ThaiPublica > เกาะกระแส > กลุ่มปตท. กำไรครึ่งปีแรก 69,817 ล้านบาท ลดลง 10% เหตุถอนลงทุน EPIF – บาทแข็ง – บีโอไอหมด ชูโมเดลโตใหม่พัฒนา “คน สิ่งแวดล้อม ประเทศ”

กลุ่มปตท. กำไรครึ่งปีแรก 69,817 ล้านบาท ลดลง 10% เหตุถอนลงทุน EPIF – บาทแข็ง – บีโอไอหมด ชูโมเดลโตใหม่พัฒนา “คน สิ่งแวดล้อม ประเทศ”

15 สิงหาคม 2018


นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2561 มุ่งเน้นแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่ม ปตท. ตามหลัก 3P โดยให้ความสำคัญ 3 ด้านอย่างสมดุล ได้แก่ People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม, Planet การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ Profit การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นตัวกำหนดทิศทางเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระดับสากล

ในส่วนของ People ปตท. มุ่งเน้นพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม เพื่อเศรษฐกิจที่ดี สร้างชีวิตที่มีคุณภาพแก่คนในสังคม อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยโครงการสำคัญในครึ่งปีแรก 2561 มีรายละเอียดดังนี้

People

ร่วมพัฒนาการศึกษาไทย โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามระบบสามัญ เริ่มจากระดับประถมศึกษาด้วยการ ร่วมเป็น 1 ใน 12 บริษัท ผู้ร่วมพัฒนา “โรงเรียนประชารัฐ” ระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากปี 2560 เพิ่ม จาก 42 โรงเรียน อีก 40 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 82 โรงเรียนใน 7 จังหวัด และต่อยอดสู่โครงการ Partnership School Project (SP) นำประสบการณ์บริหารจัดการรูปแบบเอกชน ร่วมแบ่งปัน ในโรงเรียนร่วมพัฒนา กลุ่ม ปตท. ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ระยอง สุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร

ในส่วนของมัธยมศึกษา นักเรียนรุ่นแรกโรงเรียนกำเนิดวิทย์ KVIS ได้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 71 คน และในจำนวนนี้ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศในสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ถึง 18 คน

ในระดับอุดมศึกษา สถาบันวิทยสิริเมธี VISTEC ได้รับการจัดอันดับจากดัชนีวารสารวิจัยชั้นนำระดับโลก Nature Index Ranking 2017 ให้อยู่ในอันดับที่ 1 ของไทย ด้าน Chemical Science นอกจากนี้ ได้เปิดการเรียนการสอนเพิ่มเติมอีก 2 สำนักวิชาใหม่ ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทยฯ และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST) สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ฯ

เป็นผู้นำพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi โดยร่วมสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ พัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยองให้เป็น Smart Natural Innovation Platform ในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค บนพื้นที่ 3,302 ไร่ ตามหลักการ Smart City พร้อมทั้งเตรียมลงนามสัญญาเช่าพื้นที่กับ สวทช. ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563

มุ่งเน้นพัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise (SE) นำร่อง Café Amazon for Chance ภายใต้การดูแลของบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ดำเนินการโดยผู้พิการด้านการได้ยิน เพื่อพัฒนาความสามารถ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ปัจจุบันมีอยู่ 2 สาขา ได้แก่ สาขาสำนักงานอธิการบดี และสาขาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และจะขยายเพิ่มอีก 3 สาขา ได้แก่ สาขาบ้านเจ้าพระยา สาขาโรงพยาบาลแหลมฉบัง สาขากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายในสิ้นปี 2561 ทั้งนี้ กำไรจากร้านคาเฟ่ อเมซอน ดังกล่าว กลุ่ม ปตท. จะนำไปเป็นกองทุนพัฒนาอบรมและฝึกอาชีพให้แก่ผู้พิการต่อไป

นอกจากนั้น ได้ร่วมกับมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนจัดโครงการพลังใจในมือคุณ เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและทักษะอาชีพแก่กลุ่มคนผู้ไร้ที่พึ่งและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยจะก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงสวัสดิการ แบบ Green Station จำนวน 4 ตู้จ่าย และห้องน้ำแบบอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) บนพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา บริเวณหน้าสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จ.ปทุมธานี และสร้างอาคารพลังใจในมือคุณจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มคนผู้ไร้ที่พึ่งและผู้ด้อยโอกาส

พัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ระหว่างโครงการหลวงและ ปตท. ร่วมกับเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ มีเกษตรกรชาวเขาในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 24 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 88 หมู่บ้าน 9,500 ไร่ จำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 2,602 ครัวเรือน มีผลผลิตกาแฟจำหน่ายออกสู่ตลาดกว่า 500 ตันต่อปี และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมากกว่า 40 ล้านบาท

ปตท.ร่วมพาทีมหมูป่ากลับบ้าน

เปิดพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน รวมพลัง ร่วมใจ ช่วยเกษตรกร พร้อมส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจำหน่ายสินค้า เช่น ข้าว สับปะรด กระเทียม ผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนยามราคาผลิตผลตกต่ำ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานชุมชน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ อาคารประหยัดพลังงาน ที่สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด จ.นนทบุรี โรงเรียนวัดประชุมมิตรบำรุง อ.บ้านฉาง (โรงเรียนประชารัฐ) และโรงเรียนบ้านยุบตาเหน่ง อ.วังจันทร์ (โรงเรียนประชารัฐ) จ.ระยอง ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ร่วมเป็นพลังของแผ่นดิน ส่งเสริมจิตอาสา นำความเชี่ยวชาญประสบการณ์ และผลิตภัณฑ์เข้าช่วยเหลือสังคม เช่น การช่วยเหลือทีมหมูป่า ด้วยการจัดส่งน้ำมันดีเซล ถังก๊าซหุงต้ม ให้กับโรงครัวพระราชทานฯ พร้อมทีมวิศวกรทั้งจาก ปตท. และบริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTTNGD) นำท่อ HDPE และท่อเล็กที่สามารถเข้าที่คดเคี้ยวได้ เพื่อใช้สูบน้ำออกจากถ้ำ รวมทั้งร่วมกันบรรจุถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สปป.ลาว

ส่งเสริมศักยภาพของนักกีฬาไทย ให้เป็นที่ภาคภูมิใจ ทำหน้าที่เป็นแรงผลักดันสร้างขวัญกำลังใจ ให้นักกีฬาไทยพัฒนาไปสู่ความสำเร็จ ผลงานที่โดดเด่นในปี 2561 เช่น ฟลอร์บอลชายได้เป็นที่ 1 ของเอเชีย และได้เข้าร่วมแข่งขันฟลอร์บอลโลกในปลายปีนี้ ฮ็อกกี้ชายและหญิงผ่านการคัดเลือกเข้าเล่นในกีฬาเอเชียนเกมส์ในปี 2018 สโมสรฟุตซอล PTT Blue wave Chonburi เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนทวีปเอเชียเข้าแข่งขันฟุตซอลสโมสรโลก ทั้งยัง สนับสนุนนักกีฬาที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างชื่อเสียงระดับประเทศและนานาชาติ เช่น นักกีฬาขี่ม้า ได้รับคัดเลือกเข้าทีมชาติไทยร่วมแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2018 สมาคมแข่งขันกีฬาบริดจ์ได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียครั้งที่ 3 ปี 2018 ที่ประเทศอินเดีย

Planet

ปตท. มุ่งมั่นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติของกระบวนการทำงาน ได้แก่ นำพาป่าสู่เมืองผ่าน “ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ปตท.” กรุงเทพฯ และ “ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” จ.ระยอง ได้รับความสนใจมากขึ้น มีผู้เยี่ยมชมแล้วกว่า 270,000 คน และ 87,000 คน ตามลำดับ ล่าสุด ทั้ง 2 โครงการได้รับรางวัล “ภูมิสถาปัตยกรรมดีเด่นระดับนานาชาติ” จากสมาพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติ หรือ IFLA (International Federation of Landscape Architects) ในการพัฒนาสุขภาพของสังคมและชุมชน รวมถึงสร้างสรรค์แหล่งที่อยู่ ความหลากหลายทางชีวภาพและสัตว์ป่า อีกทั้งกระทรวงวัฒนธรรม มอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติ ปตท. ในฐานะองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกป่า

ร่วมพัฒนาคุ้งบางกระเจ้า

ประสบความสำเร็จในการสานพลังความร่วมมือกับ 33 องค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน ผนึกกำลัง 6 ชุมชน คุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ในโครงการ OUR Khung Bang Kachao เป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นและเติบโตขึ้นร้อยละ 20 ใน 5 ปี เน้นร่วมมือรูปแบบสานพลังร่วมเพื่อพัฒนาสังคม 6 ด้าน ได้แก่ พื้นที่สีเขียว จัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง จัดการขยะ ส่งเสริมอาชีพ ท่องเที่ยว และเยาวชนและการศึกษา โดย ปตท. เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านพัฒนาพื้นที่สีเขียว มุ่งฟื้นฟูและรักษาพื้นที่สีเขียวให้ได้ 6,000 ไร่ ภายใน 5 ปี โดยปี 2561 กำหนดเป้าหมายระยะเริ่มต้นที่ 400 ไร่ บนพื้นที่ราชพัสดุ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมป่าไม้

