ThaiPublica > คอลัมน์ > 3 Body Problem เจาะลึกไอเดียอาร์ต

3 Body Problem เจาะลึกไอเดียอาร์ต

30 มีนาคม 2024


1721955

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับซีรีส์ 3 Body Problem ได้ที่ลิงค์นี้https://thaipublica.org/2024/03/series-society-56-3-body-problem/

เป็นไปดังคาด ทันทีที่ 3 Body Problem เวอร์ชั่นเน็ตฟลิกซ์ปรากฏแก่สายตาชาวโลก นอกจากจะได้รับกระแสวิจารณ์ในเชิงบวกแล้วก็ยังกลายเป็นที่ถกเถียงกันอื้ออึงทั้งในด้านการดัดแปลงจากนิยายชื่อดังจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ในด้านข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และในด้านการเมืองที่สะท้านสะเทือนโดยเฉพาะประเด็นหลังสุดที่กระทบความสัมพันธ์กับจีนอย่างหนัก เนื่องจากเน็ตฟลิกซ์ไม่สามารถให้บริการในจีนได้ เพราะกฎหมายปิดหูปิดตาของเผด็จการจีน แต่แน่นอนว่าซีรีส์ดังระดับนี้ไม่มีทางรอดหูรอดตาจีนไปได้ แถมสลิ่มในกะลาจีนยังช่วยกันปั่นแชร์คลิปสั้น ๆ ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมไปจนสนั่นทั่วเว่ยป๋อ (Weibo แพล็ตฟอร์มที่มีใช้เฉพาะจีน เพราะจีนห้ามใช้แพล็ตฟอร์มต่างชาติ เนื่องจากไม่อยากให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารความจริงในด้านอื่น ๆ ที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้รู้)

รวมไปถึงในแง่การดัดแปลงที่ตัวเบนิออฟออกมาบอกว่าจะซื่อสัตย์ต่อจิตวิญญาณของนิยายเล่มนี้ ก็ถูกแฟนนิยายโจมตีอย่างหนักเช่นกัน แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะถ้าคุณรู้จักผลงานของพวกเขา ตอนทำ Game of Thrones ที่แม้ว่าแฟนนิยายจะรู้เรื่องกันหมดแล้ว แต่กลับยังตื่นตะลึงต่อหลากหลายเหตุการณ์ที่ไม่มีในนิยาย แล้วอันที่จริงคำตอบของเบนิออฟก็ไม่ได้ใช่คำโกหก เพราะเขา “ซื่อตรงต่อจิตวิญญาณของนิยาย” จริง ๆ เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องเถรตรงตามนิยายทุกตัวอักษร มันเลยเหมือนเป็นจักรวาลใหม่ที่คนดูได้สนุกไปกับวิธีการเล่าเรื่องใหม่โดยใช้หัวใจหลักของเรื่องเดิมไปสู่เหตุการณ์ทั้งที่มีและไม่มีในนิยาย แต่ทั้งหมดล้วนไปสู่ธีมที่นิยายนี้ต้องการจะสื่อ

เจสส์ หง ผู้รับบทเด่นเป็น จินเฉิง นักฟิสิกส์ตัวเดินเรื่องกล่าวว่า “ซีรีส์ไม่ได้ทำให้จุดเริ่มต้นของนิยายเสียหาย ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงหลายส่วนทำให้ประเด็นของเรื่องสมจริงและหนักแน่นขึ้น และตั้งคำถามถึงสังคมในสมัยนี้ต่อสิ่งที่มนุษย์เราเคยกระทำต่อกันในอดีต ทุกสิ่งทุกอย่างในหนังสือที่อ้างอิงถึงการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น เราในยุคนี้อาจจะมองว่าโหดเหี้ยม แต่ในประวัติศาสตร์นั้นโหดเหี้ยมยิ่งกว่า แล้วมันก็มีอยู่ในนิยายมาตั้งแต่แรก (นิยายเดิมอยู่เกือบจะกลางเล่ม และไม่ได้ลงรายละเอียดมาก แต่ซีรีส์ใช้เป็นฉากเปิดและสมจริงมาก) แต่ส่วนที่เหลือคือการทำให้เรื่องราวเป็นสากลมากขึ้น ซีรีส์นี้กำลังเล่าชะตากรรมของโลกที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ตัวละครและนักแสดงต่างก็มีเชื้อชาติต่างกันไป และนี่คือหัวใจหลักของเรื่อง ไม่ใช่การผูกขาดเอาไว้ที่จีนเพียงอย่างเดียว ฉันคิดว่ามันเป็นไอเดียที่เยี่ยมมาก”

แม้ว่าจีนจะปิดกั้นเน็ตฟลิกซ์ แต่ชาวจีนในจีนมากมายก็พยายามจะหาช่องทางธรรมชาติมาดูกันจนได้ โดยเฉพาะการดูผ่าน VPN (เครือข่ายปลอดภัยแบบส่วนตัว) ตามรายงานของเดอะการ์เดียน พบว่าแฮชแท็ก #3BodyProblem ได้รับการอ่าน 2.3 พันล้านครั้ง และมีการพูดคุยกันมากกว่า 1.424 พันล้านครั้งบน Weibo

ส่วนเบนิออฟ หัวเรือใหญ่ของทีมผู้จัดซีรีส์นี้ให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ว่า “เหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เราเคารพและซื่อสัตย์ต่อความเป็นจริงอย่างมากตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมงานสร้าง เพราะเราต้องการสื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ ไม่ใช่ในทางเหยียดหรือเหยียบหยามต่อชาวจีน แต่เราซึ่งเป็นมนุษย์ทุกคนสมควรจะได้เรียนรู้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต”

