ThaiPublica > หน้าแรก >

เหลียวหลังแลหน้า “เก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ” : 7 ทศวรรษ ปลด 4 คน

5 พฤษภาคม 2013


สงครามความขัดแย้งทางความคิดระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ กับรัฐบาล และกระทรวงการคลัง นับวันยิ่งทวีความรุ่นแรงมากขึ้น

โดย “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแสดงความคิดเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบายดอกเบี้ยกับแบงก์ชาติ และบอกความในใจว่า “คิด” ไล่ผู้ว่าแบงก์ชาติพ้นตำแหน่ง แสดงถึงความไม่พอใจในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของแบงก์ชาติอย่างตรงไปตรงมา และล่าสุดออกมาแฉแต่เช้า (2 พ.ค. 2557) ว่า แบงก์ชาติไม่เคยประสานนโยบายอย่างที่พูด

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน “ดร.โกร่ง” หรือ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และประธานคณะกรรมการ ธปท. (บอร์ด ธปท.) ก็ใช้ทำเนียบเป็นฐานที่มั่นแถลงเปิดใจ ห่วงปัญหาความร้าวฉานของผู้ว่าแบงก์ชาติกับรัฐมนตรีคลัง

ขณะที่ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยังคงนิ่ง เพราะตกอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับ และดูเหมือนว่าอาจจะเพลี่ยงพล้ำได้ หากไม่เคลื่อนไหวโดยสุขุมคัมภีรภาพ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ซ้าย) กับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ขาว)  ที่มา : www.posttoday.com
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ซ้าย) กับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ขวา) ที่มา: www.posttoday.com

สงครามความขัดแย้งเรื่องดอกเบี้ยและค่าเงินบาท ระหว่างทำเนียบรัฐบาลกับวังบางขุนพรหมครั้งนี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา น่าจะเป็นละครฉากใหญ่ที่ต้องเกาะติดเลยทีเดียว

แต่หากเหลียวหลังไปดูประวัติศาสตร์ความขัดแข้งระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลจะพบว่า ตั้งแต่ก่อตั้งแบงก์ชาติเมื่อปี 2485 หรือตลอดกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงคลังมีให้เห็นเป็นระยะ แต่ในกรณีที่มีความขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การแตกหัก ผลที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลสั่ง “ปลด” ผู้ว่าแบงก์ชาติพ้นจากตำแหน่ง แต่มีบางกรณีเท่านั้นที่ผู้ว่าแบงก์ชาติแสดงการคัดค้านรัฐบาลด้วยการ “ลาออก” เพื่อประกาศจุดยืนของธนาคารกลาง

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่ใช้มาจนถึงเดือนสิงหาคม 2551 เป็นกฎหมายเดิมที่ให้อำนาจรัฐมนตรีคลังเสนอแต่งตั้งและปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ โดยไม่ต้องระบุเหตุผลหรือข้อหา ต่างจากกฎหมายแบงก์ชาติปัจจุบันที่มีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่มาของผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ต้องมาจากการสรรหา และกำหนดวาระดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติไว้คราวละ 5 ปี

ส่วนการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติใน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ฉบับปรับปรุงล่าสุด 2551 มาตรา 28/19 ของกฎหมายแบงก์ชาติปัจจุบัน ในกรณีถูกปลดซึ่งระบุในมาตรา 28/19 (4) ยังคงให้อำนาจรัฐมนตรีคลังเสนอคณะรัฐมนตรีปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้เหมือนเดิม แต่จะต้องมีเหตุผลในการสั่งปลด คือ มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่

และนอกจากรัฐมนตรีคลังจะสั่งปลดได้ตามมาตรา 29/19 (4) แล้ว ในมาตรา 28/19 (5) ได้ให้อำนาจคณะกรรมการแบงก์ชาติสามารถเสนอรัฐมนตรีคลังสั่งปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ด้วย หากผู้ว่าการแบงก์ชาติมีความผิดบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายแบงก์ชาติฉบับเก่าจะทำให้การแต่งตั้งและปลดผู้ว่าทำได้ง่ายกว่าปัจจุบัน แต่ช่วงกว่า 70 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังจนถึงขั้นมีการ “ปลด” ผู้ว่าแบงก์ชาติเพียง 4 คน จากทั้งหมด 20 คน

