ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (1) : สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักในวันนี้ คนไทยเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าใครในอาเซี่ยน 20 ปี

โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (1) : สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักในวันนี้ คนไทยเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าใครในอาเซี่ยน 20 ปี

22 กรกฎาคม 2013


โครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือสังคมคนแก่ เป็นประเด็นที่ได้ยินบ่อยมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายคนมองเป็นเรื่อง “ไกลตัว” แต่ความจริงเป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” อย่างคาดไม่ถึง และเป็น “โจทย์” ที่ทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องรับมือตั้งแต่วันนี้

เพราะประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) มาตั้งแต่ปี 2547

และจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี 2574

จากรายงาน “การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของไทย พ.ศ. 2553-2583” จัดทำโดย “คณะอนุกรรมการคาดประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583” สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเผยแพร่เมื่อกุมภาพันธ์ 2556 มีข้อมูลตัวเลขสถิติที่น่าสนใจ คือ

ในปี 2553 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 65 ปี ขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วน 9% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2574 เมื่อนั้นจะเรียกประเทศไทยว่าเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ได้แล้ว

ขณะที่ สหประชาชาติคาดการณ์ว่า สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และไทยก้าวเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนประมาณ 20 ปี

โครงสร้างผู้สูงอายุ1

นอกจากไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว มีอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือ อัตราการเพิ่มของประชากรลดลง

เมื่อ 50 ปีก่อน อัตราการเพิ่มประชากรเคยสูงมากเกิน 3% ต่อปี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 0.5% ต่อปี และแนวโน้มจะลดต่ำลงและมีอัตราเข้าใกล้ศูนย์ หรืออาจจะติดลบหลังปี 2569

ส่วนอัตราเจริญพันธุ์รวมหรือจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อสตรีคนหนึ่งตลอดวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเคยสูงมากกว่า 5 คนก่อนมีโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ได้ลดลงเหลือ 1.6 คนในปี 2553 และจะเป็น 1.3 คนในปี 2583

นอกจากนี้ ภาพรวมประชากรไทยกำลังอยู่ในสภาพ “คงตัว” คือ จำนวนประชากรจะไม่เพิ่มขึ้นไปจากที่มีอยู่ในปัจจุบันที่มีจำนวน 64 ล้านคน (ไม่นับรวมแรงงานย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน) ตลอดช่วง 30 ปีข้างหน้า โดยประชากรไทยจะมีจำนวนสูงสุด 66.4 ล้านคน ในปี 2569 หลังจากนั้นจะปรับลดลงอยู่ในสภาพคงตัว

แนวโน้มโครงสร้างประชากรในอีก 30 ปีข้างหน้า แตกต่างจากในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก

โดยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว คือ จากประมาณ 26 ล้านคน ในปี 2503 เพิ่มขึ้นเป็น 63.8 ล้านคนได้ในปี 2553

ภายใต้สถานการณ์จำนวนประชากรเริ่มคงที่ เด็กเกิดน้อยลง คนแก่เพิ่มขึ้นเร็ว ย่อมส่งผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อาทิ ด้านแรงงาน ด้านการศึกษา ด้านฐานะการคลัง ด้านสิ่งแวดล้อม และสวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ปัญหาโครงสร้างประชากรกำลังเป็น “โจทย์” ท้าทายประเทศไทย และเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกๆ คน ที่ต้องเตรียมตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม 1.เสวนา “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ อนาคตประเทศไทยไปทางไหน” … ถ้าให้รัฐทำ เจ๊งแน่!
2.ThaiPublica Forum “สุมหัวคิด” หนี้สาธารณะรัฐบาลไทย โอกาส-ความเสี่ยงกับภาวะ fiscal Cliff ในอนาคต