ThaiPublica > เกาะกระแส > 3 นักเศรษฐศาสตร์ชี้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้คอร์รัปชัน หนุนทะลายทุนผูกขาด

3 นักเศรษฐศาสตร์ชี้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้คอร์รัปชัน หนุนทะลายทุนผูกขาด

30 พฤษภาคม 2023


วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 สถาบันคึกฤทธิ์ ได้จัดให้มีการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” ที่สถาบันคึกฤทธิ์ ซอยงามดูพลี โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ดำเนินการอภิปราย

การอภิปรายในครั้งนี้มีบุคคลในวงการเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทย อาทิ ดร.ดอน นาครธรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการอำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังและซักถาม

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวถึงเหตุผลที่จัดการอภิปรายขึ้นว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤติการณ์ในโลกทั้งการระบาดของโควิดและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็หนีไม่พ้น แต่ขณะนี้การระบาดของโควิดบรรเทาลง รัฐบาลรู้วิธีจัดการกับโควิด สงครามรัสเซียยูเครนก็มีทีท่าจะไม่ขยายใหญ่ขึ้นกว่านี้ หลายฝ่ายคลายกังวลและสบายใจมากขึ้น อีกทั้งมีรายงานว่านักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่ความจริงแล้วความผันผวนทางเศรษฐกิจในโลกยังมีอีกมาก วิกฤติน้ำมันยังอยู่ หนักเบาต่างกันไป เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ เศรษฐกิจบางประเทศยังถดถอย นอกจากนี้ Geopolitic แบ่งออกเป็นสองค่ายทำให้เกิดสงครามการค้าที่รุนแรง

“สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้จึงได้เชิญกูรูเศรษฐกิจสองท่านที่ผมนับถือ และรู้ว่ามีความเที่ยงธรรมในการให้ความเห็นมาเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรในโลกนี้ และมีผลกระทบเรา และฉายภาพให้เห็นว่าเศรษฐกิจมหภาคเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนตรงไหนที่ถูกกระทบ และเราจะรับมืออย่างไร” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ฯ

เงินเฟ้อปัญหาหลักฐานะการคลังจำกัดรัฐบาลช่วยไม่ได้มาก

ดร.ณรรงค์ชัย อัครเศรณี แบ่งการให้ความเห็นออกเป็นสองเรื่องคือ สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งในรอบแรกได้พูดถึงสภาพเศรษฐกิจ โดยเริ่มว่า วันนี้จะคุยในหัวข้อปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่ แต่ตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจไทยก็เจออยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลปัจจุบันหรือรัฐบาลชั่วคราว กว่าจะได้รัฐบาลก็น่าจะอีกสองเดือน ฉะนั้นในช่วงสองเดือนนี้เราต้องทำอะไรหลายอย่าง ปีนี้มีเรามีเรื่องที่ต้องทำเยอะ การพูดคุยในวันนี้ก็ขอแบ่งออกเป็นในช่วงแรกจะพูดถึง ปัจจุบัน และช่วงต่อไปเป็นเรื่องโครงสร้าง

“แต่ก่อนที่จะเริ่มเริ่มปัจจุบัน ขอบอกว่าคุณชาย(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร) สนใจและห่วงใยปัญหาชาติบ้านเมืองตลอดมา ตอนที่มีปฏิวัติปี 2014 เราได้รับมอบหมายจากคสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ให้เตรียมประเด็นสำคัญ(agenda) ว่าเมื่อมีรัฐบาลคสช.แล้วจะต้องทำอะไรบ้าง ตอนนั้นได้รับมอบหมายว่าจะรัฐบาลอยู่ไม่นาน แต่ agenda นั้นทำได้ส่วนเดียว ถ้าหากว่าทำได้ครบปัญหาวันนี้ก็น้อยกว่าเดิมเยอะ หลายเรื่องที่จะทำตอนนี้ ทั้งดิจิทัลอีโคโนมี agenda มีตั้งแต่ตอนนั้น แต่ไม่ได้ทำ ทำบางเรื่อง แต่หลายเรื่องไม่ได้ทำ”

ดร.ณรรงค์ชัย กล่าวว่า ภาพในตอนเตรียมการกับวันนี้ต่างกัน เป็นภาพคนละภาพ ที่เตรียมการในวันนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจไม่เลว ดูจากตัวชี้วัด ช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1-2% ต่อปี และขยับขึ้นเล็กน้อยปีนี้ 1%กว่า ดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ 1.75% คาดว่าอาจจะปรับเพิ่มอีกรอบเดียว 0.25% เป็น 2%

“ราคาน้ำมันดิบตอนนั้นก่อนปฏิวัติเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พอเข้าช่วงปฏิบัติน้ำมันเริ่มลงและลงมาเยอะ 60 ดอลลาร์มาอยู่ที่ระดับ 30 ดอลลาร์ ก็ได้แก้ปัญหา กองทุนพลังงานตอนที่ผมเข้าไปรับหน้าที่ติดลบ 2 หมื่นล้าน ตอนออกมาบวก 4 หมื่นล้าน มีการแก้ไขเรื่องภาษี เรื่องโครงสร้างทั้งหมด แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันต้นปีเกิน 100 ดอลลาร์ แม้ขยับลงมาบ้างแต่อยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากสาเหตุสงครามรัสเซีย” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

ส่วนการท่องเที่ยวปี 2013 มีจำนวน 26 ล้านคน ปี 2014 ก็ราว 25-26 ล้านคนและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงก่อนโควิดมีจำนวน 39 ล้านคน ตอนนี้(พ.ค.2566)เพิ่งกลับมา ไตรมาสแรก 6.5 ล้านคน แสดงว่าท่องเที่ยวฟื้น การท่องเที่ยวดีแน่นอน และการคาดการณ์ว่า GDP จะโต 3-4% ก็มาจากภาคบริการซึ่งไตรมาสแรกก็ขยายตัวเกินกว่า 5%

ดุลบัญชีเดินสะพัดตอนนั้นติดลบเล็กน้อยจากนั้นเป็นบวก แต่ในช่วงโควิดกลับติดลบอีกครั้ง ปีนี้น่าจะบวกเพราะภาคบริการกลับมาขยายตัว

“บรรยากาศวันนี้กับวันนี้ชัดเจนว่าต่างกันมากคือเงินเฟ้อ ตอนนั้นไม่มีเงินฟ้อ ตอนนี้มีเงินเฟ้อ จะเป็นเท่าไร ก็พิจารณากัน และจะแก้ไขอย่างไร ดอกเบี้ยตอนนั้นต่ำ ตอนนี้ปรับขึ้นแล้ว จะขึ้นไปแค่ไหนอย่างไร ค่าเงินบาทจะขึ้นจะลงหรือผันผวนแค่ไหน ภาวะการมีงานทำก่อนโควิดกับหลังโควิด ปัจจุบันเป็นอย่างไร เป็นโจทย์ที่เราควรจะดูในปัจจุบัน เพราะช่วงโควิดงานหายไปเยอะ ตอนนี้งานกลับมาแค่ไหน และค่าจ้างจะเพิ่มทันงินเฟ้อหรือไม่”

“เงินเฟ้อถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในวันนี้และเวลานี้ ค่าครองชีพ ของแพง เป็นประเด็นของประชาชน ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม ค่าจ้างจะขึ้นทันหรือไม่ ข้อสัญญาของพรรคต่างๆเรื่องนี้ ต้องมีวิธีการที่จะกำหนดค่าจ้าง เพราะฉะนั้น ทั้ง 5 ข้อขอพูดอย่างเที่ยงธรรม ไม่เชียร์ใครทั้งสิ้น คิดว่า ของแพงจะทรงตัว ไม่ลง แต่เงินเฟ้อขึ้นไม่มาก เพราะเหตุผลคือเราไม่ได้ปล่อยให้ของบางอย่างขึ้นราคาก่อนหน้า แต่ตอนนี้ก็ปล่อยให้ขึ้นบ้าง เงินเฟ้อ 2-3% แปลว่าค่าครองขีพอยู่ในระดับสูง ปีที่แล้ว 6% กว่า ปีนี้ 2% กว่า บวกกัน 9% ค่าครองชีพแพงขึ้นชัดเจน”

