ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แกะงบประมาณ 10 ปี รายจ่ายอื่นๆ เพิ่มสูงสุด 19% ดูงานต่างประเทศเยอะสุด

แกะงบประมาณ 10 ปี รายจ่ายอื่นๆ เพิ่มสูงสุด 19% ดูงานต่างประเทศเยอะสุด

24 กันยายน 2011


เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงสร้างงบประมาณประจำปี 2555 ให้ดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ 350,000 ล้านบาท โดยประมาณการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1,980,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.9 % และประมาณการรายจ่ายไว้ที่ 2,330,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.5 %

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2555 แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำมีสัดส่วนต่องบประมาณมากที่สุดถึง 79 % เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 76.8 % และรายจ่ายหลักในงบรายจ่ายประจำคือ ค่าใช้จ่ายบุคลากร มีสัดส่วน 98.2 % รองลงมาคือค่าสาธารณูปโภค และค่าเช่าทรัพย์สิน

ขณะที่รายจ่ายงบลงทุนซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐกลับมีสัดส่วนต่องบประมาณเพียง 16.5 % ใกล้เคียงกับ 16.4 % ของงบประมาณปีก่อน

ดร. สกนธ์ วรัญญวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมงานกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล หรือ Policy watch ได้วิเคราะห์โครงสร้างรายจ่ายงบประมาณย้อนหลังตั้งแต่ปี 2542-2552 พบว่ารายจ่ายงบประมาณในช่วงเวลาดังกล่าวหรือรายจ่ายเฉลี่ยช่วง 10 ปีที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคืองบรายจ่ายอื่นๆ หักดอกเบี้ยหนี้

รายจ่ายงบประมาณ และอัตราการเติบโตรายจ่ายแต่ละหมวด
รายจ่ายงบประมาณ และอัตราการเติบโตรายจ่ายแต่ละหมวด ที่มา: ดร.สกนธ์ วรัญญวัฒนา (policy watch 12 ก.ย. 54)

ดร.สกนธ์ระบุว่า โครงสร้างรายจ่ายงบประมาณจะแบ่งออกเป็น 5 หมวดใหญ่ๆ คือ งบบุคลากร งบดำเนินการ งบลงทุน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่นๆ หักดอกเบี้ยหนี้ ถ้ามองในแง่อัตราการเจริญเติบโตของโครงสร้างรายจ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของงบบุคคลกรกับงบดำเนินการ

สำหรับงบเงินอุดหนุน มีส่วนของงบท้องถิ่นรวมอยู่ มีอัตราการเติบโตมากประมาณปีละ 10 % แต่เนื่องจากงบท้องถิ่นมีโครงการพิเศษของรัฐบาล เช่นเรียนฟรี 15 ปี เบี้ยผู้สูงอายุ 500 บาท คนพิการ เหล่านี้อยู่ในเงินงบอุดหนุนทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลกลางทำให้เงินอุดหนุนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายโดยเฉลี่ย 10 ปี ดร.สกนธ์ยอมรับว่ามีตัวเลขที่น่าตกใจพบว่า งบรายจ่ายอื่นๆ มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยมากที่สุดอยู่ที่ 19% ส่วนใหญ่เป็นงบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นกว่าตัวอื่น รองลงมาเป็นงบเงินอุดหนุนมีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 12.3 % งบดำเนินการ 7 % งบบุคลากร 5.3% และงบลงทุนติดลบ 1.4 %

ทั้งนี้ งบรายจ่ายอื่นๆ ประกอบด้วย (1) เงินราชการลับ (2) เงินค่าปรับที่จ่ายคืนให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง (3) ค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา วิจัย ประเมินผล หรือพัฒนาระบบต่างๆ ซึ่งมิใช่เพื่อการจัดหา หรือปรับปรุงครุภัณฑ์ที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้าง (4) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว (5) ค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ (ส่วนราชการ) (6) รายจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ และ (7) ค่าใช้จ่ายสำหรับกองทุน หรือเงินทุนหมุนเวียน

ดร.สกนธ์ระบุว่า ในบรรดางบประมาณรายจ่ายที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ งบลงทุนซึ่งต่ำมาตลอดตั้งแต่ปี 2542-2553 เมื่อดูเฉลี่ยตลอด 10 ปี อัตราเพิ่มยังติดลบ จึงต้องเฝ้าติดตามดู เนื่องจากอยากเห็นงบลงทุนเพิ่มขึ้นจะได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่านี้

งบประมาณรายจ่ายแยกแต่ละหมวดหมู่
งบประมาณรายจ่ายแยกแต่ละหมวดหมู่

“ภายใต้โครงสร้างงบงบประมาณของประเทศที่ใช้ไปในเรื่องของรายจ่ายประจำ และรายจ่ายดำเนินการในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล แต่โครงการลงทุนที่จำเป็นโดยเฉลี่ยกลับติดลบ ถือเป็นปัญหาโครงสร้างงบประมาณของประเทศที่เราควรสนใจ”ดร.สกนธ์กล่าว