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ชาวจีนทุกคนจะสลิ่มกิมกลวง เดอะการ์เดียนยังรายงานด้วยว่า ผู้ใช้ Weibo ชาวจีนหลายรายมองว่าซีรีส์นี้ทำได้ดีกว่าฉบับของทางการจีนอย่างมาก และพวกเขาชื่นชมการพรรณนาถึงการปฏิวัติวัฒนธรรม ในแง่ความเคารพและซื่อตรงต่อแหล่งข้อมูลจริง และเป็นการดึงดูดผู้ชมทั่วโลกในวงกว้างขึ้นให้รู้จักเหตุการณ์นี้ให้มากขึ้น แม้แต่เว็บไซต์วิจารณ์ภาพยนตร์ของจีน Mtszimu ยังอวยด้วยว่า

“ไม่ใช่แค่การตีความผลงานต้นฉบับของ หลิวฉือซิน ใหม่เท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อวรรณกรรมนิยายวิทยาศาสตร์ระดับโลกอีกด้วย”
ผู้ใช้เว่ยป้อมากมายสนับสนุนคอมเม้นต์ที่ว่า “ทุกคนมีการตีความเวอร์ชันนี้ในจินตนาการแบบของตนเอง ทัศนคติส่วนตัวของฉันคือเป็นกำลังใจให้ทีมงาน เพราะ 3 Body Problem เป็นผลงานดั้งเดิมของชาวจีน ที่ตอนนี้มันได้ออกไปสู่ชาวโลกแล้ว ฉันหวังว่าความฮิตนี้จะเป็นเสียงสะท้อนให้ชาวโลกรู้จักเรา และหวังว่าในอนาคตจะมีเสียงสะท้อนแบบนี้เพิ่มมากขึ้นจากผลงานใหม่ ๆ อื่น ๆ”

3 Body Problem ถือเป็นซีรีส์ทุบประวัติศาสตร์ทุนสร้างสูงที่สุดเท่าที่เน็ตฟลิกซ์เคยลงทุนมา ถ้าย้อนกลับไปที่ Game of Thrones ซึ่ง HBO ลงทุนเอาไว้ตอนนั้นก็นับว่าสูงแล้วในระดับ 6-8 ล้านต่อตอน แต่เราขอบอกว่า 3 Body Problem สูงกว่านั้นมาก คืออย่างน้อยตอนละ 20 ล้านดอลลาร์ (ราว 728 ล้านบาท รวมกัน 8 ตอนคือ ราว 5,800 ล้านบาท)

ทุนสร้างสูงขนาดนี้แฟนผู้จัดซีรีส์กลุ่มนี้ไม่ว่าจะ เดวิด เบนิออฟ, ดีบี ไวส์ และเอล็กซานเดอร์ วู ย่อมรู้ดีว่าพวกเขามีความชัดเจนในแง่อาร์ตไดเร็คชั่นมาตั้งแต่ผลงานเก่า ๆ ทว่าที่ผ่านมางานของพวกเขาไปในทางแฟนตาซีย้อนยุค ไม่ว่าจะแฟชั่นยุคกลาง ปราสาทอลังการ มังกร ผีดูดเลือด หรือมนุษย์หมาป่า แต่ผลงานล่าสุดเรื่องนี้เป็นแนวไซ-ไฟ ที่จัดว่าห่างไกลกันสุดขอบจักรวาลเลยทีเดียว

แล้วอย่างที่เราจั่วหัวคอลัมน์กันเอาไว้ คราวนี้เราเลยจะพาไปเจาะลึกเบื้องหลังแนวคิดด้านศิลปะที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์นี้ ที่เราจะเน้นไปตั้งแต่ไตเติลเปิดเรื่อง ฉาก และศิลปะประกอบฉากชิ้นสำคัญ หรือสิ่งประดิษฐ์อันอ้างอิงมาจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฎในซีรีส์นี้

ซีเควนซ์ไตเติลทะลวงจักรวาล

เป็นที่รู้กันว่าทีมผู้จัดกลุ่มนี้ เป็นพวกใส่ในใจรายละเอียดของซีเควนซ์ไตเติลอย่างมาก ที่เราคนดูจะเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ Game of Thrones ที่นอกจากจะสื่ออารมณ์มวลรวมของซีรีส์แล้วยังโยนคำถามในประเด็นอันหลากหลายใส่หน้าคนดูด้วย

สำหรับ 3 Body Problem หัวเรือใหญ่ในส่วนนี้คือ แพทริค แคลร์ แห่ง Antibody สตูดิโอ ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แคลร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ ซึ่งเขามุ่งเน้นไปที่การกำกับภาพยนตร์ ก่อนจะไปเรียนต่อเฉพาะทางในด้านวิชวลเอฟเฟกต์และการออกแบบไตเติลโดยตรง จากโรงเรียนภาพยนตร์ โทรทัศน์ และวิทยุแห่งออสเตรเลีย จากนั้นเขาก็ทำงานที่ MTV และกับสถานีโทรทัศน์ ABC แห่งชาติของออสเตรเลีย ก่อนจะออกมาเป็นฟรีแลนซ์อยู่หลายปีจนเริ่มก่อตั้ง Antibody สตูดิโอของเขาเองในปี 2014 และเขามีบางผลงานที่ร่วมกับอีกสตูดิโอหนึ่งที่เด่นดังในด้านการทำไตเติล นั่นก็คือ Elastic ในซานตาโมนิกา ก่อนที่จะกลับมาที่ซิดนีย์อีกครั้งในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2020

แคลร์มีผลงานอันโดดเด่น มีลายเซ็นชัดเจน และคว้ารางวัลมาอย่างมากมายทั้งบาฟต้าและเอ็มมี่ แต่ที่เราขอแนะนำคือ (กดดูลิงค์ได้เลยบนชื่อเรื่อง) Westworld , True Detective Season 1และ Season 2, American Gods , The Man in the High Castle , The Crown และ Halt and Catch Fire