ดร.ณงค์ชัยกล่าวว่า…

ประชาชนจะรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงมาก ประชาชนก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข ให้การช่วยเหลือและเรียกร้องให้คุมราคา ก็ขอให้สื่ออย่าไปรายงานเชียร์ให้รัฐบาลคุมราคา ประเทศไทยคุมราคาไม่ได้

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“ผมประเมินดูว่า ประชาชนเรียกร้องขนาดนี้ รัฐบาลจะสนองได้แค่ไหน ผมบอกว่า…ได้น้อย จะสนองได้เท่าไรขึ้นอยู่กับฐานะการคลังของรัฐบาล กับฐานะของทั้งประเทศ ประเทศมีเงิน แต่รัฐบาลไม่มีเงิน ฐานะการคลังไม่ดี”

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า เรื่องราคาพลังงานคงช่วยไม่ได้มาก ค่าแรงอาจจะเจรจากัน ขยับได้บ้าง เหตุผลที่ฐานะการคลังมีข้อจำกัด เพราะหนี้สาธารณะชนเพดาน แม้ขยายเป็น 70% ของ GDP แต่ต้องปรับลงมาที่ 60% ของ GDP หลังจากสิบปี ดังนั้นที่รัฐบาลบอกว่าจะให้หลายอย่าง ก็ไม่มีเงินที่จะให้

ฐานะการเงินประเทศถือว่าดีมาก มีเงินทุนสำรองทางการเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศมีพอสมควร แต่หนี้ระยะสั้นน้อยมาก สภาพคล่องส่วนเกินมีมากเห็นได้จากดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ เงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์สูงถึง 18-19% เกินเกณฑ์ 8.5% และแบงก์ชาติต้องออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง 2.3 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ตลาดทุนไทยก็นับว่าดีมาก มูลค่าตลาด(market Capitalization)สูง 18-19 ล้านล้านบาท ตลาดพันธบัตรมีมูลค่าตลาด 16 ล้านล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรของรัฐบาล 11 ล้านล้านบาท ภาคเอกชนออกพันธบัตรได้ถึง 4.5 ล้านล้านบาท และยังออกได้อีก ภาคเอกชนไม่ติด อาจจะสะดุดบ้าง แต่ยังมีเงิน

“ส่วนที่บอกว่าหนี้ประชาชนเยอะนั้น จะลำบาก หนี้ของประชาชนไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง ทำให้เศรษฐกิจหงอย แต่ไม่พัง แต่หากสถาบันการเงินพังเศรษฐกิจพัง ถ้าการคลังพังเศรษฐกิจพัง เมื่อเป็นเช่นนี้ แปลว่า รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่ทำให้เงินหมุนเวียนมากขึ้น ถ้าจะทำอะไร ต้องใช้เงินที่มี circulation มากขึ้น”

ส่วนที่มีการประกาศนโยบายแจกเงินประชาชนคนละหมื่นบาท ผลของนโยบายคือ ทุกคนทำบล็อกเชนเป็นกันทั้งหมดทั่วประเทศเพื่อเงินหมื่นบาท และต้องเรียกร้องรัฐบาลว่าต้องมีอินเทอร์เน็ต มีไวไฟเข้าบ้าน “ผมชอบ ไม่ใช่เพราะแจกเงินแต่ชอบในแง่นโยบาย เพราะเป็นดิจิทัลอิโคโนมีโดยบังคับ”

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ถ้าจะใช้เงินก็ต้องเป็นการใช้จ่ายเงินทีมีตัวคูณ(multiplier)สูง และสร้างรายได้ให้แก่รัฐด้วย ซึ่งหลายอย่างสามารถทำได้ โดยไม่ต้องคอยรัฐบาลใหม่ เช่น อำนวยความสะดวกการลงทุนภาคเอกชนโดยใช้ไอที ซึ่งขณะนี้กำลังทำอยู่ การส่งออกก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ถ้าใช้ไอทีทำได้หมด

ด้านโครงการของรัฐบาลที่ช้า ไม่เสร็จ หรือสร้างไปไม่ได้ใช้ ไม่พร้อมใช้ โครงการหลายอย่างต้องเร่งทำให้เร็วขึ้น รัฐบาลใหม่มาก็ทำของพวกนี้ให้เสร็จก็จะช่วยได้

เก็บภาษีคนรวยช่วยคนจนมี Trade-off

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ภาพรวมจากการเลือกตั้ง ทำให้สะท้อนคนไทยรู้สึกว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจขยายตัวไม่ค่อยดี ขยายช้า รวยกระจุกจนกระจาย จึงเป็นกระแสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผลการเลือกตั้งจึงผิดคาด พรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

คำถามที่ว่าแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าสรุปนโยบายเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เพราะจะเป็นตัวชี้นำว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันจะไปทางไหน ซึ่งสรุปได้ 2 ข้อ

หนึ่ง จะทะลายทุนผูกขาด สอง ทำรัฐสวัสดิการโดยการเก็บภาษีจากคนรวยไปให้คนจน เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดลง

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า จากการมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ รายจ่าย 6.5 แสนล้านบาท(พรรคก้าวไกลได้แจ้งรายละเอียด 52 นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และที่มาของการใช้งบประมาณต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ว่าใช้เงินงบประมาณมาดำเนินการ 650,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นรายจ่ายสำหรับคนแก่ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท และรายจ่ายสำหรับเด็กอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท คนแก่ได้มากกว่าเด็ก4 เท่า

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ต้องใช้การจัดเก็บภาษีอย่างมาก ซึ่งเป็นการเก็บภาษีคนรายเป็นส่วนใหญ่ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินรายแปลง และเน้นการเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นหลัก

“ประเด็นของผมคือ ในยุคตอนนี้ถ้าจะเราต้องการฟื้นเศรษฐกิจให้พื้นต่อเนื่อง เวลาเก็บภาษีจากกำไร มีผลต่อการอยากหรือไม่อยากลงทุน เป็นการเก็บภาษีจากกำไรจริง ซึ่งหมายถึงภาษีจากบริษัทใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วยหรือไม่ อันที่สองเก็บภาษี financial transaction tax ภาษีจากการซื้อขายหุ้น เก็บภาษี capial gain tax ด้วย เก็บภาษี wealth tax ด้วยทุกอย่าง ไม่มากก็น้อยจะกระทบกับผลตอบแทนการลงทุน ในยุคที่ต้องการให้เศรษฐกิจฟื้น ต้องคิดภาพดูด้วยว่า มันเป็น trade off มันไม่มีอะไรฟรีในโลกนี้ รวมทั้งเป็นเรื่องของ redistribution ด้วย”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ในภาวะปัจจุบันที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นค่อนข้างจะเร็ว แรงในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้อยูที่ 5.25% ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐล่าสุด ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคล(Personal Consumption Expenditure-PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญ) เดือนเมษายนสูงเกินคาด ตลาดจึงคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐในวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ ดอกเบี้ยจะขึ้นอีกรอบ

“ในยุคที่ทุนราคาแพงขึ้น แต่มาเก็บภาษีกำไรเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนจากการลงทุนก็ลง และถ้าบอกว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นด้วย ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนค่าแรงขึ้นไปอีก และถ้าราคาน้ำมันยังแพงอยู่ ต้นทุนพลังงานก็สูง คำถามก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมั่นใจได้หรือว่า จะเดินต่อไปได้ในภาวะแบบนี้”

ดร.ศุภวุฒิ ใช้ตัวเลขที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทรรวบรวมข้อมูลของธนาคารขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯมาแสดงให้เห็นว่า ธนาคารใหญ่หยุดเพิ่มการปล่อยกู้แล้ว สินเชื่อ-0.6% ตั้งแต่ต้นปี ค่อนข้างเหนื่อย เพราะธนาคารเริ่มระมัดระวัง หรือลูกค้าก็ไม่ต้องการจะกู้เงินแล้ว

