มีกฏหมายระบุว่า โรงงานทุกโรงงานและทุกภาคธุรกิจต้องมีการรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ รายงานเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รายงานเกี่ยวกับการผลิตและการใช้พลังงานต่างๆ หรือประเทศอังกฤษ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ก็ระบุว่าต้องให้รายงานก๊าซเรือนกระจก ต้องมีการเปิดเผยข้อมูล

ขณะที่ตลาดทุนประเทศไทยปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพียงไม่ถึง 5% ที่รายงานเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฯ หากดูจากข้อมูลที่ปรากฏในรายงานด้านความยั่งยืนขององค์กร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ก็หันมาให้ความสำคัญแม้จะยังไม่ได้บังคับให้รายงาน แต่สนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ มีการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Carbon Discloser Project มาตรฐานเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนที่ต้องจับตา

สำหรับ CDP เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 โดยพัฒนาระบบการตรวจวัดรายงานและเปิดเผยข้อมูล และพยายามใช้แรงจูงใจทางตลาดเพื่อให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล เพราะ CDP ได้ไปรวบรวมผู้ลงทุนจำนวนมากมาเป็นสมาชิก โดย CDP ใช้วิธีส่งแบบสอบถามไปให้บริษัทต่างๆ เหมือน DJSI ซึ่งมีบริษัทกว่า 5 พันบริษัทได้ตอบข้อซักถาม แรกๆ ส่งมาที่ประเทศไทย แต่หลายบริษัทในไทยไม่ยอมตอบ CDP เพราะไม่รู้จักว่า CDP คืออะไร

ปรากฏว่า CDP ก็นำสิ่งที่บริษัทในประเทศไทยไม่ตอบมาเผยแพร่ ทำให้นักลงทุนหรือคนอื่นมาเห็นทำให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบว่า การที่ไม่ตอบเป็นการปิดบังข้อมูลหรือเปล่า ไม่ตอบเพราะไม่ได้ทำหรือไม่ได้ใส่ใจหรือเปล่า ซึ่งปรากฏว่าได้ผล ดังนั้น ขณะนี้ เมื่อรับมาแล้วต้องพยายามหาทางตอบ จะตอบผิดตอบถูกไม่เป็นไร แต่เกิดการเปิดเผยข้อมูล แต่ไม่มีคะแนน แต่จะให้คะแนนกับบริษัทที่ลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยไปถึงกลุ่มนี้หลายบริษัทและได้คะแนนสูง เช่น ซีพีเอฟ ปตท.

ปัจจุบัน มีประเทศในกลุ่มเอเชียหลายประเทศที่เปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะบริษัทด้านพลังงาน หรือภาคการเงินก็เปิดเผยข้อมูลเยอะมาก รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทในเอเชียมีตัวเลขอยู่ที่ 35% ของการเปิดเผยข้อมูล

สำหรับการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย มีหลายหน่วยงาน เช่น ก.ล.ต. ที่ใส่ใจเรื่องนี้ แม้จะไม่ได้บังคับ แต่ก็สนับสนุนให้รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีเกณฑ์ที่สภาอุตสาหกรรมร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  ทำเรื่องมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเกณฑ์ตัวหนึ่งที่ต้องทำคือเกณฑ์ในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่อาจจะยังไม่ต้องรายงาน

ยกตัวอย่าง Tesco บริษัทค้าปลีกของประเทศอังกฤษ มีเป้าหมายธุรกิจว่า ต้องการให้ธุรกิจ เป็น “zero carbon business” ในปี 2050 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการรายงานอยู่ในรายงานประจำปี คำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์โดยใช้ Greenhouse Gas Protocol: GHG Protocol ซึ่งเขาสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้จำนวนมาก