“ครั้งนี้การแถลงข่าวการดำเนินงานจะแปลกกว่าที่ผ่านมา คือ เรื่องผลกำไรเอาไว้ที่หลัง แต่เราอยากจะเน้นให้เห็นถึงมิติการพัฒนาและความยั่งยืนอื่นๆ ของ ปตท. ซึ่งหลังการทำงานมาสักพัก ปตท. เราก็ทำภารกิจมาเยอะพอสมควร แต่ไม่เคยได้รวบรวมมาให้เห็นชัดเจน วันนี้เราก็มีคำอธิบายได้แล้วเป็นปรัชญาการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตยั่งยืนของทุกคน รวมไปถึง ปตท. ประกอบด้วย 3 มุม 3P คือ People คือการสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ สร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับสังคม Planet คือการดำเนินกิจการของเราที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกด้านคือส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมในภาพรวมด้วย และ Profit ที่จะพูดต่อไป ซึ่งคำว่ากำไรอย่าไปคิดว่าเป็นบาปนะ คือทำธุรกิจให้เลี้ยงตัวเองได้อยู่รอดได้ไม่เป็นภาระของใคร” นายเทวินทร์กล่าว

Profit

สุดท้ายด้าน Profit ปตท. ดำเนินธุรกิจกลยุทธ์ PTT 3D ด้วย Do Now เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขัน, Decide Now เพื่อขยายการเติบโตอย่างยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ โดยขยายการลงทุนโครงการที่สำคัญ เช่น ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 และคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ Design Now เพื่อสร้าง New S-Curve ขยายการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต เช่น Electricity Value Chain และ Smart City & Property Development เป็นต้น ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ EEC ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ผลประกอบการเฉพาะ ปตท. ครึ่งปีแรกของปี 2561 มีกำไร 33,218 ล้านบาทและเมื่อรับรู้ผลกำไรของบริษัทในกลุ่มตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 36,599 ล้านบาท ทำให้งบการเงินรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 69,817 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อน 9.89%) คิดเป็นกำไร 2.43 บาทต่อหุ้น โดยมีปัจจัยสำคัญเชิงบวกและเชิงลบที่ทำให้ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2561 ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ต่ำกว่าครึ่งปีแรกของปี 2560 ได้แก่

  • กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 140,438 เป็น 170,870 ล้านบาท จากราคาน้ำมันดิบดูไบและราคาปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานปกติโดยรวมดีขึ้น
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity Improvement) สร้างกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี 20,721 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2561 ไม่มีรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recurring Items) ขณะที่ในครึ่งแรกของปี 2560 ปตท. มี Non-recurring Items จากรายได้เงินปันผลจากกองทุนรวม EPIF 4,310 ล้านบาท และกำไรจากการขายเงินลงทุนในกองทุนรวม 990 ล้านบาท ซึ่งในปี 2561 จากระเบียบของ ก.ล.ต. ทำให้บริษัทไม่สามารถถือกองทุนนี้มากกว่า 1 ใน 3 และประกอบกับมองว่ากองทุนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัทจึงขายออกไปทั้งหมด
  • กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ลดลงจาก 7,822 เป็น 2,276 ล้านบาท จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินสกุลต่างประเทศสกุลเดียวที่บริษัททำธุรกิจอยู่ แม้ว่าจะมีการป้องกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติจากธุรกิจที่ได้รับจ่ายเงินตราต่างประเทศอยู่แล้ว แต่คงไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด
  • ภาษีเงินได้ เพิ่มขึ้น 14,650 ล้านบาท จาก 11,951 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2560 เป็น 26,601 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2561 โดยหลักมาจาก PTTEP ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงการหมดมาตรการของการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ

“ในครึ่งปีแรกนี้ ปตท. ดำเนินธุรกิจอย่างสมดุล มีผลประกอบการและสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง เดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคมและชุมชนให้แข็งแรง ทั้งด้านการสร้างรายได้ การศึกษา กีฬา วัตนธรรม รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ปรับปรุงการใช้ทรัพยากรทุกด้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้หลัก 3 R คือ Reduce-Reuse-Recycle พร้อมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมการรักและปลูกต้นไม้ การแยกขยะ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วนในสังคมไทย” นายเทวินทร์กล่าว