นอกจากนี้มีรายงานข่าวว่าเครดิตบูโรเตือนว่ามีหนี้ที่เป็น NPL ของลูกหนี้รายย่อยกว่า 9 แสนล้านบาท และที่เป็นห่วงคือลูกหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่ม special mention loan ที่เริ่มจ่ายดอกเบี้ยไม่คงเส้นวาอีกประมาณ 6 แสนล้านบาท รวมกันก็กว่า 1.5 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ามีปัจจัยพื้นฐานที่ เป็น headwind ทำให้การฟื้นตัวทำได้ยาก

“ผมก็ค่อนข้างเป็นห่วงตรงนี้เหมือนกัน ถ้ามองไปข้างหน้า ลองนึกภาพอเมริกาเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจ แต่ถ้าเขาทำมากเกินไปเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยไปเลย ยุโรปเอง ยูเครนกำลังเตรียมที่จะบุกยึดคืนพื้นที่ ยุโรปก็ไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นมา ส่วนจีนตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี นักวิเคราะห์เริ่มเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นช้ากว่าที่คิด จากตัวเลขในด้านต่างๆ”

เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด สินค้าและบริการมีสัดส่วน 58% ของ GDP ถ้าความต้องการภายนอกอ่อนแอ ก็จะฟื้นยาก

ดร.ศุภวุฒิ ได้แสดงตัวเลข FDI การลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียน 5 ประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งพบว่าไทยไม่สามารถดึงเงินจากต่างประเทศได้ดีเท่ากับประเทศคู่แข่ง จากที่เคยดึงได้ดีในช่วงต้นทศวรรษแรกของศตวรรษนี้ ที่ได้กว่า 40% ตอนนี้เหลือแค่ 8.9%

ตอนนี้จะต้องมีการแย่งเงินทุนที่เข้ามา แต่ไม่ง่าย เพราะประเทศอื่นก็ต้องการเงินทุนเช่นกัน และทรัพยากรพื้นฐานของหลายประเทศดีกว่าไทย อย่าง เวียดนาม แรงงานก็มีมากกว่า

5 ข้อที่ควรทำคอร์รัปชันเรื่องหลัก

ในรอบที่สองซึ่งเป็นการพูดถึงโครงสร้าง ดร.ณรรงค์ชัย กล่าวว่า ในระยะต่อไปตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปัจจัยภายนอกมีความสำคัญต่อประเทศไทยมาก ซึ่งเป็นเช่นนี้เสมอมา และสำคัญมากที่จะตัดสินว่าไทยจะเป็นอย่างไร เป็นอย่างนี้มากว่าร้อยปี เพราะไทยเป็นประเทศค้าขาย

ถ้ามาดูโครงสร้างต่อไปและถามว่าไทยควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร คำว่าปรับโครงสร้างที่ใช้กันอยู่คือ ปรับโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งก็ดีและมีประโยชน์ แต่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจสำคัญที่จำเป็นต้องปรับด้วยเช่นเดียวกัน

การปรับโครงสร้างก็ต้องไปดูโครงสร้างของโลก ปัญหาใหญ่ของโลกคือ ความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นมาก และโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวดินและอุณหภูมิผิวน้ำไม่ต่างกันและร้อนทั้งคู่ จากเดิมที่ต่างกัน

“นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญต่อไป รุ่นที่ผมโตมาเป็นโลกที่เอื้อต่อ market economy ตั้งแต่ ยุค80s ยุค 90s และยุค 2000 การจัดทำข้อตกลงอาเซียน หรือ APEC ยุคนั้น ก็เพื่อ market economy ต้องการให้ตลาดเป็นตัวนำ แต่ตอนนี้ไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว กลายเป็นโลกทะเลาะกัน เดิมพูดกันว่า Economic Security คือ การเปิด เพื่อที่จะซื้ออะไรจากที่ไหนก็ได้ราคาถูก ตอนนี้กลายเป็นว่า security เป็นสิ่งที่เราจำเป็น ตัวอย่าง คือ อเมริกามีข้อห้ามเรื่องชิป ก็คือ security พลังงานก็คือ security เพราะฉะนั้นจึงเกิด reconfiguration ของการค้าของโลก”

“สหรัฐกับจีนแย่งกัน เป็นเรื่องใหญ่มาก… มากที่สุด กระทบตลาด ถามว่าตลาดสนใจอะไร ก็ pricing ราคาหุ้นอะไร นี่คือส่วนสำคัญ การเมืองโลกเป็นแบบนี้ กลับไปอีกข้างจากยุคที่ผ่านมา”

สำหรับประเทศไทยเดิมจัดอยู่ในประชาคมคนจน แต่ตอนนี้เอเชีย ตะวันออกกลางกำลังมาแรงในแง่กำลังทางเศรษฐกิจ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) มีอิทธิพลมากสุดในตะวันออกกลาง ราชวงค์ใหม่ขึ้นมามีอำนาจ สถานการณ์ตะวันออกกลางดีขึ้น เปอร์เซียจับมือกับซาอุดิอาระเบีย มุสลิมนิกายสุหนี่กับชิอะห์หันมาดีกัน ซีเรียกลับข้าง ไทยเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของตะวันออกกลาง

“ถ้าดูจากแผนที่พยากรณ์ของ PwC ขณะนี้ ต่อไปประเทศที่จะขึ้นมา จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ซึ่งจะเป็นเพื่อนใหม่ของไทยทั้งหมด”

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า เดิมไม่ได้มีความสนใจกับประเทศอินเดียเลย แต่ปัจจุบันอินเดียมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมี IT Democratization มีแอปพลิเคชั่นชื่อ Jio ที่เข้าถึงกว่า 500 ล้านบ้าน ทำได้ทุกอย่าง กลายเป็นโอกาสใหม่ให้ไทย หมายความว่า “ที่เราอยู่ในอาเซียนและมีพลัง คนก็อยากเอามาเป็นพวก หรือเอาไทยเข้าเป็นพวก” อันนี้เป็นโอกาสใหม่ที่ชัดเจนมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้แปลว่า สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง มีหลายอย่าง

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า ด้านแรกระเบียงเศรษฐกิจดีมากเพราะเชื่อมกับเอเชีย ตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นโดยจีนทำ หรือไทยทำเอง ไม่ใช่ที่ตั้งสำหรับการผลิตและสามารถมีหลายอย่าง ทั้งโลจิสติกส์และกระบวนการซัพลายเชนที่อยู่ในนั้นด้วย

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

อีกทั้งความเสี่ยงที่มีมาก ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เดิมชุมชนอาจช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ตอนนี้ชุมชนหลายจังหวัดช่วยตัวเองได้ โดยดร.ณรงค์ชัยขยายความว่า ความไม่แน่นอนเป็นที่สิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้ คำที่ใช้กันคือ agility ต้องสร้างให้คนทุกคนช่วยตัวเองได้มากที่สุด ให้เขามีอุปกรณ์ มีอาวุธ ให้มีที่ดิน น้ำใช้ ให้พร้อมดูแลตัวเองได้ให้ หลักฐานที่เห็นคือในช่วงโควิด พลายคนออกจากบริษัทและย้ายกลับไปบ้านต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งช่วยตัวเองได้ แต่หลายส่วนไม่ได้เพราะดินไม่ดี น้ำไม่พอ

“ถ้าแข็งแรง ระดับคน ระดับชุมชน เหมือนกับที่รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง sufficient economy ความเสี่ยงในโลกมีต้องช่วยตัวเองให้ได้

ดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า ต่อมาคือเรื่อง ทรัพยากร Resources โดยพูดย้อนไปถึงช่วงที่ทำงานร่วมกับ ม.ร.ว.ปริดียาธรว่า สิ่งที่ทำร่วมกันในตอนนั้นคือ เรื่อง ทรัพยากร ทำเรื่องดิน กับน้ำ ทำ single map ตอนเกิดคสช. ก็ประกาศว่าจะทำ single map ส่วนเรื่องน้ำ ก่อนการปฏิวัติไทยมีแผนพัฒนาน้ำ ซึ่งเป็นระบบน้ำของทั้งประเทศแต่ก็ไม่ได้ทำ