ส่วนการจะทำให้องค์กรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ (carbon neutral) ก็มีวิธีที่ต่างประเทศนิยมและยอมรับกันมากก็คือ “การชดเชยคาร์บอน” หมายความว่า องค์กรหนึ่ง จากที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 100% แต่พยายามลดการปล่อยลงเหลือ 60 % ก็ไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากองค์กรอื่นๆ ซึ่งมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เขาลดได้และกลายเป็นสินค้าที่นำไปขายได้มาเสริม ถ้าซื้อหมดก็เรียกว่า carbon neutral แต่หากซื้อไม่หมดเรียกว่า carbon offset ซึ่งประเทศต่างๆที่ประกาศว่าจะเป็น carbon neutral เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ประเทศเหล่านี้นอกจากลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศแล้ว ก็ต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาเพิ่มเติม

หากทำได้อย่างนี้ 1. จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศไทยลดลง ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โลกลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น 2. หากเราเป็น carbon neutral ก็จะช่วยส่งเสริมเรื่องภาพลักษณ์ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจก และ 3. มีโอกาสทางธุรกิจด้วยซึ่งเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้ลงมือทำแล้ว ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์หรือ SET ก็จะเริ่มทำเช่นกัน หรือธนาคารแห่งประเทศไทยก็ทำแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ  รวมทั้งยังมีอีกหลายหน่วยงานของประเทศไทยที่กำลังค่อยๆ ทำเรื่องนี้เพื่อช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก (อ่านเพิ่มเติม)

จากซ้ายไปขวา อโณทัย สังข์ทอง, สมนึก จินดาทรัพย์, วิสุทธิ จงเจริญกิจ

“ราชบุรี โฮลดิ้ง” จัดการก๊าซเรือนกระจกแบบมวยวัด สู่ความสำเร็จแบบสากล

นายสมนึก จินดาทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสินทรัพย์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี   โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจกว่า ธุรกิจของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี เป็นแบบ long-term contract ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน และสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้นคือ ต้องลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเมื่อไหร่ที่ถูกสั่งให้เดินเครื่องเราจะต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด เช่น การรักษา ประสิทธิภาพของเครื่องจักร แม้กระทั่งพยายาม reuse หรือ recycle โดยในโรงไฟฟ้าได้ลดการใช้น้ำ และมีการพูดเรื่อง water footprint มาได้ประมาณ 15 ปี

ปัจจุบัน บริษัทช่วยรักษา water footprint ไว้ได้ประมาณ 2 ลิตรต่อยูนิต ที่ประสบความสำเร็จก็เพราะเรา reuse กับ recycle ทำเป็นตัวอย่างให้โรงไฟฟ้าอื่นๆ ได้เห็นว่า จริงๆ แล้ว new technology ลดสารเคมีและลดของเสียได้ สิ่งเหล่านี้เราทำมานานแล้ว โรงงานไฟฟ้าสมัยใหม่จึงพยายามกลั่นน้ำทางเคมี ซึ่งต้นทุนอยู่แค่ตันละ 80-100 บาท ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี ต้นทุนอาจจะเหลือไม่เกินตันละ 60 บาท ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เทคโนโลยี

เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็ได้เข้าไปสู่กระบวนการเปิดเผยรายงานในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน CDP (carbon disclosure program) ตอนนั้นแค่ต้องการลดต้นทุนการผลิต แต่สิ่งที่ได้มาโดยไม่รู้ตัวคือ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เป้าหมายของบริษัทเริ่มเปลี่ยน จากเดิมคือลดต้นทุน ลดของเสีย มาเป็นจะทำอย่างไรในการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะผลสุดท้ายคือลดค่าใช้จ่ายขององค์กร อย่างไรก็ตาม มีโจทย์อยู่ข้อหนึ่งที่ยากมาก คือ ใส่มากไปบริษัทก็ขาดทุน ดัชนีทางเศรษฐศาสตร์มันไปไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันต่อยอดได้ อย่าง อบก. ก็มี TVETS (Thailand Voluntary Emission Trading Scheme) คือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ

หลังจากนั้นบริษัทก็เริ่มเข้ามาศึกษาเรื่อยๆ ว่า สิ่งที่เราทำไม่ได้ถูกตรวจสอบ ก็เริ่มเข้ามาร่วมกับกระบวนการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ แต่ผลสุดท้ายไปไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาสัมปทาน ฉะนั้น อยู่ดีๆ พอเราบอกว่าจะขายก๊าซเรือนกระจก ปรากฏว่าผู้รับซื้อสั่ง dispatch เรา ก็ไม่มีคาร์บอนเครดิตขาย ผลสุดท้ายที่ทำมาทั้งหมดก็ขายไม่ได้ เพราะปริมาณคาร์บอนเครดิตขึ้นอยู่กับผู้ซื้อ ถ้าเขาไม่สั่งเครื่องเรา ก็ขายไม่ได้