แพทริค แคลร์: “สำหรับโปรเจ็กต์นี้เราต้องเผชิญกับตัวอย่างที่หาได้ยากของแนว ‘ไซ-ไฟสายแข็ง’ ที่ดัดแปลงจากนิยายสุดเจ๋งไปสู่จอสตรีมมิ่ง เป็นซีรีส์ที่นำเสนอมุมมองที่แปลกและสมจริงของฟิสิกส์และแรงโน้มถ่วง การเดินทางข้ามจักรวาล 400 ปี ตัวผู้จัดต้องการซีเควนซ์ที่ต้องต่อสู้กับความมหึมาของอวกาศและความซับซ้อนที่ไม่ธรรมดาที่มีอยู่ในชีวิตจริงในดีกรีที่แตกต่างกันออกไป”

“นั่นแปลว่าเราต้องการถ่ายทอดในระดับเอ็กซ์โพเนนเชียล (พัฒนาการในการเพิ่มขีดความสามารถในแบบทวีคูณ หรือก้าวกระโดด) ของการเดินทางตั้งแต่ระดับอนุภาคจิ๋วหลิวของอะตอมไปยังระดับกาแล็กซีอันไพศาล ตัวผู้จัดมีความต้องการมากมาย เช่น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้สื่อไปถึงสิ่งที่เล็กกว่าโปรตอน หรือสื่อให้เห็นถึงอะตอม …แล้วอะตอมเอย โปรตอนเอย หน้าตามันเป็นอย่างไร”

“หรือในทางกลับกัน เราจะต้องใช้ภาพอะไรเพื่อที่คนดูจะได้เห็นเมฆออร์ต (Oort cloud ชั้นเมฆอันประกอบไปด้วยก้อนน้ำแข็งปนหินที่อยู่โดยรอบนอกของขอบระบบสุริยะ ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์สองปีแสง) เราคิดว่ามันคงจะเจ๋งมากหากสามารถแสดงภาพการเคลื่อนตัวไปไกลกว่าสเปกตรัมของแสงที่ทะลุทะลวงฝ่าอวกาศจนมองเห็นได้หมดจดทั่วเอกภพ และจินตนาการถึงสิ่งที่ตาเรามองเห็น ว่าหากเรามองเห็นแต่คลื่นแสงเท่านั้น แล้ว แรงโน้มถ่วง ความร้อน ไฟฟ้า เราจะมองเห็นมันด้วยตาได้อย่างไร การสนทนานี้จบลงที่ไตเติลนี้จะเป็นภาพซูมออกในระดับเอ็กซ์โปเนนเชียลในแบบก้าวกระโดดโดยเริ่มจากอณูเล็กจิ๋วที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแล้วซูมออกมาจบที่สุดขอบจักรวาล ซึ่งทั้งหมดมันฟังดูนามธรรมมาก ๆ แล้วไอ้ความนามธรรมนี้แหละเป็นโจทย์หินที่ผมได้รับจากผู้จัดว่ามันจะต้องเป็นสันหลังของซีเควนซ์ไตเติ้ลของซีรีส์เรื่องนี้”

และนี่คือผลงานไตเติลสุดเจ๋งที่ใช้ภาพนามธรรมเล่าหัวใจหลักของซีรีส์นี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม กล่าวคือมันไม่ได้มีโฉมหน้านักแสดงในไตเติลนี้ แล้วมันก็เป็นภาพที่มองทีแรกก็แสนจะไม่รู้เรื่อง เป็นแสงที่ก่อตัวเป็นรูปร่าง จากฝุ่นเล็กจิ๋ว ซูมออกเป็นลักณะเหมือนรังผึ้ง กลายเป็นรอยแตกเหมือนหินผา ก่อนที่คนดูจะพบว่ามันคือภาพขยายของอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ ที่มีเส้นเลือดอันยุ่งเหยิงจนไปสู่จักรวาลอันยิ่งใหญ่และซับซ้อน

“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมสามารถพูดได้ก็คือการทำงานในโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่สำคัญของความจริงที่ว่าผู้คนและผู้ร่วมงานมีความสำคัญ ทีมดำเนินรายการซึ่งเป็นผู้นำโปรเจ็กต์นี้ ได้แก่ เดวิด เบนิฟฟ์, ดีบี ไวสส์ และอเล็กซานเดอร์ วู มีความอดทน ใจกว้าง และเป็นแรงบันดาลใจ พวกเขาได้พิสูจน์ร่วมกันว่าทีวีเป็นสื่อแห่งการทำงานร่วมกันขั้นสูงสุด”

“เราทำงานในโครงการนี้เสร็จไม่นานก่อนที่การปฏิวัติ AI จะเริ่มเปลี่ยนวิธีสร้างภาพของเรา และลำดับนี้ถือเป็นการสาธิตว่าไม่ว่าอัลกอริทึมจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร ปัจจัยมนุษย์นี่แหละที่ทำให้เกิดการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยม”

ออกแบบโลกและจักรวาล อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

เดโบราห์ ไรลีย์ ผู้ออกแบบงานสร้าง “ 3 Body Problem ” ไม่ใช่คนแปลกหน้าในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ เธอได้รับรางวัลเอ็มมี สี่ครั้งติดต่อกันจากผลงานของเธอใน “Game of Thrones” ซีรีส์ใหม่ของ เน็ตฟลิกซ์ คราวนี้จึงเป็นการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของทีมผู้จัดกับไรลีย์ เธอเล่าว่า “เป็นการแสดงที่กว้างใหญ่ไพศาลมากทั้งในสภาพแวดล้อมที่เย็นและร้อน ทั้งในด้านขอบเขตและขนาดของฉาก แต่ฉันไม่เคยรู้มาก่อนว่าคำพวกนี้หมายถึงอะไรจนกระทั่งได้มาทำ 3 Body Problem นี่แหละ”

