ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สรรพากรจี้เก็บภาษีร้านค้าออนไลน์ 5 หมื่นราย ได้เกินล้านแปดต้องจ่ายภาษี

สรรพากรจี้เก็บภาษีร้านค้าออนไลน์ 5 หมื่นราย ได้เกินล้านแปดต้องจ่ายภาษี

30 ธันวาคม 2014


นับตั้งแต่มีการค้าบนโลกออนไลน์มากว่า 35 ปี จากธุรกรรมออนไลน์ที่ยังไม่เป็นที่นิยมนักมาสู่ยุคที่กลายเป็นของพื้นๆ ที่ทุกคนคุ้นเคย เมื่อดูมูลค่ากิจการร้านค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่จะพบว่ามีมูลค่าเป็นแสนล้านดอลลาร์ ด้วยความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา และสามารถเลือกดูสินค้าได้จากทั่วโลก เป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

ในไทยเอง ธุรกิจออนไลน์ก็กำลังมาแรงในหมู่วัยรุ่นนักธุรกิจหน้าใหม่ (startup) ซึ่งไม่ต้องอาศัยเงินทุนมากในการเปิดธุรกิจ การขายสินค้าและบริการเล็กๆ น้อยๆ และการสั่งสินค้าออนไลน์นั้นก่อให้เกิดรายได้โดยรวมมหาศาล แต่การเก็บภาษีเข้ารัฐกลับไม่มากเท่าที่ควร ทั้งที่มีการเริ่มเก็บมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา

จากกระแสการเปิดร้านค้าออนไลน์และการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ กรมสรรพากรได้ส่งหนังสือถึงผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 500,000 รายทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงหน้าที่ผู้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบผู้มีรายได้จากการค้าขายธุรกิจนอกระบบ เช่น ธุรกิจค้าของเก่า และธุรกิจค้าขายในตลาดนัดขนาดใหญ่ เพื่อให้เสียภาษีตามกฎหมาย

เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนรายชื่อของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้มูลค่าการซื้อขายและรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจในแต่ละปีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีผู้ประกอบการที่ไม่เข้าระบบเสียภาษีเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน จากข้อมูลของผู้มีรายได้จากธุรกิจจำนวนประมาณ 500,000 รายทั่วประเทศ กรมสรรพากรพบว่ายังมีผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้องประมาณ 50,000 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งที่เข้ามาอยู่ในระบบแต่เสียภาษีไม่ครบถ้วน และยังมีผู้ประกอบการที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบการเสียภาษี กรมสรรพากรจึงต้องส่งหนังสือเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว

ในการเปิดร้านค้าออนไลน์ ต้องมีการลงทะเบียนรายงานรายได้ด้วย แม้บางรายมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ แต่ก็ต้องยื่นแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากร เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ ส่วนในรายที่มีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ก็จะต้องเสียภาษี และตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องทำการจดทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ก่อนที่จะเริ่มประกอบการด้วย เนื่องจากหากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น เมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสินค้าแล้วไม่ส่งให้ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าชำรุดเสียหาย จะได้มีการตรวจสอบและติดตามผู้ประกอบการได้

หากร้านค้าออนไลน์ฝ่าฝืน ไม่ไปขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงกับทาง สคบ. ตามมาตรา 47 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อออกเครื่องหมายการจดทะเบียนให้กับผู้ประกอบการ หากฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ด้วย

ร้านค้าออนไลน์ มีรายได้เกินปีละ 1-1.8 ล้าน ต้องเสียภาษี

เมื่อเปิดร้านค้าออนไลน์ขึ้นมาแล้วและเกิดรายได้ขึ้นมา ผู้ประกอบการต้องไปเกี่ยวข้องกับการเสียภาษี 2 ประเภท นั่นคือ “ภาษีเงินได้” และ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หากเป็นร้านค้าธรรมดา ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยการคำนวณจากเงินได้สุทธิ แต่ถ้าจดทะเบียนเป็นบริษัท “นิติบุคคล” นั่นคือ เป็นห้างหุ้นส่วนหรือในรูปแบบของบริษัท ก็ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคำนวณจาก “กำไรสุทธิ”

ภาษีต่อมาคือภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเสียเมื่อรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี เมื่อมีรายได้เกินนี้ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไปบวกเพิ่มจากลูกค้าทันที เช่น สินค้ามีราคา 100 บาท ต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีก 7% ราคารวมที่ลูกค้าต้องซื้อ 107 บาทนั่นเอง