บริษัทจึงเปลี่ยนมาที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการเปิดเผยข้อมูล ทำมาเกือบจะ 12 ปีแล้ว แต่การทำครั้งแรกเกิดจากสังคมตราหน้าว่า สิ่งที่บริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นข้อมูลที่รู้อยู่คนเดียว สังคมไม่ได้รับรู้ด้วย เราจึงลงทุนซื้อจอ LCD ใส่ข้อมูลขึ้นจอแสดงผลที่หน้าโรงไฟฟ้า และพัฒนาเป็นแผงควบคุม (dashboard) เพื่อให้อ่านง่าย และเอาเกณฑ์กฎหมายมาจับ นี่คือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลจนทำให้เราเดินมาสู่กระบวนการวิเคราะห์การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และมองว่าอะไรเป็นความเสี่ยง และมีมาตรการแก้ไขอย่างไร

นายสมนึกยังกล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุดในการจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจกคือ 1. ลดต้นทุน 2. รู้การเพิ่มประสิทธิภาพ (optimization) ของการลดก๊าซเรือน เพราะในกระบวนการ CFO (carbon footprint for organization) จะบอกได้ว่าสเกลไหนที่ควรลงทุน แล้วยังรักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นได้ ยังดูแลสิ่งแวดล้อมได้ หรือแก้ปัญหาผลกระทบเรื่อง climate change ได้ โดย คุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกใบนี้ที่ช่วยตั้งแต่ตัวคุณเอง ผู้ถือหุ้น ประเทศชาติ และโลก โดยกลไกของ อบก. หรือองค์กรอื่นๆ ซึ่งหากมองเผินๆ อาจเป็นกลไกสร้างต้นทุน แต่หากรู้การเพิ่มประสิทธิภาพได้ จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจ

กระนั้นก็ตาม จริงแล้วๆ สังคมอาจไม่ทราบว่าปูนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากเยอะ แต่ทราบว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ในการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแน่ๆ ซึ่งในภาคบังคับ บริษัทของเราต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รายงานทุก 6 เดือน บริษัทจึงเริ่มการจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจกจากมวยวัด คือ ทำตามกฎหมาย ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อยู่รอดทางธุรกิจ

เมื่อทำถูกต้องตามกฏหมายแล้ว ก็มองว่าจะทำกำไรเพิ่มอย่างไร เรียกว่าพยายาม “บีบน้ำจากผ้าแห้ง” คือพยายามลด lost ทุกอย่างที่คิดว่าทำให้กระบวนการของเราไม่มี value ผลที่ได้กลับมาก็คือ ตัวเลขในรายงานอีไอเอดูสวยขึ้น แต่ผลสุดท้ายจริงๆ เราได้รู้ว่าได้กำไรจากการรายงานอีไอเอ คือลดของเสียได้เยอะ จนเมื่อปี 2556 เริ่มรู้จัก อบก. จึงดำเนินการกันต่อให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น สมนึกมองว่า ปัจจัยความสำเร็จในการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ประการแรก คือ ประธานบริษัทหรือซีอีโอ ต้องสนับสนุนไอเดียนี้ก่อน ถัดมา คือ การสร้างความเข้าใจให้เจ้าของข้อมูล เพราะในเชิงปฏิบัติ สิ่งที่ยากที่สุดคือ จะได้ความมุ่งมั่นจากเจ้าของข้อมูลอย่างไร