ทั้งนี้ หากนับการดำรงตำแหน่งแต่ละครั้ง จะมีผู้ว่าการแบงก์ชาติดำรงตำแหน่งมาแล้ว 22 คน แต่มี 3 คน ที่ดำรงตำแหน่ง 2 ครั้ง หรือ 2 สมัย คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย นายเสริม วินิจฉัยกุล นายเล้ง ศรีสมวงศ์

สำหรับผู้ว่าแบงก์ชาติที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง 4 คน คือ

1. นายโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนที่ 6 ถูกปลดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในกรณีนี้ไม่ใช่สาเหตุจากความขัดแย้งทางนโยบาย แต่เป็นข้อหาพัวพันกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตร

ทั้งนี้ เมื่อนายโชติได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ (24 ก.ค. 2510 – พ.ค. 2502) ยังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเมื่อปี 2502 พร้อมกันอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ดังนั้น ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท ที่ประกาศออกใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2502 จึงเป็นธนบัตรชนิดเดียวที่มีลายเซ็นของนายโชติ คุณะเกษม ทั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติ

2. นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 10 ถูกปลดในสมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบาย อาทิ นโยบายคุ้มเข้มสินเชื่อ และการเสนอตั้งสถาบันประกันเงินฝาก

ภาพพาดหัวข่าว และ ภาพการประชุมคณะกรรมการธปท. ในสมัยนายนุกูร ประจวบเหมาะเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่มา : หนังสือเล่าเรื่องแบงก์ชาติด้วยภาพ
ภาพพาดหัวข่าว และภาพการประชุมคณะกรรมการ ธปท. ในสมัยนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่มา: หนังสือเล่าเรื่องแบงก์ชาติด้วยภาพ

ในจังหวะเวลาที่นายนุกูลเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันแพง เงินฟ้อสูง ทำให้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดเพื่อควบคุมสินเชื่อ และเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2524 แบงก์ชาติประกาศปรับลดค่าเงินบาทจาก 21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนายนุกูลจะเผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาเร่งด่วนต้องแก้ไขเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนที่มีฐานะอ่อนแอ และประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้แบงก์ชาติต้องแก้วิกฤติการณ์ด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทเงินทุน และใช้มาตรการ “โครงการ 4 เมษายน 2527” เพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน โดยมีบริษัทเงินทุนเข้าร่วมโครงการ 25 บริษัท

ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติได้เสนอแนวคิดจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน แต่นายสมหมายไม่เห็นด้วย และเก็บเรื่องเข้ากรุเงียบหายไป

ชนวนความขัดแย้งดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่การแตกหัก โดยนายสมหมายเสนอ “ปลด” นายนุกูลออกจากการเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2527 ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า เนื่องจากนายนุกูลอยู่ในตำแหน่งมาครบ 4 ปีแล้ว จึงเห็นสมควรให้ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งสืบแทน

อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเงินไทย ที่รัฐมนตรีคลังปลดผู้ว่าแบงก์ชาติเพราะขัดแย้งเชิงนโยบาย

3. นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 11 ถูกปลดในสมัยนายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยสาเหตุของการปลดครั้งนี้มาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2527 ที่มา : หนังสือเล่าเรื่องแบงก์ชาติด้วยภาพ
ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2527 ที่มา: หนังสือ “เล่าเรื่องแบงก์ชาติด้วยภาพ”

การประกาศปรับลดค่าเงินบาทครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2527 จาก 23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนระบบตระกร้าเงิน แทนการผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ภาคส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนในประเทศได้รับอานิสงจนทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ตามมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อ ผู้ว่าแบงก์ชาติจึงปรับโครงสร้างดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่นายประมวลไม่เห็นด้วยกับแนวทางของแบงก์ชาติ จึงปลดนายกำจรพ้นตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ

อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติที่อยู่ในยุคนั้นเล่าให้ฟังว่า นายประมวลไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหาภาคดีพอ ซึ่งในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อสูง จำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยสูง แต่นายประมวลไม่เห็นด้วยจนกลายเป็นความขัดแย้ง และนำไปสู่การปลดนายกำจร แต่สุดท้ายนายประมวลก็หลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรีคลังไปด้วย เพราะถูกโจมตี และนักลงทุนไม่เชื่อมั่น

“เป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีคลังสั่งปลดผู้ว่าแบงก์ชาติแล้วรัฐมนตรีคลังก็อยู่ไม่ได้ ต้องหลุดออกจากตำแหน่งด้วย เพราะไม่รู้เรื่องนโยบายการเงิน จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์กดดันให้ต้องลาออกไปด้วย” อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติท่านหนึ่งกล่าว

4. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 16 ถูกปลดในสมัย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2544 โดยไม่ระบุเหตุผล แต่เป็นที่เข้าใจกันว่าสาเหตุมาจากความขัดแย้งเชิงนโยบายตั้งแต่เรื่องค่าเงินบาท ที่หม่อมเต่ามีแนวคิดปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่รัฐบาลต้องการให้ดูแล นอกจากนี้ รัฐบาลต้องการให้แบงก์ชาติผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แต่แบงก์ชาติกลับเข้มงวด และที่สำคัญคือเรื่องดอกเบี้ย

แต่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดอกเบี้ยในยุคของหม่อมเต่าตรงกันข้ามกับปัจจุบัน โดยในสมัยหม่อมเต่านั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.5% ซึ่งรัฐบาลมีความเห็นว่าเป็นอัตราที่ต่ำเกินไป ต้องการให้ปรับขึ้นเพราะต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก แต่หม่อมเต่าไม่ดำเนินการตามและยังมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) จากแบงก์ชาติส่ถึงนักลงทุนต่างประเทศเพื่อชี้แจงเรื่องดอกเบี้ยและขอความคิดเห็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยด้วย

การกระทำดังกล่าวของแบงก์ชาติทำให้เชื่อได้ว่า นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ ดร.สมคิดเสนอปลดหม่อมเต่าพ้นตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ และเสนอแต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ “หม่อมอุ๋ย” เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ และหลังจากหม่อมอุ๋ยเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติเพียงไม่กี่วัน ก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 1% คือ จาก 1.5% เป็น 2.5%

ปรากฏการดังกล่าวยิ่งทำให้ทุกคนเชื่อว่า หม่อมเต่าถูกปลดเพราะขัดแย้งเรื่องดอกเบี้ยมากกว่าสาเหตุอื่น แต่ภายหลังหม่อมเต่าเปิดใจว่า “สาเหตุที่ถูกปลดเพราะไม่สนองนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)”

นั่นคือ 4 ผู้ว่าแบงก์ชาติที่ถูกรัฐบาล “ปลด” พ้นจากตำแหน่ง โดยมีเพียงคนเดียวที่ถูกปลดด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งเชิงนโยบาย

ปัญหาความขัดแย้งเชิงนโยบายระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลไม่ได้จบลงที่ผู้ว่าแบงก์ชาติต้องถูกปลดเสมอไป ในบางกรณีอย่างที่เขียนไว้ข้างต้นคือ ผู้ว่าแบงก์ชาติแสดงความกล้าหาญ ด้วยการประกาศ “ลาออก” เพื่อแสดงจุดยืนของแบงก์ชาติ ซึ่งในอดีตมี 2 ผู้ว่าแบงก์ชาติที่ขัดแย้งกับรัฐบาลแล้วต้องลาออกด้วยเหตุผลดังกล่าว คือ

1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าแบงก์ชาติพระองค์แรก และเป็นผู้ว่าการ 2 สมัย โดยขัดแย้งกับรัฐบาลและขอลาออกในสมัยแรก เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะเงินเฟ้อในปี 2489 แบงก์ชาติจึงเสนอต่อรัฐบาลให้ขายทองคำทุนสำรองส่วนที่มีอยู่ในประเทศไทยจำนวน 2.9 ล้านกรัม เป็นเงินบาท ด้วยวิธีประมูลราคา เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน แต่รัฐบาลมีนโยบายแบ่งขายให้ประชาชนโดยไม่มีการประมูลราคา ซึ่งคณะกรรมการแบงก์ชาติไม่เห็นด้วย พระองค์และคณะกรรมการแบงก์ชาติจึงลาออกทั้งคณะ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2489 แต่ภายหลังได้ทรงกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง

2. หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 4 ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2495 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ต้องการให้แบงก์ชาติปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์จาก 51 บาทต่อปอนด์ มาเป็น 45 บาทต่อปอนด์ และกลับมาควบคุมการจ่ายเงินตราต่างประเทศอีก เนื่องจากขณะนั้นฐานะดุลการชำระเงินเกินดุล

เพราะฉะนั้น เมื่อเหลียวหลังย้อนอดีตดูความสัมพันธ์ร้าวฉานระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังแล้ว อาจมีคำถามว่า หากแลไปข้างหน้า ภายใต้อุณหภูมิความขัดแย้งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยผู้ว่าแบงก์ชาติหรือไม่และอย่างไร

ต้องติดตามตอนต่อไป

ป้ายคำ :