เมื่อได้รับมอบหมายให้สร้างฉากปฏิวัติวัฒนธรรม ไรลีย์รู้ว่าเธอมีความรับผิดชอบมหาศาลในการแสดงภาพการปฏิวัติวัฒนธรรมให้ออกมาสมจริงที่สุด แม้ว่าเธอจะมีหนังสือเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิเหมาที่มีโปสเตอร์และรูปภาพอื่น ๆ ในยุคนั้นอยู่ในคลังอยู่แล้วก็ตาม แต่ ไรลีย์ พบว่าการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานของเธอเพื่อสร้างและจับภาพความถูกต้องนั้นมีคุณค่ามากกว่า เธอกล่าวว่า “ฉันพึ่งพาผู้กำกับอีพีนี้ ดีเรค เจิ้ง ผู้ซึ่งสามารถนำทางเราได้ และฉันโชคดีที่มีผู้กำกับศิลป์ชาวจีน แชปแมน คาน มาร่วมงานด้วย” สำหรับกราฟิกโฆษณาชวนเชื่อทั้งหมดในฉาก ไรลีย์ใช้แผนกกราฟิกของจีนเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะดังกล่าว”

ผู้เขียนขอเพิ่มเติมในส่วนที่ไรลีย์ไม่ได้เล่า จริง ๆ ในฉากเปิดเรื่องนี้มีโปสเตอร์อยู่ 3 ใบ แต่หนึ่งในนั้นค่อนข้างจะเล็ก ผู้เขียนจึงขอเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปสเตอร์สองใบที่เหลือทางซ้ายและขวาของฉาก ภาพซ้ายที่เป็นรูปท่านประธานเหมาชูมือ ภาษาจีนด้านล่างมีความหมายว่า “มุ่งไปข้างหน้าในกระแสคลื่นลมติดตามท่านประธานเหมา”

ใบนี้ตีพิมพ์ในปี 1967 แต่ตัวโปสเตอร์ตีพิมพ์ที่ฮ่องกง โดยบริษัทชื่อฮ่องกงเหวินเว่ยป๋อ อันเป็นสำนักพิมพ์ที่โปรจีน เป็นภาพวาดที่ถอดแบบมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1966 เมื่อท่านประธานเหมากล่าวต้อนรับพวกเรดการ์ด พร้อมกับสวมปลอกแขนแดงแบบเดียวกับเรดการ์ด ศิลปินผู้วาดชื่อ เสิ่นเหยาอี้ เกิดเมื่อปี 1943 ในปี 1961 เขาเข้าเรียนที่สถาบันกลางด้านวิจิตรศิลป์ ในปี 1966 เขาทำงานให้กับ สตูดิโอภาพประกอบลี่หัวแผนกผลิตสิ่งพิมพ์ของสถาบันกลาง ในปี 1992 เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทางการจีนจัดให้อยู่ในลิสต์ของกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะผู้เป็นเลิศในสายอาชีพ

ส่วนอีกใบเป็นภาพคนถือค้อน ตัวอักษรจีนแปลว่า “ทำลายโลกเก่า หล่อหลอมโลกใหม่” อันเป็นสโลแกนที่ปรากฏในซีรีส์นี้ ออกแบบโดยกลุ่มศิลปินภายในสถาบันกลางศิลปะแผนกภาพพิมพ์ ในปี 1967 และการทุบตีบนโปสเตอร์เหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์ แต่พวกเขาทุบทำลายทรัพย์สินของฝ่ายขวา รวมไปถึงวัดวาอารามอันเป็นความเชื่อของโลกเก่า

ภาพจากเหตุการณ์จริงเทียบกับในซีรีส์

ต้าจื้อเป้า

ต้าจื้อเป้า เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อแบบจีน มีความหมายถึง โปสเตอร์ตัวละครใหญ่ จูเลีย มัวร์เรย์ ศาสตราจารย์กิตติคุณสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ เอเชียตะวันออกศึกษา และการศึกษาศาสนา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจประเพณีทางศิลปะของโปสเตอร์ปฏิวัติในประเทศจีน เล่าให้ฟังว่า “โปสเตอร์ภาพวาดปฏิวัติของจีนเริ่มมีในช่วงทศวรรษ 1920 เพื่อส่งเสริมอุดมการณ์และนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นการส่งข่าวสารเพื่อปลูกฝังทัศนคติและพฤติกรรมที่พรรคต้องการ ต่อมาภาพพิมพ์ในช่วง 1930-1940 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ของเยอรมัน”

“จนกระทั่งภายหลังจากที่จีนก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949 แล้ว พวกเขาเริ่มปลูกฝังการศึกษาแบบล้างสมองแต่ใช้ชื่อระบบการศึกษานี้ว่า “สัจจนิยมสังคมนิยม” อันเป็นรากฐานของแนวคิดในการนำเสนอรูปภาพบนใบปิดโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ ตามแบบอย่างสหภาพโซเวียต ด้วยสไตล์ที่สมจริงแต่เกินจริง เป็นแนวทางหลักที่สถาบันศิลปะในจีนสอนกันในช่วงทศวรรษที่ 50 ด้วยข้อความเข้าใจง่าย ถ่ายทอดอุดมการณ์เชิงนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ผ่านภาพจำลองที่แสดงออกอย่างชัดเจน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมคล้อยตาม”