“ประเทศไทยเป็นเรื่อง supply side ขอให้ทรัพยากร ดิน กับ น้ำ กินมีความเป็นเจ้าของ มีน้ำใช้ถึง ก็อยู่กันได้”

อีกด้านคือ ไอทีสำหรับชุมชน ซึ่งหากทำแล้วจะช่วยในเรื่อง การศึกษา สุขภาพ การประกอบอาชีพ ทั้งหมด เพราะมีแอปที่ทำได้ทุกอย่าง

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า สุดท้ายเลย คือ ปัญหาคอร์รัปชัน ถ้าบรรเทาคอร์รัปชันได้จะช่วยทุกเซคเตอร์ของเศรษฐกิจ มีการพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปตำรวจ แต่ปัญหาหนึ่ง คือ การแย่งตำแหน่งผู้บริหารกัน จ่ายเงินกันเยอะ ถ้าไม่มีเรื่องเหล่านี้ ทำทุกอย่างเปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม จะช่วยแก้ปัญหาทุกเรื่อง และยิ่งจะกระจายอำนาจ การ
กระจายอำนาจต้องใช้กฎหมาย ใช้เวลาเยอะ การแก้คอร์รัปชัน ทำได้ด้วย whistle blower ช่วยได้เยอะมาก

ดร.ณรงค์ชัยปิดท้ายในช่วงนี้ด้วยการนำข้อตกลง MoU ที่พรรคก้าวไกลร่วมลงนามกับอีก 7 พรรคการเมืองมาแสดงให้ดู และให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับข้อที่ระบุถึง Zero base budgeting หมายความตั้งต้นด้วยศูนย์ แล้วเดิน อันนี้เป็นประโยชน์ ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่หลายข้อ(MOU) “ตรงกับที่ผมได้เตรียมข้อมูลมาเพื่อมาพูดในวันนี้ ผมไม่ได้ลอกเขามา” แต่ทุกข้อเป็นสิ่งที่ดี แต่บางอันต้องใช้เวลาและควรทำ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ

อย่างไรก็ตามมองว่า Zero base budgeting ไม่น่าจะทำได้ทันในปีนี้

8 ข้อท้าทายของไทย

ด้านดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า เกียรตินาคินภัทรได้ประเมินสิ่งท้าทายของไทยไว้ 8 ข้อ

ข้อแรก ซึ่งมีความสำคัญมาก คือ แรงงานของไทยปี 2050 จะหายไป 11 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของแรงงานปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ไทยจะต้องเผชิญอย่างแท้จริง บางประเทศ อย่างสิงคโปร์มีการนำเข้าแรงงานเพิ่มขึ้นมาก บางประเทศทำได้ไม่มาก อย่างเช่น ญี่ปุ่น ไทยต้องเลือกว่าจะทำอะไร

ข้อสอง การศึกษาเป็นประเด็นตามมา เพราะถ้ามีแรงงานจำนวนน้อย ก็ต้องให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น คะแนน PISA วัดความสามารถในการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ปี 2018 ต่ำกว่ามาตรฐานเฉลี่ย OECD และประเทศกว่า 200 คะแนน และอยู่อันดับที่ 66 จาก 68 ประเทศ เด็กอายุ 15 ปีคะแนนการอ่านซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด 20 ปีที่ผ่านมาลดลง ถ้าตรงนี้กับจำนวนแรงงานที่ลดลงไม่แก้ ก็ไปไม่รอด การศึกษายังไงก็ต้องทำ นอกจากนี้ยังมีตัวเลขเรื่องการศึกษาจากธนาคารโลกว่า ปี 2015 เด็กไทยอายุ 15 ปีทีเ่รียนหนังสือ 1 ใน 3 รู้หนังสือไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้ โดยอ่านหนังสือ พอจะเขียนได้ แต่ใช้งานไม่ได้

“สำหรับผมนโยบายที่สำคัญที่สุดคือ ปฏิรูปการศึกษาจริงๆ และ upskill reskill คงต้องทำไปพร้อม ๆ กันเลย”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ปัญหามีอยู่มาก โดยโรงเรียนภาคบังคับ 15,000 โรงเรียน ที่มีครูอยู่ประมาณ 5 คนต่อโรงเรียน แต่ต้องสอนทุกชั้น และมีนักเรียน 50-60 คน ไม่มี economies of scale ครูต้องทำงานทุกอย่าง ทำงานด้านบริหารด้วย ไม่ได้สอนอย่างเดียว หรือถ้าสอนก็ต้องสอนสองชั้นพร้อมกัน อย่างนี้ก็เดินไม่ได้ ครูมี 9 แสนคน แต่เกษียณไปเหลือ 5-6 แสนคน และยังมีหนี้เฉลี่ยคนละ 1.5 ล้านบาทมากกว่าหนี้เฉลี่ย 5 แสนของครัวเรือน ครูมีหนี้เยอะขนาดนี้จะมีใจในการสอนแค่ไหน นี่เป็นตัวอย่างว่า มันมีอะไรให้ทำเยอะมาก ตามสถิติที่ผ่านมา 20 ปีมีรัฐมนตรีศึกษา 20 คน

“ถ้าตรงนี้ไม่เดินผมว่าไปยาก”

ข้อที่สาม ความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจ “ผมเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลอย่างมากเรื่องทุนผูกขาด เพราะบริษัทใหญ่ในไทย 5% แรกทำรายได้ถึง 85% ของรายได้ทั้งหมด และครองกำไรถึง 60% ของกำไรของภาคธุรกิจ ยังไงก็ต้องจัดการ อันนี้เห็นด้วย”

“เวลาจัดการแล้ว จะช่วย SME จะช่วยอย่างไร ในใจอยากให้เอสเอ็มอีเป็นยูนิคอร์น ตลาดทุนเคยให้ Deloitt ทำการศึกษาปัจจัยเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ วิธีการที่ทำให้สตาร์ทอัพขึ้นไปเป็นยูนิคอร์น ซึ่งในประเทศไทยมีปัจจัยที่ทำให้ ไม่ให้เกิด และกลายเป็นว่า สตาร์ทอัพในไทยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใหญ่ ต้องมีการแก้กฎเกณฑ์เยอะ ในยุคใหม่ ถ้าใครมีความฉลาด และมีทุน ก็เป็นสตาร์ทอัพได้ ทำอย่างไรให้ไทยมี ecosystem ที่ทำให้เกิดสตาร์ทอัพ อันนี้ต้องสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่”

ดร.ศุภวุฒิ ขยายความเพิ่มเติมว่า เอสเอ็มอีมีทั้งเป็นเอสเอ็มอีตั้งแต่เริ่ม กับสตาร์ทอัพที่เริ่มเป็นเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพเล็กๆมีความน่าสนใจตรงที่มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ แต่ตอนแรกยังขาดทุนอยู่ และยังหาลูกค้าไม่ได้มาก ซึ่งจะต้องมีเงินหรือ VC เข้าไป แล้วถึงจุดหนึ่งจะขึ้นมาเป็นเอสเอ็มอี จะเริ่มมีลูกค้า แต่ต้องยกระดับไม่ให้ติดอยู่กับการเป็นเอสเอ็มอีตลอดไป เพราะเอสเอ็มอีของไทยใช้นิยามเอสเอ็มอีแล้วเล็กเกินไป เทียบกับเอสเอ็มอียุโรปแล้ว ยุโรปใหญ่กว่าไทย 10 เท่า และเอสเอ็มอีของยุโรปเข้าสู่ตลาดโลกได้ มียอดขายหลายร้อยล้านบาทต่อปี

“ถ้าเป็นเอสเอ็มอีแบบนั้นก็ไม่ว่า ในใจผมอยากเห็นว่าขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นด้วยซ้ำ เมื่อเป็นยูนิคอร์นมาร์เก็ตแคปจะถึงหนึ่งพันล้านเหรียญ ผมอยากเห็นแบบนั้น”