แต่ในกรณีการเปิดร้านค้าออนไลน์สำหรับบุคคลธรรมดา อย่างร้านค้ารายเล็กๆ มีการพิจารณาอยู่ 2 กรณี คือ ถ้ารายได้ไม่ถึง 1,800,000 บาทต่อปี เสียแค่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้ากรณีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยเงินได้จากการขายของออนไลน์ถือเป็นเงินประเภทที่ 8 (เงินได้ประเภทอื่นๆ) สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ แบบเหมารวมในอัตรา 80% ของรายได้ และแบบตามความจำเป็น/ตามสมควร โดยส่วนที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายให้นำมาหักค่าลดหย่อนตามกฎหมายเพื่อคำนวณเงินได้สุทธิในขั้นต่อไป(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

Web

วิธีการคำนวณภาษีร้านค้าออนไลน์สำหรับบุคคลธรรมดา มี 2 วิธี วิธีแรก หากรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี เมื่อได้เงินได้สุทธิแล้วก็นำมาคูณกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดไว้ตามขั้นบันได จากนั้นจะได้จำนวนภาษีที่ต้องจ่าย

วิธีที่ 2 หากรายได้จากการขายของออนไลน์เกิน 1,000,000 บาทต่อปี ต้องคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมินโดยนำ 0.5% มาคูณเงินได้ ถ้าต่ำกว่า 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี

หลักการเสียภาษีคือ หากวิธีไหนคำนวณแล้วได้ภาษีมากกว่าก็ใช้วิธีนั้นเสียภาษี

“กฎหมายเพื่อความเสมอภาคทางการตลาด” ป้องกันการสูญเสียรายได้รัฐ

ในต่างประเทศ บางคนอาจเคยได้ยินเรื่อง “กฎหมายเพื่อความเสมอภาคทางการตลาด” (Marketplace Fairness Act) หรือเอ็มเอฟเอ (MFA) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “ภาษีรายได้ทางอินเทอร์เน็ต” ซึ่งเป็นกฎหมายที่เพิ่งผ่านการโหวตโดยสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ และกำลังจะนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ และถ้าหากผ่านสภา กฎเอ็มเอฟเอจะบังคับให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญต่อปี ในรัฐที่ผู้ประกอบการไม่มีหน้าร้าน จะต้องเก็บภาษีการขายและจ่ายภาษีให้แต่ละรัฐของลูกค้าและจ่ายให้รัฐบาลท้องถิ่นด้วย

ในปัจจุบัน เมื่อลูกค้าทำการซื้อของออนไลน์และผู้ขายไม่มีหน้าร้านในรัฐของลูกค้าผู้ซื้อ ผู้ขายจะไม่คิดภาษีการขายลงไปในการทำธุรกรรม แต่จะขึ้นอยู่กับลูกค้าเอง ที่จะจ่ายภาษีขายโดยตรงสำหรับสินค้าแต่ละชิ้นที่ซื้อออนไลน์ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐนั้นๆ ในทุกปี แต่มันก็เป็นสิ่งที่น้อยคนจะทำ

Online Shopping
ที่มาภาพ: http://www.naco.org/research/CRC/Lists/Posts/Post.aspx?ID=17

ตั้งแต่ที่เกือบทุกร้านที่มีตัวตนของผู้ประกอบการในสหรัฐฯ และมีการทำการเก็บภาษีการขายสำหรับทุกๆ สินค้าที่ทำการขายไป ส่งผลให้สินค้าที่มีขายตามร้านทั่วไปมีราคาแพงมากกว่าสินค้าที่ขายออนไลน์ การที่ไม่มี “ภาษีการขายในอินเทอร์เน็ต” ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีส่วนนี้ไปราวๆ 11 พันล้านเหรียญ และทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่า ผู้ค้าออนไลน์ได้เปรียบกว่า และเป็นการเอาเปรียบผู้ค้าทั่วไป

กฎหมายเพื่อความเสมอภาคทางการตลาดจะช่วยให้ผู้ค้าทั่วไปสามารถแข่งขันกับผู้ค้าออนไลน์ได้ และช่วยให้แต่ละรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น โดยผลตอบรับจากกฎเอ็มเอฟเอ เมื่อ 6 พฤษภาคม 2556 วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายฉบับนี้ด้วยเสียงท่วมท้นที่ 69 ต่อ 27 เสียง ซึ่งมากพอที่จะส่งกฎหมายนี้ไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย แทบทุกรัฐสนับสนุนกฎหมายนี้ เพราะจะช่วยให้มีรายได้จากภาษีมากขึ้น และทางผู้ประกอบการต่างๆ ก็สนับสนุนเช่นกัน เพราะจะช่วยให้แข่งขันกับผู้ค้าออนไลน์ได้เท่าเทียมมากขึ้น