ที่ยากก็เพราะต้องมีทีมไปนั่งคุยกับเจ้าของข้อมูล ขอข้อมูลและบอกว่าข้อมูลนี้เป็นประโยชน์อย่างไร ข้อมูลที่เป็น data เหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล หากเขาไม่เข้าใจก็จะไม่ร่วมมือ เราก็จะไม่ได้ข้อมูลครบถ้วน ต่อมาคือเรื่อง scope หากเราไม่มีกรอบที่ชัดเจน ก็จะมีข้อมูลที่มากเกินจำเป็น รวมทั้งเรื่อง sort of data และต้องมานั่งคุยว่าจะใช้วิธีอะไร ใช้การคำนวณแบบใด ต้องตกลงกันให้ชัด

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ การตรวจสอบความสอดคล้อง ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะข้อมูลที่ได้หลายครั้งขัดแย้งกันอยู่  บางทีแหล่งข้อมูลมาคนละแหล่ง แต่ธุรกิจของเราส่วนใหญ่ใช้ operation control เพราะเจาะไปที่ตัวโรงไฟฟ้าที่เรามีอำนาจควบคุม แต่ที่เป็นกิจการร่วมค้า ยังไม่ค่อยมี ในอนาคตอาจจะใช้ financial control กับกิจการร่วมค้าก็เป็นได้ (อ่านเพิ่มเติม)

นายวิสุทธิ จงเจริญกิจ ประธานคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เอสซีจี

เอสซีจี  ชี้ประโยชน์การจัดการคาร์บอนฯ ลดต้นทุนพลังงาน-เพิ่มยอดขาย – สร้างรายได้ใหม่

นายวิสุทธิ จงเจริญกิจ ประธานคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เอสซีจี กล่าวว่า หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ มีคำว่า “ความยั่งยืน” (sustainability) แต่คำว่าความยั่งยืนของเอสซีจีหมายความว่า การทำธุรกิจให้มีกำไรอย่างเหมาะสม และมองเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่าง climate change เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือในด้านสังคม เวลาไปตั้งโรงงานที่ไหนก็ตาม เราจะมองเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ทำอย่างไรให้ชุมชนหรือสังคมรอบข้างอยู่กับเราได้  เรื่องพวกนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าจะอยู่ยั่งยืนได้ คำว่าความยั่งยืนจึงสำคัญมากสำหรับเอสซีจี

ตัวสำคัญอีกตัวที่เรามองเห็นคือ “การเป็นธรรมาภิบาล” เอสซีจีคิดว่าต้องมีตัวนี้เป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ฉะนั้น climate change จึงต้องเปิดเผย เพื่อเข้ามาจับเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเอสซีจีเริ่มรายงานความยั่งยืนมานานแล้ว ตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งใหม่ๆ สำหรับตัวหลักที่เราบริหารจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจก ตัวแรก ได้แก่ เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อปี 2015 ลดไป 1.46 ล้านตัน ต่อมาปีที่แล้ว 2016 ลดไป 1.81 ล้านตัน โดยมีเป้าหมายลดลง 10% ภายในปี 2020 จากธุรกรรมปกติ

ถัดมาคือทำ “ฉลากคาร์บอน” (carbon label) ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือภาคบริษัท เราเข้าโครงการหลายโครงการ เรามี “SCG eco value” โดยมีมาตรฐานที่เข้มแข็ง ในปี 2016 ได้รางวัล coporate excellent, sustainability award หรือแม้แต่อุตสาหกรรมดีเด่น ทำให้เราภูมิใจว่าเราเป็นผู้นำในเรื่อง climate change และเรื่องความยั่งยืน

นายวิสุทธิกล่าวต่อว่า เอสซีจีปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปประมาณ 22-23 ล้านตัน โดยการผลิตซีเมนต์คือตัวที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากที่สุด ที่เหลือจะเป็นการใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิล ซึ่งพวกนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

ดังนั้น จึงมีความพยายามในการติดตาม ตรวจวัด เพื่อความถูกต้องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เข้าโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development  Mechanism) เอาของเสียจากกระบวนการซีเมนต์กลับมาใช้ใหม่ในการปั่นไฟ จนมีไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ก๊าซชีวมวล (Biomass) ทดแทนการใช้ถ่านหิน มีโครงการร่วมกับ BCS (Biomass Combustion Systems)  ซึ่งช่วยลดได้ 2-3 แสนตันต่อปี ถือว่ามากพอควร หรือแม้แต่การแปลงขยะมาเป็นเชื้อเพลิง เป็นความตั้งใจที่จะลดการใช้ฟอสซิล