ด้านอุตสาหกรรมของไทย ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมของไทยถูกดิสรัป ไทยที่เป็น detroit of Asia ถูกดิสรัปแน่นอน ไทยผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ Internal Combustion Engine(ICE) ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ของรถที่ใช้ ICE ทั่วไป 2,000 ชิ้น แต่รถไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนน้อยลงมากเพียงแค่ 22 ชิ้น ฉะนั้นซัพพลายเชนจะถูก ดิสรัป แม้มีนักลงทุนเข้ามาประกอบรถ EV อย่างไรก็ถูกดิสรัป ไทยก็จะเหลือส่วนที่เกี่ยวกับตัวถัง เช่น เบาะ ฉะนั้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องแข็งแรง

“ถ้าจะเอาแก๊สปตท.ไปเผา เพื่อปั่นไฟ (ลดค่าไฟฟ้า) แล้วทำให้ต้นทุนตรงนี้แพง ก็ต้องคิดให้เยอะ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเป็นอย่างไร”

ในภาคอุตสาหกรรมอีกส่วนหนึ่งที่ไทยจะต้องแย่งกับประเทศอื่นๆ คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ ตอนนี้มีผู้สนในจะเข้าลงทุนใน printed circuit board ค่อนข้างเยอะมาก printed circuit board มีหลายระดับ มีระดับที่ก้าวหน้ามากๆ ไทยยังไม่ไปถึงจุดนั้น แต่ถ้าทำดีๆ ไทยจะขึ้นไปที่ระดับ multilayer printed circuit board

“ตรงนี้แหละเป็นตอนที่เราต้องแข่งเอาทุนเข้ามา”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ส่วนเรื่องบางส่วนซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่สหรัฐกับจีนสู้กัน ไทยจะต้องอยู่ในซัพพลายเชนนี้ แต่จะอยู่ตรงไหน ซึ่งจากบทวิจัยของ Semi Conductor Association พบว่าไทยอาจจะต้องเริ่มที่เซมิคอนดักเตอร์ขนาดไหญ่ หรือการทดสอบ หรือ บรรจุภัณฑ์ซึ่งมี value added ในซัพพลายเชน และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลต้องทำงานในเชิงรุกดูว่าไทยมี niche ตรงไหนแล้วเข้าไปตรงนั้น ซึ่งแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมจะเป็น niche มากขึ้น ไม่ได้เป็นเซคเตอร์ใหญ่อย่างที่ผ่านมา

ดร.ศุภวุฒิกล่าวถึงภาคเกษตรและภาคบริการว่า ไทยโชคดีที่เป็นผู้ส่งออกอาหารสุทธิ แต่ต้องทำให้มีประสิทธิสูงขึ้น เพราะภาคเกษตรคิดเป็น 8.5% ของ GDP แต่ใช้แรงงาน 1ใน 3 และใช้พื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 45% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ Productivity ต่ำมาก ขณะเดียวกันการอุดหนุนจากภาครัฐ subsidy ต่างๆรวมกันเกือบแสนล้านบาท ทุกปี ทำให้ไม่พัฒนา เพราะ 8.5% ต่อปี ทรงตัวที่ระดับนี้มาหลายสิบปีแล้ว และผลผลิตต่อไร่ทรงตัวมา 20 ปีแล้ว

“เพราะถ้ามีประกันราคาหรือประกันรายได้ เกษตรกรจะพัฒนาไปทำไม หรือทำอะไรไปกว่านี้อีก แต่ไทยทำได้ดีในบางข้อ เช่น การส่งออกทุเรียน สิบปีที่แล้วส่งออกเพียง 6 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันการส่งออกมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับการส่งออกข้าว”

ภาคที่ใหญ่ที่สุดเป็นภาคบริการซึ่งจากการท่องเที่ยวยกระดับมาเป็น medical tourism และเลื่อนชั้นเป็น healthcare แล้วก็ wellness tourism ดูเหมือนไทยมีทักษะอยู่แล้ว แต่ต้องเพิ่มคุณค่าจาก tourism ขึ้นมาเป็น medical tourism หรือ wellness tourism

“อันนี้น่าสนใจที่สุดสำหรับประเทศไทย แต่ต้องแก้ไข PM 2.5 เรามีศักยภาพสูงมาก เพราะมีจุดแข็งเรื่องทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางการโตของภูมิภาค แต่ต้องทำการบ้านให้กับตัวเองและให้ได้ประโยชน์สูงสุด”

ดร. ณรงค์ชัยได้กล่าวเสริมถึงปัญหาแรงงานที่ดร.ศุภวุฒิหยิบยกมาพูดถึง โดยกล่าวว่า แรงงานเป็นปัญหา เป็นเรื่องจริง ปัญหาการศึกษาก็เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานในการแก้

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า เรื่องแรงงานที่เคยทำในยุคคสช. คือเรื่องแรงงานต่างด้าว ต้องยอมรับว่าคนไทยเกิดน้อย ปีที่แล้วคนเกิดน้อยกว่าคนตาย ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าว 4 ล้านกว่าคน แรงงานต่างด้าวช่วยได้เยอะมาก ชัดเจนถ้าไทยไม่มีแรงงานต่างด้าว อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำให้การทำงานของแรงงานต่างด้าวสะดวกขึ้น ถ้าจัดระเบียบจะช่วยได้เยอะ

“จริงแล้ว GDP per capita เป็นข้อมูลมาจากต่างด้าวเยอะ แต่ตัวหารไม่ได้นำแรงงานต่างด้าวมาหารด้วย ใช้เฉพาะประชากรไทย GDP per capita ของเราจึงสูง”

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวต่อว่า เห็นอนาคตจากธุรกิจรถยนต์จากจีน รถยนต์จากจีนพัฒนาไม่มีที่ไหนในโลกสู้ได้ มาแรงที่สุด แล้วจีนทำให้โต โตหลายร้อยบริษัท และเปิดให้รวมกิจการได้จำนวนก็ลดลง ประเทศไทยถูกเลือกให้เป็นที่สำหรับการผลิตรถที่ขับทางฝั่งซ้าย จึงเห็นรถยนต์ EV จีนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไทยก็จะเป็นศูนย์กลางรถยนต์ EV ที่ทำร่วมกับจีน แม้ชิ้นส่วนน้อย แต่ปริมาณการผลิตจะมีมาก หวังได้มากในอนาคต ส่วนการออกแบบรถยนต์ จีนเปิดประกวดแข่งออกแบบทั่วโลก

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า จีนเปิดเสรีธุรกิจอย่างมาก บางประเภทเปิดให้ต่างชาติเป็นเจ้าของได้ 100% ขณะที่ไทยคุมเพดานการถือครองของต่างชาติไว้ที่ 49% จีนจัดว่าเป็น market friendly กับ ต่างชาติ จีน…เราคบได้ และเราคบไปทั้งจีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง อินเดีย เราไปได้ในอนาคต

ม.ร.ว.ปริดียาธร กล่าวเสริมถึงการปฏิรูปการศึกษา ที่ดร.ศุภวุฒิ เสนอให้แก้ไขปัญหาหนี้ครูด้วยว่า ได้เคยเตรียมเรื่องนี้ไว้ที่สำนักงานข้าราชการพลเรือนหรือ ก.พ. โดยเสนอให้เพิ่มเงินเดือนครู แล้วใช้ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาชำระหนี้เป็นการเพิ่มรายได้เพื่อลดหนี้ พร้อมกับถามดร.ศุภวุฒิว่า “ที่พูดมาหวงไหมที่จะเสนอรัฐบาลใหม่”

ดร.ศุภวุฒิตอบว่า “ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลสาธารณะทั้งหมด คนที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็ต้องรู้ ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เร่งด่วนมากๆ ผมไม่ได้มีความรู้พิเศษด้านการศึกษาเลย แต่ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ รู้ว่าถ้าตรงนี้ ไม่ทำ ยังไงประเทศก็จะเดินไม่ได้”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เรื่องแรงงานทำได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้ความมีอำนาจ แล้วทำเลย เรื่องแรงงาน ถ้าปรึกษากับทีมข้าราชการแล้ว จะทำไม่ออก มันมีขั้นตอนต่างๆ หลายประเทศเลิกขั้นตอนทั้งหมดเลย เชื่อว่ารัฐบาลใหม่น่าจะแก้ได้ไม่ยาก เพราะมีความกล้าที่จะแก้

