ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดบันทึก Grand Corruption (2) : “โกงกิน” ไม่มีวันตาย

เปิดบันทึก Grand Corruption (2) : “โกงกิน” ไม่มีวันตาย

29 สิงหาคม 2011


มูอัมมาร์ กัดดาฟี

คดีในกลุ่ม Grand Corruption เป็นคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่นอกจากจะมีมูลค่าของการคอร์รัปชั่นสูงแล้ว ยังมีเกี่ยวพันกับผู้นำรัฐบาล ที่ปรึกษา จนถึงนักการเมืองที่มีตำแหน่งในหลายๆ ระดับและข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงในส่วนราชการต่างๆ

จากสถิติรวบรวมอยู่ในรายงาน Laundering the Proceeds of Corruption ประจำเดือนกรกฎาคม 2554 จัดทำโดย Financial Action Task Force หรือ FATF ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมระหว่างรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมนโยบายในการต่อสู้กับปัญหาการฟอกเงินและการให้เงินสนับสนุนกระทำของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ

มีคดี Grand Corruption ในบันทึกของ FATF อยู่ทั้งสิ้น 32 คดี มีตัวละครที่เกี่ยวข้องระดับผู้นำประเทศ ในตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี รวม 12 ราย

อาทิ ประธานาธิบดีเฟรเดอริค ติตัส ชิลูบาส ของแซมเบีย ยักยอกถ่ายโอนเงินหลวง 78 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2538-2544 ประธานาธิบดีซานี อะบาชา ของไนจีเรีย ในช่วงปี 2536- 2543 จนถึง ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ ซึ่งพัวพันกับยักยอกถ่ายโอนเงินหลวงและเรียกรับสินบน เป็นมูลค่ามากถึง 5,000-10,000 ล้านบาท ประธานาธิบดีฌอง โคลด ดูวาลิเยร์ ของเฮติ ที่ยักยอกเงินประเทศไปซุกไว้ในต่างประเทศ 300 ล้านดอลลาร์และประธานาธิบดีออกัสโต ปิโนเชต์ ของชิลี ที่มีชื่ออยู่ในบันทึก แม้จะไม่ได้ระบุว่า เป็นการคอร์รัปชั่นลักษณะใด แต่ก็มีวงเงินเกี่ยวข้องสูงพอสมควร 27 ล้านดอลลาร์

(แต่ที่น่าแปลกใจ คือ ไม่มีชื่อของอดีตประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด ซูอาร์โต ผู้นำอินโดนีเซีย รวมอยู่ในบันทึกคดี Grand Corruption ฉบับนี้ด้วย)

อย่างไรก็ตาม หากนับรวมภรรยา หรือ บุตรชาย/บุตรสาวของผู้นำเหล่านั้น คดีก็เพิ่มขึ้นเป็น 18 คดี ในจำนวนนั้น เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับภริยาของประธานาธิบดีเฉิน สุ่ย เปียนของไต้หวันระหว่างปี 2543-2549 และน้องชายของประธานาธิบดีราอูล ซาลินาส ของเม็กซิโก ในช่วงปี 2541

ออกัสโต ปิโนเชต์

ส่วนที่เหลือ เป็นคดี Grand Corruption ที่เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในรัฐบาล หรือ ระดับผู้ว่าการรัฐ สมาชิกวุฒิสภา ผู้พิพากษา และนายทหารระดับสูง กระจายอยู่ในหลายประเทศของโลก อาทิ รัสเซีย ยูเครน เปรู อิตาลี สหรัฐ และไทย (คดีอดีตผู้ว่า ท.ท.ท.)

ในสหรัฐอเมริกา Grand Corruption ที่มีการบันทึกไว้ เป็นคดีรับสินบนของแรนดอลล์ คันนิงแฮม สมาชิกรัฐสภา วงเงินสินบนที่เกี่ยวข้อง 2.4 ล้านดอลลาร์ ขณะที่คดีในอิตาลี เป็นคดีการรับสินบนของผู้พิพากษา นิโน โรเวลลิ ระหว่างปี 2533-2536

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งในรายงานฉบับเดียวกัน นอกจากจะสะท้อนถึงความพยายามดำเนินการจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นทั่วโลกอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสะท้อนถึงการคงอยู่ในระดับที่รุนแรงของพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง ในหลายๆ ประเทศ

ในรายงานการดำเนินการเพื่ออายัดทรัพย์สินหรือระงับการทำธุรกรรมในบัญชีต่างๆ ของอดีตผู้นำประเทศและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในปี 2554 ตั้งแต่ 6 มกราคม ถึง 30 มีนาคม พบว่า มีทั้งสิ้น 27 ครั้ง

ยกตัวอย่าง วันที่ 6 มกราคม ทางการสหรัฐอเมริกา ได้อายัดทรัพย์สินของอดีตประธานาธิบดี โลรองต์ จีบักโบ ของไอวอรี โคสต์ ตลอดจนภริยา และบุคคลใกล้ชิด หลังจากประธานาธิบดีจีบักโบปฏิเสธลงจากอำนาจ ทั้งที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน

อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา คณะกรรมาธิการความมั่นคงและการเมืองของสหภาพยุโรป ก็สั่งดำเนินการอายัดทรัพย์สินในลักษณะเดียวกันต่อประธานาธิบดีจีบักโบ ภริยาและคนใกล้ชิด

ฮอสนี มูบารัก

จนถึง 30 มีนาคม คณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์ในต่างประเทศ ของประธานาธิบดี รวมถึงของภริยาและคนใกล้ชิด

นอกเหนือจากกรณีของประธานาธิบดีจีบักโบแล้ว ยังพบว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ อายัดทรัพย์สินของเบน อาลี อดีตผู้นำตูนีเซีย และบุคคลในครอบครัว รวม 69 ล้านดอลลาร์ เมื่อ 19 มกราคมที่ผ่านมา

การอายัดทรัพย์สินของบรรดาผู้นำประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในช่วงต้นปี 2554 เกิดการความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในหลายประเทศของตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยรัฐบาลชาติตะวันตกได้ประกาศอายัดทรัพย์สินของผู้นำและอดีตผู้นำหลายคน ในจำนวนนั้น รวมถึงประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักของอียิปต์และประธานาธิบดีมูอัมมาร์ กัดดาฟี