“โปสเตอร์ในช่วงสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมจึงมีความโดดเด่นมาก และทรงพลัง ด้วยท่าทางขึงขัง กระตือรือร้น และตัวละครหลักมีขนาดใหญ่ พวกเขาจะแสดงโฉมหน้าของศัตรู หรือที่เรียกว่า “ลัทธิแก้ (revisionism)” ในเชิงล้อเลียนด้วยการวาดพวกเขาเป็นร่างเล็ก ๆ ที่ถูกบดขยี้ด้วยหมัดหรือค้อนหรืออาวุธอื่น ๆ ที่แสดงถึงความชอบธรรมของชนชั้นกรรมาชีพ จนกระทั่งเมื่อลัทธิเหมา ผู้เปรียบเสมือนพระเจ้าเริ่มโดดเด่นขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีการวาดศรีษะของเหมา หรือวาดให้ใหญ่ หรือมีรัศมีแสงส่องเรืองรอง และอยู่ในตำแหน่งที่สูงใหญ่เหนือกว่าคนทั่วไป หรือมีผู้ติดตามผู้อุทิศตนเพื่อเหมาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับคำสอนของเหมาในสมุดปกแดง จะพบเห็นได้ทั่วไปบนโปสเตอร์”

เครื่องหัวสำหรับเกมวีอาร์

อีกสิ่งที่ไรลีย์ออกแบบคือเครื่องหัวสำหรับเล่นเกมวีอาร์บนดาวซานถี่ ไรลีย์เล่าว่า “ทีมผู้จัดต้องการหูฟังที่เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นเสียงและการมองเห็นจึงเข้ามาทางอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว…ชุดหูฟังทำจากโลหะและเคลือบด้วยของเหลวเคลือบกระจก แต่ปัญหาคือเวลาถ่ายทำผิวกระจกนี้จะสะท้อนภาพกองถ่ายออกมาด้วย สุดท้ายเราตัดสินใจให้ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์รับไม้ต่อในการทำหน้าที่กำจัดภาพที่ไม่ต้องการเหล่านี้ออกไปด้วย”

เครื่องตรวจจับอนุภาคผี

พวกไม่ใช่เนิร์ดวิทย์อาจจะเกาหัวแกรกในตอนต้นเรื่องที่เล่าว่าลูกสาวของ เย่เหวินเจี๋ย ตัดสินใจฆ่าตัวตายลงไปในบ่อประหลาดที่ดูสูงและลึกมาก สิ่งนี้คือ เครื่องตรวจจับอนุภาคผี (Neutrino detector) ถูกออกแบบมาเพื่อค้นหาและตรวจจับ “อนุภาคผี” เพื่อนำมาศึกษา มีขนาดมหึมา มักสร้างในชั้นใต้ดิน อันที่จริงมีวิธีตรวจจับมากมาย แต่ถ้าดูจากในซีรีส์ที่ด้านล่างเป็นน้ำ แปลว่าเป็นเครื่องที่เรียกว่า “ซุปเปอร์ คามิโอะคันเดะ (Super Kamiokande ย่อมาจาก Super-Kamioka Neutrino Detection Experiment / SK หรือ Super-K)” ตั้งอยู่ ณ หอดูดาวคามิโอกะ ใต้ภูเขาอิเคโนะ ใกล้เมืองฮิโตะ จังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยหลอดโฟโต้ทรูป (ที่อื่นเช่น เมืองซัตเบอร์รี่ ในคานาดา เป็นทรงกลม)

อนุภาคผี มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า นิวตริโน (Neutrino) เป็นหนึ่งในอนุภาคที่เร้นลับที่สุด มันสามารถทะลุทะลวงผ่านโลกของเราไปได้ราวกับมันไม่มีอยู่จริง มันจึงได้รับฉายาว่า “อนุภาคผี” ตัวมันเองแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสสารอื่นใดบนโลกนี้เลย แต่เป็นอนุภาคที่ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกพบมากที่สุดในเอกภพ นักฟิสิกส์ตั้งสมมติฐานว่า “ในทุกหนึ่งวินาที อนุภาคผีนี้ ประมาณ 100 ล้านล้านนุภาคจากนอกโลก จะเดินทางผ่านร่างกายของเรา ผ่านโลกของเรา โดยไม่ทำอันตรายใดใดเลย”

แต่เพราะพฤติกรรมนี้ของมันเองด้วยเช่นกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับมันมาวิเคราะห์ได้ยากยิ่ง การศึกษามันมีความสำคัญต่ออนุภาคเชิงฟิสิกส์, การศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และหลุมดำ รวมถึงจักรวาลวิทยาและทฤษฎีบิ๊กแบง รวมถึงทฤษฎีลี้ลับอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ มิติทับซ้อน

นิวตริโนถูกค้นพบในปี 1930 โดย วูล์ฟกัง เปาลี นักฟิสิกส์ควอนตัม ชาวออสเตรีย (หนึ่งในผู้บุกเบิกฟิสิกส์ควอนตัม และเคยคว้ารางวัลโนเบิลสาขาฟิสิกส์ ในปี 1945 ด้วยผลงานเลื่องชื่อทางด้าน ทฤษฎีสปิน เรียกว่า หลักการกีดกันของเปาลี / Pauli exclusion principle อันเป็นหลักการทางกลศาสตร์ควอนตัม -ผู้เสนอชื่อของเขาคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์) โดยในเวลานั้นเปาลีเรียกมันว่า “นิวตรอน” อันเป็นชื่อที่ซ้ำกับอนุภาคย่อยของอะตอม ภายหลังจึงถูกแก้ไขโดย เอนริโก เฟอร์มี (นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์รางวัลโนเบลชาวอิตาลี) ในที่ประชุมทางวิชาการในปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 1932 ซึ่งเปาลีเห็นชอบด้วย

อย่างไรก็ตามในยุคของเปาลี นิวตริโน ยังเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น กว่าที่มนุษย์เราจะตรวจจับมันได้จริง ๆ คือในปี 1971 เมื่อนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสแอละมอส คลายด์ โคแวน และเฟรเดอริก รีนส์ ได้ตรวจจับอนุภาคนิวทริโนสำเร็จเป็นครั้งแรก จากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ทำให้ รีนส์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1995 ส่วนโคแวนเสียชีวิตไปก่อนนี้ จึงไม่ได้อยู่ชื่นชมรางวัล