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการอำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ชี้แก้สัญญาไฟฟ้ากระทบความเชื่อมั่น-ย้ำไทยนำเข้าน้ำมันพลังงานต้องใช้ราคาต่างประเทศ

จากนั้นม.ร.ว.ปรีดิยาธรเปิดให้มีการซักถาม คำถามแรกจากสื่อมวลชนที่ถามความเห็นจากดร.ณรงค์ชัย ว่าตามที่มีนโยบายการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ มีข้อเป็นห่วงใดบ้างหรือมีข้อแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์มีประสิทธิภาพ

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า เชื่อว่าคนที่เสนอเข้าใจว่า แปลว่าอะไร คำว่าฐานศูนย์ไม่ได้หมายความว่า ศูนย์ทุกรายการ เงินเดือนข้าราชการ พนักงานไม่ใช่ศูนย์อยู่แล้ว ถ่าทำเป็น ไม่ยาก และเป็นประโยชน์ด้วย เพราะมีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าจะให้ ไม่ให้ อย่างไร และประหยัด เอาเงินมาใช้ทำอย่างอื่นได้ มีประโยชน์ เพียงแต่ระบบราชการ…ปีนี้ทำไม่ทันแน่นอน ปีหน้าก็อาจไม่น่าจะทัน

ม.ร.ว.ปริดียาธรกล่าวว่า คิดว่ารัฐบาลใหม่ไม่น่าจะดื้อทำปีนี้ เพราะกว่าจะเป็นรัฐบาลก็เดือนสิงหาคม ถ้าทำปีนี้แล้วไม่ทัน เศรษฐกิจจะหยุดเลย แต่ถึงแม้จะเริ่มทำปีหน้า 6 เดือนกว่าจะเสร็จ ถ้าเริ่มทำก็ทำได้ zero base budgeting การเริ่มจากศูนย์มีข้อดี คือะไรไม่ดี ตัดศูนย์ได้จริง แบบเดิมจากที่มีอยู่แล้วบวกขึ้นไป ของไม่ดีตัดไม่ได้

ดร.ดอน นาครธรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. มี 2 คำถาม โดยคำแรกส่งไปยังดร.ณรงค์ชัย ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีพลังงาน ว่าเคยมีคำกล่าวหาว่าพลังงานไทยแพงเพราะโครงสร้างบิดเบี้ยว ต้องมีการเข้าไปปรับแก้ ขอถามว่าโครงสร้างบิดเบี้ยวจริงหรือไม่

ดร.ณรงค์ชัยตอบว่า เรื่องพลังงานรบกวนจิตใจทุกคนหลายคน คิดเข้าข้างตัวเองอยากได้โน้นอยากได้นี่ อยากซื้อพลังงานราคาถูกแล้วไป recur ว่าระบบบิดเบี้ยว เมื่อพูดเรื่องพลังงานก็ต้องแยกเป็นไฟฟ้า กับน้ำมันเพื่อความเข้าใจง่าย

เรื่องไฟฟ้า นโยบายของประเทศไทย หนึ่งราคาเดียวทั้งประเทศไม่ว่ามาจากแหล่งใด เอามาถ่วงน้ำหนักเฉลี่ย weighted average เป็นราคาพลังงานราคาเดียว ข้อสองมีสายส่ง( grid) สายเดียวคือ ของกฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) กฟผ.จ่ายให้การไฟฟ้าภูมิภาคหรือ การไฟฟ้านครหลวง ทุกคนที่ผลิตก็ต้องส่งเข้ามา กฟผ.ทั้งหมด แล้วคิดราคากัน บางช่วงเวลาก็ต้องการให้มีเอกชนเข้ามาร่วมในการผลิต ก็ต้องการรับประกัน(guarantee) มิฉะนั้นเอกชนกู้เงินไม่ได้ ลงทุนไม่ได้ ก็ต้องมีสัญญา สัญญาพวกนี้มีอายุ เมื่อหมดอายุก็ว่ากันใหม่

อีกข้องหนึ่ง คือ บางช่วงเวลาที่ต้องการพลังงานทดแทน(renewable) เมื่อมี renewable มากก็ยิ่งมีสำรองมาก ยุโรปเกิน 100 ทั้งนั้น ตัวอย่างจากเยอรมนีมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 70,000 เมกะวัตต์ ก็มีสำรองถึง 140,000 เมกะวัตต์ โดย 70,000 เป็น enewable อีก 70,000 เป็น non-renewable เพราะฉะนั้นหากอยากจะมี renewable ก็ต้องมีสำรอง ปริมาณสำรองก็ต้องเพิ่มขึ้นมา

“สรุปคือสัญญาที่ทำไว้เดิม แก้ไม่ได้ ตอนผมเข้าไป เป็นเช่วงเวลาที่เรามีความเห็นว่าหลายอย่างที่เราส่งเสริมเดิม ต้องลดราคาลง เช่น adder พลังงานแสงอาทิตย์ที่เยอะๆ ต้องเอาออกไป ค่า FT ก็ต้องลดลง และใช้แนวคิด beauty contest ว่าใครคิดราคาต่ำสุด สามารถเสียบเข้า grid หลังสุดโครงการผลิตไฟ 5,000 เมกะวัตต์ที่ถูกวิจารณ์กันมาก อันนี้ไม่มีราคาได้เปรียบเลย ดูได้เลย ราคาหุ้นของพวกที่ได้ตอนนั้นตกหมดเลย พวกนี้คิดว่าได้แล้วจะทำให้หุ้นขึ้น ก็ไปเอามาเยอะๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ตอนนี้พลังงานแดด 2 บาทกว่าเพราะฉะนั้นจะเรียกร้องให้แก้สัญญาเก่าที่เซ็นไปแล้ว แก้ไม่ได้ ถ้าแก้ ต้องมีการฟ้องร้อง กระทบต่อความเชื่อมั่น มีคำถามว่า สัญญาในประเทศไทยไม่มีความหมายหรืออย่างไร

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า แต่มีแนวทางแก้ไขในอนาคต เรื่อง single grid ไม่จำเป็นต้องคงไว้ อาจจะมี grid กระจายได้ ซื้อรายเดียวก็ไม่จำเป็นและให้แข่งขันได้ ในบางโซนเป็นโอกาส ก็เป็นโอกาส

ส่วนเรื่อง net meter ก็ไม่ได้ในแง่ของสูตรปัจจุบัน ที่บอกว่าเราจ่ายค่าไฟ 4 บาทกว่า แต่เวลาขายได้ 2 บาทกว่า แต่ 2 บาทกว่ามาจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากแก้ไขกฎระเบียบ เพราะกฎระเบียบปัจจุบันทำไม่ได้

สำหรับน้ำมัน มีคนพูดกันเยอะมาก ไทยต้องใช้ราคาตลาดโลก เพราะไทยไม่มีน้ำัมัน และถ้าไม่ใช่ราคาตลาดโลก คนก็ไม่มาลงทุน ราคาน้ำมันดิบก็อิงตลาดโลก ราคาน้ำมันสำเร็จรูปก็ต้องอ้างอิงสิงคโปร์

“ราคาน้ำมันเป็นราคาการเมือง หากปล่อยให้ตั้งราคาตามที่ประชาชนเรียกร้อง ใครจะมาลงทุน แล้วก็แข่งขันกันสูง แก๊สก็เช่นเดียวกัน เราใช้ระบบตลาดโลก อ่าวไทยมีสัมปทานแต่เรามีวืธีปรับตรงนั้น ที่มีปัญหาตอนนี้ คือ เมื่อก่อนเราใช้แก๊สอ่าวไทยเยอะ ซึ่งราคาถูกกว่าที่นำเข้ามาเป็นราคา spot ที่จริงสมัยหนึ่ง spot ถูกกว่าด้วยซ้ำ แต่ตอนที่เปลี่ยนสัมปทานจากเชฟรอนไปเป็นของกลุ่มปตท. ช้าไป 2 ปี ทำให้ที่เราเคยผลิตได้ 800 ล้านเหลือ 200 จึงต้องไปซื้อจาก spot มากขึ้นแล้วบังเอิญช่วงที่ซื้อ spot เป็นช่วงการมีสงคราม จึงไปแสดงอยู่ในต้นทุน ในค่า FT ค่าไฟฟ้า ฉะนั้นที่คิดว่าจะลดลงค่าไฟฟ้า ลดไม่ได้ เพราะกฟผ.บัญชีติดลบค่า FT แสนกว่าล้าน ก็ต้องเก็บ FT มิฉะนั้นจะกลายเป็นหนี้ประชาชน ไม่แฟร์”

