ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” : ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์อียิปต์ (1)

“ผู้นำโกง” : ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์อียิปต์ (1)

22 มกราคม 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

egypt-protesters ที่มาภาพ : http://static5.businessinsider.com
egypt-protesters ที่มาภาพ : http://static5.businessinsider.com

หลังจากประธานาธิบดีไซน์ เอล อบิดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย ได้สร้างตำนานว่าเป็นผู้นำอาหรับคนแรกที่ถูกประชาชนอัปเปหิระหว่างการ “ปฏิวัติดอกมะลิ” หรือ “อาหรับสปริง” ตามด้วยการล้มเป็นทอดๆ ราวโดมิโนของผู้นำตะวันออกกลางอีกหลายประเทศ โดยผู้นำคนที่สองที่ถูกกระชากหัวโขนออกก็คือ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก แห่งแดนสฟิงซ์อียิปต์ ซึ่งล้มง่ายดายเกินไปอย่างแทบไม่น่าเชื่อในเพียงแค่ชั่ว 18 วันที่ประชาชนรวมตัวกันประท้วงขับไล่ ทั้งๆ ที่ปกครองประเทศด้วยกำปั้นเหล็กมายาวนานกว่า 30 ปี สะท้อนถึงสภาพอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพ ราวกับถูกหนอนชอนไชจนเน่าเฟะ เพียงแต่ถูกปกปิดมานานภายใต้ภาพว่าเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งเนื่องจากเป็นเนื้อในเดียวกับกองทัพมาตลอด

อียิปต์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจอมปลอม ภายใต้การประคับประคองของมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งปิดตาข้างหนึ่งทำเป็นไม่รับรู้ว่าการบริหารประเทศของนายมูบารักนั้นล้มเหลวมากเพียงใด ปล่อยให้ครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย บริวารว่านเครือ และนายทหาร ทุจริตคอร์รัปชันอย่างโจ๋งครึ่ม ขณะที่ประชาชนมีแต่ยากจนและหิวโหย เนื่องจากราคาขนมปังอันเป็นอาหารหลักมีแต่ปรับตัวสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ ตรงข้ามกับอัตราจ้างงานที่มีแต่ลดลงตามลำดับ ใครก็ตามที่บังอาจต่อต้านรัฐบาลหรือเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบก็จะถูกจับ ถูกขัง ถูกทรมาน หรือถูกลอบสังหารอย่างไม่เห็นกฎหมายอยู่ในสายตา สื่อมวลชนเองก็ยอมจำนนกับระบบเซ็นเซอร์ของรัฐ นำเสนอแต่ข่าวประจบสอพลอรัฐและกองทัพ หรืออย่างเก่งก็นำเสนอข่าวความเดือดร้อนของประชาชนเป็นข่าวเล็กๆ

ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงหมักหมมเรื่อยมาจนถึงจุดระเบิดราวภูเขาไฟปะทุครั้งใหญ่ เมื่อบรรดาลูกหลานฟาโรห์ต่างเห็นตัวอย่างของประชาชนชาวตูนิเซียที่กล้าท้าทายอำนาจของประธานาธิบดีเบน อาลี จึงเลียนแบบบ้าง

เริ่มด้วยชายวัย 50 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของภัตตาคารแห่งหนึ่งใกล้เมืองท่าอิสมาอิลิยา ทางตะวันออกของกรุงไคโร จุดไฟเผาตัวเองที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เพื่อประท้วงที่ไม่ได้รับคูปองขนมปังของรัฐบาล เลียนแบบพ่อค้าหาบเร่ชายชาวตูนิเซียที่เผาตัวตายเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีเบน อาลี เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2553 ถัดมาเพียงวันเดียว หนุ่มตกงานวัย 25 ปี ได้เผาตัวเองจนเสียชีวิตที่เมืองอเล็กซานเดรีย เช่นเดียวกับนักกฎหมายอีกคนที่ยอมสละชีวิตเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนพร้อมใจกันขับไล่ผู้นำ

การเสียสละของทั้ง 3 คน ทำให้ชาวอียิปต์กว่า 2 ล้านคน ยอมออกจากบ้านมาร่วมเดินขบวนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ตามการปลุกระดมผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก เหตุการณ์ได้บานปลายกลายเป็นจลาจลเลือดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หรือรู้จักกันในชื่อว่า “วันแห่งเพลิงพิโรธ” มีการโจมตีรัฐบาลที่ไม่เคยแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันแพร่ระบาดไปทั่วทุกภาคส่วนในสังคม การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งให้ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ใช้มานานหลายสิบปี ฯลฯ