ที่ไม่น่าแปลกใจ กฎหมายฉบับนี้ไม่เป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้ซื้อและผู้ค้าออนไลน์ หากไม่คำนึงถึงจุดประสงค์ในการเก็บภาษีเข้ารัฐ หลายคนมองว่ากฎเอ็มเอฟเอทำให้การซื้อของออนไลน์แพงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน 61% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์หากกฎหมายนี้ผ่าน และ 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะซื้อของออนไลน์ให้น้อยลง

ทว่า กฎเอ็มเอฟเอยังอยู่ในกระบวนการเริ่มแรก และอาจจะไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมายจริงๆ มากไปกว่านั้น กฎเอ็มเอฟเอทำการยกเว้นให้ธุรกิจออนไลน์ที่มีรายได้น้อยกว่า 1 ล้านเหรียญต่อปี ผู้ค้าออนไลน์ทั่วไปจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับธุรกิจออนไลน์ที่ไม่ได้รับการยกเว้น ก็ต้องตระหนักถึงข้อบังคับที่ต้องทำตามด้วย

นอกจากนี้ ถ้ากฎเอ็มเอฟเอมีผลบังคับใช้ ร้านค้าออนไลน์จะถูกบังคับให้เก็บภาษีการขาย โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้ซื้ออาศัยอยู่ที่ใด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการควบคุมภาษีชนิดนี้ในมากกว่า 9,600 เขตที่แตกต่างกัน (โดยที่รวมรัฐบาลท้องถิ่นไปแล้ว) เนื่องจากแต่ละรัฐบาลท้องถิ่นมีกฎและอัตราการเก็บภาษีแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ และจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายและหายนะทางการคำนวณ ยกตัวอย่างเช่น ในเมืองหนึ่ง ช็อกโกแลตแท่งอาจถูกจัดให้เป็นสินค้าต้องเก็บภาษี แต่ในอีกเขตรัฐนึง อาจถูกจัดให้อยู่ในหมวดของอาหาร และถูกยกเว้นการเก็บภาษี

กฎหมายภาษีของแต่ละเมืองยังแตกต่างกันอีก เช่น เสื้อผ้าและรองเท้าที่ราคาต่ำกว่า 110 ดอลลาร์สหรัฐ จะปลอดภาษีในนิวยอร์ก แต่ถ้ามีมูลค่าเกิน 110 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีภาษีการขายสำหรับเมืองที่ 4.5% และภาษีการขายสำหรับรัฐที่ 4%

ทั้งนี้ กฎเอ็มเอฟเอไม่ใช่ข้อบังคับสำหรับแต่ละรัฐ ในแต่ละรัฐจะได้รับโอกาสให้เป็นสมาชิกของ “กลุ่มข้อตกลงภาษีซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต” แต่ก็ไม่มีรัฐใดถูกบังคับเข้าร่วม แต่การเข้าร่วมกลุ่มข้อตกลงจะมีผลให้มีรายได้ภาษีมากขึ้น ซึ่งก็ไม่มีรัฐใดเลือกไม่เข้าร่วมกลุ่มนี้

เอ็มเอฟเอ เรียกร้องให้แต่ละรัฐเกิดการจัดเก็บภาษีให้ง่ายที่สุด แต่ละรัฐต้องเข้าร่วมในโครงการภาษีใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มข้อตกลงภาษีซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต” และมุ่งเป้าไปที่การเก็บภาษีว่าจะต้องง่ายขึ้น ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเพราะผู้ขายออนไลน์บ่นว่า ผู้ค้าทั่วไปเก็บภาษีได้ใน 1 หรือ 2 เขตควบคุม ขณะที่คนขายออนไลน์ต้องไล่ตามเก็บภาษีจากหลากหลายที่

กฎเอ็มเอฟเอยังเรียกร้องให้รัฐต้องเสนอซอฟต์แวร์การจัดเก็บภาษีโดยไม่คิดมูลค่า โดยที่กฎหมายระบุไว้ว่าในแต่ละรัฐต้องเสนอซอฟต์แวร์ฟรีให้ผู้ค้าออนไลน์ทุกรายทุกคน เพื่อช่วยคำนวณและเก็บภาษี ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าซอฟต์แวร์นี้จะมีรูปแบบอย่างไร หรือจะกลับไปใช้วิธีคำนวณแบบเดิม

แม้ว่ากฎเอ็มเอฟเอผ่านวุฒิสภาไปแล้ว แต่มันก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบสำหรับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นผู้ออกเสียงโหวตขั้นต่อไป ชะตากรรมของกฎหมายนี้ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงส่วนใหญ่จากพรรครีพับลิกันคุมอยู่ ซึ่งมีธรรมเนียมการคัดค้านภาษีใหม่ๆ อยู่แล้ว ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดการว่าจะทำการโหวตเสียงในสภาผู้แทนเมื่อใด