ศิวนาฏราช

ในซีรีส์จะเห็นว่ามีไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งที่ภาพจงใจจะให้เห็น ศิวนาฏราช (Shiva’s dance หรือ Nataraja) ประติมากรรมนี้ปรากฏที่เซิร์น (CERN) ครั้งแรกในวันที่ 18 มิถุนายน 2004 อันเป็นศูนย์วิจัยฟิสิกส์อนุภาคแห่งยุโรปในกรุงเจนีวา ศิวะ ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “เทพผู้สร้างและทำลายล้าง” โดยรัฐบาลอินเดียเป็นผู้มอบให้เซิร์น เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างศูนย์วิจัยนี้กับอินเดีย อินเดีย เป็นหนึ่งใน รัฐภาคีของ เซิร์น และ เซิร์น เป็นองค์กรพหุวัฒนธรรมที่ต้อนรับนักวิทยาศาสตร์จากกว่า 100 ประเทศและ 680 สถาบัน การเลือกของขวัญชิ้นนี้ได้รับการไตร่ตรองมาอย่างลึกซึ้ง เพราะการอุปมาการร่ายรำของศิวะกับจักรวาลของอนุภาคมูลฐาน ได้รับการสังเกตและวิเคราะห์โดยนักฟิสิกส์ของ CERN ถูกกล่าวถึงครั้งแรกโดย ฟริตจ๊อฟ คาปรา นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย ในบทความชื่อ “ศิวนาฏราช:มุมมองของชาวฮินดูเกี่ยวกับสสารในแสงของฟิสิกส์สมัยใหม่” ตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทความทางวิชาการ Main Currents in Modern Thought ในปี 1972 ต่อมาถูกรวบรวมในผลงานรวมเล่มของ คาปรา เอง ในเล่ม The Tao of Physics ในปี 1975 และยังคงตีพิมพ์อีกกว่า 40 เวอร์ชั่นภาษาทั่วโลก แผ่นโลหะจารึกบนศิวนาฏราชรูปนี้ ปรากฎข้อความจากบทความของคาปราว่า

อนันดา เค. คูมารัสวามี มองเห็นจังหวะ ความงาม พลัง และความสง่างามที่ไม่มีใครเทียบได้ของนาฏราช เคยเขียนไว้ว่า “นี่เป็นภาพกิจกรรมของพระเจ้าที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งศิลปะหรือศาสนาใด ๆ จะพึงอวดได้” เมื่อเร็วๆ นี้ Fritjof Capra อธิบายว่า “ฟิสิกส์ยุคใหม่ได้แสดงให้เห็นว่าจังหวะของการสร้างและการทำลายล้างไม่เพียงแต่ปรากฏให้เห็นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล (กลียุค) ในการเกิด การตายของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังเป็นแก่นแท้ของสสารอนินทรีย์ด้วย” และว่า “สำหรับนักฟิสิกส์ยุคใหม่แล้ว ระบำของพระศิวะก็คือระบำของอณูธาตุย่อย”

เป็นไปตามที่คาปราสรุปไว้ว่า “เมื่อหลายร้อยปีก่อน ศิลปินชาวอินเดียได้สร้างภาพการร่ายรำของพระศิวะในชุดทองสัมฤทธิ์ที่สวยงาม ในยุคของเรานักฟิสิกส์ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดเพื่อพรรณนารูปแบบของการเต้นรำในจักรวาล คำอุปมาของการเต้นรำแห่งจักรวาลจึงเป็นการรวมตำนานโบราณ ศิลปะทางศาสนา และฟิสิกส์สมัยใหม่เข้าด้วยกัน”

ผู้เขียนหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า การร่ายรำศักดิ์สิทธิ์ของศิวะมีชื่อเรียกว่ามี 2 รูปแบบ คือ ลาสยา (Lasya) เป็นการร่ายรำอ่อนโยน เกี่ยวข้องกับการสร้างโลก อานันทตาณฑวะ (Ananda Tandava) เป็นการร่ายรำที่เปี่ยมสุข เต็มไปด้วยพลัง รุนแรง เกี่ยวข้องกับการทำลายล้าง โลกทัศน์ที่เหนื่อยล้า โดยพื้นฐาน 2 รูปแบบนี้เป็นธรรมชาติของศิวะ เพราะเขาทำลายล้างเพื่อสร้างใหม่ ก่อนจะพังทลายมันอีกครั้งแล้วสร้างใหม่

อาภัสมาระหรือมุยลกะ

พลังทำลายล้างนี้ยังสามารถมองได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์ (Create) เพราะมันเป็นการสร้างชีวิตใหม่โลกใหม่หลังจากความตายและหายนะใหญ่ อันแสดงเป็นภาพกะโหลกบนเครื่องหัวของศิวะ อันหมายถึงมีชัยชนะเหนือความตาย งูที่ขดรัดรอบแขนแต่ละข้าง หมายถึงความเห็นแก่ตัวที่ถูกควบคุม ดวงตาที่สามแสดงความสัพพัญญู คือรู้ทุกสิ่ง เข้าใจในทุกวิถีทางความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ และสามารถแผดเผาไฟบรรลัยกัลป์ออกมาจากตานี้ได้ด้วย ผมของศิวะเป็นลอนหนาและแผ่กระจายไปทั่วสร้างความปั่นป่วนให้แผ่นดินโลกได้ด้วยพายุ และคลื่นยักษ์ รอบคอพันด้วยงูจักรวาลนามว่า “กุณฑาลินี” อันเป็นคำอุปมาถึงการปลุกศูนย์พลังงานทั้งเจ็ด หรือ จักระ