“ในแง่พลังงาน แก๊สหรืออะไร เราเคยทำไว้ดีแล้ว ผมเองเป็นคนแยกบัญชีสนับสนุนระหว่าง LPG กับน้ำมัน เพื่อที่จะประณามว่าที่ติดลบเพราะใคร ใครเป็นตัวทำให้ติดลบ ก็ไม่เห็นมีใครแคร์เลย ตอนนี้ LPG ติดลบ 4 หมื่นกว่าล้าน น้ำมันติดลบเหลือ 2 หมื่นกว่า เพราะราคาน้ำมันเริ่มลง ก็เก็บเงินเข้ากองทุน เพื่อไปชำระหนี้”

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า วันที่ 20 กรฎาคมนี้การขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาทจะสิ้นสุดลง การจะปรับราคาจากนี้เป็นเรื่องของกองทุน จะใช้กองทุนหรือไม่ก็ได้

“แต่หลักการที่พวกเราต้องเชื่อเสมอคือ น้ำมันเราต้องนำเข้าทั้งนั้นเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องใช้ราคาต่างประเทศ และใครใช้ คนนั้นต้องจ่าย จะยกภาระให้เป็นหนี้สาธารณะ แล้วทุกคนต้องรับผิดชอบทั้งประเทศ โดยที่ใช้ไม่เหมือนกัน ไม่เป็นธรรมทางวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ทางการเมืองอาจจะบิดพลิกกันไปก็ตาม และผมคิดว่าความเสี่ยงเรื่องนี้ยังมีอยู่ต่อไปจากพม่า เราใช้แก๊สจากธรรมชาติจากพม่ามากพอสมควร ถ้าตัดตรงนั้นไป เราต้องมี LNG”

“แล้วที่ไปบ่นกันว่าเราแก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทยไปเผา ต้องฟังให้ดีเพราะแก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นแก๊สเหลว มีนมีองค์ประกอบ C หลายตัวบางตัวมีประโยชน์ เราต้องไปแยกก่อน และเอาเฉพาะที่ไม่มี C พิเศษไปเผา แค่นั่นแหละ ไม่ได้เอาไปเผาทั้งหมด มีพรรคไหนไม่รู้ ประชาชนเข้าใจผิดหมดเลย”

[แก๊สธรรมชาติประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด ดังนี้ ก๊าซมีเทน (Methane, C1)ก๊าซอีเทน (Ethane, C2) ก๊าซโพรเพน (Propane, C3)ก๊าซบิวเทน (Butane, C4) ก๊าซเพนเทน (Pentane, C5) ก๊าซเฮกเซน (Hexane, C6) เฮปเทน (Heptane, C7)และ ออกเทน (Octane, C8)]

ขณะที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า “พรรคก้าวไกล…ทำท่าจะเป็นรัฐมนตรีพลังงานเสียด้วย ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อเขาเข้ามาเห็นข้อเท็จจริง อย่างที่อาจารย์ณรงค์ชัยเล่าแล้ว จะเป็นเหตุผลให้เขาเดินถูกทาง หวังว่าเขาคงไม่มีทิฐิที่ว่าฉันจะทำอย่างนั้น ฉันจะทำอย่างนี้ หวังว่าความมีเหตุมีผลไม่ทำให้เขารู้สึกเสียหน้า และสามารถทำได้ถูกต้อง ไม่งั้นเรื่องการพลังงานซึ่งเราวางไว้ค่อนข้างดี มันจะเละเทะ และเมื่อเละเทะมันจะดึงกลับอีกยากมาก”

ดร.ณรงค์ชัยเสริมว่า “ผมอยากจะให้สื่อทั้งหลายอย่าง อย่าพยายามไปเชียร์อะไรที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ผมพูดเป็นความจริงทั้งหมด”

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

เชียร์นโยบายทะลายทุนผูกขาด

สื่อมวลชนขอความเห็นจากดร.ณรงค์ชัยถึงการช่วยเหลือของรัฐบาลหลังระยะเวลาการขยายลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล สิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งดร.ณรงค์ชัยตอบว่า วันที่ 20 กรกฎาคมรัฐบาลใหม่ยังไม่มา จะช่วยอะไรก็ต้องส่งไปกกต.ซึ่งคาดว่ากกต.คงไม่ทำอะไร

แต่ในแง่หลักการ การจะเอาภาษีทำให้เกิด distortion ไม่ถูก กองทุนน้ำมันคือสิ่งที่ใช้ได้ ปล่อยไปมันขึ้นและลง แต่ว่าเวลาราคาลงต้องเก็บเข้ากอง ผู้ใช้น้ำมันต้องเป็นคนจ่าย จะเป็นหนี้สาธารณะให้ทุกรับผิดชอบไม่ได้ ผิดหลักการ ต้องไม่ socializing debt”

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการอำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เสริมว่า เมื่อพูดถึงการอ้างอิงราคาจากสิงคโปร์ อยากจะให้สื่อเข้าใจว่า ไม่ได้เป็นราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ แต่เป็นราคาตลาดที่ประกาศโดย Platts

(Platts หรือที่เรียกกันว่า MOPS หรือ Mean of Platts Singapore จะประกาศราคาทุกๆ สิ้นวัน เป็นราคาปิดการซื้อการขายน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิด)

คำถามที่สองของดร.ดอนต่อดร.ศุภวุฒิ คือ เมื่อดูมาตรการของพรรคต่างๆจะเห็นว่าเน้นการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อ ซึ่งดูตัวเลขการบริโภคไม่ได้ลงมากเท่ากับการลงทุน ถ้าอาจารย์ไปเป็นรัฐมนตรีคลัง จะมีนโยบายเร่งด่วนผลักดันการลงทุนอย่างไร เพราะได้บอกไว้ว่าการลงทุนสำคัญมาก

ดร.ศุภวุฒิ ตอบว่า “ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีคลังแน่นอนครับ” แต่เห็นด้วยมากว่า ปัญหาไม่ใช่ดีมานด์ แต่เป็นเรื่องซัพพลาย เพราะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและแท้จริงมี excess demand (ความต้องการส่วนเกิน) แบงก์ชาติเองยังมีการขึ้นดอกเบี้ยเพราะเงินเฟ้อยังปราบไม่หมด ในหลักการต้องทำด้านซัพพลายเป็นหลัก ส่วนเรื่องดีมานด์ต้องยอมรับในภาคที่มีปัญหาอ่อนไหวมากๆ ก็ต้องไปช่วย เช่น ที่เครดิตบูโรพูดถึงคนที่มีปัญหาเรื่องหนี้ โดยเฉพาะ Gen X และ Gen Y ไม่ให้คนกลุ่มนี้เสียอนาคต

“วิธีช่วยที่ดีที่สุดยังเป็นเรื่องเดิม คือ upskill, reskill ให้มีรายได้มากขึ้น เวลาไปเจรจาขอยืดหนี้กับแบงก์ แบงก์ก็จะดูว่ามีงานทำ มีรายได้ เงินเดือนมีโอกาสขึ้น ก็จะคุยกันรู้เรื่อง ส่วนถ้าจะให้ตัดหนี้ไปเลยหรือ haircut ก็จะกระทบกับกำไรของแบงก์ ผลกระทบผู้ฝา่กเงินด้วย จากลูกหนี้ที่มีอนาคต ก็ต้องช่วยในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ในเอสเอ็มอี เพราะมีส่วนหนึ่งที่เป็น NPL และ special mentioned loan เฉลี่ย 20% ซึ่งไม่ดีขึ้นเลยในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา มีความเปราะบางอยู่ที่เรามองไม่เห็น มันเป็น GDP บน flow variable แต่ stock variable คือหนี้ ยังดูไม่ดีเลย ถ้าจำได้วิกฤติปี 2540 ตัวที่ทำให้เราพังคือ stock variable มีหนี้ต่างประเทศทำให้เกิดปัญหามาก NPL ขึ้น”

