ThaiPublica > เกาะกระแส > กองสลากฯ ระดมสมอง แก้ขายหวยเกินราคา

กองสลากฯ ระดมสมอง แก้ขายหวยเกินราคา

11 กันยายน 2020


นายพชร อนันตศิลป์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

กองสลากฯ ระดมสมอง แก้ขายหวยเกินราคา หลังจากนโยบายเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลาก จากงวดละ 37 ล้านฉบับ เป็น 100 ล้านฉบับ เอาไม่อยู่

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 นายพชร อนันตศิลป์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วยนายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และพ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวเปิดงานเสวนา เรื่อง “การปรับโครงสร้างกระจายสลาก รวมถึงการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา” ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน อาทิ สื่อมวลชน นักวิชาการ สมาคมและมูลนิธิคนพิการ เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 3 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

เรื่องการขายสลากเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่สำนักงานสลากฯมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศ ก็แก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ แม้กระทั่งรัฐบาล คสช. ที่ว่าแน่ ใช้ มาตรา 44 รื้อโควตาหวย , เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสลาก ผ่านระบบซื้อ-จองของธนาคารกรุงไทย รวมทั้งเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขาย จากงวดละ 37 ล้านฉบับ จนมาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่มเป็นงวดละ 100 ล้านฉบับ ก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ราคาสลากรวมชุดในยุคโควิด -19 ขายกันตามท้องตลาดใบละ 120-150 บาท ปัจจุบันแทบจะไม่มีเหลือสลากใบละ 80 บาท วางขายอยู่บนแผง

  • 4 ปี รัฐบาล คสช. กับการแก้ปัญหาสลาก ยิ่งแก้ยิ่งขายเกินราคา
  • สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ค้าสลาก ต้องขายสลากเกินราคามีเหตุผลดังนี้

    ประการแรก จำนวนสลากที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานสลากฯ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ละงวดสำนักงานสลากฯจะจัดสรรสลากให้ผู้ค้าสลากรายย่อยรายละ 5 เล่ม (500 ฉบับ) ผู้ค้าสลากมีต้นทุนในการไปหาเงินมารับสลากงวดละ 35,200 บาท หากขายสลากหมดเกลี้ยงได้กำไร 4,800 บาท หรือ เดือนละ 9,600 บาท หักค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และค่าเดินทางแล้ว ผู้ค้าสลากรายย่อย บอกว่า “แทบไม่เหลืออะไรเลย”

    ประการที่ 2 ผ่านระบบพ่อค้าคนกลาง ต้นทุนสลากฯออกจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใบละ 70.40 บาท ยังไม่ทันได้ถึงมือผู้บริโภค รับซื้อกันที่ใบละ 80-85 บาท จะให้ผู้ค้าสลากขายใบละ 80 บาทได้อย่างไร ยกตัวอย่างที่ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ทันทีที่สลากซื้อ-จองส่งไปถึงที่ทำการไปรษณีย์ ก็มีพ่อค้าไปตั้งโต๊ะรับซื้อกันเล่มละ 40,000 – 42,500 บาท หรือ ใบละ 80-90 บาท เป็นต้น

    ประการที่ 3 การกระจายสลากบางส่วนไม่ถึงมือผู้ค้าสลากตัวจริง ยกตัวอย่าง ผู้ค้าสลากที่ไม่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากตามระบบเดิม หรือ จองซื้อผ่านระบบของธนาคารกรุงไทยไม่ได้ ผู้ค้าสลากกลุ่มนี้ไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไร จำเป็นต้องไปรับสลากราคาแพงจากยี่ปั๋ว ซาปั๋วมาขาย

    ประการที่ 4 สำนักงานสลากฯใช้วิธีขายขาดให้กับตัวแทนจำหน่าย สลากเหลือ เลขไม่สวย ขายไม่ออก สำนักงานสลากฯ ไม่รับคืน ทำให้ผู้ค้าสลากต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ทั้งหมด

    ประการที่ 5 ตัวแทนจำหน่ายสลาก ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ได้รับการจัดสรรโควตาสลากมาแล้วไม่เอาไปขายเอง แต่เอาไปขายต่อ

    ประการที่ 6 ผู้บริโภคนิยมซื้อสลากชุด และเลขดัง ยอมจ่ายเงินซื้อสลากราคาแพง เพื่อให้ได้เลขที่ต้องการ ขณะที่สำนักงานสลากฯเอง ก็ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นให้กับ

    ในงานเสวนาวันนี้ กลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อย มูลนิธิ สมาคมคนพิการต่าง ๆ เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาอย่างหลากหลาย อาทิ เสนอให้สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากเพิ่มอีกงวดละ 4 ล้านฉบับ และจัดสรรสลากให้กับผู้ค้าสลากอย่างน้อยคนละ 10 เล่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสลากมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 19,200 บาทต่อเดือน โดยยกเลิกการจัดสรรโควตาสลาก และผู้ที่ลงทะเบียนในระบบจองซื้อ แต่ไม่ได้นำสลากไปขายด้วยตนเอง อาทิ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ค้าสลากบางราย ก็เสนอให้สำนักงานสลากฯ ปรับขึ้นราคาสลากจากใบละ 80 บาท เป็นใบละ 100 บาท ซึ่งจะทำให้สำนักงานสลากฯและผู้ค้าสลากมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ควบคู่ไปกับการขายสลากแบบใบด้วย

    ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกจำหน่ายงวดละ 100 ล้านฉบับ โดยขายผ่านตัวแทนจำหน่ายสลาก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ

      1. จัดสรรผ่านระบบโควตาให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากเดิม 33 ล้านฉบับ แบ่งเป็นผู้ค้าสลากรายย่อยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 28,519 ราย จำนวน 156,248 เล่ม (1 เล่มมี 100 ฉบับ) ,จัดสรรให้คนพิการ 3,592 ราย จำนวน 18,034 เล่ม และจัดสรรให้สมาคม องค์กร มูลนิธิ 899 ราย ซึ่งมีสมาชิก 25,858 ราย จำนวน 155,718 เล่ม
      2. จัดสรรผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ของธนาคารกรุงไทยไม่เกิน 67 ล้านฉบับ แบ่งเป็นสลากซื้อ 10,000 ราย จำนวน 50,000 เล่ม และสลากจอง 124,000 ราย จำนวน 620,000 เล่ม

    ทั้งนี้ ในแต่ละงวดจะมีผู้รับสลากไปขายทั่วประเทศ 191,969 ราย โดยมีผู้ซื้อประมาณ 20 ล้านคน