ศิวะจะถูกล้อมรอบด้วยวงแหวนแห่งไฟ ยืนอยู่บนแท่นดอกบัว ยกขาซ้าย (หรือขาขวาในบางกรณี) และทรงตัว เหยียบย่ำปีศาจที่แสดงตัวเป็นคนแคระ (อาภัสมาระหรือมุยลกะ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอวิชชา(ความไม่รู้)และคำพูดอันไม่เป็นสาระ(ที่ปีศาจตนนี้มักแสดงออกด้วยการแลบลิ้นยาว)ทางจิตวิญญาณ

อย่างไรก็ตามในปี 2016 ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้น เมื่อมีคลิปไวรัลเป็นภาพลัทธิประหลาดประกอบพิธีกรรมต่อหน้าประติมากรรมนี้ อันเป็นสถานที่เข้มงวดสำหรับผู้จะผ่านเข้าออกในศูนย์นี้ ภายหลังเซิร์นออกมาแก้เกี้ยวว่า “เซิร์น ยินดีต้อนรับผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์หลายพันคนจากทั่วทุกมุมโลกทุกปี และบางครั้งบางคนก็ปล่อยอารมณ์ขันมากเกินไป”

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่เซิร์นหลายคนออกมาประณามการเล่นตลกดังกล่าว ทำให้มีการสอบสวนภายในองค์กร เพราะรูปปั้นตั้งอยู่ใกล้ห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ ภายหลังจึงมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์นี้

ภาพประดับห้องเงียบ

ภาพนี้ปรากฏในฉากยูเอ็นอีพีสุดท้ายของ 3 Body Problem ข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ของยูเอ็นระบุว่า “นี่คือห้องที่อุทิศให้กับสันติภาพและผู้สละชีวิตเพื่อความสงบสุข เป็นห้องที่เงียบสงบซึ่งมีเพียงความคิดเท่านั้นที่จะพูดได้”

ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า Rorelse i rymden (Motion in Space จะแปลว่าการเคลื่อนไหวในพื้นที่ หรือ การเคลื่อนที่ในอวกาศ ก็ได้) เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนเปียก(เฟรสโก) โดยศิลปินชาวสวิส Bo Beskow ซึ่งได้รับการบริจาคจากมูลนิธิ Friends of the UN Marshall Field Foundation นำไปตกแต่งปลายแคบของห้องทำสมาธิรูปตัว V (108 x 78 นิ้ว, 2.75 x 1.98 เมตร) ทาสีด้วยสีน้ำเงิน สีขาว สีเทา และสีเหลือง รวมรูปทรงเรขาคณิตเข้าด้วยกัน เป็นตัวแทนของแสงแห่งท้องฟ้าที่ให้แสงสว่างแก่โลก การออกแบบโดยรวมของห้องมีความทันสมัย ฐานรากถูกเพิ่มเข้าไปในชั้นล่างหลายชั้นเพื่อรองรับแท่นบูชาแร่เหล็กขนาดใหญ่และตัวจิตรกรรมเอง

แผ่นแร่เหล็กหนัก 6 ตันที่อยู่กลางห้องได้รับการบริจาคโดยสวีเดนในปี 1952 (จากคิงคาร์ลที่ 6 กุสตาฟ) และเป็นตัวแทนของแท่นบูชาที่อุทิศให้กับ “พระเจ้าที่มนุษย์นมัสการภายใต้ชื่อมากมายและในรูปแบบต่าง ๆ กัน” มันเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และ “นำความคิดของเราไปสู่ความจำเป็นในการเลือกระหว่างการรื้อทำลายล้างและการก่อสร้างใหม่ ระหว่างสงครามและสันติภาพ เนื่องจากเหล็กสามารถเป็นตัวแทนของดาบ แต่ยังหมายถึงคันไถได้ด้วย”

ในโบรชัวร์ที่แจกในงานเปิดห้องทำสมาธิในปี 1957 เลขาธิการยูเอ็นคนที่สอง แด็ก ฮัมมาร์สโจลด์กล่าวว่า “เรามีศูนย์กลางของความสงบที่รายล้อมไปด้วยความเงียบภายในตัวเรา บ้านหลังนี้ซึ่งอุทิศให้กับการทำงานและการอภิปรายเพื่อสันติภาพควรจะมีห้องนี้ ห้องที่อุทิศให้กับความเงียบตัดขาดจากความรู้สึกภายนอก เพื่อให้ความสงบในความรู้สึกภายใน ของผู้คนต่าง ๆ ที่ศรัทธาจะอาศัยอยู่ที่นี่และด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาอื่นใด ที่เราคุ้นเคยในการทำสมาธิของเราได้” ในที่นี้ฮัมมาร์สโจลด์กำลังจะบอกว่าโลกมีศาสนามากมาย และมีสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไม้กางเขน จันทร์เสี้ยว ธรรมจักร ฯลฯ แต่สำหรับยูเอ็นซึ่งเป็นองค์กรสหประชาชาติ จึงขอเลือกภาพนี้ที่เป็นกลางใช้ร่วมกันสำหรับทุกศาสนา

มาเร อิมเบรียม

ในตอนท้ายของเรื่องหลังจากมีการปรึกษากับนักฟิสิกส์ทั่วโลก ข้อสรุปหนึ่งคือพวกเขาวางแผนที่จะตั้งฐานทัพบนดวงจันทร์ บนพื้นที่เรียกว่า มาเร่ อิมเบรียม เป็นที่ราบลาวากว้างใหญ่ ภายในเป็นแอ่ง เป็นหลุมอุกาบาตบนดวงจันทร์ เกิดจากการถูกชนของดาวเคราะห์ในช่วงที่ดวงจันทร์ยังอายุน้อย เคยมีการใช้คู่ยูเรเนียมตะกั่วหาอายุจากร่อยรอยนี้คำนวณว่าน่าจะราว 3.9 พันล้านปีก่อน