“ผมคิดว่าข้างในยังมีความเปราะบางอยู่มาก และวิธีแก้ปัญหาหลักคือ ไม่ใช่กระตุ้นดีมานด์ เพราะว่าปัญหาหลักยังเป็นซัพพลาย”

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ถามดร.ศุภวุฒิถึงแนวนโยบายที่จะเก็บภาษีเพื่อให้รัฐมีรายได้มากขึ้นซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนจะแก้ไขได้อย่างไร

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า แนวทางแก้มีอยู่แล้ว แต่ในทางการเมืองอาจจะไม่ popular คือ ขึ้นภาษี VAT ซึ่งเข้าใจว่าจะกระทบต่อการลงทุนน้อยที่สุด แม้กระทบการบริโภค แต่อย่างน้อยไม่กระทบ return on investment อันที่จริงแล้วอัตราภาษี VAT อยู่ที่ 10% แต่ทุกปีมีการขอใช้ 7% ซึ่งหากขึ้น 1% ก็จัดเก็บรายได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถามว่า จากที่ฟังการอภิปรายมาเมืองไทยมีปัญหาเยอะ มีหลายเรื่องต้องทำ แต่มีเวลาน้อย 4 ปีก็ผ่านไปเร็ว หัวใจสำคัญคือการทำและการเลือกที่จะทำให้ได้ 3-5 อย่าง ถามว่าอะไรคือเรื่องนโยบายเร่งด่วน 3-5 อย่างที่รัฐบาลต้องทำ

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า เรื่องที่จะให้รัฐบาลลดค่าครองชีพ คงเป็นไปไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องเอื้อให้คนทำมาหากินง่ายขึ้นทำได้ อยากจะตั้งเป้าตรงกันนั้นมากกว่า ยกเป็นประเด็นเลยไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลให้การทำมาหากินสะดวกขึ้น โดยการนำเทคโนโลยี หรือ IT เข้ามาประยุกต์ใช้ ใช้ได้หมด เช่น แอปติดตามตัวสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งไอทีสามารถทำให้สารพัดเรื่องและทำให้เร็วเป็นการให้อาวุธ เครื่องมือการทำมาหากิน

สำหรับดร.ศุภวุฒิมองว่า Regulatory Guillotine การปฏิรูปกฎเกณฑ์ กฎหมายยังต้องทำ รวมไปถึงการขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทำสองอย่างพร้อม ๆ กันไป ส่วนเรื่องที่สอง แม้ไม่เห็นผลในระยะสั้น ก็ต้องทำเพราะใช้เวลากว่าจะเห็นผล คือ การศึกษา upskill และ reskill ต้องตั้งใจจริง “ในใจผมอยากจะดูรัฐมนตรีศึกษาเป็นหลัก ไม่ใช่รัฐมนตรีคลัง ว่าจะมาจัดการกับตรงนี้ได้อย่างไร ทั้งอนาคตของเด็กและของครู”

ม.ร.ว.ปริดียาธร กล่าวว่า เรื่องที่แก้ได้และไม่ต้องใช้เวลาคือ การจัดการแรงงานต่างด้าว แก้กฎไม่กี่ข้อ แต่ต้องมีแแบบแผน คิดสูตรให้สำเร็จแล้วไปคุยกับข้าราชการ ไม่ใช่มาคุยกับข้าราชการโดยไม่มีแผน พอแก้ได้ คนที่จะเข้ามาก็สะดวก ไม่ต้องไปเสียเวลา ทำได้จริงทันที กฎระเบียบก็ออกใหม่ได้

คำถามสุดท้ายจากสื่อมวลชนว่า ถ้าการตั้งรัฐบาลล่าช้าไป 1-2 เดือนหรือสว.ไม่โหวตให้’พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’เป็นนายกรัฐมนตรี จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร และการทะลายทุนผูกขาด ที่เมื่อประกาศออกมาบริษัทใหญ่ก็กังวลพอสมควร ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลดลง โดยคำถามนี้ถามดร.ศุภวุฒิ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า การตั้งรัฐบาลได้ช้าจะเป็นสูญญากาศทางเศรษฐกิจ และเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งมีความผิดปกติ คือ มีธนาคารล้ม และเกิด inverted yield curve คือดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว เป็นการคาดการณ์การตกต่ำของเศรษฐกิจได้แม่นยำถึง 90% และเป็นห่วงว่าหากทอดเวลาไปนาน หากเกิดภาวะเศรษฐกิตกต่ำขึ้นมาไทยจะลำบาก เพราะยังไม่มีรัฐบาลเข้าไป แม้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือนสิงหาคม แต้ไม่แน่ใจว่าจะทันการหรือไม่

ส่วนนโยบายพรรคก้าวไกล ก็มีข้อดี เห็นด้วยเรื่องการทะลายทุนผูกขาด เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่แล้ว มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจต่ำ ไม่ว่าจะขายของราคาแพงหรือขายของในปริมาณน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

“ถ้าเรานึกภาพเร็วๆ อยากทะลายทุนผูกขาดระยะยาว ในส่วนการทำสัญญากับรัฐบาล การให้สัมปทานต้องโปร่งใส อีกส่วนหนึ่งคือสร้างการแข่งขันจริงๆในระยะยาว และดีกว่านั้น ให้คนไทยไปแข่งในตลาดโลกเลย อันนั้นเป็นทางการแก้ในระยะยาวมากกว่า”

“ส่วนนโยบายของพรรคก้าวไกลทำให้ตลาดหุ้นเขียวหรือไม่เขียว ต้องแยกบางอย่าง บางส่วน เช่น การเก็บภาษีจากทุน ต้องไปพิจารณาให้ดีกว่า การเก็บภาษีจากทุน จะทำให้ผลตอบแทนของทุนต่ำ การลงทุนต่ำ เรารู้ว่าเศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนด้วยการลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก ต้องมีความพอดี ถามว่าประเทศไทยอยากเดินไปทางรัฐสวัสดิการไหม ดูเหมือนว่าพรรคก้าวไกลได้ mandate จากประชาชนมาให้เดินไปทางนั้น”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า มีงานวิจัยจำนวนมากที่ผ่านมาที่พยายามประเมินว่า optimal size of government อยู่ที่ไหนงานวิจัย ส่วนใหญ่บอกว่าอย่าให้เกิน 20% ต่อ GDP เพราะเกินกว่านั้น จะเป็นภาระรัฐบาล แต่ต่ำกว่านั้นรัฐบาลก็ไม่เดินหน้า

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า จากการอ่าน MoU ของหลายพรรคไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลถ้าตาม MoU ดีทุกข้อ ยกเว้นข้อ 16 นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด พรรคภูมิใจไทยอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ข้ออื่นเห็นด้วยกันหมดในนโยบายของ MoU แต่แน่นอนหลังจากนี้มีนโยบายของทุกพรรค ก็ไปว่ากันในสภา ในกระทรวงซึ่งอาจจะต่างกันบางข้อนโบาย ที่อาจจะเป็นปัญหาคือ จัดตั้งรัฐบาลช้ากว่าที่ควรจะเป็น การจัดตั้งรัฐบาลช้า หากมีการออกมาตรการอะไรเพื่อช่วยเหลือประชาชน ก็ต้องให้กกต.ตัดสิน

ม.ร.ว.ปริดิยาธร ปิดท้ายว่า นโยบายทะลายทุนผูกขาดกระทบตลาดทุนจริง แต่ไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นแดงในสิ่งไม่ควรแดง หุ้นพื้นฐานบริษัทใหญ่ไม่กระเทือน ตลาดหุ้นที่แดงคือตลาดที่มี market maker คอยดูแล นโยบายนี้เป็นนโยบายที่น่าจะเชียร์ เพราะในไทยการผูกขาดเริ่มกลายเป็นนิสัย ถ้ามีโอกาสก็ต้องรีบทำ เพื่อไม่ให้ dominate ตลาดได้ ความรู้สึกแบบนี้ไม่ดีต่อประเทศชาติ