เช่นเดียวกับผู้นำทรราชส่วนใหญ่ที่ไม่เคยยอมรับความจริง และไม่มีความอดทนมากพอที่จะรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน ที่สำคัญก็คือ ไม่เคยศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ว่า เมื่อถึงที่สุดของความอดทนแล้ว ประชาชนจะไม่กลัวตายและมีพลังมากพอทีจะพลิกคว่ำรัฐนาวาได้ นายมูบารักได้สั่งให้ตำรวจปราบจลาจลเร่งสลายการชุมนุมประท้วง และตำรวจได้ลงมือปราบอย่างไร้ความปราณี ใช้ทั้งไม้กระบอง ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยางและกระสุนจริงยิงใส่ประชาชน นอกจากนั้น ยังใช้อำนาจมืดปิดปากสื่อมวลชน ถึงขั้นเผาสำนักงาน จับกุม ทรมาน และสังหารนักข่าวต่างชาติหลายคนที่เกาะติดสถานการณ์นี้ ปรากฏว่ามีผู้ประท้วงถูกยิงเสียชีวิตกว่า 300 คน แหล่งข่าวบางกระแสอ้างว่าสูงถึง 800 คน บาดเจ็บอีกกว่า 6,000 คน

ประธานาธิบดีฮอสนี บูมารัก แห่งอียิปต์ ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk
ประธานาธิบดีฮอสนี บูมารัก แห่งอียิปต์ ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk

แต่บรรดาลูกหลานฟาโรห์ซึ่งไม่มีอะไรจะเสียมากไปกว่านี้แล้วยังคงยืนหยัดประท้วงรัฐบาลต่อไป ท้ายที่สุด นายมูบารักก็ยินยอมประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากพยายามต่อรองว่าจะยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่มีใครยอมรับข้อต่อรองนี้ จากนั้น นายมูบารักได้ถ่ายโอนอำนาจให้กับกองบัญชาการทหารสูงสุด ก่อนจะเดินทางออกจากกรุงไคโรไปพำนักที่รีสอร์ตริมทะเลแดงในเมืองชาร์ม เอล-ชีค ทางตอนใต้ของอียิปต์

อย่างไรก็ดี รัฐบาลชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาหมาดๆ ได้ประกาศห้ามนายมูบารักเดินทางออกนอกประเทศ ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วว่า อดีตผู้นำอียิปต์ได้หนีไปเสวยสุขที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งได้อายัดทรัพย์สินทั้งหมดของนายมูบารัก ซึ่งจากการประเมินล่าสุดของนิตยสารฟอร์บเมื่อปลายปี 2554 ระบุว่า อาจมีมากถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากอายัดทรัพย์สินของนางซูซาน ภรรยา และบุตรชายทั้ง 2 คน ได้แก่นายกามาล และนายอาลา

หลายคนเชื่อว่าอาจจะสายไปก้าวหนึ่งแล้วก็ได้ เนื่องจากมีรายงานจากแหล่งข่าวตะวันตกที่เชื่อถือได้ว่า นายมูบารักได้ใช้เวลาตลอดช่วง 18 วันที่ถูกประชาชนกดดันให้ถอดหัวโขนทิ้งนั้น โยกทรัพย์สินกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ จากบัญชีลับในธนาคารต่างประเทศ หรือที่อยู่ในรูปของการลงทุน ทองคำแท่ง และอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอน นิวยอร์ก กรุงปารีส และเบเวอร์ลีฮิลส์ แล้วถ่ายโอนทรัพย์สินไปยังประเทศที่ยากต่อการติดตามร่องรอย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดียวกับผู้นำทรราชคนอื่นๆ ที่ถูกธนาคารต่างชาติอายัดทรัพย์หลังมีอันหลุดจากวงจรอำนาจ

เรียกได้ว่าชิงตัดหน้าเพียงเสี้ยววินาทีก่อนที่ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษ ซึ่งเป็นแหล่งซ่อนเงินก้อนมหาศาลอดีตผู้นำอียิปต์จะประกาศอายัดทรัพย์