รวมทั้งยังเข้าร่วม Thailand VETS กับ อบก. ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบริษัท ซึ่งทุกๆ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักจะมีคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยจะรู้ว่าแต่ละผลิตภัณฑ์มีการใช้หรือปลดปล่อย CO2 มากน้อยแค่ไหน สามารถวิเคราะห์และหาทางลดได้ในอนาคต นี่เป็นวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทาง supply chain upstream เราเรียกว่า Green Procurement ซึ่งทำมานานแล้ว ดังนั้น คนที่เป็นซัพพลายเออร์ของเอสซีจีต้องได้มาตรฐาน มีระบบที่ยอมรับได้

ในส่วนลักษณะการผลิต เราใช้ทฤษฎี 3R คือ reuse, reduce, recycle เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นการลดของเสีย ส่วนปลายทางจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มีนวัตกรรมมากขึ้น เหล่านี้จะทำให้การใช้ CO2 ของผู้บริโภคดีขึ้น เรามองถึง  eco use ของลูกค้าด้วยว่า จะใช้ทรัพยากรน้อยลงได้อย่างไร นี่คือความตั้งใจของเอสซีจี และยังทำอยู่

นายวิสุทธิเห็นว่า ประโยชน์จากการทำเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างแรก คือ เรื่องสินค้าที่ขาย โดยเอสซีจีขายสินค้าสัดส่วนที่เป็น SCG eco value ได้ประมาณ 30-40% จากยอดขายทั้งหมด เรื่องที่ 2 เป็นการใช้เชื้อเพลิงทดแทนฟอสซิล ก็พยายามจะหาเชื้อเพลิงทดแทนเข้ามามากขึ้น นอกจากนั้นยังเคยมีโครงการขายคาร์บอนเครดิตที่ประเทศกัมพูชา และยังมีหลายเรื่องที่ยังอยู่ในขั้นวิจัย

นายวิสุทธิย้ำว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโรงปูนซีเมนต์เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเอสซีจีเข้าไปในกลุ่มผู้ผลิตซีเมนต์ หรือ CSI เพื่อร่วมลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกันในระดับโลก ส่วนปัจจัยความสำเร็จในการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของเอสซีจี วิสุทธิระบุว่า ผู้บริหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก จากการเริ่มมีหน่วยงานพัฒนายั่งยืน ที่ดูแลความยั่งยืนในทุกๆ มิติ อย่างผมเองกว่าจะเข้าใจในแต่ละเรื่องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน และเมื่อเข้าใจแล้วก็นำมาปรับใช้ รวมทั้งความร่วมมือของพนักงานในที่ทำงาน เมื่อมีความรู้ในองค์กร ก็มีการถกเถียง มีความเข้าใจ และร่วมพัฒนาไปด้วยกัน นี่เป็นปัจจัยสำคัญของเอสซีจี

ตอนที่เอสซีจีทำเรื่องนี้แรกๆ ต้องศึกษามาตรฐาน IPCC (Intergovernmental Panel Climate Change) เพราะจะมีมาตรฐานในการคำนวณ การเก็บรวบรวม บางทีจะมีคำศัพท์พวก inventory ต้องไปทำความเข้าใจกับคนที่ทำงานกลุ่มนี้ เมื่อเข้าใจ ก็ถ่ายทอดให้กับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้อง เพราะจะได้รู้ว่าเวลาจะทำงานหรือผลิตอะไรออกมามันเกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างไร และสร้างจิตสำนึกไปด้วยในตัว ซึ่งคนจะคำนวณถูกต้อง คำนวณเป็น นอกจากเป็นแล้ว ต้องสร้างความมั่นใจ ต้องใช้ผู้ตรวจสอบที่เป็นมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น Deloitte หรือ KPMG จนเราสามารถวิเคราะห์ ตั้งเป้าหมายขึ้นมาลดค่าต่างๆ ได้ (อ่านเพิ่มเติม)