Mare Imbrium เป็นภาษาอิตาลีแปลว่า ทะเลแห่งฝน หรืออาจหมายถึง ทะเลน้ำตา ก็ได้ และเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ บนดวงจันทร์ ชื่อนี้ได้รับการตั้งโดยบาทหลวงเยซูอิตนักดาราศาสตร์ จิโอวานนี ริคซิโอลี ในปี 1651 ที่ผ่านมามนุษย์เคยไปลงจอดบริเวณนี้ 3 ครั้ง คือ ภารกิจยาน ลูน่า 17 ในปี 1970, อะพอลโล 15 ในปี 1971 และยานฉางเอ๋อ 3 ของจีน ในปี 2013

การขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์พัลปส์

หรือ การขับเคลื่อนด้วยพลาสมาแบบพัลส์ภายนอก ถูกเสนอขึ้นมาในตอนท้ายของซีรีส์ เนื่องจากวิทยาการภายในโลกได้หยุดลง ทางเลือกจึงต้อนย้อนกลับไปหาเทคโนโลยีเก่า ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสิ่งนี้ เป็นแนวคิดของ สตานิสลาฟ อูลัม นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวโปแลนด์ หนึ่งในนักวิทย์ผู้เคยเข้าร่วมโครงการแมนฮัตตัน (1942-1946) ในการค้นคว้าอาวุธนิวเคลียร์
เขาเสนอแนวคิดการขับเคลื่อนด้วยระเบิดนิวเคลียร์ ขึ้นมาในปี 1947 ในโครงการโอไรออนของนาซาร่วมกับกองทัพสหรัฐเพื่อหาความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนในรูปแบบนี้ อันเป็นหลักการง่าย ๆ แต่ทำได้ยากว่าแรงจากการระเบิดจะช่วยดีดตัวยานออกไป แต่ในที่สุดโครงการก็ถูกยกเลิกด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงสนธิสัญญาห้ามทดสอบในปี 1963 ซึ่งห้ามการระเบิดนิวเคลียร์ในอวกาศ เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับนิวเคลียร์ และผลกระทบของมัน

และสิ่งที่เราได้เห็นในซีรีส์ที่เป็นเหมือนกับร่มชูชีพหรือแมงกะพรุนขนาดใหญ่ในอวกาศ มันคือระบบขับเคลื่อนยานแบบเมดูซ่า (Medusa propulsion spacecraft) โดยมันถูกพัฒนาต่อยอดมา กล่าวคือ จุดเริ่มต้นของแนวคิดเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1940-1950s เริ่มจากการคำนวณศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีนี้ ทดลองในห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอะลามอส (LANL) ในรัฐนิวเมกซิโก ของสหรัฐ อันเป็นสถาบันใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลกและเป็นฐานรากในการค้นคว้าระเบิดปรมาณู ก่อนจะต่อยอดไปเป็นโครงการโอไรออน

ซึ่งแม้ว่าโอไรออนจะปิดตัวลง ทว่าก็เกิดโปรเจ็กต์เดดาลัสในปี 1973-1978 โดย สมาคมดาวเคราะห์แห่งอังกฤษ (BIS) เพื่อออกแบบยานอวกาศไร้คนขับระหว่างดวงดาวที่สามารถไปถึงดาวฤกษ์ใกล้เคียงได้ภายในเวลาประมาณ 50 ปี กระทั่งมาถึงการขับเคลื่อนแบบเมดูซ่า อันเป็นจินตนาการโดย จอห์นเดล โซเลม นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ที่คิดขึ้นในช่วงยุค 90s อันเป็นการใช้ใบเรือขนาดใหญ่นำหน้า โดยต่อด้วยสายเคเบิล จากนั้นก็ยิงระเบิดนิวเคลียร์ไปข้างหน้าเพื่อระเบิดระหว่างตัวมันเองกับใบเรือ การแล่นยานจะถูกเร่งโดยพลาสมาและแรงกระตุ้นโฟโตนิก ทำให้สายโยงตึงขึ้น และผลิตกระแสไฟฟ้าที่รอกยานอวกาศซึ่งตัวยานจะใช้ไฟฟ้านี้บางส่วนเพื่อหมุนตัวมันเองและเร่งความเร็วเพื่อดีดตัวยานออกไป

น่าจะเกือบหมดแล้วสำหรับงานศิลปะและงานออกแบบต่าง ๆ ที่น่าในซีซั่นแรก อย่างไรก็ตามแม้ว่าเบนิออฟตั้งธงไว้ว่าจะทำเรื่องนี้ให้จบใน 3 ซีซั่นเป็นอย่างน้อย และดูเหมือนจะประสบความสำเร็จพอสมควร แต่เน็ตฟลิกซ์ก็ยังไม่มีประกาศสร้างภาคต่อออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งคงต้องคิดหนักหน่อยเพราะว่าทุนสร้างนั้นสูงเหลือเกิน โดยเฉพาะการจะไปถึงเล่มสุดท้าย Death’s End อันเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนที่สุด เกิดขึ้นในหลายยุค

โดยลากเรื่องมาตั้งแต่ปี 1453 ในช่วงการล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิล ก่อนจะวกกลับไปเหตุการณ์ของลูกสาวของเย่เหวินเจี๋ยก่อนเธอจะฆ่าตัวตาย ไปจนยุคที่มนุษย์จะสร้างอาณานิคมในอวกาศไปสู่การเดินทางสู่กาแล็กซี่อันไกลโพ้นอีกนับไปอีกหลายร้อยปี เน็ตฟลิกซ์ก็น่าจะก่ายหน้าผากไม่น้อย คงต้องลุ้นกันหนักหน่อยว่าสุดท้ายจะไปลงเอยกันอย่างไร